Get Adobe Flash player

      อุตสาหกรรมผลไม้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของโมร็อกโกรองจากอุตสาหกรรมประมง เนื่องจากผลไม้เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่โมร็อกโกผลิตเพื่อบริโภคและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป ผลผลิตผลไม้ทั้งรูปแบบสดและแปรรูป มีสัดส่วนการส่งออกไปยังภูมิภาคยุโรปมากกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมด โดยมีจำนวนผลไม้กว่า 50 ชนิดที่ทำการส่งออก โอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปที่เป็นจุดดึงดูดให้มีนักลงทุนและผู้ส่งออกที่ต้องการสร้างพันธมิตรทางการค้ากับโมร็อกโก ที่สำคัญคือ เป็นแหล่งวัตถุดิบผลไม้หลากหลายชนิดที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด การขยายตัวในภาคธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11 ของ GDP และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าผลไม้สดและแปรรูปไปสู่ภูมิภาคยุโรป อเมริกาเหนือ แอฟริกา ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเข้าสู่ตลาดโมร็อกโกที่สำคัญ

 

1.      จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปในโมร็อกโก

จุดแข็ง

1)      มีผลไม้หลากหลายชนิดที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดสหภาพยุโรป และอื่นๆ เช่น ส้มตระกูลซิตรัส สตรอว์เบอร์รี่ เมลอน แตงโม องุ่น พีช เป็นต้น

2)      ผลผลิตผลสดมีคุณภาพ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่มีความเข้มงวดในด้านคุณภาพมาตรฐาน

3)      มีจำนวนแรงงานมากพียงพอเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม

4)      ที่ตั้งของประเทศมีความเหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคยุโรป แอฟริกา สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง

จุดอ่อน

1)    ผลไม้บางชนิดมีฤดูกาลผลิตเพียงปีละครั้ง ทำให้ไม่มีวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปได้ตลอดทั้งปี

2)    ราคาผลไม้สดที่เข้าสู่โรงงานแปรรูปมีราคาต่ำกว่าการจำหน่ายเข้าสู่ค้าปลีกหรือจำหน่ายสด ทำให้บางช่วงขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต

3)    ขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง

4)    การจัดการด้านโลจิสติกส์โดยเฉพาะระบบความเย็น ยังขาดแคลนในเขตชนบททำให้เกิดความสูญเสียระหว่างการขนส่งผลสด

5)    ช่องทางการกระจายสินค้า ส่วนใหญ่เป็นค้าปลีกดั้งเดิม ระบบความเย็นเพื่อการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ยังมีไม่เพียงพอ

 

 

 

โอกาส

1)    ผู้บริโภครุ่นใหม่มีความใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น และต้องการความสะดวกสบาย น้ำผลไม้พร้อมดื่ม จึงเป็นทางเลือกของผู้บริโภค

2)    ผลไม้เมืองร้อนเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ได้แก่ มะม่วง และสับปะรด เป็นต้น 

3)    การแข่งขันในอุตสาหกรรมแปรรูปยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากมีผู้ผลิตน้อยราย

4)    มีแผน Green Morocco เพื่อยกระดับปริมาณและคุณภาพของการผลิตสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยให้การสนับสนุนด้านการเงินการลงทุนเครื่องจักรอุปกรณ์ สนับสนุนการแปรรูปผลไม้มูลค่าเพิ่มสูง ในส่วนของผลไม้ตระกูลส้ม รัฐบาลส่งเสริมให้มีการเพิ่มผลผลิตเป็น 32 ตัน/ปี และการส่งออกให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเท่าตัวนั่นคือ 1.3 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2020

5)      มีการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีด้านสินค้าเกษตรร่วมกับสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อียิปต์ ครอบคลุมกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปผลไม้

อุปสรรค

1)    ผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่นิยมบริโภคผลไม้สดมากกว่าน้ำผลไม้ เนื่องจากประเทศไทยมีผลไม้ที่หลากหลายและต่อเนื่องตลอดปี

2)    สินค้าทดแทนมีราคาต่ำกว่า เช่น น้ำอัดลม โดยเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำผลไม้ยังไม่มากเท่าที่ควร

 

3.      เปรียบเทียบขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดภาพรวมอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปของไทยและโมร็อกโก

อุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปของไทย และโมร็อกโก มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ เช่นเดียวกับสินค้าประมง และด้วยศักยภาพที่แตกต่างกันของทั้ง 2 ประเทศ ในแต่ละด้านโดยพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขันจากตัวชี้วัดด้านการผลิต การแปรรูป คุณภาพมาตรฐาน การส่งออก นโยบายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จะพบว่าไทยและโมร็อกโกมีช่องทางและโอกาสที่จะสร้างความร่วมมือโดยอาศัยจุดแข็งเติมเต็มจุดอ่อนของแต่ละประเทศในลักษณะของเครือข่ายการผลิตและการค้าร่วมกันได้ในอนาคต โดยมีรายละเอียดการประเมินเพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลำม้ของทั้งสองประเทศ ดังนี้

 

4.      แบบจำลองธุรกิจและกลยุทธ์การสร้างเครือข่ายการผลิตอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูประหว่างไทย-โมร็อกโก

