Get Adobe Flash player

ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปที่จำหน่ายในโมร็อกโกมี 2 ลักษณะใหญ่ คือ น้ำผลไม้ และผลไม้บรรจุกระป๋อง โดยในปี พ.ศ. 2558 มีปริมาณการจำหน่ายสินค้าทั้งสองชนิดจำนวน 81.8 ล้านลิตร และ 6,400 ตัน คิดเป็นมูลค่า 899,300 และ 200,400 ล้านดีร์แฮม ตามลำดับ หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.5 และ 5.2 ต่อปี ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ (ปี พ.ศ. 2553-2558) ในเชิงมูลค่า โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจากพฤติกรรมการบริโภคของชาวโมร็อกโกที่หันมาห่วงใยสุขภาพของตนเองมากขึ้น ประกอบกับการรณรงค์ของภาครัฐเกี่ยวกับการกินดีอยู่ดี ทำให้ผู้บริโภคชาวโมร็อกโกจำนวนมากเลือกดื่มน้ำผลไม้แทนเครื่องดื่มชนิดอื่นที่พวกเขามองว่าไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง นอกจากนี้ผู้บริโภคหลายราย โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลาง-สูง ยังมีความต้องการสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ จากการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการใช้ชีวิตของชาวตะวันตกผ่านทางอินเทอร์เน็ต  สำหรับปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตของผลไม้บรรจุกระป๋องในตลาดโมร็อกโก ได้แก่ ลักษณะของสินค้าที่เก็บรักษาได้นาน และจำนวนผู้หญิงชาวโมร็อกโกที่ออกมาทำงานนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าผลไม้บรรจุกระป๋องสำหรับจัดเตรียมอาหารรับประทานเองที่บ้าน เนื่องจากไม่มีเวลามากพอที่จะออกไปซื้อผลไม้สดทุกวัน  

ทั้งนี้ คาดว่าตลาดผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปของโมร็อกโกจะยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเลียนแบบพฤติกรรมของชาวตะวันตก ทั้งการรับประทานอาหารและการรักษาสุขภาพ รูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งรีบและไม่มีเวลา ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวโมร็อกโกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ทำให้ชาวโมร็อกโกจำนวนมากสามารถเข้าถึงสินค้าดังกล่าวได้สะดวกมากขึ้น   อย่างไรก็ตาม คาดว่าสินค้าผลไม้สดและสินค้าแปรรูป แบบไม่บรรจุเสร็จที่จำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป เช่น น้ำผลไม้คั้นสด จะยังคงเป็นคู่แข่งที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปในตลาดโมร็อกโก เนื่องจากชาวโมร็อกโกส่วนใหญ่นิยมและคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าผลไม้สดจากตลาดใกล้บ้าน ซึ่งพวกเขามองว่ามีคุณภาพและความสดมากกว่า รวมทั้งราคาถูกกว่าสินค้าแปรรูปที่จำหน่ายในห้างค้าปลีก ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าบรรดาผู้ผลิตจะมีแนวโน้มการพัฒนาสินค้าใหม่ที่เน้นการตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคชาวโมร็อกโกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงและชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในโมร็อกโก

สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ในโมร็อกโกจะพบว่ามีผู้ผลิตหลายรายที่ ได้แก่ บริษัท Moroccan Food Processing เป็นผู้ผลิตสินค้าน้ำผลไม้หลากหลายชนิดภายใต้ตราสินค้าจำนวนมาก เช่น เนกต้า (nectars)  และน้ำผักผลไม้ผสม (juice drinks)  ตรา “Al-Boustane”  น้ำผลไม้ 100% ตรา “Agadir” เป็นต้น , บริษัท Citruma เจ้าของสินค้าตราดังจำนวนมาก อาทิ ตรา “Marrakech” และตรา “Pulpi” ซึ่งได้รับอานิสงส์จากชื่อเสียงอันยาวนาน ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคชาวโมร็อกโก, บริษัท Agro Juice Processing เป็นผู้ผลิตภายในประเทศรายใหญ่อีกราย และเป็นเจ้าของสินค้าตรา “Valencia” และ “Dino” โดยจะเน้นการนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม และบริษัท Cobomi SA เป็นตัวอย่างผู้ผลิตน้ำผลไม้ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

