Get Adobe Flash player

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ United Arab Emirates, UAE เป็นสหพันธรัฐ (Federation) ประกอบด้วย 7 รัฐ แต่ละรัฐมีระบบ การปกครองท้องถิ่นของตนเอง มีกรุงอาบูดาบีเป็นเมืองหลวงถาวร โดยมีรัฐบาลกลาง (Federal Government) ดูแลนโยบายและกิจการที่สำคัญของประเทศ เช่น การต่างประเทศและความมั่นคง เป็นต้น

UAE เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาค และอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจมากที่สุดของโลกโดยการจัดลำดับของ World Economic Forum  รายได้หลักของ UAE ขึ้นอยู่กับน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็มีนโยบายสร้างรายได้จากการพัฒนาธุรกิจภาคที่ไม่ใช่น้ำมันอย่างรวดเร็ว รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาเพื่อขยายฐานทางเศรษฐกิจ (diversification) เพื่อสร้างรายได้โดยไม่ต้องพึ่งน้ำมันเพียงอย่างเดียว และพยายามส่งเสริมการค้าการลงทุน รวมทั้งสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจเสรี (Economic Free Zone) ทั้งในรูปการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต และการใช้ UAE เป็นฐานการกระจายสินค้า

ปัจจุบัน UAE เป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือของอ่าวอาหรับ  (the Cooperation Council for the Arab States of the Gulf : GCC)  ทั้งนี้ GCC มีเป้าหมายในการพัฒนาเป็นกลุ่มตลาดเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (EU) โดยกำหนดอัตราภาษีศุลกากรร่วมจากประเทศอื่นๆ ร้อยละ 5 ยกเว้นเก็บภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิก  ประเทศสมาชิก GCC 6 ประเทศมีประชากรรวมกัน 53.77 ล้านคน ในบรรดาประเทศสมาชิกกลุ่ม GCC ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุด ประมาณ 32 ล้านคน และมีพื้นที่ใหญ่ที่สุด เป็นประเทศที่มีน้ำมันมากที่สุดของโลก ประเทศสมาชิก GCC ส่วนใหญ่จะขาดแคลนพื้นที่การเกษตร ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องมีนโยบายไปลงทุนต่างประเทศเพื่อการผลิตอาหารป้อนเข้าสู่ประเทศ  อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก GCC ปี 2558 อยู่ในอัตราร้อยละ 3.4  GDP per capita อยู่ที่ 20,260 $US ถือเป็นภูมิภาคที่มีกำลังซื้อในระดับสูง  โดยอัตราเติบโตของธุรกิจค้าปลีกอาหารปี 2558-2563 อยู่ที่ร้อยละ 7.7 ต่อปี อย่างไรก็ตาม จากภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงทำให้ปี 2558 การนำเข้าอาหารมีอัตราลดลงร้อยละ 10.97 และการส่งออกต่อก็ชะลอตัวเช่นกัน มีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 GCC จะมีมูลค่านำเข้าอาหารถึง 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบัน UAE มีบทบาทค่อนข้างสูงในการเป็นประเทศส่งออกต่อไปยังกลุ่ม GCC 

  

