Get Adobe Flash player

1. อาหารแปรรูป

Euromonitor คาดการณ์ตลาดอาหารแปรรูปใน UAE จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.7 ต่อปี นับจากนี้ถึงปี 2563 โดยอาหารแปรรูปกลุ่มที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์นม กลุ่มขนมจากน้ำตาล ช็อกโกแลต กลุ่มข้าว พาสต้า ก๋วยเตี๋ยว กลุ่มขนมปัง ขนมอบ เค้ก กลุ่มขนมหวานและของกินเล่น จะเห็นได้ว่าชาว UAE มีพฤติกรรมในการบริโภคของกินเล่นและขนมหวานจำนวนมาก

 

 

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่จำหน่ายในร้านค้าจะมีหลากหลายแบรนด์และมาจากหลายประเทศ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่มีหลายเชื้อชาติและต้องการบริโภคสินค้าที่คุ้นเคยจากประเทศของตน ดังนั้นตลาดจึงค่อนข้างเปิดกว้างสำหรับสินค้าใหม่ๆ

                          2. ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

ในกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมซึ่งไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลมและน้ำผลไม้เป็นที่นิยมอย่างมาก แม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องผลเสียทางสุขภาพคนก็ยังชอบดื่มน้ำอัดลมและมักดื่มพร้อมฟาสต์ฟู้ดในงานเลี้ยง

ชาวเอมิเรสต์ส่วนใหญ่ดื่มกาแฟหรือน้ำส้มเป็นส่วนหนึ่งของอาหารเช้า ความต้องการน้ำส้มและน้ำแอปเปิ้ลจำนวนมากไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มเด็กๆ แต่ยังรวมถึงผู้ใหญ่ด้วย ผู้บริโภคชอบน้ำผลไม้ที่มีชิ้นผลไม้ด้วย

ปี 2557 มีอัตราการเติบโตสองหลัก โดยเฉพาะกาแฟพร้อมดื่ม, functional water แบบขวด, flavoured water แบบขวด  ซึ่งเป็นการพัฒนาจากผลิตภัณฑ์พื้นฐานเพียงเล็กน้อย  การกระจายสินค้าโดยส่วนใหญ่จะใช้การส่งเสริมการขายของแต่ละยี่ห้อ บ่อยครั้ง ซึ่งทำให้สามารถเพิ่มยอดขายได้

การจำหน่ายเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่

o   On trade คือ การจำหน่ายสินค้าผ่านธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม ร้านกาแฟและบาร์ เป็นต้น

o   Off-trade คือ การจำหน่ายสินค้าผ่านธุรกิจการค้าส่งและค้าปลีก เช่น ห้างการค้าสมัยใหม่ (Modern trade) ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านค้าลดราคา ร้านขายของชำ เป็นต้น รวมทั้งการจำหน่ายผ่านตู้ขายอัตโนมัติ (Vending) และอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อกลับบ้าน

 


 

UAEประสบกับปัญหาภาวะโรคอ้วนอย่างรุนแรงจึงทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าและสร้างกำไรจากการขายเครื่องดื่มด้วยการเพิ่มส่วนผสมวิตามินที่มีส่วนช่วยเรื่องสุขภาพและลดความอ้วน (slimming)  ถึงแม้ว่าจะมีบางผลิตภัณฑ์ที่ยังเป็นข้อสงสัยในการอ้างถึงเรื่องเพื่อสุขภาพที่ดี  ถึงแม้ UAE มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก  แต่ก็ไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคในประเทศได้เข้าใจอย่างถูกต้องถ่องแท้ในเรื่องส่วนผสมของอาหาร และการมีสุขภาพที่ดีได้  ในทางตรงข้าม ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดใน UAE คือผลิตภัณฑ์ที่มีความหวาน  การจะนำผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดเครื่องดื่ม จะต้องประกอบด้วยน้ำตาลเป็นจำนวนมาก  โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสุขภาพที่ดี