  

 แนวโน้มความต้องการของตลาดผลไม้แปรรูปและน้ำผลไม้ในโมร็อกโก จากข้อมูลที่ได้นำเสนอจะพบว่ามีแนวโน้มตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 โมร็อกโกจะมีมูลค่าการจำหน่ายปลีกในอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการเลียนแบบพฤติกรรมของชาวตะวันตก ทั้งการรับประทานอาหารและการรักษาสุขภาพ รูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งรีบและไม่มีเวลา ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวโมร็อกโกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ทำให้ชาวโมร็อกโกจำนวนมากสามารถเข้าถึงสินค้าดังกล่าวได้สะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าบรรดาผู้ผลิตจะมีแนวโน้มการพัฒนาสินค้าใหม่ที่เน้นการตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคชาวโมร็อกโกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงและชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในโมร็อกโก ประกอบกับ สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและจากระบบเศรษฐกิจที่เป็นตัวผลักดันนั้น ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของชาวโมร็อกโกปรับเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก เข้าสู่สังคมเมืองมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อสูง และยอมรับผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการที่อยู่ในระดับ Premium ได้มากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ช่วยยืนยันได้ว่าตลาดผลไม้แปรรูป และน้ำผลไม้พร้อมดื่มในโมร็อกโกมีแนวโน้มที่ดี และเป็นโอกาสของนักลงทุนของไทย เนื่องจากไทยมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนที่ปลูกได้ดีในประเทศไทยและแปรรูปเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์หลากหลายพร้อมรับประทาน ด้วยความชำนาญทั้งในด้านการผลิตวัตถุดิบ การบริหารจัดการ คุณภาพมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าสู่ตลาดโมร็อกโก โดยการส่งออกน้ำผลไม้ไปจำหน่าย ซึ่งชนิดที่มีศักยภาพ ได้แก่ น้ำสับปะรด น้ำมะม่วง น้ำกล้วย เป็นต้น ซึ่งเป็นชนิดที่โมร็อกโกเริ่มให้ความนิยม และเป็นวัตถุดิบผลไม้ที่โมร็อกโกยังไม่สามารถผลิตได้ ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ  

สำหรับช่องทางการจำหน่ายผลไม้แปรรูปและน้ำผลไม้ในโมร็อกโก ปัจจุบัน จะผ่านค้าปลีกสมัยใหม่ที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่น โดยมี 3 รายใหญ่สำคัญ ได้แก่ Marjane Holding, Hyper SA, and GroupeChaabi เป็นต้น และค้าปลีกต่างประเทศ เช่น คาร์ฟู, BIM จาก BIM Stores SARLของตุรกี เป็นต้น โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสาขาและเครือข่ายใหม่ๆ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ส่งออกไทยจะเข้าไปสร้างเครือข่ายทางการค้า

 

 

การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก โดยใช้ PEST Analysis น้ำผลไม้พร้อมดื่ม และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปในโมร็อกโก

1) P-Political :  นโยบายสนับสนุนการค้าของราชอาณาจักรโมร็อกโก สนับสนุนให้มีการเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน ซึ่งไทยและโมร็อกโกก็ได้มีการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-โมร็อกโก เพื่อขยายโอกาสการค้าและการลงทุนร่วมกันด้วยอีกทางหนึ่ง จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะใช้ความสัมพันธ์ทั้งสองทางนี้ ในการขยายตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่มเข้าไปในโมร็อกโก เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์และลดขั้นตอนของกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

