Get Adobe Flash player

ประเทศโมร็อกโกหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรโมร็อกโก (Kingdom of Morocco) ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา โมร็อกโกมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนกับประเทศไทย พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 18 แห่งราชวงศ์อเลาลัว โดยพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ตลอดจนรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งมีพระราชอำนาจออกพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติโมร็อกโกเป็นหนึ่งใน 3 ประเทศจากทั้งหมด 53 ประเทศในทวีปแอฟริกาที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (อีกสองประเทศ คือ ราชอาณาจักรเลโซโท และราชอาณาจักรสวาซิแลนด์)

ด้านพื้นที่ติดต่อกับประเทศอื่นๆ เพื่อเชื่อมไปสู่ภาคการค้านั้น พบว่า โมร็อกโก ในทางตอนเหนืออยู่ติดกับช่องแคบ Gibraltar ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้โมร็อกโกเหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า นอกจากนี้การเดินทางโดยเครื่องบินจากโมร็อกโกไปกรุงปารีสเมืองหลวงของฝรั่งเศสจะใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงและใช้เวลาราว 7 ชั่วโมงไปยังสนามบิน John F. Kennedy มลรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ ประกอบกับโมร็อกโกได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากหลายประเทศจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม Arab Maghreb Union (ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ คือ อัลจีเรีย ลิเบีย โมร็อกโก มอริเตเนีย และตูนิเซีย ซึ่งล้วนตั้งอยู่ในแถบแอฟริกาเหนือ) การจัดทำ FTA ในลักษณะทวิภาคีกับสหรัฐฯ อียิปต์ ตุรกีซาอุดิอาระเบีย และจอร์แดน นอกจากนั้นยังมีการจัดทำความร่วมมือด้านการค้ากับกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ภายใต้ European Union Association Agreement จากสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจะช่วยเกื้อหนุนให้โมร็อกโกสามารถขยายการค้าไปยังตลาดเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้น

 

1.      โครงสร้างประชากร

ศาสนาอิสลาม (นิกายสุหนี่) เป็นศาสนาประจำชาติโมร็อกโก ใช้ภาษาอารบิกเป็นภาษาราชการ ประชากรส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้เนื่องจากโมร็อกโกเคยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมาก่อน

ภาษาอาหรับแบบมาตรฐานเป็นภาษาทางการของโมร็อกโกแต่ผู้คนในประเทศนี้ก็พูดอาหรับสำเนียงท้องถิ่นอันมีเอกลักษณ์กันทั่วไป  นอกจากนี้ยังมีชาวโมร็อกโกอีกประมาณ 10 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่อาศัยในเขตชนบทพูดภาษาเบอร์เบอร์ ซึ่งหากนับเฉพาะในโมร็อกโกก็ยังแยกลงตามภาษาถิ่นอีก 3 แบบ (ตาริฟิต, ตาเชลฮิต, และตามาลไซต์) เป็นภาษาแรกหรือพูดสองภาษาร่วมกับภาษาอาหรับตามสำเนียงในแต่ละท้องถิ่น ส่วนภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาษาที่สามแบบไม่เป็นทางการของโมร็อกโกมีการสอนในมหาวิทยาลัยและยังคงเป็นภาษาหลักในการค้าและเศรษฐกิจ  และมีการใช้กันอย่างกว้างขวางในสถานศึกษาและรัฐบาล ชาวโมร็อกโกหลายคนอาศัยทางตอนเหนือและบางส่วนทางตอนใต้ของประเทศสามารถพูดภาษาสเปนได้  ส่วนภาษาอังกฤษถึงแม้จะมีคนพูดน้อยกว่าภาษาฝรั่งเศสและสเปนแต่นักเรียนก็เลือกเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  มีการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนของรัฐตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่สี่เป็นต้นไป

ประชากรส่วนใหญ่ของโมร็อกโกไม่ได้เป็นชนชาตินิกรอยด์หรือแอฟริกันนิโกรเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา แต่เป็นชนชาติคอเคซอยด์ซึ่งเป็นชาวอาหรับ ชาวเบอร์เบอร์ และชาวยุโรป อย่างฝรั่งเศสและสเปน เป็นต้น ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศอาศัยอยู่ในตัวเมืองเพราะว่าประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และมีอายุน้อยกว่า 25 ปี

-                 จำนวนประชากร :        33,322,699 คน (ค่าประมาณการ เดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2558)

-       เชื้อชาติ :                   อาหรับ - บาร์เบอร์ 99% อื่นๆ 1%

-       ศาสนา :                    ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ (นิกายสุหนี่) 99%
ศาสนาคริสต์ 1% และยิวประมาณ 6,000 คน

-       ภาษา :                     ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ ภาษาต่างประเทศที่ใช้กันทั่วไป คือ ภาษาฝรั่งเศส นอกจากนี้ มีภาษาท้องถิ่น Berber

-       ช่วงอายุ :                   0 – 14 ปี 27.1% (เพศชาย 4,489,297 คน/ เพศหญิง 4,353,921 คน)

15-24 ปี 18% (เพศชาย 2,918,765 คน/ เพศหญิง 2,951,131 คน)

25-54 ปี 41.7% (เพศชาย 6,590,575 คน/ เพศหญิง 7,033,013 คน)

55-64 ปี 7% (เพศชาย 1,135,921 คน/ เพศหญิง 1,135,747 คน)

65 ปีขึ้นไป 6.3% (เพศชาย 919,236 คน/ เพศหญิง 1,121,524 คน)

(ค่าประมาณการปี พ.ศ. 2556)

-       อัตราการเติบโตของประชากร :     1% (ค่าประมาณปี พ.ศ. 2558)

-       ประชากรในเมือง :                  57% ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ค่าประมาณปี พ.ศ. 2554)

-       อัตราการเจริญเติบโตของเมือง :    1.62% (ค่าประมาณปี พ.ศ. 2553 - 2558)