1. สภาวะเศรษฐกิจ

ปี 2558 อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 3.5 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เศรษฐกิจของ UAE พึ่งพิงกับรายได้จากน้ำมันเหลือเพียงร้อยละ 30 ดังนั้นจึงยังมีความแข็งแกร่งเพียงพอสำหรับช่วงราคาน้ำมันขาลง อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ลดลงได้มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลทางตรงคือรัฐบาลมีรายได้ลดลง ถึง 22 %  หรือคิดเป็นการขาดหายไปของเงินรายได้ มากกว่า 1 ใน 5 ของประเทศ ส่งผลทำให้ UAE  ต้องเผชิญกับภาวะการขาดดุลทางการคลังคิดเป็นสัดส่วนราว 2.4 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งนับเป็นการขาดดุลทางการคลังครั้งแรกของ UAE นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจของ UAE ในปี 2559 จะมีอัตราเติบโตเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น เนื่องจากภาคธุรกิจที่เริ่มซบเซาตั้งแต่ปลายปี 2558 ทั้งการท่องเที่ยว อาหาร สินค้าอุปโภค ธุรกิจ IT เหล็ก และการก่อสร้าง เป็นผลทางอ้อมจากประเทศรัสเซียและประเทศที่มีรายได้หลักจากน้ำมันชะลอการใช้จ่ายและการเข้ามาท่องเที่ยว ครัวเรือนมีความต้องการลดลง และการชะลอการลงทุน ส่งผลต่อสภาพคล่องของผู้กระจายสินค้าที่โดนชำระเงินล่าช้าลงจาก suppliers ทำให้ธุรกิจชะลอตัว แต่ภาวะเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2560 เนื่องจาก IMF ประเมินว่า GDP จะมีอัตราเติบโตที่ร้อยละ 3 สูงกว่าปีนี้

          ทั้งนี้ จากรายงานของ Atradius [1]บริษัทวิเคราะห์การลงทุนจากเนเธอร์แลนด์ได้ประเมินภาวะความเสี่ยงด้านเครดิตของแต่ละอุตสาหกรรมของ UAE ในช่วงครึ่งปีแรก 2559 รายละเอียดดังภาพ  โดยภาคเกษตรกรรมมีระดับความเสี่ยงด้านเครดิตธุรกิจอยู่ในภาวะทรงตัว ขณะที่ธุรกิจอาหารมีระดับความเสี่ยงค่อนข้างสูง เพราะความต้องการบริโภคลดลงจากภาวะเศรษฐกิจและกระแสเงินสดไม่คล่องตัว สอดคล้องกับมูลค่านำเข้าและส่งออกอาหารปี 2558 ที่มีอัตราเปลี่ยนแปลงติดลบเมื่อเทียบกับปี 2557 เพราะตลาดที่ชะลอตัวลงจากกำลังซื้อที่ลดลง แต่ทว่าธุรกิจค้าปลีกอาหารยังมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 6.15


 

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจ Global CEO Survey ครั้งที่ 19 ที่ใช้ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ณ กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2559 ซึ่งสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,409 รายใน 83 ประเทศ ครอบคลุม 22 อุตสาหกรรม ในจำนวนนี้ 350 บริษัทมีรายได้รวมระหว่าง 36,000–360,000 ล้านบาท ประเทศที่ซีอีโอทั้งหมดเห็นพ้องว่าน่าลงทุน 4 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ขณะที่ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ยังคงเป็นประเทศที่กลุ่มซีอีโอสนใจใน 10 อันดับ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อภาะเศรษฐกิจและศักยภาพของประเทศ UAE

2. จำนวนประชากร และลักษณะผู้บริโภค

        ประชากรและการกระจายตัว

UAE มีประชากรเพียง 9.29 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 12 ที่เป็นชาวเอมิเรตส์ และได้รับสวัสดิการในด้านสาธารณสุข การเคหะ และการดำรงชีพ จากรัฐบาล ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศคือชาวเอเชียใต้  UAE ถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและเชื้อชาติ โดยประมาณ 80% ของประชากรทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจหรือดำเนินกิจกรรมต่างๆ ใน UAEนอกจากนี้ในแต่ละปี UAE ยังต้อนรับนักท่องเที่ยวระดับคุณภาพอีกประมาณ 15 ล้านคน ทำให้เป็นประเทศที่มีความต้องการบริโภคอาหารที่หลากหลายด้วยเช่นกัน

                          สำหรับเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เกิน 5 แสนคน มีเพียง 3 รัฐ คือ ดูไบ อะบูดาบี และซาร์จาร์ โดยดูไบนั้นมีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุด ประมาณ 2.4 ล้านคน

 

                       การแบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามเชื้อชาติ

(1)      ชาวอาหรับพื้นเมือง (LocalPeople) และชาวต่างชาติ (Expat) ชาวอเมริกันและยุโรป เป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับสูง มีสัดส่วนประชากรประมาณร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด

