Get Adobe Flash player

กระบวนการผลิตน้ำมันปลาในรูปแบบ Crude oil เริ่มจาก

1.       นำส่วนเหลือใช้จากการผลิตปลาซาร์ดีนกระป๋อง ได้แก่ หัว และหาง มานึ่งที่อุณหภูมิ 90-95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10-20 นาที

2.     นำส่วนหัวและหางปลาซาร์ดีนที่ผ่านการนึ่งมาบีบอัดด้วยเครื่องบีบอัดแบบสกรู (screw press) เพื่อแยกส่วนของเหลว (press liqour) ออกจากส่วนเนื้อ (press cake)

3.       นำส่วนของเหลว (press liqour) ผ่านตะแกรงกรอง (vibratingscreen) ขนาด 5-6 มิลลิเมตร เพื่อแยกชิ้นส่วนเนื้อและกระดูกที่หลงเหลืออยู่ออกจากส่วนของเหลว

4.       นำส่วนของเหลวที่ผ่านการกรองแล้วเข้าเครื่องหมุนเหวี่ยง (centrifuge) เพื่อแยกชั้นของน้ำมัน น้ำ และเศษเนื้อออกจากกัน

5.       นำส่วนของน้ำมันและน้ำออกจากส่วนของเศษเนื้อด้วยการรินออก

6.       นำส่วนของน้ำออกจากส่วนของน้ำมันด้วยเครื่องระเหย (Evaporator) จะได้เป็นน้ำมันปลาดิบ (Crude oil) 

 

 

กระบวนการผลิตน้ำมันปลาในรูปแบบ Refine oil เริ่มจาก

1.       นำน้ำมันปลาดิบ (Crude oil) มาใส่ในถังพัก เติมไนโตรเจน และกรดซิตริก เพื่อกำจัดออกซิเจนและ free fatty acid

2.       เติมน้ำร้อน เพื่อล้างส่วนที่เป็นของแข็งและกรองออก

3.       นำมาผ่าน activated carbon เพื่อกำจัดสีและสารไออนที่ไม่ต้องการ

4.       ทำการกลั่นได้เป็นน้ำมันปลาบริสุทธิ์ในรูปแบบ Refine oil ตามต้องการ 

 

1.   การวิเคราะห์สถานการณ์และสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมน้ำมันปลาในโมร็อกโก 

               

 

1)      สภาพการณ์ของการแข่งขัน (Rivalry between established firms) : ต่ำ คู่แข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีการผลิตน้ำมันปลายังมีน้อย ทำให้การแข่งขันไม่รุนแรง

2)      การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ (Risk of entry by potential competitors) : ปานกลาง คู่แข่งขันรายใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันปลาในส่วนของน้ำมันปลาพร้อมบริโภค มีหลายขั้นตอน และต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการผลิต ใช้เงินทุนเครื่องสกัดน้ำมันประมาณ 50 ล้านบาท การผลิตต้องอาศัยผู้ประกอบการที่พร้อมจะลงทุน ในส่วนของภาครัฐในโมร็อกโก ให้การสนับสนุนการเข้ามาลงทุนของผู้ผลิตรายใหม่

3)      อำนาจการต่อรองของลูกค้า (Powerof customers): ปานกลาง ลูกค้ามีอำนาจการต่อรองปานกลาง เนื่องจากในปัจจุบันการผลิตน้ำมันปลามีผู้ผลิตหลักที่ส่งออกในรูปของน้ำมันดิบและพร้อมบริโภคในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาดโลก และสินค้าทดแทนในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดอื่นๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้น เป็นทางเลือกให้ผู้ซื้อมากขึ้น 

4)      อำนาจการต่อรองของผู้ขายปัจจัยการผลิต (Power of Suppliers) : ต่ำ ซัพพลายเออร์ มีอำนาจต่อรองน้อย เพราะวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนหนึ่งมาจากส่วนเหลือใช้ในโรงงานผลิตสินค้าประมง และบางส่วนมาจากแพปลา ซึ่งต้องระบายผลผลิตส่วนนี้ในระเวลาจำกัดเนื่องจากเป็นของสดที่มีระยะเวลาการเก็บรักษาได้ไม่นาน และในสาวนของโรงงานประมง มีส่วนเหลือใช้อยู่แล้วที่ต้องจำหน่ายออก