จากการวิเคราะห์โอกาสการค้าและการลงทุนในสินค้าผลไม้แปรรูปในโมร็อกโก และการวิเคราะห์เปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันและปัจจัยที่มีผลต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูประหว่างไทยและโมร็อกโก ที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานจากเอกสารวิชาการ และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการไทย การประชุมกลุ่มย่อย การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการโมร็อกโกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทีมวิจัย พบว่า รูปแบบธุรกิจและกลยุทธ์เครือข่ายการผลิตระหว่างไทยและโมร็อกโกที่มีโอกาสและส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ของไทย ในระยะแรกของการสร้างเครือข่าย คือ การสร้างพันธมิตรทางการตลาด (Marketing Strategic Alliance) ในรูปแบบของการส่งออกสินค้าผลไม้แปรรูปที่ไทยมีความสามารถในการผลิตและมีความแตกต่างจากสินค้าที่ผลิตจำหน่ายในประเทศและคู่แข่งจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผลไม้แปรรูปที่เป็นกลุ่มน้ำผลไม้พร้อมดื่ม 25-99% ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตของการบริโภคในตลาดโมร็อกโกค่อนข้างสูง และจากการเข้าพบสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุง ราบัต และนักธุรกิจชาวโมร็อกโกผ่านสภาธุรกิจไทย-โมร็อกโก และจากการสำรวจตลาดค้าปลีก พบว่ามีความต้องการที่จะนำเข้าสินค้าผลไม้แปรรูปจากไทย โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนที่เป็นที่ต้องการ เช่น สับปะรดแปรรูป และผลไม้เฉพาะถิ่น เช่น มะม่วง น้ำมะพร้าว เป็นต้น 

ส่วนการสร้างเครือข่ายการผลิตอุตสาหกรรมผลไม้ของไทยในโมร็อกโกในรูปแบบอื่นๆ เช่น การสร้างพันธมิตรทางการผลิต (Production Strategic Alliance) ยังมีข้อจำกัดค่อนข้างสูง หากพิจารณาในด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปที่สามารถผลิตได้ในโมร็อกโก อุปสรรคประการสำคัญ คือ ผลผลิตสดที่ออกสู่ตลาดจะเป็นฤดูกาล ซึ่งไม่สามารถควบคุมปริมาณผลผลิตที่จะเข้าสู่โรงงานแปรรูปได้ ดังเช่น ที่โมร็อกโกประสบปัญหาดังกล่าวในขณะนี้ ประกอบกับการพัฒนาในด้านระบบโลจิสติกส์และระบบความเย็น (cool chain) ในโมร็อกโกยังไม่ทั่วถึง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลให้การเก็บรักษาผลผลิตสดเกิดการสูญเสียเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในอนาคตแผน Green Morocco ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายในการยกระดับในภาคการเกษตรโดยมุ่งเน้นให้มีการจัดการการผลิตผลไม้ให้มีปริมาณพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพื่อรองรับการขยายตัวของการบริโภคในประเทศและการส่งออก รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในการบริหารจัดการและการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลอย่างมากต่อการขยายการค้าการลงทุนในประเทศโมร็อกโก และเป็นแรงดึงดูดให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่โมร็อกโกมองว่าโอกาสสร้างเครือข่ายการผลิตร่วมกันในอนาคตจะมีความเป็นไปได้สูง โดยผ่านความสัมพันธ์ทางการทูต และสภาธุรกิจไทย-โมร็อกโก

ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่ได้มีการระดมสมองถึงโอกาสการค้าการลงทุนในโมร็อกโก ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลไม้ พบว่า การเข้าไปสร้างเครือข่ายในโมร็อกโกด้วยการเข้าไปลงทุนร่วมกันด้านการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและจำหน่ายในตลาดโมร็อกโกนั้น ยังมีความคิดเห็นว่า ข้อจำกัดและอุปสรรคของผลผลิตที่ผลิตได้ในโมร็อกโกซึ่งมีปริมาณไม่เพียงพอ และหากพิจารณถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ในโมร็อกโก สามารถลอกเลียนแบบได้ง่ายจากนักธุรกิจต่างประเทศรายอื่นๆ เพราะใช้เทคโนโลยีผลิตคล้ายคลึงกัน เช่น เครื่อง Freeze dry เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคต โมร็อกโก เป็นประเทศที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจสำหรับการขยายธุรกิจผลไม้แปรรูป หากมีการประสานต่อเนื่องระหว่างนักธุรกิจไทยและโมร็อกโก และนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลทั้งสองประเทศมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  โดยรายละเอียดของแบบจำลองธุรกิจและกลยุทธ์การสร้างเครือข่ายการผลิตอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปในระยะแรกระหว่างไทย-โมร็อกโก แสดงในหัวข้อต่อไป

 

5.      รูปแบบ/ลักษณะของธุรกิจผลไม้แปรรูปที่จะสร้างเครือข่าย (Mode of entry)