-   จำนวนประชากร จำแนกตามเขตต่างๆ ตามตารางข้างล่าง ทั้งนี้ เขตที่มีประชากรมากที่สุด คือ    

    Casablanca และ Rabat (เมืองหลวง)

 

 

2.      การปกครอง

โมร็อกโกมีระบอบการปกครองโดยราชวงศ์ ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 จนถึงช่วงที่ประเทศฝรั่งเศสและสเปนเข้ามายึดครองโมร็อกโก ในปี พ.ศ. 2455 และเมื่อโมร็อกโกได้รับเอกราชเมื่อปีพ.ศ. 2499 กษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 5 จึงได้สถาปนาราชวงศ์อะลาวี (Alawi) ขึ้นอีกครั้ง พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ซึ่งได้สืบราชสมบัติต่อจากกษัตริย์ฮัสซันที่ 2 ในปี พ.ศ. 2542 เมื่อพระองค์ทรงมีอายุ 36 พรรษา

ระบบการปกครองของโมร็อกโกในปัจจุบันเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีตลอดจนรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งมีพระราชอำนาจออกพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติ อย่างไรก็ดี ระบบการปกครองของโมร็อกโกกำลังพัฒนาจากระบบอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์ไปสู่ระบบรัฐสภาที่เน้นตัวแทนจากประชาชน

โมร็อกโกได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 4 และเปิดให้ประชาชนลงประชามติรับหลักการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2539 โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี 2 สภา กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) โดยการเลือกตั้งโดยตรง มีสมาชิก 325 คน และสภาที่ปรึกษา (Chamber of Counsellors) มีสมาชิก 270 คน ซึ่งเลือกตั้งโดยทางอ้อม โดยได้มีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2550 นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นาย Driss Jettou ซึ่งได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากภาคเอกชนของโมร็อกโก

-       รูปแบบการปกครอง:      ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

-       เมืองหลวง                  กรุงราบัต (Rabat) เมืองสำคัญ ได้แก่

เมืองคาซาบลังกา (Casablanca) เป็นเมืองท่า และเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานระหว่างประเทศ

เมืองเฟส (Fes) เมืองหลวงเก่า เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

เมืองมาร์ราเกช (Marrakech) เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ อยู่เชิงเขาแอตลัส และเป็นเมืองที่มีการเจรจาความตกลงทางการค้าโลก ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งองค์การการค้าโลก (WTO)

-       การแบ่งเขตการปกครอง: 15 เขต

-       วันที่ได้รับเอกราช:         2 มีนาคม พ.ศ. 2499 (ค.ศ.1956)

-       รัฐธรรมนูญ:                10 มีนาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ.1972)

-   ระบบกฎหมาย:            มีรากฐานมาจากกฎหมายอิสลามและระบบกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสและสเปน

 

3.      เศรษฐกิจ

โมร็อกโก เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีเสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 3.75 ต่อปี (ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2556-2561 (ประมาณการณ์)) หากพิจารณาขีดความสามารถการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ โมร็อกโกจัดเป็นอันดับ 9 ของภูมิภาค MENA และเป็นอันดับที่ 72 ของโลกจาก 140 ประเทศทั่วโลกโดยการจัดลำดับโดย World Economic Forum ในปี พ.ศ. 2558-2559 ปัจจัยกระตุ้นที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การส่งออกสินค้าเกษตรและประมง การท่องเที่ยวและภาคบริการ และการลงทุนจากต่างประเทศ ในช่วงที่ผ่านมาโมร็อกโกมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ คู่ค้าที่สำคัญของโมร็อกโกได้แก่ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้รับสถานภาพพิเศษกับสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 การทำความตกลง FTA สินค้าเกษตรระหว่างสหภาพยุโรปกับโมร็อกโก โดยยุโรปเป็นทั้งตลาดส่งออกและตลาดแรงงานที่สำคัญ ปัจจุบันชาวโมร็อกโกเข้าสู่ภาคแรงงานในกลุ่มประเทศยุโรปโดยเฉพาะสเปนและฝรั่งเศส มากกว่า 2.5 ล้านคน นอกจากนี้ โมร็อกโกยังได้มีการลงนามเขตการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกาและตุรกีในช่วงที่ผ่านมา  

        

         

ภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของโมร็อกโก คือ อุตสาหกรรมฟอสเฟต เกษตร อาหารและประมง สิ่งทอ เครื่องหนัง เครื่องแต่งกาย อิเล็คทรอนิกส์ ยานยนตร์ และอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น โดยพบว่ามีนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเป็นประเทศที่มีการเข้ามาลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติมากเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคแอฟริกา รองจากประเทศแอฟริกาใต้ ในปี พ.. 2557 จำนวนโครงการลงทุนรวมทั้งสิ้น 65 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี พ.. 2556 ร้อยละ 59 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีการขยายการลงทุน ที่สำคัญได้แก่

·       อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของโมร็อกโกค่อนข้างมาก ทั้งในด้านการผลิตเพื่อบริโภคและเพื่อการส่งออก โดยมีตลาดสหภาพยุโรปเป็นแหล่งรองรับที่สำคัญ ในปี พ.ศ. 2556 มีจำนวนเงินลงทุนที่เข้าสู่อุตสาหกรรมนี้อยู่ที่ 70 พันล้านเดอร์แฮม นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอาหารไปยังตลาดใหม่ให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบในระบบเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป

·       อุตสาหกรรมยานยนตร์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น กลุ่มบริษัทที่เข้ามาลงทุนในช่วง 5 ปี ที่สำคัญ ได้แก่ Renault-Nissan ที่มีฐานการผลิตอยู่ที่ Tanger มีกำลังการผลิต 340,000 คันต่อปี ร้อยละ 90 ผลิตเพื่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเป็นส่วนใหญ่

·       อุตสาหกรรมการบิน เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่โมร็อกโกให้ความสำคัญในการส่งเสริมการลงทุน นับตั้งแต่ ปี พ.. 2556 มีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้กว่า 100 บริษัท ที่สำคัญได้แก่ EADS, Boeing, Safran, Ratier Figeac, Eaton แล Hexcel ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตปลอดภาษี MIDPARC, Casablanca Free Zone  