4. ธุรกิจบริการอาหาร

ธุรกิจบริการอาหาร (consumer foodservice) โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มหลักได้แก่ ร้านกาแฟและบาร์ (Cafés/Bars)  ภัตตาคารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full-service restaurants)ร้านอาหารจานด่วน (Fast food)  ร้านอาหารแบบบริการตนเอง (Self-service cafeterias)  ร้านอาหารตามข้างทาง (Street stalks/Kiosks) และร้านบริการจัดส่งอาหารถึงบ้านและร้านอาหารแบบซื้อกลับไปทานที่บ้านเท่านั้น (100% Home delivery/Takeaway)

       

สถานการณ์ภาพรวม

ธุรกิจบริการอาหารจัดเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย ทั้งชาวท้องถิ่น นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศ   โดยในปี 2558 ธุรกิจบริการอาหารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถสร้างรายได้ประมาณ 9,852.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.6 ต่อปี ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ (ปี 2554-2558)  ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้พวกเขาหันมาเลือกใช้บริการจากร้านอาหารที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจของ MasterCard ในปี 2554 พบว่า ผู้บริโภคชาวเอมิเรตส์มีค่าใช้จ่ายสำหรับการรับประทานอาหารตามภัตตาคารสูงสุดในกลุ่ม GCC อยู่ที่เดือนละ 229 ดอลลาร์สหรัฐฯ (Al Masah Capital, 2014)


·       ร้านกาแฟและบาร์

ในปี 2558 สามารถสร้างรายได้ประมาณ 4,131.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯคิดเป็นร้อยละ 41.9 ของมูลค่าการตลาดธุรกิจบริการอาหารทั้งหมดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่งผลให้เป็นรูปแบบธุรกิจบริการอาหารที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวเอมิเรตส์ที่นิยมออกไปพบปะสังสรรค์กันตามสถานที่ดังกล่าวมากขึ้น หรือเพียงแค่ไปนั่งรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มเล็กน้อย รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ชื่นชอบบรรยากาศการนั่งพักผ่อนตามร้านกาแฟและบาร์

ร้านกาแฟและบาร์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถแบ่งประเภทธุรกิจย่อยออกเป็นผับ/บาร์ ร้านกาแฟปรุงพิเศษ ร้านคาเฟ่ และร้านน้ำผลไม้คั้นสด/ปั่น ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้ ได้แก่ ร้าน Starbucks ของบริษัท M H Alshaya ร้าน Costa Coffee ของบริษัท Emirates Leisure Retail ร้าน Caribou Coffee ร้าน Gloria Jean’s ของบริษัท Jireh International และร้าน Caffè Nero มีส่วนแบ่งธุรกิจรวมกันร้อยละ 4.9 ของมูลค่าการตลาดธุรกิจร้านกาแฟและบาร์ทั้งหมดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร้านกาแฟปรุงพิเศษที่เป็นร้านเครือสาขาจากต่างประเทศจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในประเทศ แต่ผู้บริโภคชาวเอมิเรตส์จำนวนมากยังคงชื่นชอบร้านกาแฟแบบดั้งเดิมที่เป็นธุรกิจอิสระขนาดเล็กและมีบริการเครื่องสูบ Shisha ด้วย



ภัตตาคารที่ให้บริการเต็มรูปแบบในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ค่อนข้างกระจายตัวสูง โดยใน ปี 2556 ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้ ได้แก่ ร้าน Pizza Hut ของบริษัท Yum! Brands ร้าน Hatam ของบริษัท Al Khaja Group ร้าน Paul ของ Holder, Groupe ร้าน Chili's ของบริษัท Brinker International และร้าน TGI Friday's ของบริษัท Carlson Cos มีส่วนแบ่งธุรกิจรวมกันร้อยละ 18.4 ของมูลค่าการตลาดธุรกิจภัตตาคารที่ให้บริการเต็มรูปแบบทั้งหมดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   อย่างไรก็ตาม จากกระแสความนิยมรสชาติอาหารแบบท้องถิ่นของผู้บริโภคชาวเอมิเรตส์ ส่งผลให้ภัตตาคารอาหารต่างชาติบางรายได้พยายามปรับเมนูของตนให้สอดรับกับความต้องการดังกล่าว เช่น ร้าน Pizza Hut ที่เพิ่มตัวเลือกแป้งแบบบาง และหน้าพิซซ่ารสชาติใหม่ อาทิ ใบสะระแหน่ผสมชีส halloumi

