Get Adobe Flash player

ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเทศคู่ค้าเดิมของประเทศไทยอยู่ในภาวะซบเซา กำลังซื้อถดถอย ไทยจึงต้องมองหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อรองรับการผลิตที่มากกว่าความต้องการในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมอาหารแล้ว นอกจากการเสาะแสวงหาตลาดใหม่เพื่อขยายฐานการส่งออก  การขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยไปยังตลาดเกิดใหม่เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ควรจะต้องพิจารณา เนื่องจากผู้ประกอบการอาหารของไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารที่ได้คุณภาพ มาตรฐาน ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

1. ขนาดเศรษฐกิจและกำลังซื้อ

   ปัจจุบันกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) มีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 3,415 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีสัดส่วนร้อยละ 4.4 ของขนาดเศรษฐกิจโลก หรือมีขนาดใหญ่ 9 เท่าของเศรษฐกิจไทย โดยมีซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด คือ 746 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 21.9 ของขนาดเศรษฐกิจ MENA รองลงมาได้แก่ ประเทศอิหร่าน มีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 419 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 12.2 ของขนาดเศรษฐกิจ MENA อันดับที่สาม คือ ประเทศ UAE  มีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 339 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 11.7 ของขนาดเศรษฐกิจ MENA

       ตลาดที่มีกำลังซื้อสูงอยู่ในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีจำนวนประชากรเพียง 50 ล้านคน หรือร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มประเทศ MENA แต่กลับมีขนาดเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 48 ของภูมิภาค ส่งผลทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรใน GCC ปี 2557 มีค่าเฉลี่ยสูงถึง 33,142 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในกลุ่ม MENA อยู่ที่ 7,761 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในกลุ่ม MENA สูงที่สุด ได้แก่ กาตาร์ รองลงมา ได้แก่ คูเวต และ UAE


 

   2.   องค์ประกอบของเศรษฐกิจและแหล่งที่มาของรายได้

แหล่งที่มาของรายได้ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยในปี 2557 กลุ่มประเทศ MENA มีรายได้จากภาคอุตสาหกรรมและบริการคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.6 และ 44.6 ตามลำดับ ส่วนรายได้จากภาคเกษตรกรรมมีเพียงร้อยละ 4.8 เนื่องจากพื้นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายจึงไม่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ที่มีรายได้จากการทำเกษตรกรรมเพียงร้อยละ 1.1 ของรายได้รวมเท่านั้น

รายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรมของ MENA ส่วนใหญ่มาจากการผลิตและจำหน่ายน้ำมันและก๊าชธรรมชาติ รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากน้ำมัน อาทิ ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ รวมถึงพลาสติก ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าพื้นที่ในแถบนี้ตั้งอยู่ในแหล่งปิโตรเลียมที่อุดมไปด้วยน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาล ประมาณการว่าปัจจุบันภูมิภาค MENA มีปริมาณน้ำมันสำรองร้อยละ 60 ของปริมาณน้ำมันสำรองโลก โดยสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) จำนวน 8 ประเทศ จาก 12 ประเทศ อยู่ในภูมิภาค MENA ดังนั้น ความมั่งคั่งของประเทศในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่มาจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ GCC ที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นองค์ประกอบของเศรษฐกิจในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50 นั่นหมายความว่าความผันผวนของราคาพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อรายได้และความมั่งคั่งของประเทศในภูมิภาคนี้

ในขณะที่ภาคบริการก็มีบทบาทสำคัญต่อประเทศในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นตามลำดับ หลังจากที่หลายๆ ประเทศปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อลดการพึ่งพิงรายได้จากน้ำมัน ซึ่งภาคบริการที่สำคัญ อาทิ สาขาการท่องเที่ยว สาขาโลจิสติกส์และการขนส่ง สาขาอสังหาริมทรัพย์ สาขาบริการทางการเงิน โดยสาขาการท่องเที่ยว สาขาโลจิสติกส์และการขนส่ง เป็นภาคบริการที่สำคัญในกลุ่มประเทศแอฟริกาเหนือโดยเฉพาะโมร็อกโก ตูนิเซีย และอิยิปต์ ซึ่งได้เปรียบทำเลที่ตั้งที่ติดกับทะเลเมดิเตอเรเนียน สามารถเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าระหว่างยุโรปกับประเทศแอฟริกาตอนใน รวมถึงเป็นเมืองท่ารองรับนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่เดินทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติและชมความงดงามของสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าในประเทศดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ที่กลุ่มประเทศ GCC โดยเฉพาะเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเมืองท่าปลอดภาษีที่มีศักยภาพในการกระจายสินค้าไปสู่ภูมิภาค มีการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อจับกลุ่มนักธุรกิจผู้มีรายได้สูง รวมถึงความพยายามในการดำเนินมาตรการเพื่อให้ดูไบเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค เป็นต้น ส่วนประเทศกาตาร์เน้นการจัดกิจกรรมกีฬาและนันทนาการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมา กาตาร์เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาสำคัญระดับโลกหลายรายการ รวมถึงการได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพมหกรรมฟุตบอลโลกปี 2022 (FIFA World Cup 2022 Qatar) ด้วย


