Get Adobe Flash player

ซอส เครื่องแกง และเครื่องปรุงรส

     1. ศักยภาพของตลาดในประเทศ (Market potential)

ในตลาดต่างประเทศมีการจำแนกรูปแบบเครื่องปรุงรสไว้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานออกเป็นหลายรูปแบบได้แก่

ซอสปรุงอาหาร(Cooking Sauces) แบ่งเป็นประเภทสินค้าย่อย ได้แก่ ซุปก้อน (Bouillon/Stock Cubes) ผงปรุงรส (Dry Sauces/Powder Mixes Dried) สมุนไพรและเครื่องเทศ (Herbs and Spices) ซอสพาสต้า (Pasta Sauces) และน้ำปรุงรส (Wet/Cooking Sauces)

   ซอสบนโต๊ะอาหาร (Table Sauces) แบ่งเป็นประเภทสินค้าย่อย ได้แก่ ซอสมะเขือเทศ (Ketchup) มายองเนส (Mayonnaise) มัสตาร์ด (Mustard) ซอสถั่วเหลือง (Soy Based Sauces) น้ำสลัดใส (Vinaigrettes) และซอสบนโต๊ะอาหารอื่น (Other Table Sauces)

    ซอสมะเขือเทศชนิดเข้มข้น (Tomato Pastes and Purees) ที่ปราศจากการปรุงแต่งรสชาติ เหมาะสำหรับเพิ่มรสเปรี้ยวในอาหารประเภทสตูว์ หรือทำซอสพาสต้า

   ผลิตภัณฑ์หมักดอง (Pickled Products) เช่น แตงกวาดอง โดยทั่วไปใช้รับประทานเป็นเครื่องเคียง ซึ่งสินค้าเครื่องปรุงรสของไทยอยู่ในกลุ่มที่ 1 และ 2 เป็นหลัก

ขนาดตลาดและส่วนแบ่งตลาด

เมื่อพิจารณาปริมาณจำหน่ายและมูลค่าตลาดรวมของผลิตภัณฑ์กลุ่ม ซอสเครื่องปรุงรสในประเทศ UAE เทียบกับซาอุดิอาระเบีย และอิหร่านจะพบว่า โดยภาพรวมตลาดอิหร่านมีขนาดใหญ่ที่สุด เพราะมีจำนวนประชากรถึง 80 ล้านคน รวมกับนักท่องเที่ยวอีก 5 ล้านคน ทำให้มีความต้องการบริโภคถึงปีละ 398 พันตัน มูลค่า 36,570 ล้านบาท ตลาดซาอุดิอาระเบียมีขนาดรองลงมา ขณะที่ UAE มีปริมาณบริโภคเพียง 25.17 พันตัน มูลค่า 5,101.5 ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลงลึกไปที่ลักษณะสินค้าจะพบว่า ซอสและเครื่องปรุงรสไทยได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในตลาด UAE มากกว่าอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย  เนื่องจากทั้ง 2 ตลาดนี้ส่วนใหญ่ลักษณะการใช้เครื่องปรุงรสยังเป็นลักษณะแบบอาหรับอยู่มาก ดังนั้นการเริ่มเจาะตลาดจาก UAE ก่อนจึงมีความเป็นไปได้สูงกว่าและใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการเข้าตลาดซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน

เมื่อพิจารณาช่องทางจัดจำหน่ายซอสและเครื่องปรุงรส พบว่าใน UAE ค้าปลีกสมัยใหม่ ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตมีบทบาทต่อการกระจายสินค้ากลุ่มนี้สูงมากถึงร้อยละ 93.7 ขณะที่ซาอุดิอาระเบียและอิหร่านยังต้องอาศัยการค้าผ่านร้านแบบดั้งเดิม ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการนำสินค้าใหม่แนะนำสู่ผู้บริโภค การได้รับการยอมรับของผลิตภัณฑ์ซอสและเครื่องปรุงรสในตลาด UAE สะท้อนได้จากภาพกราฟวงกลม  แสดงให้เห็นถึงส่วนแบ่งตลาดของซอสและเครื่องปรุงรสไทยแบบ wet/cooking sauce (น่าจะเป็นกลุ่มพริกแกงสำเร็จรูป) ที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 27.3 เป็นที่นิยมอันดับ 3 รองจาก จีน และอินเดีย