แหล่งข้อมูล : http://www.africaneconomicoutlook.org/

นอกจากนี้  โมร็อกโกยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งรายได้ที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศอย่างเป็นรูปธรรม สมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 ทรงสนพระทัยอย่างมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโมร็อกโก และได้ทรงกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวโมร็อกโก 10 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันรายได้อันดับหนึ่งของประเทศมาจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

โมร็อกโกยังสนับสนุนการส่งออกโดยการทำข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในปี 2549 ขยายข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าร่วมกับสหภาพยุโรปในปี พ.ศ. 2551 การทำข้อตกลง Agadir Agreement and the Arab Maghreb Union (AMU) เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การค้าการลงทุนในโมร็อกโกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง             

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของโมร็อกโก ปี พ.ศ. 2557

-       ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 110 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

-       GDP per capita :                  7,606 เหรียญสหรัฐฯ

-       อัตราการเจริญเติบโต GDP:         2.4%

-       GDP แยกตามภาคการผลิต:        ภาคการเกษตร 15.1%

ภาคอุตสาหกรรม 31.7%

ภาคการบริการ 53.2%

-       อัตราการว่างงาน:                   9.5%

-       อัตราเงินเฟ้อ :                       2.5%

-       ผลผลิตทางการเกษตร:              ข้าวบาร์เลย์  ข้าวสาลี ผลไม้จำพวกส้ม และมะนาว ไวน์ ผัก มะกอก ประมง และสัตว์เลี้ยง

-       อุตสาหกรรม :                       การทำและแปรรูปเหมืองหินฟอสเฟต แปรรูปอาหาร สินค้าทำจากหนัง สิ่งทอ การก่อสร้าง การท่องเที่ยว

-       อัตราการเติบโตภาคอุตสาหกรรม :1.2%

-       มูลค่าการส่งออก:                    16.78 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

-       สินค้าส่งออก:                        เครื่องนุ่งห่ม แร่ฟอสเฟตและปุ๋ย สินแร่ สารเคมี ผลิตภัณฑ์ เคมี ปลา ผักและผลไม้ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ และปิโตรเลียม

-       ประเทศส่งออกที่สำคัญ:             ฝรั่งเศส 21% สเปน 17.3% บราซิล 5.4% อินเดีย 4.9% สหรัฐอเมริกา 4.6% 

-       มูลค่าการนำเข้า:                    38.66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

-       สินค้านำเข้า:                         น้ำมันดิบ สิ่งทอ อุปกรณ์สื่อสาร ข้าวสาลี ก๊าซและไฟฟ้า พลาสติก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

-       ประเทศนำเข้าที่สำคัญ:              สเปน 13.1% ฝรั่งเศส 12.1% จีน 6.9% สหรัฐอเมริกา 6.8% ซาอุดิอาระเบีย 6.2%อิตาลี 5.1% รัสเซีย 5% เยอรมัน 4.9% 

-       สกุลเงิน:                             Moroccan Dirham (MAD)

-       สัญลักษณ์เงิน:                       MAD

-       อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา:       1.00 USD = 8.3225 MAD

1.0    THB = 0.26494 MAD

ที่มา : World Bank, indexmundi

 

 ในด้านคุณภาพแรงงาน ในโมร็อกโก ก็พบว่ามีคุณภาพที่ดีขึ้นส่งผลต่อคุณภาพในภาคสินค้าและบริการ ทั้งนี้ การควบคุมคุณภาพแรงงาน โมร็อกโกมีกฎหมายแรงงานที่ระบุว่า แรงงานจะต้องทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน เริ่มงานระหว่าง 8.30 น. ถึง 9.00 น. และเลิกงานในเวลา 18.00 น. ทั้งแรงงานในภาคการอุตสาหกรรมและบริการ ขณะที่ภาคการธนาคารจะมีความแตกต่างไปเล็กน้อย โดยเริ่มเปิดทำการในเวลา 8.15 น. ถึง 11.30 น . และจะเปิดทำการอีกครั้งในเวลา 14.15 น. และเลิกในเวลา 16.30 น. นอกจากนี้ แรงงานจะมีเวลาในการพักกลางวันถึงวันละ 2 ชั่วโมง  โดยแรงงานส่วนใหญ่จะเลือกที่จะกลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้าน และกลับมาทำงาน  ถ้าไม่ได้ทำงานไกลจากที่พักอาศัย สำหรับบริษัทที่มีความทันสมัย (modern company) โดยเฉพาะบริษัทต่างประเทศจะยอมให้พักกลางวันเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น แรงงานที่ทำงานกับบริษัทเหล่านี้เลือกที่จะนำอาหารที่ทำมาจากบ้านมารับประทานในที่ทำงาน 

4.โครงสร้างพื้นฐาน

โมร็อกโกนั้นมีความเจริญมากกว่าประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา บ้านเมืองและตึกต่างๆ ใน โมร็อกโกนั้นมีความทันสมัยมาก เนื่องจากว่าประเทศฝรั่งเศสและสเปนเคยยึดครองโมร็อกโก จึงทำให้ระบอบการเมืองการปกครอง การศึกษา สาธารณสุข และการคมนาคม ถูกวางรากฐานไว้เป็นอย่างดี รัฐบาลโมร็อกโกเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งและกระจายสินค้า ประกอบด้วย