5)      ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน (Threat of substitute products) : ปานกลาง  สินค้าทดแทนสำหรับระดับผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาหารเสริมชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งที่ผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนชนิดของอาหารเสริมได้ตลอดเวลา อย่างไร ก็ตามหากพิจารณาสรรพคุณของน้ำมันปลาซึ่งมีโอเมก้า 3 ที่พบมากในน้ำมันปลาและมีประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ บำรุงสมอง บำรุงสายตา และช่วยในเรื่องความจำ ซึ่งผู้บริโภครับรู้ ส่วนในภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวข้อง ที่ต้องใช้น้ำมันปลาเป็นส่วนประกอบ มีแนวโน้มความต้องการใช้ตามการขยายตัวของตลาดโลก

 

2.      การวิเคราะห์ PEST Analysis ในอุตสาหกรรมน้ำมันปลา (Refine Fish Oil) ในโมร็อกโก

 

1)      P-Political นโยบายสนับสนุนการผลิตและการส่งออกของโมร็อกโก สนับสนุนให้มีการใช้ทรัพยากรทั้งวัตถุดิบและแรงงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยส่งเสริมให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในโมร็อกโก ด้วยการให้สิทธิพิเศษด้านภาษี กฎระเบียบและมาตรการต่างๆ อย่างชัดเจน ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการของไทยจะเข้าไปร่วมทุน (join venture) กับผู้ประกอบการโมร็อกโก เพื่อผลิตน้ำมันปลาในราชอาณาจักรโมร็อกโก จึงเป็นทั้งโอกาสของโมร็อกโกในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกของโมร็อกโกให้เติบโตขึ้น และโอกาสของไทยในการขยายฐานการผลิตและได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ   

2)      E-Economic : สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงผันผวน ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ประกอบกับเมื่อปี 2554 ธนาคารโลกได้ปรับฐานะให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง จากเดิมปานกลางระดับล่าง ยิ่งส่งผลต่อเนื่องให้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดอีกต่อไป เพราะถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า GSP จากประเทศรายได้สูงอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการไทยเข้าไปร่วมทุน (join venture) กับผู้ประกอบการโมร็อกโก เพื่อผลิตน้ำมันปลาในราชอาณาจักรโมร็อกโก จึงเป็นโอกาสที่จะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอาหารของไทย และเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายฐานการผลิตเข้าไปสู่โมร็อกโกประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของไทย เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ ที่เอื้อต่อธุรกิจอีกด้วย

3)      S-Social : กระแสนิยมความต้องการบริโภคสินค้าที่ผลิตจากสารสกัดธรรมชาติ ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกต่างให้ความสนใจผลิตภัณฑ์น้ำมันปลา เนื่องจากน้ำมันปลาจัดเป็นสารสกัดจากอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมทั้งมีคุณสมบัติในการป้องกันรักษาโรค (nutraceutical) ซึ่งมีสารออกฤทธิ์สำคัญคือ กรดกลุ่มโอเมก้า-3 (ω-3,omega-3 fatty acid) และโอเมก้า-6 (ω-6, omega-6 fatty acid) เช่น DHA และ EPA ดังนั้น น้ำมันปลาจึงถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร และแพร่หลายเข้าไปในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น

4)      T-Technological : มีเทคโนโลยี ที่ช่วยในการสกัดน้ำมันปลาให้มีปริมาณและคุณภาพตามต้องการ แต่เทคโนโลยีการสกัดน้ำมันปลาต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งการฟอกสี (bleaching) กำจัดกลิ่น (deodorization) การแยกกรดไขมันอิ่มตัวออก และการเติมไฮโดรเจน (Hydrogenation) เพื่อป้องกันการเกิด Lipid Oxidation ซึ่งทำให้เกิดสารที่ให้กลิ่นและรสผิดปกติ (กลิ่นหืน) เนื่องจากน้ำมันปลามีกรดไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณมาก ซึ่งไวต่อการเกิดปฏิกิริยา Lipid Oxidation ได้ง่าย ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ปริมาณและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยและราชอาณาจักรโมร็อกโกมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยรายที่ทำได้ และจำนวนผู้เชี่ยวชาญในการสกัดน้ำมันปลาก็มีจำนวนน้อย