 


                       จากการสำรวจตลาดในนครดูไบ ช่วงเดือนเมษายน 2559 พบว่า สินค้ากลุ่มซอสพริก น้ำจิ้มไก่ น้ำปลา น้ำจิ้มแบบต่างๆ เครื่องแกงของไทย มีจำหน่ายในทุกซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ แต่จะมีขนาดพื้นที่ชั้นวางต่างกันไปตามตำแหน่งที่ตั้งและบทบาทของแต่ละซูเปอร์มาร์เก็ต ยกตัวอย่างเช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีจุดขายเรื่องการตอบสนองลูกค้าแต่ละเชื้อชาติ เช่น Almaya , Choithram , New west Zone จะมีการจัดแบ่งสินค้าออกเป็นโซนประเทศชัดเจน ทำให้หาสินค้าได้ง่าย แต่ขนาดพื้นที่โซนของแต่ละประเทศจะขึ้นกับว่าที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งที่พักอาศัยของชาวชนชาติใดก็จะเน้นสินค้าโซนประเทศนั้นขนาดใหญ่กว่าและหลากหลายกว่า  ส่วนซูเปอร์มาเก็ตที่เน้นความสะดวก ครบครัน ก็จะมีสินค้าของไทยวางจำหน่ายประจำหมวดแต่จะมีจำนวนไม่มากและหลากหลายเท่าที่ควร เนื่องจากถูกวางกระจายไปตามหมวดต่างๆ เช่น คาร์ฟูร์  Spinney นอกจากนี้ยังพบว่าสินค้ากลุ่มซอสพริก น้ำจิ้มไก่ น้ำปลา ได้รับความนิยมค่อนข้างมากในตลาด UAE เพราะมีสินค้าของหลายประเทศคู่แข่งเอเชีย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และมีหลายแบรนด์หลายขนาดบรรจุให้เลือกซื้อ  และจากการศึกษาทบทวนเอกสารและการสังเกตุพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้ามาซื้อสินค้าในร้าน พบว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับโปรโมชั่นในร้านจำหน่ายและแผ่นพับราคา โดยให้เวลาในการเปรียบเทียบราคาโปรโมชั่นของสินค้าเดียวกันเพื่อให้ได้สินค้าที่ราคาถูกกว่า

แรงขับดันและแนวโน้มธุรกิจ

1)    จากรายงานของ Euromonitor คาดว่ายอดขายสินค้ากลุ่มซอสและเครื่องปรุงรสใน UAE ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มซอสพริก/น้ำจิ้มไก่ ที่จะมีอัตราขยายตัวของปริมาณบริโภคถึงร้อยละ 48.6 ในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2558 การประเมินน้ำหนักจำหน่ายของซอสและเครื่องปรุงรสแต่ละกลุ่มดังภาพ


         จากภาพ พบว่าซอสพริกหรือน้ำจิ้มไก่เป็นเครื่องปรุงรสที่มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูง และพบว่ามีวางจำหน่ายในทุกร้านค้าปลีกจำนวนมากหลากหลายแบรนด์ พบว่ามีคู่แข่งหลายประเทศที่ผลิตโดยใช้ชื่อว่าซอสพริกไทย เช่นจากภาพน้ำจิ้มไก่ขนาด 300 กรัม ราคาขวดละ 4.95 AED (ประมาณ 47.43 บาท) ถ้าซื้อ 2 ขวดลดราคาเหลือ 7.95 AED (76.17 บาท) แต่ทว่าเป็นสินค้าที่ผลิตโดยมาเลเซีย มีการทำฉลากภาษาอารบิกถูกต้องชัดเจน ซึ่งประเด็นข้อนี้เป็นการเสียโอกาสหนึ่งของผู้ประกอบการไทย ที่ผู้นำเข้าหลายบริษัทให้ข้อมูลว่ามีความสนใจนำเข้าสินค้าจากไทย แต่ติดปัญหาที่ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถจัดทำฉลากภาษาอารบิกให้ได้