-ทางบก 

โมร็อกโกมีเครือข่ายถนนยาวถึง 58,395 กิโลเมตร (จัดเป็นหนึ่งในเครือข่ายถนนที่ดีที่สุดในทวีฟแอฟริกา) แบ่งเป็นถนนลาดยาง (Paved) 41,116 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นถนนทางด่วนระยะทาง 1,080 กิโลเมตร และถนนไม่ลาดยาง (Unpaved) 17,279 กิโลเมตร โดยโมร็อกโกมีแผนที่จะขยายเครือข่ายถนนเพิ่มอีกราว 1,500 กิโลเมตรต่อปี รวมทั้งมีแผนจะก่อสร้างถนน Highway เพิ่มเติม ตลอดจนเร่งพัฒนาและขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟในประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2557 โมร็อกโกมีเส้นทางรถไฟรวมระยะทางทั้งสิ้น 2,067 กิโลเมตร ซึ่งทั้งหมดเป็นรางรถไฟแบบ Standard gauge โดยในจำนวนนี้เป็นระบบรางไฟฟ้า 1,022 กิโลเมตร   นอกจากนี้ โมร็อกโกยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างเมืองแทนเจียร์ และเมืองคาซาบลังกา มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 20 พันล้านดีร์แฮม โดยเป็นเงินงบประมาณของรัฐบาล 4.8 พันล้านดีร์แฮม ซึ่งเมื่อการก่อสร้างดังกล่าวสำเร็จจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางจากเดิมที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมง 45 นาที เหลือเพียง 2 ชั่วโมง 10 นาที สำหรับระบบรถราง (Tramway) ของโมร็อกโก ปัจจุบันมี 2 ระบบ คือ Rabat-Salé Tramway เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2554 และ Casablanca Tramway เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2555 ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้เฉลี่ยวันละ 172,000 และ 100,000 คน ตามลำดับ

 -ทางน้ำ 

ท่าเรือพาณิชย์ที่สำคัญของโมร็อกโกมีทั้งหมด 9 ท่าเรือประกอบด้วย Nador, Mohammedia, Casablanca, Jorf Lasfar, Safi, Agadir, Laayoune, Dakhla และ Autres โดยการท่าเรือแห่งโมร็อกโกพัฒนาท่าเรือ Casablanca (เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ) ให้สามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าได้สะดวกมากขึ้น และมีท่าเรือ Tangier-Med ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากท่าเรือ Casablanca ทางตอนเหนือของโมร็อกโก ห่างจากสเปนเพียง 15 กิโลเมตร 

-ทางอากาศ 

รัฐบาลมีนโยบายเปิดเสรีทางการบิน และโมร็อกโกมีโครงการที่จะลงทุนเป็นมูลค่าสูงถึง 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 27 ล้านคนต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2563 อีกด้วย โดยในปี พ.ศ. 2556 โมร็อกโกมีสนามบินที่เปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 55 แห่ง แบ่งเป็นสนามบินที่ลาดทางรันเวย์ (Paved runway) 31 แห่ง และสนามบินที่ไม่ได้ลาดทางรันเวย์ (Unpaved runway) 24 แห่ง โดยสนามบินที่ใหญ่ที่สุด 5 แห่ง คือ

ท่าอากาศยานนานาชาติโมฮัมเหม็ดที่ห้า (Mohammed V International Airport) อยู่ที่เมืองคาซาบลังกา มีผู้ใช้บริการมากถึง 7.97 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2557

ท่าอากาศยานมาร์ราคิช-เมนารา (Marrakesh Menara Airport) อยู่ที่เมืองมาร์ราคิช มีผู้ใช้บริการ 4.03 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2557

ท่าอากาศยานอัลมัซซิรา (Al Massira Airport) อยู่ที่เมืองอากาดีร์ (Agadir) มีผู้ใช้บริการ 1.41 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2558

ท่าอากาศยานเซส (Saïss Airport) อยู่ที่เมืองเฟซ (Fes) มีผู้ใช้บริการ 0.89 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2558

ท่าอากาศยานแบตตูตา (Ibn Battouta Airport) อยู่ที่เมืองแทนเจียร์ มีผู้ใช้บริการ 0.85 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2554 

 5.ระบบการเงินการธนาคาร

 ระบบการเงิน

สกุลเงินตราที่ใช้หมุนเวียนในประเทศโมร็อกโกคือ ดีร์แฮม (Dirham Morocco: MAD) โดย ณ วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 บาท = 0.28 MAD หรือ 1 MAD = 3.60 บาท 

 

 

ระบบการธนาคาร

ระบบการธนาคารของโมร็อกโกประกอบด้วยธนาคารกลางของรัฐบาล ซึ่งมีสาขาอยู่ในคาซาบลังกาและหน่วยงานใน 18 เมืองอื่นๆ ของโมร็อกโก ธนาคารพาณิชย์เอกชนจำนวน 5 ธนาคาร และธนาคารต่างประเทศ จำนวน 2 ธนาคาร ซึ่งมีลักษณะการดำเนินงานดังนี้ 

ธนาคารกลางของรัฐบาลโมร็อกโก หรือ Bank Al-Maghrib ทำหน้าที่ควบคุมสถาบันการเงินทั้งหมด โดยกําหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก อัตราส่วนของสินทรัพย์และหนี้สิน อัตราแลกเปลี่ยนและออกธนบัตร

 ธนาคารพาณิชย์เอกชน ที่สำคัญได้แก่

1.BMCE Bank (BMCE ย่อมาจาก Banque Marocaine du Commerce exterieur ในภาษาฝรั่งเศส) เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของโมร็อกโกมีสาขามากกว่า 500 สาขาทั่วประเทศ

2.Attijariwafa Bank เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของโมร็อกโกเกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคาร Banque Commerciale du Maroc และธนาคาร Wafabank โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในคาซาบลังกา 

3.BMCI Bank (BMCI ย่อมาจาก Banque marocaine pour le commerce et l'industrie ในภาษาฝรั่งเศส หรือ Morocco Bank of Commerce and Industry ในภาษาอังกฤษ) 

4.CIH Bank S.A. เป็นส่วนหนึ่งของ Caisse de Depot et de Gestion Group (CDG) มุ่งเน้นการให้บริการเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยว 

5.Banque Populaire du Maroc

 

ธนาคารต่างประเทศ ที่สำคัญได้แก่

1.Commerzbank ของประเทศเยอรมนี

2.Arab Bank Maroc ของประเทศจอร์แดน

 