 



ร้านอาหารจานด่วนยอดนิยมในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ของต่างชาติ อาทิ ร้าน KFC ของบริษัท Yum! Brands ร้าน McDonald’s ของบริษัท McDonald's Corp ร้าน Subway ของบริษัท Doctor's Associates ร้าน Burger King ของบริษัท Burger King Worldwide และร้าน Hardee's ของบริษัท CKE Restaurants มีส่วนแบ่งธุรกิจรวมกันร้อยละ 32.3 ของมูลค่าการตลาดธุรกิจร้านอาหารจานด่วนทั้งหมดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่วิเคราะห์พบว่าร้านอาหารจานด่วน ชื่อดังที่เป็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศบางราย โดยเฉพาะร้านที่อยู่ในระดับกลาง เช่น ร้าน KFC ร้าน Hardee’s กำลังประสบปัญหาการสูญเสียส่วนแบ่งตลาด เนื่องจากผู้บริโภคชาวเอมิเรตส์บางส่วนยอมเสียเงินมากขึ้น เพื่อแลกกับอาหารที่มีคุณภาพสูงกว่า ขณะที่บางส่วนลดค่าใช้จ่ายลง โดยเปลี่ยนไปรับประทานอาหารจากร้านอิสระหรือร้านอาหารในท้องถิ่นที่มีราคาถูกกว่าแทน

ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหารชั้นนำ

จากกฎหมายของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศจะต้องมีสัญชาติเอมิเรตส์ หรือร่วมธุรกิจกับชาวเอมิเรตส์เท่านั้น โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจบริการอาหารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้แก่ บริษัท Kuwait Food เจ้าของแฟรนไชส์ KFC 98 แห่ง และ Pizza Hut 69 แห่ง  บริษัท Emirates Fast Food เจ้าของแฟรนไชส์McDonald’s 109 แห่ง  บริษัท Subway Arabia   บริษัท First Food Services เจ้าของแฟรนไชส์ Burger King และบริษัท M H Alshaya เจ้าของแฟรนไชส์ Starbucks 102 แห่ง  ร้าน China Bistro ของ PF Chang และร้าน The Cheesecake Factory ซึ่งผู้ประกอบการชั้นนำทั้ง 5 รายถือว่าล้วนดำเนินธุรกิจให้กับแบรนด์ร้านอาหารชื่อดังของต่างชาติ   นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรายอื่นที่สำคัญ เช่น

·       บริษัท Apparel Group เจ้าของธุรกิจบริการอาหารจากแคนาดา อาทิ ร้านกาแฟ Tim Horton’s และร้านไอศกรีม Cold Stone Creamery

·       บริษัท Gourmet Gulf เจ้าของร้าน YO! Sushi ร้าน Panda Express ร้าน Morelli's Gelato ร้าน The Hard Rock Café และร้าน California Pizza Kitchen

·       บริษัท Rmal Hospitality เจ้าของภัตตาคารและบาร์ระดับไฮเอ็นด์ อาทิ Frankie’s Italian Lounge and Grill   ร้านอาหารญี่ปุ่น Wagamama  บาร์ Mai Tai Lounge และร้าน Marco Pierre White Steakhouse & Grill

·       บริษัท Bin Hendi Group เจ้าของร้านการแฟ Café Havana ภัตตาคาร Mini Chinese ร้าน Japengo ภัตตาคาร Bella Donna ร้านกาแฟ Second Cup ร้าน Duck King และร้านกาแฟ NOW Café

