Get Adobe Flash player

1. รูปแบบธุรกิจ

รัฐบาลกลางได้กำหนดรูปแบบธุรกิจที่สามารถดำเนินกิจการใน UAE ได้ แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่

1)   General Partnership Company (ห้างหุ้นส่วนสามัญ)

2)   Partnership-en-commendams (ห้างหุ้นส่วนจำกัด)

3)   Joint venture Company (บริษัทร่วมทุน)

4)   Public Shareholding Company (บริษัทผู้ถือหุ้นสาธารณะ)

5)   Private Shareholding Company (บริษัทผู้ถือหุ้นเอกชน)

6)   Limited liability Company (LLC) (บริษัทจำกัด)

7)   Share Partnership Company (ห้างหุ้นส่วนในหุ้น)

           ในทุกประเภทบริษัทจำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ (Business License /Trade License) ซึ่งโดยพื้นฐานใบอนุญาตประกอบกิจการ มี 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท โดยบริษัทหนึ่งสามารถออกใบอนุญาตได้เพียงหนึ่งประเภท ดังนี้

    Commercial License  ออกให้แก่บริษัทที่ทำการค้าขาย

    Industrial License ออกให้แก่โรงงานที่ทำการผลิตสินค้า

    Professional License ออกให้แก่บริษัทที่จัดหางานบริการ ช่างฝีมือ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือให้คำปรึกษา

กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ Department of Economic Development (DED) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบออกใบอนุญาตประกอบกิจการ โดยกระทรวงฯ ได้เปิดสำนักงานเพื่อดำเนินการในหลายพื้นที่ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Clock Tower รัฐดูไบ สำหรับธุรกิจบางประเภทจำเป็นต้องได้รับการรับรองเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเพื่อขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการเงิน บริการด้านสุขภาพ สื่อสิ่งพิมพ์ ค้าขายอาหาร เป็นต้น

          สำหรับชาวต่างชาติผู้ที่ต้องการก่อตั้งบริษัทในยูเออี รูปแบบบริษัทที่เหมาะสมที่สุด คือ รูปแบบบริษัทจำกัด (LLC) หรือเรียกอีกอย่างว่า บริษัทท้องถิ่น (Local Company) ซึ่งเป็นรูปแบบบริษัทที่เก่าแก่ที่สุด มีเงื่อนไขคือ สปอนเซอร์ท้องถิ่นต้องมีสัดส่วนการถือหุ้น (Ownership) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 และชาวต่างชาติไม่เกินร้อยละ 49  รูปแบบ LLC สามารถก่อตั้งโดยผู้ร่วมหุ้นอย่างน้อย 2 คน แต่ไม่เกิน 50 คน ซึ่งแต่ละคนจะจำกัดความรับผิดชอบตามสัดส่วนหุ้นที่ตัวเองถือในบริษัท รูปแบบ LLC สามารถมอบหมายหน้าที่การบริหารจัดการให้ผู้ถือหุ้นในบริษัทหรืออาจจะเป็นบุคคลภายนอกบริษัทก็ได้

          จากข้อมูลข้างต้น สังเกตได้ว่าสปอนเซอร์ท้องถิ่นมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่าชาวต่างชาติผู้เข้ามาลงทุน  ในส่วนนี้ผู้ถือหุ้นสามารถทำข้อตกลงระหว่างกันในเรื่องการแบ่งผลกำไรให้แก่สปอนเซอร์ตามสัดส่วนจริงที่ได้ลงทุนไป  หรืออาจจะไม่แบ่งผลกำไรเลยก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม สปอนเซอร์ต้องได้ค่าธรรมเนียมรายปี  ซึ่งอาจคิดเป็นอัตราส่วนของผลกำไร หรืออัตราส่วนของรายรับแต่ที่นิยมกันมากที่สุดคือ จ่ายตามจำนวนเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น เพราะจะได้ไม่ต้องเปิดเผยตัวเลขบัญชีให้สปอนเซอร์ทราบ

ข้อดีของรูปแบบบริษัท LLC คือ

     สามารถติดต่อทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐและบริษัทท้องถิ่นได้ง่ายกว่ารูปแบบอื่น

     มีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายสามารถรองรับธุรกิจได้ทุกประเภท

     หาสำนักงานหรือร้านค้าได้ในราคาไม่แพง ไม่มีข้อจำกัด ตรงกับความต้องการและศักยภาพของธุรกิจ