6.สิทธิประโยชน์ทางการค้า

เขตการค้าเสรี

 ความตกลงเขตการค้าแบบสมบูรณ์แบบระหว่างสหภาพยุโรปกับโมร็อกโก 

1.Accord Libre-échange Complet et Approfondi (ALECA) หรือ Agadir Agreement เป็นความตกลงที่ครอบคลุมการค้า การลงทุน และการบริการ ระหว่างประเทศในแอฟริกาเหนือ 4 ประเทศ[1] และ EU โดยมีโมร็อกโกเป็นหนึ่งในสมาชิกของความตกลงนี้ และมีความคืบหน้าในการหารือถึงข้อตกลงทางการค้า การลงทุน และการบริการมากที่สุด

2.ภายใต้ข้อตกลง ALECA โมร็อกโก และ EU มีวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มความสัมพันธ์ด้านพาณิชย์ (การค้า การลงทุน การบริการ) ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเร่งรัดและต่อยอดความตกลงด้านเศรษฐกิจที่ EU มีกับประเทศโมร็อกโกอยู่แล้วให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรวมตลาดโมร็อกโกและ EU เข้าด้วยกัน โดยการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี การปรับเปลี่ยนพิธีการศุลกากรให้ง่ายขึ้น สนับสนุนภาคบริการ ปกป้องการลงทุนโดยต่างชาติ และปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการการพาณิชย์ให้เข้ากับและเทียบเท่ากับระเบียบของ EU  

3.โมร็อกโก และ EU มีความตกลงที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการพาณิชย์อื่นๆ เช่น EU-Moroccan Association Agreement[2] ซึ่งลงนามในปี ค.ศ. 2000 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการเปิดเสรีการค้าระหว่างกัน และความตกลงด้านเกษตรกรรม ซึ่งลงนามในปี 2012 ทำให้สินค้าเกษตรโมร็อกโกกว่าร้อยละ 98 สามารถเข้าสู่ตลาด EU ได้โดยไม่เสียภาษี ในขณะที่สินค้าเกษตรของ EU จะสามารถทยอยนำเข้าโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า (ระยะเวลา 10 ปี) นอกจากนี้ ในปี 2008 โมร็อกโกได้รับสถานะ advance status จาก EU ซึ่งช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโมร็อกโกยังไม่สามารถส่งออกสินค้าเข้าสู่ EU ได้อย่างเต็มที่แม้ว่าจะได้ปรับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เข้ากับ EU ไปบ้างแล้ว เนื่องจากติดขัดอุปสรรคที่มิใช่ภาษี เช่น ระเบียบมาตรฐานสินค้า มาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งโมร็อกโกมีมาตรฐานที่ต่ำกว่า ALECA ทำให้โมร็อกโกต้องปรับกฎระเบียบต่างๆ ในด้านการพาณิชย์ให้เข้ากันกับของ EU (ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าของโมร็อกโกมีมาตรฐานเท่ากับสินค้าของ EU ไม่เป็นอุปสรรคในการส่งออก)

4.สภา EU ได้มีมติให้เริ่ม ALECA ตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. ค.ศ. 2011 โดยโมร็อกโก และ EU ได้เริ่มการเจรจาในปี ค.ศ. 2013 ที่ผ่านมา และมีการเจรจามาแล้วสี่รอบ อย่างไรก็ดี ยังไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาการเจรจา เพราะขึ้นอยู่กับพัฒนาการในเรื่องต่างๆ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบของ ALECA ต่อโมร็อกโกอยู่ โดย EU ได้เร่งรัดการการจัดทำ ALECA มากขึ้น ภายหลังจากที่เกิด Arab Spring ในภูมิภาค เพื่อเป็นกลยุทธลดแรงกดดันที่เกิดจาก Arab spring โดยการสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนในภูมิภาค

5.ในการเจรจา ALECA โมร็อกโก และ EU ได้เจรจากับทุกๆ ฝ่ายในระดับรัฐบาล และทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม สมาคมการค้าต่างๆ องค์กรเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นต้น ซึ่งทำให้ ALECA พัฒนาไปได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ และเตรียมความพร้อมให้กับสังคมโมร็อกโกไปในตัว โดยEU จะมีส่วนในการสนับสนุนโมร็อกโกเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นตลาดเดียวกับ EU โดยแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ ระดับรัฐบาล ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ มาตรฐานต่างๆ ให้เข้ากับ EU เช่น มาตรฐานอุตสาหกรรม กฎระเบียบเกี่ยวกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการทางการเงิน เป็นต้น และในระดับภาคเอกชน ซึ่งธนาคารของ EU จะให้เงินกู้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของ EU  

6.ความตกลง ALECA จะครอบคลุมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองภาคี ทั้งเรื่องการแลกเปลี่ยนการค้า การแลกเปลี่ยนบริการ (โทรคมนาคม ประกันภัย ธนาคาร เป็นต้น) และการแลกเปลี่ยนการลงทุน ยกเว้นในสาขาสุขภาพ และการศึกษา โดยไม่ได้ให้สถานะโมร็อกโกเป็นสมาชิก EU แต่เน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความเป็นตลาดเดียวกัน โดยความตกลงฯ จะไม่ครอบคลุมเรื่องระเบียบการเข้าเมือง แต่มีการเจรจาในเรื่อง mobility partnership ให้กับนักธุรกิจ อาจารย์มหาวิทยาลัย และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ

7.สินค้าที่โมร็อกโกนำเข้าจาก EU มากที่สุดคือ เครื่องจักร อุปกรณ์ขนส่ง สินค้าบริโภค ผลิตภัณฑ์เคมี และน้ำมัน ในขณะที่ EU นำเข้าเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เกษตร เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งจากโมร็อกโก

________________________________________

[1] Agadir Agreement เป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศของ 4 ประเทศได้แก่ โมร็อกโก จอร์แดน อิยิปต์ และตูนีเซีย

