Get Adobe Flash player

การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรู้ก่อนเข้าสู่ตลาดในลำดับแรก โดยเฉพาะความเข้าใจพฤติกรรม วัฒนธรรม ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อผู้ประกอบการจะสามารถขยายเครือข่ายการผลิต การค้า การลงทุน ได้ตรงตามกับความต้องการของผู้บริโภคและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปในประเทศโมร็อกโก โดยการสำรวจได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกบุคลากรภาครัฐและภาคเอกชน ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตสินค้าอาหารในประเทศโมร็อกโก ครอบคลุมการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารแปรรูป รูปแบบสินค้าที่นิยม ช่องทางการซื้อ และข้อเสนอแนะของผู้บริโภค โดยการใช้แบบสอบถามเพื่อสอบถามผู้บริโภคตัวอย่างชาวโมร็อกโกจำนวน 350 คน สอบถามใน 2 ประเด็นคือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารแปรรูป รูปแบบของผลิตภัณฑ์อาหารประมงและผลไม้แปรรูปที่นิยมบริโภค และความนิยมบริโภคอาหารแปรรูปนำเข้าจากต่างประเทศ สรุปได้ดังนี้

·       ข้อมูลพื้นฐาน

กลุ่มตัวอย่างชาวโมร็อกโกตอบแบบสอบถามจำแนกเป็นเพศชายร้อยละ 52.3 และเพศหญิง ร้อยละ 47.7 จากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ส่วนใหญ่ผู้ตอบแบบสอบถามจะอยู่กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน อายุในช่วง 19-22 ปี ร้อยละ 34.3 และ 23-32 ปี ร้อยละ 28.9 ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีงานทำในภาคเอกชน ราชการ อาชีพอิสระ คิดเป็นร้อยละ 47.7 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 41.4 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด และมีรายได้ต่อเดือนคำนวณเป็นเงินบาท พบว่าส่วนใหญ่ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 46.6 รองลงมา 10,001 – 20,000 บาท/เดือน

 

·       รสชาติอาหารที่รับประทานเป็นประจำ

รสชาติอาหารที่ชาวโมร็อกโกชอบรับประทานเป็นประจำ คือ อาหารรสจืด ร้อยละ 30.93 จากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รสเผ็ดร้อน ร้อยละ 21.31 รสหวาน ร้อยละ 18.90 รสเปรี้ยว ร้อยละ 15.64 และรสเค็ม ร้อยละ 13.06 


 

·       อาหารท้องถิ่นที่ชอบรับประทาน

อาหารท้องถิ่นที่ชาวโมร็อกโกชอบรับประทาน มากที่สุดได้แก่ กุซกุซ นิยมรับประทานมากที่สุดร้อยละ 28.45 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รองลงมา คือ ตอยีน ร้อยละ 17.51 ไก่อบ ร้อยละ 7.66 ไก่ย่าง ร้อยละ 6.89 ปอเปี๊ยะ ร้อยละ 6.89 ปลาทอด ร้อยละ 6.46 ซุปโมร็อกโก ร้อยละ 6.24 และอื่นๆ เช่น ไก่ทอด พิซซ่า แกงฮะรีเราะ เป็นต้น


 

·       ร้านอาหารต่างชาติที่ชาวโมร็อกโกนิยมรับประทาน

ร้านอาหารต่างชาติที่ชาวโมร็อกโกนิยมรับประทาน คือ ร้านอาหารอิตาลี ร้อยละ 34 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ฝรั่งเศส ร้อยละ 6 อเมนิกัน ร้อยละ 5.7 ตุรกี ร้อยละ 5.1 ไทย ร้อยละ 4.6 และอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น สเปน จีน อียิปต์ เป็นต้น