   ชาวอาหรับพื้นเมือง (LocalPeople)ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับราชการและเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งคนในกลุ่มนี้ถือเป็นตลาดระดับบนเพราะมีรายได้สูงมาก เริ่มต้นตั้งแต่หลายแสนบาทจนถึงหลายล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ส่วนใหญ่เคยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทำให้รู้จักอาหารรวมทั้งผลไม้ไทยระดับหนึ่ง

   คนต่างชาติ (Expat) ชาวอเมริกันและยุโรป ส่วนใหญ่เข้ามาประกอบธุรกิจ ทำงานในระดับบริหาร ผู้จัดการ จนถึงแรงงานที่ต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญในขั้นสูง (White collar) ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเข้ามาพำนักในระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไป จึงมีการนำครอบครัวเดินทางมาด้วย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวสัญชาติดังกล่าว ที่เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนหลายล้านคนต่อปีอีกด้วย

(2)  คนต่างชาติ (Expat) ชาวเอเชียใต้ และชาวอาเซียน ชาวเอเชียใต้ส่วนใหญ่ที่พำนักในยูเออีประกอบด้วยคนอินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน และศรีลังกา ส่วนคนอาเซียนจะเป็นคนฟิลิปปินส์เป็นหลัก รองลงมาได้ แก่ คนอินโดนีเซีย ไทย เป็นต้น ซึ่งกลุ่มคนทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างต่ำเนื่องจากเข้ามาทำงานที่ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็อยู่ในงานด้านบริการพื้นฐานเป็นหลัก (Blue collar) จึงถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับล่าง โดยมีสัดส่วนประชากรรวมกันประมาณร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด

   ชาวเอเชียใต้ ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ในยูเออี เนื่องจากมีสัดส่วนประชากรสูงถึงร้อยละ 54 ของประชากรทั้งหมด ชาวเอเชียใต้ประกอบด้วยคนอินเดียเป็นส่วนใหญ่ (27%) รองลงมา ได้แก่ คนปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล ศรีลังกา ตามลำดับ กลุ่มคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างต่ำเนื่องจากเข้ามาใช้แรงงานหรืองานด้านบริการพื้นฐาน (Blue collar) เป็นหลัก เช่น คนงานก่อสร้าง พนักงานขับรถ พนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น จึงถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับล่าง

   ชาวอาเซียน เป็นกลุ่มประชากรที่มีสัดส่วนร้อยละ 7 ของประชากรในยูเออีทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นคนฟิลิปปินส์ รองลงมาได้แก่ คนอินโดนีเซีย และคนไทย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มักจะเข้ามาทำงานเป็นแรงงานในภาคบริการเป็นหลัก เช่น พนักงานทั่วไปในสำนักงาน พนักงานในร้านอาหาร และโรงแรม พนักงานขายให้ห้างสรรพสินค้า สปา เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในยูเออีที่จัดอยู่ในระดับสูงอันดับต้นๆ ของโลก จึงถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับล่าง

นอกจากการแบ่งกลุ่มตามเชื้อชาติแล้ว ใน UAE อาจแบ่งกลุ่มผู้บริโภคออกเป็น 4 กลุ่มตามชนชั้น/ฐานะในสังคม คือ

   กลุ่มนักปกครอง เป็นกลุ่มครอบครัว sheikh มีอิทธิพลทางการเมือง มีความมั่งคั่งสูง

   กลุ่มนักธุรกิจที่ทำการค้าขายระหว่างประเทศ ถือเป็นคนอีกกลุ่มที่มีรายได้สูง

   กลุ่มชนชั้นกลางรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาสูง รับราชการ

   กลุ่มผู้ที่เข้ามาตั้งรกรากใหม่ กลุ่มนี้จะเป็นชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามาอาศัยใน UAE ซึ่งจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยในกลุ่มนี้อีก 4 ระดับ คือ  กลุ่มผู้มีการศึกษาสูง มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะมีรายได้สูง ส่วนใหญ่เป็นคนอินเดียและชาวตะวันตก,  กลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับปานกลาง เช่น ครู ช่างเทคนิค นักการตลาดฯ, กลุ่มแรงงานกึ่งทักษะ และกลุ่มแรงงานไม่มีทักษะ ซึ่งจะมีรายได้ต่ำ ส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชียใต้