·       บริษัท Saleh Bin Lahej Group เจ้าของร้าน The Pizza Company ร้าน Chili’s
ร้าน
Romano’s Macaroni Grill (อาหารอิตาเลี่ยน) ร้าน El Chico (อาหารเม็กซิกัน) ร้าน Cantina Laredo ร้าน Black Canyon (อาหารเอเชีย) และร้าน Steak n’ Shake

·       บริษัท Jumeriah Restaurants เจ้าของร้าน Noodle House ร้าน Rivington Grill (อาหารบริติช) ร้าน Urbano (อาหารอิตาเลี่ยน) และร้านThe Ivy

สำหรับร้านอาหารไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเมืองดูไบ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 47 แห่ง แต่มีร้านที่ดำเนินธุรกิจโดยคนไทยเพียง 2 แห่งเท่านั้น เช่น ร้านอาหารไทย “ใบตอง” ของบริษัทซี.เอ็ม.โอเรียนทอล จำกัด   ดังนั้น การเข้าไปลงทุนในธุรกิจบริการอาหารสำหรับผู้ประกอบการไทยในตลาดนี้ยังมีโอกาสอีกค่อนข้างมาก

 

 

แนวโน้ม

ในปี 2562 คาดว่าจะมีธุรกิจบริการอาหารที่เปิดให้บริการประมาณ 7,000 แห่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   โดยร้านอาหารจานด่วนยังคงเป็นรูปแบบของธุรกิจที่มีจำนวนร้านสาขามากที่สุด ตามด้วยร้านกาแฟและบาร์ และภัตตาคารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ   และเมื่อพิจารณาในแง่มูลค่าตลาด คาดว่าธุรกิจบริการอาหารจะสร้างรายได้ถึง 12,315.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยอัตราการขยายตัวที่ช้าลงเล็กน้อยเฉลี่ยร้อยละ 7.7 ต่อปี ตลอดช่วงที่คาดการณ์ (ปี 2559-2561)   โดยร้านกาแฟและบาร์ ครองส่วนแบ่งมูลค่าตลาดมากที่สุดร้อยละ 45.3 ตามด้วยร้านอาหารจานด่วนและภัตตาคารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ร้อยละ 26.6 และ 26.3 ตามลำดับ   ทั้งนี้ คาดว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่วุ่นวายของชาวเอมิเรตส์จะเป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจบริการอาหาร และในอนาคตรูปแบบธุรกิจใหม่ เช่น การบริการจัดส่งอาหารถึงบ้านจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ค่อยมีเวลาในการประกอบอาหารที่บ้านและออกมาซื้ออาหารด้วยตนเอง   นอกจากนี้ชาวเอมิเรตส์บางส่วนยังมีแนวโน้มความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งอาหารที่ปราศจากสารกลูเตนด้วย ซึ่งเป็นผลจากการรณรงค์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคอ้วน

--------------------------------------------------------

แหล่งอ้างอิง

Aaron Allen.  (Mar 2014).  The Middle East: The Land of Restaurant Opportunity (Online).  Retrieved from http://www.slideshare.net/AaronAllenAssociates/aaron-allenrestaurantconsultantmiddleeastebook

Agriculture and Agri-Food Canada, Global Analysis Division.  (May 2015).  Foodservice ProfileThe United Arab Emirates (Online).  Retrieved from http://www5.agr.gc.ca/resources/prod/Internet-Internet/MISB-DGSIM/ATS-SEA/PDF/6608-eng.pdf

Al Masah Capital Management Limited(April 2014).  Al Masah Capital: GCC Foodservice Sector (Online).  Retrieved from http://almasahcapital.com/uploads/report/pdf/report_114.pdf

Euromonitor International.  (March 2014).  Consumer Foodservice in the Gulf Cooperation Council: Is the Sky the Limit? (Online).  Retrieved from http://www.euromonitor.com/consumer-foodservice-in-the-gulf-cooperation-council-is-the-sky-the-limit-/report