[2] เป็นความตกลงที่เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่าง EU และโมร็อกโกทั้งหมด รวมถึงด้านเศรษฐกิจด้วย

 

ความตกลงด้านการประมงระหว่าง EU และโมร็อกโก 

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ปีพ.ศ. 2556 โมร็อกโกและ EU ได้ลงนามต่ออายุความตกลงด้านประมงอีกครั้ง หลังจากที่ระงับการต่ออายุไปถึง 18 เดือน และได้มีความพยายามเจรจากันถึง 6 รอบ ความตกลงฯ ฉบับนี้มีระยะเวลาบังคับ 4 ปี และอนุญาตให้เรือ EU จำนวน 126 ลำเข้ามาทำการประมงในพื้นที่ทางทะเลของโมร็อกโก โดย EU ต้องจ่ายค่าสัมปทาน ทั้งหมด 40 ล้านยูโรต่อปี (ในจำนวนนี้ เจ้าของเรือจะต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่าย 10 ล้านยูโรต่อปี) โดยเป็นเงินให้รัฐบาล และเงินในการพัฒนาประมงในโมร็อกโก  โดยความตกลงฯ ฉบับนี้ มีการกล่าวถึงการสนับสนุนความมั่นคง และการพัฒนาใน Western Sahara ด้วย

สหภาพยุโรปและโมร็อกโกได้ทำความตกลงกรอบความร่วมมือ (Accord d’association หรือ Association Agreement) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2543 โดยเป็นกรอบความร่วมมือใหญ่ที่กำหนดแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิชาการ และวัฒนธรรม ทั้งนี้ ในปัจจุบัน โมร็อกโกเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ (partenaire privilégié) ของสหภาพยุโรป และเป็นประเทศที่ได้รับเงินช่วยเหลือภายใต้กรอบนโยบายสหภาพยุโรปว่าด้วย เพื่อนบ้าน (Politique européenne de voisinage) มากที่สุด และสหภาพยุโรปเองก็เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของโมร็อกโก เป็นผู้ลงทุนหลักจากต่างประเทศทั้งในภาครัฐและเอกชนของโมร็อกโก รวมถึงเป็นตลาดท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของชาวโมร็อกโกอีกด้วยการทำประมงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักโมร็อกโกซึ่งเป็นตลาดสัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา โดยภาคการทำประมงมีสัดส่วนร้อยละ 3 ในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของโมร็อกโก ทั้งนี้ มีแรงงานจำนวนประมาณ 400,000 รายที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในทางตรงหรือทางอ้อม เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ปีพ.ศ. 2549 ประชาคมยุโรปและราชอาณาจักรแห่งโมร็อกโกได้ทำความตกลง ความเป็นหุ้นส่วนด้านการทำประมง[1] (Accord de partenariat dans le secteur de la pêche หรือ APP) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 และหมดอายุลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 โดยสหภาพยุโรปได้ต่ออายุ คตล. ฉบับดังกล่าวกับโมร็อกโกอีก 1 ปี เป็นการชั่วคราว

________________________________________

[1] ในบรรดาความตกลงความเป็นหุ้นส่วนด้านการทำประมงที่สหภาพยุโรปมีกับประเทศ ต่างๆ ทั้งหมด คตล. ที่มีกับโมร็อกโกจัดอยู่ในอันดับสองในแง่มูลค่าของสัมปทานต่อปีที่สหภาพ ยุโรปชดเชยให้กับโมร็อกโกตามข้อบทของ คตล. ดังกล่าว

 

7. การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

โมร็อกโกจัดเป็นประเทศอันดับที่ 54 จาก 97 ประเทศ ที่มีการปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางกายภาพและทางปัญญาตามสิทธิการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (IPR) โดยในเดือนธันวาคมปี 2004 รัฐสภาโมร็อกโกได้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและนำลงไปปฏิบัติตามภาระผูกพันภายใต้ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ทั้งนี้ โมร็อกโกยังได้เป็นสมาชิกขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 

 

นอกจากนี้ โมร็อกโกยังได้ทำงานร่วมกับสหรัฐที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้เขตการค้าเสรีสหรัฐอเมริกากับโมร็อกโก (US-Morocco FTA) ที่มีความแข็งแรงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยโมร็อกโกได้ออกกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่ปี 2006 และแก้ไขขั้นตอนสำคัญภายใต้การการคุ้มครองให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาบูดาเปสต์สิทธิบัตรและสนธิสัญญา WIPO รวมถึงได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าการปลอมแปลงข้อตกลง (ACTA) ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ได้มีผลบังคับ แต่ก็คาดว่าจะสามารถออกเป็นกฎหมายคุ้มครองได้ในอนาคต สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสนธิสัญญาผูกพันด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการติดต่อกับสำนักงานคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาท้องถิ่นของโมร็อกโก สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://www.wipo.int/directory/en

 

8. วัฒนธรรม (Culture)

ชาวโมร็อกโกส่วนใหญ่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอิสลาม และอิสลามก็มีอิทธิพลต่อผู้คนทั้งในระดับชีวิตส่วนตัว, การเมือง, เศรษฐกิจ และกฎหมาย  อิสลามเผยแผ่จากพื้นที่ซึ่งปัจจุบันนี้คือ ซาอุดิอาระเบีย  เชื่อกันว่านบีมุฮัมหมัดเป็นผู้นำสาสน์คนสุดท้ายจากพระเจ้า (นับต่อเนื่องมาจากพระเยซู, โมเสส, นบีอิบรอฮิมและคนอื่นๆ) หนึ่งในบรรดาข้อบังคับทางศาสนาสำหรับมุสลิมก็คือการละหมาดห้าครั้งในหนึ่งวัน ซึ่งได้แก่ เวลารุ่งเช้า, เที่ยง, บ่าย, ตะวันตกดิน และช่วงค่ำ  หนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นจะแจ้งช่วงเวลาละหมาดที่แน่นอนในแต่ละวัน