 

3. โครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่ง

UAE ถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในระดับสูงด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคต่างๆ คุณภาพของระบบสาธารณูปโภคโดยภาพรวม จัดอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก มีคะแนนเท่ากับสิงคโปร์และฮ่องกง โดยมีสวิสเซอร์แลนด์อยู่อันดับที่ 1 จากข้อมูลทั้งหมด 140 ประเทศ ส่วนคุณภาพของถนนจัดอยู่ในอันดับ 1 ของโลก คุณภาพของสาธารณูปโภคด้านการขนส่งทางอากาศได้อันดับที่ 2 คุณภาพของสาธารณูปโภคด้านการขนส่งทางรถไฟได้อันดับที่ 3 ของโลก

 

ถนนทุกเส้นของ UAE จะเป็นถนนคอนกรีตและปูลาด ทำให้มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะในอาบูดาบีและดูไบส่วนท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค MENA  พบว่า UAE มีท่าเรือ 9 แห่ง มีความสามารถในการขนถ่ายสินค้า 19.3 ล้าน TEUs ในปี 2556

ท่า Jebel Ali ที่ดูไบ เป็นท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ในปี 2556 มีการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์สินค้าขนาด 20 ฟุต ถึง 13.6 ล้าน ยูนิต (TEUs) ติด 10 อันดับแรกของโลกในการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 

ได้รับการขนานนามว่าเป็นท่าเรือที่มนุษย์สร้างขึ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและใหญ่ที่สุดใน MENA

ส่วนด้านการขนส่งทางระบบราง UAE มีโครงการเครือข่ายทางรถไฟเชื่อมโยงใน GCC ระยะทาง  2,177 กิโลเมตร งบลงทุนประมาณ 128 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่อการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า โดยเครือข่ายทางรถไฟจะเริ่มต้นจากคูเวตผ่านไปทางซาอุดิอาระเบีย ตรงไปยังยูเออีและโอมาน โดยมีทางแยกออกเป็น 2 ฝั่ง ไปทางบาห์เรนและกาตาร์ โดยโครงข่ายทางรถไฟดังกล่าวคาดว่าจะเปิดดำเนินการเต็มที่ในปี 2561 รถไฟสำหรับขนส่งผู้โดยสารจะวิ่งด้วยความเร็ว 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนรถไฟขนส่งสินค้าจะมีอัตราเร็ว 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

การขนส่งทางอากาศ UAE มีสนามบิน 6 แห่ง ท่าอากาศยานนานาชาติดูไบเป็นสนามบินหลักที่มีความสำคัญ และรัฐบาลมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารและขนส่งสินค้าให้มากขึ้นภายในปี 2020

 

4. แรงงานและอัตราค่าจ้าง

                    การถือวีซ่าเข้าประเทศ UAE นั้น หากจะเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานจะต้องได้รับการ์ดแรงงานจากนายจ้างเพิ่มเติม ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเข้าทำงานได้ หรือในกรณีที่ต้องการมาเปิดบริษัท จะต้องมีการขอใบอนุญาตการค้าเสียก่อน จึงจะสามารถขอวีซ่าขออาศัยในยูเออีได้

ประเภทของลูกจ้าง แบ่งเป็น 5 ประเภท ตามวุฒิการศึกษา ดังนี้

1)   ลูกจ้างที่ต้องใช้วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ ได้แก่  ผู้ปฏิบัติการที่ใช้วิชาชีพวิชาการและมีความเชี่ยวชาญในตำแหน่งต่างๆ เฉพาะด้าน อาทิ ทนายความ วิศวกร สถาปนิก  ผู้อำนวยการแผนกต่างๆ ที่ปรึกษา  เป็นต้น

2)   ลูกจ้างที่ต้องใช้วุฒิการศึกษาในระดับอนุปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานที่ใช้ความรู้ความสามารถและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (ลูกจ้างฝีมือระดับสูง) อาทิ พยาบาล ช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ช่างยนต์ ช่างภาพ ช่างเทคนิคต่างๆ เป็นต้น