2)      E-Economic : สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงผันผวน ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ประกอบกับเมื่อปี 2554 ธนาคารโลกได้ปรับฐานะให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง จากเดิมที่มีรายได้ปานกลางระดับล่าง ยิ่งส่งผลต่อเนื่องให้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดเดิมอีกต่อไป เพราะถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า GSP จากประเทศรายได้สูงอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการไทยจะมองหาตลาดใหม่ที่มีความต้องการสินค้าของไทยอย่างโมร็อกโก จึงน่าจะช่วยลดผลกระทบของธุรกิจที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้อีกทางหนึ่ง

 

3)      S-Social : กระแสนิยมความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันผู้บริโภคชาวโมร็อกโกเริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น จากการรณรงค์ของภาครัฐและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของชาวตะวันตกผ่านทางอินเตอร์เน็ต จนเกิดเป็นกระแสความห่วงใยสุขภาพที่ส่งผลดีต่อความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มากขึ้น โดยในส่วนของเครื่องดื่มน้ำผลไม้พร้อมดื่มนั้น ชาวโมร็อกโกมองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง จึงทำให้เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้บริโภคผู้หญิงที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง อาศัยอยู่ในเมืองและมีชีวิตเร่งรีบกับการทำงานนอกบ้านที่ต้องการเครื่องดื่มน้ำผลไม้พร้อมดื่มขนาดพกพา รสชาติดี และราคาเหมาะสม จึงเป็นโอกาสให้กับเครื่องดื่มน้ำผลไม้เมืองร้อน (เช่น น้ำมะม่วง น้ำสับปะรด น้ำลิ้นจี่ เป็นต้น) ของไทยในการเข้าสู่ตลาดโมร็อกโก

 

4)   T-Technological : ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำผลไม้พร้อมดื่มของไทยมีเทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล ทำให้ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้พร้อมดื่มของไทยมีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก โดยผู้ผลิตสามารถนำวัตถุดิบผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญได้แก่ สับปะรด มะม่วง ลิ้นจี่ ฝรั่ง ฯลฯ มาผ่านกระบวนการแปรรูปที่คงรสชาติและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ไว้ได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการนำวัตถุดิบชนิดอื่นที่มีใยอาหารสูงและให้ประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วุ้นมะพร้าว ว่านหางจระเข้ มาผสมลงในน้ำผลไม้ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการผลิตภัณฑ์หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเด่นที่แตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้พร้อมดื่มของโมร็อกโกและชาติอื่นๆ ที่วางจำหน่ายอยู่ในตลาดโมร็อกโก กับผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้พร้อมดื่มของไทย

 

กลยุทธ์การตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปและน้ำผลไม้ในโมร็อกโก

จากการรวบรวมข้อมูลสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปและน้ำผลไม้พร้อมดื่มในโมร็อกโกและการรวบรวมแบบสอบถามผู้บริโภคในโมร็อกในด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มน้ำผลไม้ที่นำเสนอในบทที่ 3 สามารถกำหนดแนวทางของการเข้าสู่ตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปและน้ำผลไม้พร้อมดื่มในโมร็อกโกได้ ดังนี้

1) ด้านผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการในกลุ่มผลไม้แปรรูปและน้ำผลไม้พร้อมดื่ม ควรเน้นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของผลไม้ประจำถิ่นของประเทศไทย เช่น มะม่วง สับปะรด กล้วย มะพร้าว เป็นต้นเพราะเป็นวัตถุดิบที่ไทยผลิตได้ในคุณภาพดี และโมร็อกโกมีผลผลิตไม่เพียงพอหรือไม่ได้มีการเพาะปลูก มาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต โดยจะต้องปรับรสชาติให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น หากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องทำการทดสอบตลาดเพื่อให้สามารถพัฒนารสชาติให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในโมร็อกโกได้ 