ชนิดของอาหารต่างชาติที่ผู้บริโภคชาวโมร็อกโกคุ้นชิน และเคยรับประทานในร้านอาหารต่างชาติ ได้แก่ พิซซ่า เคบับ ซูชิ สปาเก็ตตี้ ข้าวผัดสเปน ส่วนเมนูอาหารไทย ที่ชาวโมร็อกโกนิยมสั่งรับประทาน ได้แก่ ข้าวผัด ผัดไท ต้มยำ ข้าวหมกไก่ เป็นต้น     

 

·       ปัจจัยในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารแปรรูปและเครื่องดื่มของชาวโมร็อกโก

 

 

·       แหล่งซื้ออาหารแปรรูปและเครื่องดื่มของชาวโมร็อกโก

ช่องทางที่ผู้บริโภคในโมร็อกโกนิยมซื้ออาหารหารแปรรูปและเครื่องดื่ม อันดับ 1 ได้แก่ ตลาดสด ร้อยละ 25.83 รองลงมา ได้แก้ ร้านค้า/ร้านโชห่วย ร้อยละ 20.96 ร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 18.24 

 

·       อาหารแปรรูปที่ผู้บริโภคโมร็อกโกนิยมซื้อ

กลุ่มอาหารแปรรูปที่ผู้บริโภคเลือกซื้อบ่อยที่สุด ได้แก่ ขนมปังกรอบ ร้อยละ 21.1 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ช็อกโกแลต ร้อยละ 15.6 โยเกิร์ต ร้อยละ 12.3 มายองเนส ร้อยละ 11.5 ผลไม้กระป๋อง ร้อยละ 8.6 บะหมี่ ร้อยละ 8.1 ขนมขบเคี้ยว ร้อยละ 7.2 กุ้งกระป๋อง ร้อยละ 6.0 ทูน่ากระป๋อง ร้อยละ 3.9 และอื่นๆ ร้อยละ 28.5 เช่น วุ้นเส้น ลูกอม ซอส ไส้กรอก อินทผาลัม เป็นต้น

 

·       เครื่องดื่มที่ผู้บริโภคโมร็อกโกนิยมซื้อ

เครื่องดื่มที่ผู้บริโภคเลือกซื้อบ่อยที่สุด ได้แก่ นมพร้อมดื่ม ร้อยละ 21.4 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รองลงมาได้แก่ กาแฟ ร้อยละ 20.2 เครื่องดื่มเกลือแร่ ร้อยละ 18.1 น้ำอัดลม ร้อยละ 16.6 น้ำผลไม้บรรจุกล่อง ร้อยละ 11.0 น้ำผลไม้บรรจุขวด ร้อยละ 9.3 และอื่นๆ ร้อยละ 3.4 เช่น ชาเขียว ชาโมร็อกโก เป็นต้น

 

 

·       การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป/เครื่องดื่มจากประเทศไทย

จากกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจแบบสอบถาม 350 คน พบว่าผู้บริโภคที่เคยซื้ออาหารแปรรูปและเครื่องดื่มที่มาจากประเทศไทย ร้อยละ 8.86 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ส่วนผู้บริโภคที่ยังไม่เคยซื้อ ร้อยละ 91.14 สาเหตุที่ผู้บริโภคยังไม่เคยซื้ออาหารแปรรูปของประเทศไทย เนื่องจาก หาซื้อไม่ได้ ร้อยละ 42.3 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ไม่ชอบ ร้อยละ 13.7 ไม่มีโอกาสได้ทดลองซื้อ ร้อยละ 9.4 และขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพตามหลักศาสนา ร้อยละ 0.3 เป็นต้น   

สำหรับผู้บริโภคที่เลือกซื้ออาหารแปรรูปจากประเทศไทย และยังคงบริโภคอยู่ต่อเนื่อง เนื่องจากรสชาติดี มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ชอบสินค้าไทย เป็นต้น และประเภทอาหารแปรรูปที่เลือกซื้อ เช่น ทูน่ากระป๋อง ข้าว ซอสถั่วเหลือง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น 