3)   ลูกจ้างที่ต้องใช้วุฒิการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นอย่างต่ำ ได้แก่  ผู้ปฏิบัติงานที่ใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน (ลูกจ้างฝีมือ) อาทิ ผู้คุมงานและหัวหน้างาน  เป็นต้น

4)   ลูกจ้างที่ไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษา ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษาแต่ต้องมีประสบการณ์ในการทำงาน (ลูกจ้างกึ่งฝีมือ) อาทิ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างตัดผม ช่างตัดเย็บและผู้ช่วยช่าง

5)   ลูกจ้างที่ไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษาและไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการทำงาน (ลูกจ้างไร้ฝีมือ) อาทิ พนักงานทำความสะอาด คนขายเนื้อสัตว์ เป็นต้น

 

 

ข้อมูลทั่วไปและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับแรงงานที่เข้าไปทำงานใน UAE

1)   การเข้ามาทำงานใน UAE อย่างถูกต้อง ต้องได้วีซ่าทำงาน (Employment Visa) และเมื่อเดินทางมาถึงแล้ว จะต้องเซ็นสัญญาที่กระทรวงแรงงานของยูเออี แล้วต้องติดตามให้นายจ้างทำบัตรประจำตัวคนงาน (Work Permit ) หรือเรียกกันทั่วไปว่า Labour Card ให้ถูกต้องด้วย  การมาทำงานโดยใช้ Tourist Visa และ Visit Visa  นั้น  เป็นการผิดกฎหมายยูเออี

2)   ห้ามประท้วงหยุดงานไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น  การประท้วงหรือการนัดหยุดงาน ถือว่าผิดกฎหมายแรงงานยูเออี และจะได้รับโทษตามกฎหมายบ้านเมือง

3)   ห้ามดื่มสุราในที่สาธารณะหรือแสดงอาการเมามาย  มิฉะนั้นจะถูกตำรวจจับ และถูกจำคุกรวมทั้งเสียค่าปรับ 1,000AED

4)   ห้ามหยุดงานหรือขาดงานโดยมิได้รับอนุญาตจากนายจ้าง

5)   หากลาป่วยต้องมีใบรับรองแพทย์มาแสดงเสมอ

6)   การขอลาออกจากงานก่อนหมดสัญญา กรณีอยู่ระหว่างทดลองงาน ถ้านายจ้างส่งกลับ นายจ้างจะจ่ายค่าตั๋วเดินทางให้  แต่หากลูกจ้างขอลาออก ต้องจ่ายค่าตั๋วกลับเอง หากเป็นกรณีพ้นระยะทดลองงานแล้ว   ลูกจ้างต้องรับผิดชอบค่าเดินทางกลับประเทศเองและยังอาจจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้นายจ้างด้วย หากนายจ้างเรียกร้อง

5.    ระดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ

จากการจัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจของ World Bank ปี 2559 พบว่าโดยภาพรวม UAE อยู่ในอันดับที่ 31 ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 49 จากจำนวนทั้งหมด 189 ประเทศ โดยการเริ่มต้นธุรกิจนั้นมีขั้นตอนการขออนุญาต 6 ขั้นตอน ใช้เวลาดำเนินการ 8 วัน ขณะที่ไทยมีขั้นตอนเท่ากันแต่ใช้เวลา 27.5 วัน และช่วงที่ผ่านมา UAE มีการปรับปรุงขั้นตอนการให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นใน 4 เรื่อง ตามตาราง  สำหรับการค้าข้ามชายแดนนั้น UAE อยู่ในอันดับที่ 101 ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 56 ต้นทุนในการส่งออก นำเข้า และระยะเวลาดำเนินการของไทยมีประสิทธิภาพดีกว่าและต้นทุนต่ำกว่า

 

 



[1]Country Reports Middle East and North Africa . July 2016. (สืบค้นจาก https://group.atradius.com/publications/country-report-uae-2016.html)