ทั้งนี้ควรมีการโฆษณาที่เน้นคุณประโยชน์ คุณภาพ และสรรพคุณของผลไม้ไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ด้านการควบคุมน้ำหนัก เพราะปัจจุบัน ประชากรโมร็อกโกประสบปัญหาโรคอ้วนเป็นจำนวนมาก การดื่มน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมที่ช่วยระบบขับถ่ายจะมีโอกาสสูงในการขยายตลาด ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของไทยอาจยังไม่เป็นที่คุ้นเคยต่อการบริโภคของชาวโมร็อกโก อาจต้องมุ่งเน้นให้เห็นด้านประโยชน์ที่ได้รับเป็นสำคัญ

ในส่วนของบรรจุภัณฑ์น้ำผลไม้พร้อมดื่มที่นิยม จะนิยมเป็นบรรจุภัณฑ์แบบกล่อง รองลงมาบรรจุภัณฑ์แบบกระป๋อง และแบบขวดพลาสติก 

 

2)      ด้านราคา ด้านการกำหนดราคาจำหน่ายปลีก เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างน้อย การกำหนดราคาจึงทำได้ไม่สูงนัก หากสินค้าไม่มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดและต้องการแข่งขันกับรายอื่นๆ ราคาต่อหน่วยจึงไม่ควรสูงกว่าราคาผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันในท้องตลาด ทั้งนี้ ต้องมั่นใจว่าราคาที่ตั้งมีความเหมาะสมกับคุณค่าและปริมาณที่ผู้บริโภคได้รับ เนื่องจากชาวร็อกให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความน่าเชื่อถือในคุณภาพของสินค้า อย่างไรก็ตาม ผลไม้แปรรูปและน้ำผลไม้พร้อมดื่มที่นำเข้าจากต่างประเทศถือเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม เป้าหมายผู้บริโภคจึงควรเป็นกลุ่ม Niche market คือ รายได้ค่อนข้างสูง แต่มีความต้องการซื้อ

 

3)    ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านค้าปลีกดั้งเดิมซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไป และค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต ไฮเปอร์มาเก็ต อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในโมร็อกโกส่วนใหญ่กระจายสินค้าผ่านคนกลางหรือผู้แทนจำหน่ายในท้องถิ่นเพื่อเข้าสู่ร้านค้าปลีกดั้งเดิม ส่วนการส่งไปยังค้าปลีกสมัยใหม่ผู้ผลิตสามารถเข้าสู่ค้าปลีกสมัยใหม่ได้โดยตรง ช่องทางค้าปลีกที่วางจำหน่ายควรจะต้องมีชื่อเสียง น่าเชื่อถือ และผ่านช่องทางภัตตาคาร โรงแรม ร้านอาหารต่างชาติ ก็เป็นอีกช่องทางที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายระดับบนได้

 

4)      ด้านการส่งเสริมการตลาด การโฆษณควรเน้นที่ตัวผู้บริโภคโดยตรง แต่ต้องพิจารณาเลือกใช้สื่อที่เหมาะสมและราคาไม่แพง เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เป็นต้น และควรเน้นที่คุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นจุดขายที่สำคัญ และควรมี 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส และอาหรับ นอกจากนี้ การใช้พนักงานขายช่วยโฆษณาและให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ หรือการโฆษณาผ่านเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ ก็เป็นวิธีที่เหมาะสมและราคาไม่แพง แต่ต้องให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับคุณสมบัติและประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ จะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือและสนใจลองบริโภคสินค้าได้ง่ายขึ้น

 นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมการทดลองชิมผลไม้แปรรูปและน้ำผลไม้พร้อมดื่ม เป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับรสชาติมากเป็นอันดับต้นๆ ในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์รองจากคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย โดยส่วนใหญ่การส่งเสริมการขายที่พบมากในโมร็อกโก คือ การลดราคา และการแจกของแถม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีงบประมาณที่จะทำ Co-promotion หรือส่งเสริมการตลาดร่วมกับช่องทางค้าปลีกต่างๆ ด้วย

 