2)  ปัจจัยในการผลักดันการขยายตัวของยอดขายสินค้ากลุ่มซอสและเครื่องปรุงรสอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้า รวมทั้งการที่ผู้ผลิตซอสและเครื่องปรุงรสพยายามปรับปรุงและพัฒนาออกผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดมากขึ้นเพื่อขยายตลาด จะมีส่วนผลักดันให้ตลาดซอสและเครื่องปรุงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 


 

3) จากการรีวิวเอกสารพบว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้การสั่งสินค้าออนไลน์เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น มีผู้ให้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์จำนวนหลายเว็บไซต์ ซึ่งมีทั้งที่เป็นธุรกิจค้าปลีกแบบมีหน้าร้านและไม่มีหน้าร้าน เช่น LuLu supermarket , Geant online, Careefour, Choitram, www.desertcart.ae เป็นต้น โดยมีการจำหน่ายสินค้ากลุ่มซอสและเครื่องปรุงรสไทยด้วยเกือบทุกเว็บไซต์

4)   นอกจากนี้ ความนิยมในการบริโภคอาหารนอกบ้าน ทำให้ในปี 2558 ธุรกิจบริการอาหารของUAE สามารถสร้างรายได้ประมาณ 9,852.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.6 ต่อปี ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ (ปี 2554-2558) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้บริการจากร้านอาหารที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจของ MasterCard ในปี 2554 พบว่า ผู้บริโภคชาวเอมิเรตส์มีค่าใช้จ่ายสำหรับการรับประทานอาหารตามภัตตาคารสูงสุดในกลุ่ม GCC อยู่ที่เดือนละ 229 ดอลลาร์สหรัฐฯ (Al Masah Capital, 2014) ผู้บริโภคชาวเอมิเรตส์มองว่าการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นการมอบโอกาสพิเศษให้กับเพื่อนและครอบครัวในวาระต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน โดยภัตตาคารอาหารตะวันออกกลางได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งในแง่ของมูลค่าธุรกิจและจำนวนร้านสาขา ตามด้วยอาหารยุโรป อาหารเอเชีย อาหารอเมริกันเหนือ และพิซซ่า สำหรับร้านอาหารไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีอยู่เป็นจำนวนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมืองดูไบ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 47 แห่ง

ในปี 2562 คาดว่าจะมีธุรกิจบริการอาหารที่เปิดให้บริการประมาณ 7,000 แห่งใน UAE คาดว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่วุ่นวายของชาวเอมิเรตส์จะเป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจบริการอาหาร และในอนาคตรูปแบบธุรกิจใหม่ เช่น การบริการจัดส่งอาหารถึงบ้านจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ค่อยมีเวลาในการประกอบอาหารที่บ้านและออกมาซื้ออาหารด้วยตนเอง  ซึ่งการผลักดันยอดขายผ่านช่องทางธุรกิจบริการอาหารจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มีศักยภาพมากในอนาคต

 