วันศุกร์เป็นวันศักดิ์สิทธิสำหรับมุสลิม  กิจการร้านค้าทุกอย่างจะปิดหมด  บริษัทหลายแห่งปิดในวันศุกร์เช่นกัน อย่างไรก็ตาม วันหยุดสุดสัปดาห์ในโมร็อกโกเป็นวันเสาร์และอาทิตย์

ระหว่างเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนศักดิ์สิทธิชาวมุสลิมจะถือศีลอดตั้งแต่ตะวันขึ้นจนถึงตะวันตกดินและทำงานเพียงหกชั่วโมงต่อวัน  การถือศีลอดหมายถึง การงดการรับประทานอาหาร, การดื่ม, การสูบบุหรี่หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง คนที่เดินทางอยู่ไม่จำเป็นต้องถือศีลอดแต่ก็ต้องไม่รับประทานอาหาร, ดื่ม, สูบบุหรี่หรือเคี้ยวหมากฝรั่งในที่สาธารณะ เมื่อตะวันตกดินคนในครอบครัวและกลุ่มเพื่อนจะรวมตัวกันเพื่อฉลองการละศีลอด (อิฟตาร์)  การฉลองมักจะต่อเนื่องไปตลอดทั้งคืน  ดังนั้น โดยปกติแล้วสิ่งต่างๆ จะดำเนินไปช้ากว่าเดิมในเดือนรอมฎอน  ธุรกิจหลายแห่งมีชั่วโมงการทำงานลดลง  ร้านค้าอาจเปิดและปิดต่างไปจากเวลาปกติ

-          แนวคิดเกี่ยวกับความละอาย – ฮชุมะ

สิ่งที่ชาวโมร็อกโกเชิดชูมากที่สุดคือเกียรติและศักดิ์ศรีซึ่งไม่เพียงเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเองเท่านั้นแต่ยังรวมถึงสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวด้วยชาวโมร็อกโกจะพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อจะรักษาเกียรติของตนเอง ฮชุมะจะเกิดขึ้นเมื่อคนอื่นรู้ว่าพวกเขาทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ชาวโมร็อกโกมองคุณค่าของตนเองจากภายนอก  ดังนั้น การที่คนอื่นจะมองพวกเขาอย่างไรจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง หากมีคนทำเรื่องน่าละอายเขาอาจถูกขับออกจากสังคมหรือแม้แต่ถูกขับไล่จากครอบครัวของตนเอง

ดังนั้น เพื่อเลี่ยงฮชุมะ ชาวโมร็อกโกจึงมักพูดหรือกระทำสิ่งต่างๆ ในที่สาธารณะเพื่อที่จะทำให้ตัวเองดูดีหรือช่วยเลี่ยงมิให้เกิดความอับอายหรือกระอักกระอ่วน

เมื่อทำธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องยืนยันข้อตกลงใดๆ ก็ตามต่อหน้าคนอื่นๆ เพราะข้อตกลงนั้นอาจทำอย่างไม่จริงใจ และบุคคลที่ทำข้อตกลงก็อาจไม่ได้ตั้งใจที่จะทำตามที่สัญญาไว้จริงๆ

-          ค่านิยมเกี่ยวกับครอบครัวของชาวโมร็อกโก

ครอบครัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในชีวิตของชาวโมร็อกโกและมีบทบาทสำคัญต่อความสัมพันธ์ทางสังคม  ชาวโมร็อกโกมักให้ความสำคัญกับบุคคลอื่นน้อยกว่าครอบครัวและกลุ่มเพื่อนคนโมร็อกโกมองการเห็นแก่พวกพ้องในแง่บวก เนื่องจากมันแสดงถึงระบบอุปถัมภ์ในครอบครัวของพวกเขาครอบครัวในความหมายนี้ประกอบด้วยครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย ผู้อาวุโสได้รับความยกย่องและนับถือและมีอิทธิพลต่อคนอื่นๆ ในครอบครัวอย่างมาก

-          มารยาทในการพบปะ

เมื่อชาวโมร็อกโกทักทายกันและกัน พวกเขาใช้เวลาอย่างมากและพูดคุยกันถึงครอบครัว เพื่อนและหัวข้ออื่นๆ ปกติการทักทายใช้วิธีการจับมือ หากว่าเป็นในกลุ่มเพศเดียวกันการจับมืออาจเป็นการสัมผัสเบาๆ ตามมาตรฐานตะวันตก แต่เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลพัฒนาขึ้นก็เป็นเรื่องปกติที่จะจูบที่แก้มทั้งสองข้าง โดยเริ่มจากแก้มซ้ายพร้อมกับการจับมือระหว่างชายกับชายและหญิงกับหญิง ในการทักทายระหว่างชายและหญิง  ฝ่ายหญิงต้องเป็นฝ่ายยื่นมือไปก่อน  หากผู้หญิงไม่ยื่นมือไปก่อนฝ่ายชายควรก้มศีรษะเป็นการทักทาย เมื่อเข้ากลุ่มสังคมให้เริ่มจับมือกับคนทางด้านขวามือก่อนและทักทายต่อไปจนทั่วห้องจากขวาไปซ้ายและควรกล่าวลากับทุกๆ คนเมื่อลากลับ

 

-          มารยาทในการให้ของขวัญ

หากได้รับคำเชิญไปบ้านชาวโมร็อกโก ควรหาขนมอบ, ถั่ว, มะเดื่อ, อินทผลัม หรือดอกไม้ไปฝากเจ้าบ้านของขวัญเล็กๆ น้อยๆ สำหรับเด็กๆ จะทำให้ได้รับความรักความชื่นชมยิ่งขึ้น แต่โปรดอย่านำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไปเป็นของฝาก เว้นเสียแต่ว่าเจ้าบ้านดื่มของมึนเมา ผู้รับไม่ควรเปิดของขวัญทันทีที่ได้รับ