ข้อควรคำนึงในการสร้างเครือข่ายการผลิตและการเข้าสู่ตลาดผลไม้แปรรูปในโมร็อกโก

ปัญหาและอุปสรรคที่ท้าทายอย่างหนึ่งในตลาดโมร็อกโกสำหรับผู้ประกอบการไทย คือ ระบบกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความซับซ้อนค่อนข้างมาก ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาระหว่างขั้นตอนพิธีศุลกากร ผู้ส่งออกอาหารไทยจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ให้เข้าใจโดยละเอียดก่อนดำเนินธุรกิจส่งออกสินค้าอาหารไปยังโมร็อกโก นอกจากนี้ภาษีนำเข้าสินค้าอาหารแปรรูปบางรายการยังอยู่ในระดับสูงมาก อาทิ ธัญพืช น้ำมันจากเมล็ดพืช น้ำตาล เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น ซึ่งผู้ส่งออกควรประสานกับหน่วยงานศุลกากรของโมร็อกโกให้แน่ใจและเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับพิกัดสินค้าที่จะทำการส่งออกว่ามีอัตราภาษี ณ ปัจจุบันอยู่ที่เท่าใด เพื่อป้องกันความผิดพลาด ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเวลา

สำหรับข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งผลไม้แปรรูปและน้ำผลไม้พร้อมดื่มไปยังโมร็อกโก จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการกลยุทธ์ทางการตลาด ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ต้องทำผ่านคนกลางหรือผู้นำเข้า (Trade importer) และจากข้อแนะนำของหน่วยงานและนักธุกิจที่โมร็อกโกได้ให้คำแนะนำกับผู้ส่งออกไทยที่สำคัญ มีดังนี้

 

·       ผลไม้แปรรูปและน้ำผลไม้ที่เป็นที่ต้องการของตลาดและมีแนวโน้มดี ได้แก่ น้ำสับปะรด น้ำมะม่วง น้ำมะพร้าว ซึ่งไทยมีศักยภาพการผลิตสูงเพื่อเปรียบเทียบกับประเทสคู่แข่งในเอเชีย อย่างไรก็ตาม อุปสรรคด้านการขนส่งและต้นทุน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการไทย 

·       อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มีความสำคัญต่อประชากรโมร็อกโกมายิ่งขึ้น เนื่องจากชาวโมร็อกโกเป็นเบาหวานกันมากขึ้น สืบเนื่องมาจากชอบรับประทานหวาน ปัจจุบันจึงหันมาใส่ใจในสุขภาพ และต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ

·       ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป น้ำผลไม้ และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ของไทยหาซื้อได้ยากและยังมองว่ามีราคาแพง อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ความนิยมในอาหารไทยมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากมีร้านอาหารไทยในโมร็อกโกที่ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมทั้งการจัดงานแสดงสินค้าไทยในโมร็อกโก ส่งผลให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับ สำหรับสินค้าไทยที่สถานทูตไทยในโมร็อกโก เคยนำมาจัดทำแสดง และชาวโมร็อกโกมีความประสงค์จะนำเข้ามาจำหน่าย เช่น ได้แก่ เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว น้ำสับปะรด และอาหารแปรรูปอื่นๆ เช่น ซอสจิ้ม ของขบเคี้ยว เครื่องแกง น้ำกะทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และวุ้นเส้น เป็นต้น

·       โมร็อกโกให้ความสำคัญกับการได้ทดลองชิมอาหารและเครื่องดื่ม ก่อนการตัดสินใจซื้อเป็นอย่างมาก และการค้าในเบื้องต้นชาวโมร็อกโกจะไม่สั่งสินค้าเต็มตู้ Container แต่จะสั่งในปริมาณที่นำมาทดลองตลาดก่อน

·       นอกจากนี้ การรู้ข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคของชาวโมร็อกโกเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมีความแตกต่างในด้านพฤติกรรมการบริโภคกับชาวเอเชีย อย่างไรก็ตาม การเปิดรับวัฒนธรรมการบริโภคจากต่างประเทศมีมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ทำให้มันักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาในโมร็อกโกเป็นจำนวนมาก การรับวัฒนธรรมการบริโภคต่างชาติจึงเปิดกว้างมากขึ้น