รูปแบบการสร้างเครือข่ายการผลิตในอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปของผู้ประกอบการไทยในโมร็อกโก   จากการวิเคราะห์ศักยภาพและเปรียบเทียบขีดความสมารถอุตสาหกรรมผลไม้ของไทยและโมร็อกโกแล้วนั้น พบว่ารูปแบบที่เหมาะสมในระยะแรกของการขยายเครือข่ายการผลิต คือ พันธมิตรทางการตลาด (Marketing Strategic Alliance)โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการขายสำหรับตลาดต่างประเทศ โดย การขยายตลาดหรือเพิ่มฐานลูกค้า เนื่องจากตลาดผลไม้แปรรูปในโมร็อกโกยังมีช่องว่างที่ผู้ผลิตและส่งออกของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดได้ โดยสรุปโอกาสของไทยได้ดังนี้

·       โมร็อกโกจัดเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (Middle East and North Africa : MENA) ที่น่าสนใจ เนื่องจากแหล่งที่ตั้งของประเทศที่สามารถอาศัยเป็นทางผ่านเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา (sub-Saharan Africa) ซึ่งกำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง รวมทั้งภูมิภาคยุโรปและสหรัฐอเมริกา

·       การขยายตัวของสังคมเมืองในโมร็อกโกที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว และระดับรายได้ของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวโมร็อกโกมีความต้องการสินค้าที่พร้อมรับประทานมากขึ้น เช่น เครื่องดื่มที่พร้อมดื่ม หรือสะดวกในการพกพา อาหารหรือขนมหวานบรรจุภาชนะที่พร้อมรับประทาน หรือสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน

·       การรับรู้ข่าวสารผ่านโลกอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้บริโภคชาวโมร็อกโกเริ่มให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และเรียนรู้การปรุงและประกอบอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ทั้งจากสินค้าอาหารสด และสินค้าที่แม้จะผ่านการแปรรูปมาแล้วก็ตาม แต่หากผู้ประกอบการไทยให้ข้อมูลหรือแสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีแปรรูปอาหารที่สามารถรักษาคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไว้ได้ ก็จะช่วยกระตุ้นความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปของไทยได้เช่นกัน

·       ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เช่น สินค้าที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ และความต้องการบริโภคผลไม้หายากเพิ่มขึ้น เช่น มะม่วง สับปะรด เป็นต้น

 

ดังนั้น การเข้าสู่ตลาดโมร็อกโกของผู้ประกอบการไทย สามารถดำเนินการส่งออกโดยตรง (Direct Exportation) โดยการทำสัญญามอบให้ผู้กระจายสินค้า (Distributor) จำหน่ายสินค้าไปยังช่องทางที่มีอยู่ในประเทศ รวมทั้งในต่างประเทศ ซึ่งช่องทางการกระจายสินค้าในโมร็อกโกจะประกอบด้วยค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต (supermarket) ร้านสะดวกซื้อ (convenience store) และร้านค้าดั้งเดิม (Traditional trade) ร้านอาหารภัตตาคาร เป็นต้น หากพิจารณาการเติบโตของตลาดน้ำผลไม้ในโมร็อกโกที่พบว่ามีการขยายตัวของน้ำผลไม้ทั้งตลาดบนและตลาดล่าง โดยเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี โดยเฉพาะตลาดน้ำผลไม้ 25-99% พบว่าเติบโตมากกว่าร้อยละ 9 ต่อปี ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น จะมีโอกาสในการสร้างเครือข่ายด้านการค้าและการผลิตในอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปได้ในอนาคตด้วยจุดแข็งของผู้ผลิตของไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงให้กับวัตถุดิบผลไม้สด

สำหรับช่องทางในการเข้าถึง local partner ที่เป็นห้างค้าปลีกสมัยใหม่หรือผู้กระจายสินค้าดังกล่าว มีด้วยกันหลายวิธี โดยเฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรม Business matching ที่หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กิจกรรมขอกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งการเข้าร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้าอาหาร ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในโมร็อกโก และผ่านการประสานติดต่อสภานักธุรกิจไทย-โมร็อกโก

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลเชิงลึกในประเทศโมร็อกโก และทีมวิจัยได้เข้าพบสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงราบัต และสภาธุรกิจไทย-โมร็อกโก ณ เมืองคาสซาบังกา พบว่า มีนักธุรกิจโมร็อกโกที่มีความต้องการนำเข้าสินค้าผลไม้แปรรูปจากไทย ดังรายชื่อที่แสดงในตางรางที่

ตาราง: รายชื่อนักธุรกิจโมร็อกโกที่ต้องการนำเข้าสินค้าผลไม้แปรรูปจากไทย

 

Mode of Entry : การส่งออก (Export): ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป

จากการวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปของโมร็อกโก และจากการเปรียบเทียบขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างไทยและโมร็อก จะพบว่ารูปแบบการสร้างเครือข่ายการผลิต โดยการขยายตลาดส่งออกผลไม้แปรรูปไปจำหน่ายยังประเทศโมร็อกโก เป็นรูปแบบที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกดำเนินการได้ในระยะแรกของการขยายธุรกิจ เนื่องจากเป็นวิธีการที่มีความเสี่ยงน้อย และมีโอกาสสูงในการขยายตลาด สรุปได้ดังนี้