     ไม่กำหนดทุนขั้นต่ำของบริษัท

     สามารถเปิดบัญชีธนาคารระหว่างประเทศได้ง่ายในนามบริษัทจำกัด

 

2. ขั้นตอนการขออนุญาตจัดตั้งธุรกิจ

ในการจัดตั้งเป็นบริษัทท้องถิ่นหรือนิติบุคคลเชิงพาณิชย์อื่นๆ ใน UAE สัดส่วนของการครอบครองเป็นเจ้าของสำหรับชาวต่างชาติจะถูกจำกัดอยู่ที่ 49% ส่วนที่เหลืออีก 51% จะต้องถูกถือสิทธิ์โดยรัฐบาลของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

                    การจัดตั้งสำนักงาน หรือสาขาจะต้องได้รับความยินยอมจากกระทรวงเศรษฐกิจและจะต้องมีเงินฝากค้ำประกันของตัวบริษัทที่จะจัดตั้งเป็นจำนวนเงิน 50,000 AED โดยสำนักงานสาขาของบริษัทต่างชาติจะต้องได้รับการสนับสนุนและการดูแลจากภาครัฐของยูเออี ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องถึงการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ในธุรกิจบางอย่าง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล เช่น ธนาคารกลางเกี่ยวกับการเงิน และธุรกิจเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาวิศวกรรมและการก่อสร้าง

                    สำหรับบริษัทที่ต้องการจะนำเข้าสินค้าเพื่อขายใน UAE เพียงอย่างเดียว จะต้องแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายหรือบริษัทผู้ค้าปลีกที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลแล้วเท่านั้น จึงจะทำการส่งสินค้ามาเพื่อจำหน่ายได้

                    อย่างไรก็ตาม ใน UAE จะมีเขตการค้าเสรี (Free Zone) โดยจะมีความหลากหลายของผลประโยชน์ให้กับธุรกิจและระดับของความยืดหยุ่นรวมถึงการถือครองธุรกิจ 100% โดยชาวต่างชาติ ซึ่งแบ่งเป็น Free Zone Enterprises (FZEs), Free Zone Companies (FZCOs) หรือ Free Zone Limited Liability Companies (FZ-LLC)

ขั้นตอนในการลงทะเบียนจัดตั้งบริษัทมีดังนี้

1)        ทำข้อตกลงกับหุ้นส่วนชาว UAE หรือสปอนเซอร์ท้องถิ่น เพื่อหาข้อสรุปในการจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี ส่วนแบ่งรายได้ของหุ้นส่วน แจ้งความคาดหวังในการรับความช่วยเหลือจากสปอนเซอร์ หุ้นส่วนทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา

2)        ยื่นเอกสารและกรอกแบบฟอร์มต่อกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ (DED) เพื่อขอชื่อบริษัทและรับการอนุมัติในการทำธุรกิจ

3)        หาสถานที่เพื่อจัดตั้งสำนักงานหรือร้านค้า เพื่อนำสัญญาเช่าไปเป็นหลักฐานในการยื่นขอจดทะเบียนบริษัท

4)        ร่างบันทึกข้อตกลง(MOA) ร่วมกับสปอนเซอร์ท้องถิ่นโดยบริษัทกฎหมายสามารถช่วยร่างบันทึกได้ บันทึกข้อตกลงต้องระบุถึงรายละเอียดในการดำเนินธุรกิจ ส่วนแบ่งความเป็นเจ้าของบริษัทของหุ้นส่วน การจัดการส่วนแบ่งผลกำไร ขั้นตอนนี้ต้องได้รับการรับรองจากศาลดูไบ (Dubai Court)

5)        ยื่น MOA และแบบฟอร์มใบอนุญาตจัดตั้งบริษัท สัญญาเช่าสำนักงานหรือร้านค้าและเอกสารทางกฎหมายอื่นๆ แก่ DED และจ่ายค่าธรรมเนียม จากนั้นอีก 1 สัปดาห์จึงจะได้รับใบอนุญาต(License) ทั้งนี้กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์

 

                    ค่าใช้จ่ายสำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการเริ่มต้นที่ 14,000 AED (ประมาณ 123,200 บาท) แปรผันตามขนาดและประเภทของธุรกิจ

                    สำหรับเรื่องที่ต้องระมัดระวังคือ ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจข้อตกลงต่างๆ และเจรจากับสปอนเซอร์ท้องถิ่นให้รับทราบไปในทิศทางเดียวกันก่อนที่จะนำเอกสารไปรับรองที่ศาล รวมถึงต้องทราบประเภทของใบอนุญาตก่อนยื่นเรื่อง และต้องสามารถยืนยันค่าธรรมเนียมและบัญชีธนาคารของบริษัทแก่ศาลได้

