UAE/5 Forces Analysis อุตสาหกรรมผลไม้

    การวิเคราะห์แรงกระทบทั้ง 5 ในการดำเนินธุรกิจ (Porter’s 5 Forces Model)

อุตสาหกรรมผลไม้ 

สภาพตลาดผลไม้สด น้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋องโดยรวมใน UAE มีการแข่งขันรุนแรง เพราะมีผู้ผลิตจากทั่วโลกเข้ามาทำตลาดใน UAE เป็นเวลานานแล้ว ทั้งในส่วนของสินค้าที่เป็นแบรนด์ระดับโลก (Global Brand) หรือแบรนด์ท้องถิ่นที่ร้านค้าปลีกนำมาทำตลาด รวมทั้งต้องแข่งขันกับเครื่องดื่มชนิดอื่นที่มีหลากหลายในตลาด ส่งผลทำให้ราคาจำหน่ายที่ผู้ประกอบการได้รับอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ  จากรายงานของหลายสำนักวิจัยต่างประเมินว่าแนวโน้มการดื่มน้ำผลไม้ในตะวันออกกลางและ UAE จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยดับกระหายและมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยประเมินว่าในปี 2563 ประชากรในภูมิภาคนี้จะมีอัตราบริโภคน้ำผลไม้ต่อคนต่อปีสูงกว่าในยุโรป

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญ มีเทคโนโลยีการเพาะปลูก เก็บเกี่ยวและแปรรูปในระดับที่ทันสมัย  ผลไม้ส่งออกที่สำคัญในตลาดตะวันออกกลางและ UAE  อันดับ 1 ได้แก่ เงาะ รองลงมาคือมังคุด ลำไย มะขามหวาน มะม่วง ลิ้นจี่  ปี 2554-2558 ช่องที่ศึกษาข้อมูลพบว่าผู้บริโภคตะวันออกกลางนิยมรับประทานสับปะรดกระป๋องมากที่สุด  ไทยส่งออกมูลค่าเฉลี่ยต่อปี  66,260.26 ล้าน $US อัตราเติบโตของมูลค่านำเข้าเฉลี่ยร้อยละ 10.67 ต่อปี  ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งตลาดถึง 1 ใน 3 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด ส่วน UAE แม้ตลาดจะมีขนาดเล็กกว่า แต่การส่งออกสับปะรดกระป๋องก็ขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 51.82 ต่อปี

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แข่งขันในกลุ่มผลไม้นี้ ถือว่าไทยมีโอกาสอยู่มากในการขยายการค้าและการลงทุน  เพราะสินค้ามีความแตกต่างจากฝั่งยุโรป และมีคุณภาพสูง เมื่อเทียบกับคู่แข่งในเอเชียด้วยกัน  การวิเคราะห์แรงกระทบทั้ง 5 มีรายละเอียดดังนี้

 

          โดยภาพรวมผลิตภัณฑ์ผลไม้เมืองร้อนเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงสูง เพราะเป็นทางเลือกใหม่เพื่อสร้างความหลากหลาย  แต่ก็ยังไม่ใช่สินค้าที่ผู้บริโภคเป็นปกติในชีวิตประจำวันเหมือนผลไม้ท้องถิ่น ยกเว้นสับปะรดกระป๋องที่คุ้นเคยและบริโภคกันทั่วไป เพราะราคาไม่แพง แต่ก็ไม่ได้เจาะจงเลือกว่าต้องเป็นแบรนด์ใดเนื่องจากสินค้าไม่ค่อยมีความแตกต่าง จากพฤติกรรมการบริโภคน้ำผลไม้และการที่ UAE ไม่มีผลผลิตผลไม้ภายในประเทศ ประกอบกับแนวโน้มการนำเข้าเติบโตในทิศทางที่ดี และไม่มีอุปสรรคทางการค้าเหมือนเช่นในยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งผู้บริโภคมีหลายระดับความสามารถในการซื้อ ทำให้สามารถกำหนดตำแหน่งสินค้าที่จะเข้าสู่ตลาดได้ในหลายช่องทางและหลายกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ขึ้นกับศักยภาพและความชำนาญของผู้ผลิตแต่ละราย  จึงเป็นตลาดที่ทุกประเทศผู้ผลิตต่างสนใจเข้ามาแข่งกัน เพราะถ้าช่วงชิงตลาดได้แล้วจะเป็นการสร้างรากฐานระยะยาว และเปรียบเสมือนสร้างโอกาสในการกระจายต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ผลไม้มีความน่าสนใจในระดับสูง สำหรับผู้ผลิตไทยแล้วก็ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเข้าไปแข่งขัน เพราะมีความพร้อมด้านวัตถุดิบและทักษะความเชี่ยวชาญในการผลิต แต่สิ่งที่ขาดคือการดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อการเติบโตในระยะยาว