ส่วนผู้บริโภคที่เคยซื้อและเลิกซื้อไปแล้วนั้น เนื่องจาก ราคาสูง หาซื้อยาก และจะรับประทานและเลือกซื้ออาหารไทยก็ต่อเมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเท่านั้น จึงไม่ได้มีการซื้อต่อเนื่อง เป็นต้น

  

จากการนำเสนอข้อมูลในภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารในโมร็อกโก ผลิตภัณฑ์ภัณฑ์อาหารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของโมร็อกโกคือ ผลิตภัณฑ์ประมง และผลไม้แปรรูป ซึ่งสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศของสินค้าทั้งสองกลุ่มเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของการส่งออกพบว่ามีสัดส่วนไม่มากนัก แต่หากพิจารณาการเติบโตของมูลค่าค้าปลีกของกลุ่มสินค้าทั้งสองกลุ่มจะพบว่ามีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 5-7 ของมูลค่าค้าปลีกในโมร็อกโก

จากการสำรวจผู้บริโภคโดยแบบสอบถาม โดยทำการสอบถามถึงประเภทของสินค้าประมงแปรรูปและผลไม้ปรูปที่นิยมซื้อ สรุปได้ดังนี้

 

·       ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปพร้อมรับประทานที่นิยมบริโภค

ผลิตภัณฑ์ประมงประเภทอาหารทะเลแปรรูปที่นิยมบริโภคอันดับ 1 ได้แก่ ทูน่าบรรจุกระป๋อง ร้อยละ 41.6 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ซาร์ดีนกระป๋อง ร้อยละ 29.9 กุ้งแปรรูปต่างๆ ร้อยละ 12.1 สเปรดทาขนมปัง ร้อยละ 8.1 และน้ำมันปลาร้อยละ 3.4 

 

·       ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปที่นิยมบริโภค

ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปที่ผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างนิยมบริโภค ได้แก่ ผลไม้อบแห้ง ร้อยละ 61.7 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ผลไม้ทอดกรอบ ร้อยละ 15.8 ผลไม้กระป๋อง ร้อยละ 13.6 ผลไม้กวน ร้อยละ 4.9 และอื่นๆ ร้อยละ 4.0


 

·       ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้พร้อมดื่มที่นิยมบริโภค

ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้พร้อมดื่มที่กลุ่มตัวอย่างชาวโมร็อกโกนิยมบริโภค อันดับ 1 จะเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่มบรรจุกล่อง คิดเป็นร้อยละ 63.3 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด น้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง ร้อยละ 19.3 และน้ำผลไม้บรรจุขวดพลาสติก ร้อยละ 17.4

รสชาติที่นิยมพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่นิยมน้ำส้ม ร้อยละ 29 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รองลงมาคือ สตอร์เบอรี่ ร้อยละ 21.10 น้ำสับปะรด ร้อยละ 15.50 ผลไม้รวม ร้อยละ 15.50 มะม่วง ร้อยละ 10.50 มะพร้าว ร้อยละ 5.20 และอื่นๆ ร้อยละ 3.20 เช่น ลูกท้อ อะโวกาโด กล้วย+อะโวกาโด และแอปเปิล เป็นต้น

 

ทีมวิจัยได้สอบถามถึงแหล่งผลิตหรือแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารประมงแปรรูปและผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปจากต่างประเทศที่ชาวโมร็อกนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ พบว่า ผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปที่เป็นสินค้านำเข้า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะนึกถึงสินค้าจากประเทศฝรั่งเศส ร้อยละ 21.57 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สเปน ร้อยละ 19.38 อิตาลี ร้อยละ 13.44 จีน ร้อยละ 10.79 ตุรกี ร้อยละ ร้อยละ 9.54 ไทย ร้อยละ 7.35 และอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี แอลจีเรีย เป็นต้น

สำหรับแหล่งนำเข้าสินค้าผลไม้แปรรูปที่ชาวโมร็อกโกนึกถึงในอันดับแรกๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส จีน สเปน ไทย สหรัฐอเมริกา ตุรกี อินเดีย เป็นต้น