เอกสารที่ใช้ประกอบการจัดตั้งบริษัท (related-business documents)

1)    จดหมายอ้างอิงจากธนาคาร (bank reference letter) คือเอกสารจากธนาคารที่จะออกให้แก่บริษัทเพื่อลงทะเบียนบุคคลใดบุคคลหนึ่งในบริษัท สามารถใช้ในการเปิดบัญชีของบริษัทและใช้เพื่อวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะ

    โดยจดหมายจะออกให้เมื่อมีการยื่นขอ จดหมายจะจ่าหน้าถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (To Whomever it may concern) เนื้อความจดหมายจะมีข้อความรับรองสถานะของบัญชีธนาคารและอาจระบุบ้านเลขที่ในจดหมายเพื่อใช้ยืนยันบิลค่าใช้จ่ายของบริษัท จดหมายต้องมีลายเซ็นและตราประทับของธนาคาร พร้อมทั้งหัวจดหมายของธนาคารด้วย

2)    เอกสารที่มีผลทางกฎหมาย (legalization of the documents) คือ เอกสารที่ผ่านการรับรองเอกสาร(Attestation) หรือผ่านการรับรองลายมือชื่อ(notarization) หรือทั้งสองอย่าง โดยเอกสารที่มีผลทางกฎหมายจะช่วยทำให้มีความน่าเชื่อถือและสามารถนำไปใช้ติดต่อทางธุรกรรมในทางกฎหมาย เพื่อพิสูจน์กับองค์กรที่ร้องขอเอกสารว่าเป็นเอกสารของจริง สามารถรับรองเอกสารได้จากหลายแห่ง เช่น องค์กรที่ออกเอกสารนั้น ธนาคาร ฝ่ายบัญชี บริษัทกฎหมาย บริษัทรับรองลายมือชื่อ สถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศที่ท่านกำลังจะใช้เอกสารเหล่านั้น

3)    หนังสือบริคณห์สนธิ (Memorandum of Association MOA) คือหนังสือที่หุ้นส่วนของบริษัททุกคนรับรู้และเขียนขึ้นมาร่วมกัน และได้เห็นด้วยกับข้อความในแต่ละอนุประโยค ซึ่งต้องมีลายเซ็นจากหุ้นส่วนทุกคนกำกับ เนื้อหาภายในระบุถึงรายละเอียดการดำเนินงานของบริษัท ประเภทธุรกิจของบริษัท ที่มาแหล่งเงินทุน สัดส่วนในหุ้นของหุ้นส่วนแต่ละคนและสัดส่วนส่วนแบ่งผลกำไร ชื่อหุ้นส่วนลำดับแรก ขอบเขตอำนาจของผู้อำนวยการ กำหนดการนัดประชุม รายละเอียดการจดบันทึก และเรื่องอื่นๆที่คิดว่าจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหุ้นส่วนทุกคนในบริษัทสามารถทำการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิได้ในอนาคต

4)    ใบรับรองความประพฤติ (good conduct certificate) คือ ใบรับรองที่ออกโดยกรมตำรวจ ใช้ในกรณีที่ท่านต้องการขอใบทะเบียนการค้า(trade license) กับกระทรวงการท่องเที่ยวของดูไบ หรือกรณีที่ท่านต้องการเป็นผู้แทนบริษัท(PRO) ในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเราต้องไปที่สถานีตำรวจนำหนังสือเดินทางตัวจริงและรูปถ่าย 2 ใบ กรอกแบบฟอร์ม แสตมป์ลายนิ้วมือ ตรวจเอกสาร กระบวนการขอใบรับรองความประพฤติจะใช้ระยะเวลา 3 วันทำการ

กฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง

   Commercial Companies Law (CCL)

   Commercial Register Law

   Commercial Agencies Law

   Civil and Commercial Codes

นอกจากนี้ ในแต่ละรัฐจะมีการออกใบอนุญาตเฉพาะในแต่ละรัฐเพื่อการประกอบธุรกิจในรัฐนั้น ซึ่งจะแตกต่างกันไป ทั้งนี้  ขึ้นอยู่กับกับนโยบายท้องถิ่นในรัฐนั้น