-          ความสัมพันธ์และการสื่อสาร

ชาวโมร็อกโกมักเลือกทำธุรกิจกับคนที่รู้จักและนับถือ ดังนั้น ต้องใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวก่อนเริ่มทำธุรกิจและการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และวางรากฐานคนรู้จักจะช่วยให้การติดต่อทางราชการซึ่งมีระบบซับซ้อน สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

อาหารและเครื่องดื่มที่มีการเสิร์ฟระหว่างพบปะเจรจาคือ ชาใส่มิ้นต์ เพราะเป็นวิธีแสดงความยินดีต้อนรับของชาวโมร็อกโก วิธีการทำธุรกิจของชาวโมร็อกโกได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งเศส แต่เพิ่มความมีอัธยาศัยไมตรีและความเป็นทางการขึ้นมา เนื่องจากชาวโมร็อกโกตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก จึงควรแต่งกายให้ดูดีและเหมาะสม

-          มารยาทในการพบปะทางธุรกิจ

การนัดหมายเป็นสิ่งสำคัญและควรนัดหมายล่วงหน้านานเท่าที่จะทำได้ ไม่ลงตารางนัดหมายช่วงเดือนรอมฎอน เนื่องจากชาวมุสลิมจะไม่รับประทานอาหารหรือดื่มในระหว่างวันในช่วงเดือนรอมฎอน อย่าลงตารางนัดหมายในช่วง 11.15 -15.00 น. ของวันศุกร์ เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่จะปิดเพื่อทำการละหมาด พยายามไปถึงสถานที่นัดหมายตรงเวลาและเตรียมตัวคอยคนอื่น

นักธุรกิจชาวโมร็อกโกที่คุ้นเคยกับการติดต่อกับบริษัทต่างชาติมักพยายามมาถึงให้ตรงต่อเวลาแม้ว่ามันจะค่อนข้างยากสำหรับพวกเขาซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานจากความสัมพันธ์ส่วนตัว โดยทั่วไปแล้วชาวโมร็อกโกมักเปิดประตูทิ้งไว้แม้กระทั่งระหว่างการประชุม 

ปกติการทำธุรกิจในโมร็อกโกใช้ภาษาฝรั่งเศส บางบริษัทอาจใช้ภาษาอังกฤษ ควรเช็คว่าในการพบปะจะต้องใช้ภาษาใดเพื่อจะได้ทราบล่วงหน้าว่าต้องจ้างล่ามหรือไม่

-          การเจรจาทางธุรกิจ

มีความสัมพันธ์เป็นลำดับชั้นภายในบริษัท คนที่อยู่ในระดับสูงสุดเป็นผู้ตัดสินใจแต่จะตัดสินใจหลังได้รับการเห็นชอบจากหมู่คณะแล้ว หากการทำธุรกิจต้องเกี่ยวข้องกับรัฐบาล การหารือจะนานกว่าปกติ เนื่องจากธุรกิจต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีของหลายกระทรวง

ชาวโมร็อกโกมักต้องการความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว ไม่ควรวิจารณ์คนอื่นในที่สาธารณะ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ไม่ควรทำให้คู่ค้าทางธุรกิจชาวโมร็อกโกได้รับความอับอาย

ส่วนการตัดสินใจทางธุรกิจในโมร็อกโกเป็นไปอย่างเชื่องช้า จึงไม่ควรเร่งการตัดสินใจเพราะอาจถูกมองว่าเป็นการดูถูก สังคมโมร็อกโกเป็นสังคมราชการ การตัดสินใจทางธุรกิจต้องการการอนุมัติหลายขั้นตอนจากทางราชการ ดังนั้น ต้องไปติดต่อหลายหน่วยงานเพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น ไม่ควรใช้วิธีกดดันเพื่อแก้ปัญหาเพราะอาจส่งผลให้เกิดการต่อต้านคุณแทน บางครั้งชาวโมร็อกโกก็สามารถเจรจาอย่างชาญฉลาดและหนักแน่น

-          มารยาทการแต่งกาย

ชุดแต่งกายแบบนักธุรกิจมีลักษณะเป็นทางการและอนุรักษ์นิยม ผู้ชายควรแต่งกายด้วยสูทนักธุรกิจสีเข้ม ในการพบปะกันครั้งแรกๆ ผู้หญิงควรสวมชุดสูทนักธุรกิจที่ดูสง่า  เป็นชุดกระโปรงยาวหรือชุดกางเกง ผู้หญิงต้องใส่ชุดที่คลุมร่างกายมิดชิด  กระโปรงและชุดยาวควรคลุมถึงเข่าและแขนเสื้อควรปกปิดพื้นที่ส่วนใหญ่ของแขน ไม่ควรใส่เครื่องประดับราคาแพง

 

ปัจจัยสนับสนุนให้เกิดโอกาสทางการค้าการลงทุนในโมร็อกโกที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้

1)    การเมืองมีเสถียรภาพ เนื่องจากปกครองด้วยระบอบปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นและนโยบายต่างๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจังซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ

2)    การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เป็นตลาดใหม่ (Emerging market) ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ  

3)    จำนวนประชากรกว่า 33 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน นับเป็นตลาดที่น่าสนใจในด้านการบริโภค และการจ้างงาน

4)    ค่าแรงขั้นต่ำแรงงานในอุตสาหกรรม 11.5 เหรียญสหรัฐฯ/วัน และแรงงานในภาคเกษตร 7.5 เหรียญสหรัฐฯ (ที่มา : http://www.nationmaster.com/country-info/profiles/Morocco/Labor)

5)    มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบด้านการเกษตรและอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เช่น เป็นแหล่งผลิตผลไม้เมืองหนาวที่สำคัญ เช่น ส้ม สตอเบอรี่ เมล่อน เป็นแหล่งวัตถุดิบผลผลิตทางด้านประมง เช่น ปลาซาร์ดีน เป็นต้น

6)      มีโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารจากต่างประเทศ

สายสัมพันธ์ (Connection) ที่ดีระหว่างไทย-โมร็อกโก ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจได้สูง