 

3.        สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ในภาวะปกติเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ MENA จะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตในระดับกลางโดยสูงกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเล็กน้อย แต่ปัจจุบันอยู่ในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ MENA ชะลอตัวตามไปด้วย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า ในปี 2558 เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ MENA จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.4 ลดลงครึ่งหนึ่งของอัตราขยายตัวปกติซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่หดตัวลงร้อยละ 50-60


 

แม้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันซึ่งเป็นรายได้หลัก แต่เศรษฐกิจก็ไม่ได้ทรุดตัวรุนแรงเหมือนเช่นในอดีต เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศในกลุ่ม MENA ได้ผ่านประสบการณ์ความผันผวนของราคาพลังงานมาแล้วหลายครั้ง และตระหนักถึงความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันได้ทุกเมื่อ จึงได้ดำเนินนโยบายการพัฒนาประเทศเพื่อขยายฐานทางเศรษฐกิจ (Diversification) ทำให้เกิดรายได้จากแหล่งอื่นควบคู่กันไป เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จึงขยายตัวต่อไปในห้วงวิกฤติ และยังคงเป็นตลาดที่มีโอกาสขยายการค้าการลงทุนของไทย ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ MENA จะเริ่มฟื้นตัวในปี 2559 โดยมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.9


ภาพ คาดการณ์ผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันต่อเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ MENA

ที่มา: คำนวณจากข้อมูลของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

หมายเหตุ : ขนาดวงกลมแทนขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ของแต่ละประเทศ มีหน่วยเป็น พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

4.                  เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

กลุ่มประเทศ MENA มีอัตราการว่างงานที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแอฟริกาเหนือที่มีอัตราการว่างงานอยู่ในช่วงร้อยละ 9.0-17.5 รวมถึงประเทศส่วนใหญ่ในตะวันออกกลาง ยกเว้น กาตาร์ คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  ที่มีอัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำ โดยรัฐบาลในหลายประเทศได้พยายามแก้ไขปัญหาว่างงานสูง โดยการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการจ้างงานของภาคธุรกิจโดยการกำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนในพื้นที่มากขึ้น และมีการเพิ่มอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งนโยบายดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จนักในภาคธุรกิจ เพราะเกิดปัญหาการเปลี่ยนงานบ่อย ดังเช่นกรณีของประเทศบาห์เรน

นอกจากนี้ อุปนิสัยของคนในภูมิภาคนี้ที่รักอิสระ รวมทั้งเคยได้รับผลตอบแทนจากการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะที่ดิน ทำให้ไม่ค่อยให้ความสนใจการประกอบธุรกิจ ที่ผ่านมา ธุรกิจและการค้าในภูมิภาคนี้จึงถูกขับเคลื่อนโดยชาวต่างชาติ โดยชาวยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย จะเป็นกลุ่มผู้บริหาร ขณะที่กลุ่มคนทำงานและกลุ่มแรงงานจะมาจากหลากหลายประเทศขึ้นอยู่กับลักษณะงาน เช่น ภาคบริการส่วนใหญ่เป็นชาวฟิลิปปินส์ กรรมกรรวมทั้งขนส่งจะเป็นคนปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เป็นต้น

ในส่วนของอัตรเงินเฟ้อพบว่า ประเทศใน MENA ส่วนใหญ่มีปัญหาเงินเฟ้อค่อนข้างน้อย เนื่องหลายประเทศมีมาตรการการควบคุมราคาสินค้าโดยเฉพาะราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนหลักในระบบเศรษฐกิจ ยกเว้นประเทศอิหร่านและเยเมนที่มีปัญหานี้อยู่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา อิหร่านถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจการค้ารวมถึงการเงิน

            ตาราง  เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ MENA ปี 2557

 