3. สิทธิประโยชน์การลงทุนในเขตปลอดอากร

Free Zone เขตปลอดอากร คือพื้นที่ที่รัฐบาลได้กำหนดขอบเขตขึ้นมาเพื่อให้ผู้ประกอบการในภาคเอกชนนั้นได้ดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร โดยมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มากกว่าพื้นที่เศรษฐกิจทั่วไป ปัจจุบัน เขตปลอดอากรในยูเออีมีทั้งสิ้น 37 เขต และส่วนใหญ่อยู่ในรัฐดูไบมากกว่า 20 เขต เขตปลอดอากรในดูไบจำแนกออกเป็นธุรกิจ 2 ประเภท โดยมีกฎเกณฑ์และสิทธิประโยชน์ดังนี้

 

 

เขตปลอดอากรที่รัฐดูไบได้ริเริ่มจัดตั้งขึ้น คือพื้นที่เฉพาะที่สามารถให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปเช่าพื้นที่ทำธุรกิจได้โดยสามารถถือหุ้นได้ 100% และไม่ต้องมีหุ้นส่วนเป็นชาวท้องถิ่นเหมือนกับการทำธุรกิจนอกเขต และมีข้อยกเว้นทางด้านภาษีโดยที่ไม่ต้องจ่ายทั้งภาษีรายได้ส่วนบุคคล ภาษีรายได้บริษัท ภาษีนำเข้าและส่งออก ทั้งยังสามารถโอนเงินกลับประเทศต้นทางได้อย่างไม่มีข้อจำกัด บางที่อาจให้สิทธิ์พิเศษในการถือครองอสังหาริมทรัพย์ได้ด้วย รวมทั้งการจัดจ้างบุคลากรและแรงงานซึ่งจะไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน แต่ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบเฉพาะของแต่ละเขตธุรกิจเสรี  โดยสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารเขตเสรีแต่ละเขต ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ชาวต่างชาติพากันมาลงทุนในดูไบกันมากขึ้น และเพื่อรองรับการขยายตัวของนักลงทุนต่างชาติ เขตธุรกิจเสรีต่างๆ เหล่านี้อาจจะดำเนินการโดยรัฐบาลของดูไบหรือเอกชนก็ได้ บางที่อาจจะมีพื้นที่กว้างขวางกินบริเวณหลายร้อยไร่ แต่บางที่อาจจะเป็นแค่เพียงอาคารใดอาคารหนึ่ง ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่จัดตั้งเขตธุรกิจนั้นๆ ขึ้นมา แต่ละเขตจะมีพื้นที่ให้เช่าสำหรับทำสำนักงานหรือโกดังเก็บของได้ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท นอกจากนั้นยังมีสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น น้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ บริการพร้อม บางแห่งอาจมีบริการด้านอื่นๆ เสริม เช่น การรักษาความปลอดภัย การจัดหาหรือจัดจ้างพนักงาน บริการทำความสะอาด บริการไปรษณีย์ เป็นต้น หรือบางที่อาจขยายสำหรับทำเป็นที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกันก็ได้ บางแห่งนั้นออกแบบให้เป็นเหมือนกับเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่ง

4. อัตราภาษีและการนำเงินกลับประเทศ

§   อัตราภาษี

1) ภาษีเงินได้  กฎหมายภาษีอากรถูกนำไปใช้เฉพาะธุรกิจธนาคารต่างประเทศ น้ำมันและก๊าซ โดยจะไม่มีการจัดเก็บภาษีส่วนบุคคลโดยตรง แต่จะเป็นการจัดเก็บภาษีของเทศบาลต่างๆ การจัดเก็บภาษีทางอ้อมผ่านค่าธรรมเนียมอื่น และจะไม่มีการจัดเก็บภาษีในส่วนต่างของกำไรที่เกิดขึ้น

2) ภาษีมูลค่าเพิ่ม  ขณะนี้ยังไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีการขาย

§   หลักเกณฑ์การเอาเงินกลับประเทศ

UAE ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการโอนผลกำไร เงินทุน เงินปันผล ดอกเบี้ย รวมทั้งเงินส่งกลับของแรงงานที่เข้ามาทํางานใน UAE ยกเว้นบางประเทศที่ UAE ดําเนินมาตรการคว่ำบาตร อาทิ คิวบา อิหราน ไลบีเรีย ลิเบีย เมียนมาร์ เกาหลีเหนือ ซูดาน เปนตน ทั้งนี้ The Treasury Department ของ UAE เปน หน่วยงานที่ทําหน้าที่กํากับและดูแลการโอนและแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