2.         การค้าระหว่างประเทศ

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเครื่องปรุงรสและเครื่องแกงในตลาดโลกโดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปี (2554-2558) อยู่ที่ประมาณ 7,956.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี มีอัตราเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ต่อปี ลักษณะตลาดเครื่องปรุงรสและเครื่องแกงค่อนข้างกระจายตัว แต่ละประเทศมีสัดส่วนนำเข้าไม่แตกต่างกันมากนักโดยประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก มีส่วนแบ่งตลาดรวมร้อยละ 35.2 เรียงลำดับตามส่วนแบ่งตลาดได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยมีเพียงประเทศแคนาดาเท่านั้นที่มูลค่านำเข้าเฉลี่ยในช่วง 5 ปี (2554-2558) มีอัตราเติบโตในอัตราร้อยละ 12 ส่วนที่เหลือต่างมีอัตราขยายตัวในระดับต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยเฉพาะประเทศสหราชอาณาจักรและเยอรมนีอัตราเติบโตน้อยกว่าร้อยละ 1 ขณะที่ประเทศสมาชิกในตะวันออกกลางมีมูลค่านำเข้าเครื่องปรุงรสและเครื่องแกงจากทั่วโลกเฉลี่ยในช่วง 5 ปี (2554-2558) อยู่ที่ 342.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดโลกร้อยละ 4.3 มีอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 17.6 นับเป็นการเติบโตที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นว่ามีการเปิดรับวัฒนธรรมการบริโภคอาหารจากต่างถิ่นมากขึ้น คล้ายกับการเติบโตของตลาดยุโรปเมื่อหลายปีก่อน

เมื่อพิจารณารายประเทศในตะวันออกกลาง พบว่าตลาดนำเข้าเครื่องปรุงรสและเครื่องแกงที่สำคัญ 5 อันดับแรก เฉลี่ยในช่วง 5 ปี (2554-2558) มีสัดส่วนมูลค่านำเข้ารวมถึงร้อยละ 72.3 ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย (สัดส่วนร้อยละ 28.0) UAE (สัดส่วนร้อยละ 21.8) คูเวต (สัดส่วนร้อยละ 10.8) อิสราเอล (สัดส่วนร้อยละ 6.2)  และเลบานอน (สัดส่วนร้อยละ 5.5)  ดังภาพ ส่วนตลาดที่สำคัญรองลงมา เช่น การ์ตา จอร์แดน บาห์เรน โอมาน อิรัก เป็นต้น

ในส่วนของประเทศไทยพบว่ามูลค่าส่งออกเครื่องปรุงรสและเครื่องแกงทั่วโลก เฉลี่ยในช่วง 5 ปี (2554-2558) เท่ากับ 511.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี มีอัตราขยายตัวของมูลค่าส่งออกเฉลี่ยร้อยละ 5.1 ขณะที่ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสและเครื่องแกงไปตลาดตะวันออกกลางเฉลี่ยในช่วง 5 ปี(2554-2558)  มีมูลค่าประมาณ 14.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี มีส่วนแบ่งตลาดเพียงประมาณร้อยละ 4.3 ของตลาดเท่านั้น เมื่อพิจารณาตลาดส่งออกอันดับที่ 11-30 ของไทย พบว่ามีเพียง 3 อันดับที่เป็นประเทศในตะวันออกกลาง โดยมี อิสราเอลเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 23 UAE อันดับที่ 25 ซาอุดิอาระเบีย อันดับที่ 27 รายละเอียดดังภาพที่ 4.18  พบว่าซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นตลาดนำเข้าเครื่องปรุงรสและเครื่องแกงกลุ่มนี้มากที่สุดในภูมิภาคกลับนำเข้าจากไทยน้อยมาก ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสและเครื่องแกงของไทยนั้นยังเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลางเพียงบางประเทศ ต้องอาศัยการเจาะตลาดอีกมาก และการที่พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปิดรับการบริโภคอาหารต่างถิ่นเพิ่มขึ้น ก็น่าจะยังมีโอกาสในการขยายการส่งออก

นอกจาก UAE จะเป็นตลาดการบริโภคอาหารที่มีแนวโน้มขยายตัวดี เนื่องจากมีความหลากหลายของเชื้อชาติ และผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงแล้ว UAE ยังมีบทบาทในการเป็นศูนย์กระจายสินค้าอาหารต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอ่าวอาหรับ รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคใกล้เคียงอีกด้วย เนื่องจากความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจโลจิสติกส์และการมีโครงสร้างการขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำที่มีศักยภาพสูง ประกอบกับ UAE ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายเงินทุน การโอนผลกำไร เงินปันผล ดอกเบี้ย ส่งผลทำให้ UAE โดยเฉพาะรัฐดูไบเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่มีศักยภาพโดยมีปริมาณสินค้าต่างๆ ผ่าน UAE ต่อปีสูงที่สุดอันดับ 1 ภูมิภาค และสูงที่สุดอันดับ 3 ของโลก รองจากฮ่องกงและสิงคโปร์