5.  การค้าการลงทุน

กลุ่มประเทศ MENA ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางสามารถกระจายสินค้าไปสู่ภูมิภาคข้างเคียงได้ในระยะทางที่ได้เปรียบ อาทิ ยุโรป เอเชีย อเมริกา หรือแม้แต่พื้นที่ตอนในของแอฟริกา โดยมีนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนรวมถึงการกระจายสินค้าที่สำคัญในภูมิภาคตะวันออกลาง ซึ่งเกิดจากวิสัยทัศน์อันยาวไกลของผู้นำประเทศที่ได้มีการวางรากฐานที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งการปรับกฎหมายให้เอื้อต่อการทำธุรกิจทั้งสัดส่วนการถือหุ้นและการถือครองที่ดิน กฎหมายการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี มีโครงสร้างพื้นฐานด้านลอจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ จัดทำเขตเศรษฐกิจเสรีหรือเขตปลอดภาษี (Economic Free Zone) กว่า 20 แห่งทั่วประเทศ เพื่อดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตและฐานการกระจายสินค้า ขณะที่โมร็อกโกมีบทบาทเด่นในกลุ่มแอฟริกาเหนือ โดยเป็นเสมือนประตูการค้าของภูมิภาคแอฟริกาสู่ยุโรปและภูมิภาคอื่น ปัจจุบันโมร็อกโกมีความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และตุรกี รวมทั้งมีสิทธิพิเศษทางภาษีจากการเป็นสมาชิกภายใต้กลุ่มต่างๆ ในภูมิภาค

 

                 ที่มา: ธนาคารโลก

สำหรับกลุ่มประเทศใน GCC ก็มีอัตราภาษีที่ต่ำมากโดยเฉพาะภาษีศุลกากรที่อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ในเกือบทุกรายการสินค้า ในขณะที่อัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดา รวมถึงภาษีธุรกิจหรือภาษีนิติบุคคลก็อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอิ่นในภูมิภาค หรือไม่เก็บภาษีเลยในหลายประเทศ ส่วนมาตรการกีดกันอื่นๆ หากเทียบกับยุโรป สหรัฐฯ ถือว่าน้อยกว่ามาก ในขณะที่การลงทุนและบริการ เปิดกว้างค่อนข้างมาก

 

หมายเหตุ: GCC (Gulf Cooperation Council)

AMU(Arab Maghreb Union)

Agadir Agreement(the Arab Mediterranean countriesFree Trade Area)

COMESA (Common Market for Eastern and Southern Africa)

GAFTA (Greater Arab Free Trade Area)

MEFTA (The US-Middle East Free Trade Area)

TFTA (The Tripartite Free Trade Area)

 

6.      ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า

กลุ่มประเทศ MENA มีความร่วมมือทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจผ่านความตกลงต่างๆ เป็นจำนวนมาก มีทั้งที่บรรลุข้อตกลงมีผลในทางปฏิบัติและอยู่ระหว่างการเจรจา และเป็นความตกลงในภูมิภาคและนอกภูมิภาค อาทิ Gulf Cooperation Council (GCC), Arab Maghreb Union (AMU), the Arab Mediterranean countriesFree Trade Area (Agadir Agreement), Common Market for Eastern and Southern Africa (COMESA), Greater Arab Free Trade Area (GAFTA), The US-Middle East Free Trade Area (MEFTA), The Tripartite Free Trade Area (TFTA) เป็นต้น

สำหรับความตกลงที่ค่อนข้างโดดเด่นและมีผลในทางปฏิบัติแล้วในภูมิภาค ได้แก่ ความเป็นตลาดร่วม (Common Market) ของกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ที่มีการก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 35 ปีก่อน ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ คูเวต โอมาน และบาห์เรน วัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งกลุ่ม GCC เพื่อกระชับและสร้างความเป็นเอกภาพระหว่างสมาชิกในทุกๆ ด้าน อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในชาติสมาชิกอาหรับ ปัจจุบัน GCC มีสถานะเป็นตลาดร่วม (Common Market) ที่สามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้งทางด้านทุน แรงงาน เทคโนโลยี รวมทั้งผู้ประกอบการได้โดยเสรี ซึ่งข้อดีของตลาดร่วมคือการยอมรับข้อกำหนด กฎระเบียบ รวมทั้งมาตรฐานสินค้าระหว่างกัน หมายความว่า หากสินค้าที่ได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกใดสมาชิกหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าสามารถส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอื่นในกลุ่มได้ สถานะของตลาด GCC ดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้เกิดการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้