บทบาทที่มีส่วนช่วยสนับสนุน UAE ให้กลายเป็น Hub หรือ Spring board สำคัญในภูมิภาคนี้คือการจัดตั้งเขตปลอดอากร (Free zone) หรือพื้นที่ที่รัฐบาลได้กำหนดขอบเขตขึ้นมาเพื่อให้ผู้ประกอบการในภาคเอกชนนั้นได้ดำเนินธุรกิจอย่างเสรี โดยมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มากกว่าพื้นที่เศรษฐกิจทั่วไป เป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าลงทุนทำธุรกิจและการค้าจากทั่วโลก ปัจจุบันเขตปลอดอากรใน UAE มีทั้งสิ้น 37 เขต และส่วนใหญ่อยู่ในรัฐดูไบมากกว่า 20 เขต ซึ่งแต่ละเขตจะจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์

บทบาทการส่งออกต่อของ UAE : ในช่วงปี 2554-2558 พบว่า UAE ส่งออกเครื่องปรุงรสและเครื่องแกง (HS 210390) ไปตะวันออกกลางมีมูลค่าเฉลี่ย 24.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี มีอัตราเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 8.62 โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย โอมาน คูเวต และการ์ตา แนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสำหรับประเทศอิหร่าน ขณะที่มูลค่าส่งออกไปซาอุดิอาระเบียมีอัตราเติบโตเพียงเล็กน้อย สวนทางกับโอมาน คูเวต และการ์ตาที่แนวโน้มส่งออกเครื่องปรุงรสและเครื่องแกงชะลอตัวลง สำหรับมูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อปีไปตลาดแอฟริกา แคริบเบียน และหมู่เกาะแปซิฟิก(ACP group[1]) เท่ากับ 4.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี มีอัตราเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 17.89 โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ซูดาน เคนยา โคโมรอส แทนซาเนีย และกานา มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้น กานา ที่มูลค่าส่งออกลดลงต่อเนื่อง และจากข้อมูลล่าสุดของ UN COMTRADE statistics ปี 2558 พบว่ามูลค่าส่งออกเครื่องปรุงรสและเครื่องแกง จากUAE  ไปตลาดต่างๆ 5 อันดับแรก ได้แก่ โอมาน ซาอุดิอาระเบีย คูเวต จอร์แดนและการ์ตา

จากภาพ  ซึ่งแสดงตัวเลขการค้าสรุปภาพรวม จะเห็นได้ว่าถึงแม้ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องปรุงรสและเครื่องแกงที่มีส่วนแบ่งตลาดโลกถึงร้อยละ 6.43 แต่ UAE ซึ่งไม่ใช่ผู้ผลิตกลับสามารถส่งออกเครื่องปรุงรสและเครื่องแกงไปตลาดตะวันออกกลางและกลุ่ม ACP มีมูลค่ามากกว่าไทยถึง 3.76 เท่าของมูลค่าการค้าของไทยกับตะวันออกกลางและกลุ่ม ACP  และที่น่าสนใจคือทั้ง 2 ภูมิภาคแนวโน้มตลาดมีทิศทางขยายตัวในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับภาพรวมอัตราการเติบโตของสินค้ากลุ่มนี้ในตลาดโลก ดังนั้นการแสวงหาช่องทางในการเข้าสู่ตลาดด้วยการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจและสร้างเครือข่ายการผลิตกับผู้ประกอบการใน UAE จะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ไทยสามารถขยายการค้าในตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาได้มาก 



[1]The African, Caribbean and Pacific Group of States (ACP) ประกอบด้วยประเทศสมาชิกในแอฟริกา แคริบเบียน และหมู่เกาะแปซิฟิก รวม 77 ประเทศ