Get Adobe Flash player

เพื่อให้เกิดความเข้าใจของการสร้างเครือข่ายการผลิตและความสำคัญที่ประเทศไทยต้องเริ่มให้ความสนใจในการสร้างเครือข่ายการผลิตเพื่อเพิ่มหรือรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไว้  มีงานศึกษาที่น่าสนใจดังนี้

จากการศึกษาของ World Economic Forum[1] ในหัวข้อเรื่องการย้ายถิ่นฐานของห่วงโซ่คุณค่าของโลกพบว่าถิ่นฐานของห่วงโซ่คุณค่ามีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอนาคต เนื่องจาก

               1)    ปัจจัยด้านต้นทุนพลังงานและค่าขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นและมาตรการควบคุมการปล่อยกาซคาร์บอนไดออกไซด์                  ที่เข้มงวดขึ้น

        2)     จีนเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่คุณค่าของโลกในด้านการผลิต โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างแรงงานในจีนมีแนวโน้มว่าจะเพิ่ม           สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับค่าเงินที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

        3)   ต้นทุนเทคโนโลยีสารสนเทศมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการแข่งขันที่มากขึ้นซึ่งจะสนับสนุนให้กระบวนการผลิตเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

 4)  ตลาดในประเทศกำลังพัฒนามีความสำคัญมากขึ้น ในขณะที่การเติบโตในยุโรปยังคงเป็นไปได้ไม่ดีนัก ซึ่งจะส่งผลให้เกิด การย้าย ถิ่นฐานของห่วงโซ่คุณค่า มายังประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น

การศึกษาดังกล่าวยังระบุปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญในการพิจารณาย้ายฐานการผลิต นอกเหนือจากค่าจ้างแรงงาน ได้แก่

1)  ศักยภาพของตลาด โดยนักธุรกิจจะให้ความสนใจลงทุนในประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่เพื่อรองรับตลาดท้องถิ่นขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญด้านความสามารถเชิงนวัตกรรมและศักยภาพการผลิตของประเทศนั้นด้วย

2)      ทรัพยากรมนุษย์ทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ และทักษะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตนั้นๆ

3)      ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แหล่งพลังงาน ระบบขนส่ง และระบบคมนาคมที่สนับสนุนกระบวนการผลิต

4)   สภาพแวดล้อมทางกฎหมายและนโยบาย โดยระบบกฎหมายที่อ่อนแอ การทุจริตคอร์รัปชั่นสูงมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมและแรงงานต่ำ และระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่อ่อนแอ เป็นอุปสรรคที่ทำให้ประเทศนั้นไม่ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุน ในทางกลับกัน นโยบายที่สนับสนุนอุตสาหกรรม การบริการ และนวัตกรรม เช่น การลงทุนในทุนมนุษย์และการศึกษา หรือสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจจะส่งเสริมให้ประเทศเป็นแหล่งเป้าหมายสำคัญในการย้ายฐานการผลิต

ในอดีตการสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ เน้นการทำการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก ทั้งในมิติของการนำเข้าและมิติของการส่งออก ซึ่งการทำการค้าระหว่างประเทศมีข้อดีอยู่ที่ผู้ผลิตไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในการบริหารจัดการสินค้าปลายทางในกรณีที่เป็นสินค้าส่งออก ขณะเดียวกันผู้นำเข้าก็ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในการบริหารจัดการสินค้าต้นทางในกรณีที่เป็นสินค้านำเข้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้านำเข้าในรูปของวัตถุดิบ สินค้าทุน หรือสินค้าสำเร็จรูปก็ตาม

ในระยะต่อมาการสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับลูกค้าทั้งในส่วนของลูกค้าที่เป็นธุรกิจหรือลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคคนสุดท้ายซึ่งเป็นปลายน้ำของห่วงโซ่คุณค่ามากขึ้น ธุรกิจจึงมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคปลายทางดังกล่าว ซึ่งองค์กรธุรกิจระหว่างประเทศขนาดใหญ่ (Multinational Corporations: MNCs) ในกลุ่มประเทศพัฒนาทั้งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เป็นธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่ใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคปลายทางด้วยการขยายฐานการผลิตออกไปสู่ต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติ (Transnational Companies: TNCs) ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ให้ความสนใจกับกลยุทธ์การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมากขึ้น[2] โดยมีกลุ่มนักลงทุนจากประเทศ BRIC อาทิ ประเทศจีน บราซิล และอินเดีย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

จากรายงานการลงทุนโลกปี 2011 ของอังค์ถัด (UNCTAD) ชี้ให้เห็นแนวโน้มที่สำคัญประการหนึ่งของการสร้างเครือข่ายการผลิตระดับโลก คือการที่เศรษฐกิจของโลกไม่ได้เติบโตในวงจำกัดเฉพาะการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป หากแต่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยการขยายสู่ตลาดต่างประเทศโดยไม่ถือหุ้นโดยตรง (Non-equity modes: NEMs) กำลังเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนและบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายในการจัดการห่วงโซ่คุณค่า (Global Value Chains) และการผลิตระหว่างประเทศ (International Production) ในปัจจุบัน การลงทุนในลักษณะนี้เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ ประมาณการว่ามูลค่าการค้าที่เกิดจาก NEMs ในปี 2010 สูงถึงกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น NEMs ที่ดูเหมือนว่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้  รายงานโครงการศึกษาแนวทางการย้ายการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ) ของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เสนอต่อสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2556  ให้แนวคิดไว้ว่า ในการพิจารณาย้ายฐานการผลิต ผู้ประกอบการจำนวนมากอาจสนใจเฉพาะต้นทุนค่าจ้างแรงงานของประเทศเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนค่าจ้างแรงงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นทุนในการผลิต และการประกอบกิจการทั้งหมด การพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นจึงควรคำนึงถึงต้นทุนรวมและโอกาสทางธุรกิจ  กรอบแนวคิดในการศึกษาจึงควรมีการวิเคราะห์ (1) ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในประเทศเป้าหมาย และ (2) การเชื่อมโยงระหว่างการผลิตในประเทศเป้าหมายกับห่วงโซ่คุณค่าที่ยังคงเหลืออยู่ในประเทศไทย

ในการตัดสินใจขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเป้าหมาย ข้อมูลสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ทั้งนี้ แนวความคิดเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสามารถอธิบายได้ด้วยปิระมิดดังแสดงในภาพที่ 1.2 กล่าวคือ ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับ ราคา คุณภาพ นวัตกรรม และการส่งมอบสินค้า ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวข้องที่สำคัญ คือ


 

1)      สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย

 สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

- นโยบายเศรษฐกิจมหภาค เช่น เงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะมีผลต่อค่าจ้างแรงงานและต้นทุนในการประกอบธุรกิจในประเทศเป้าหมายในระยะยาว

- กฎระเบียบของรัฐ เช่น สิทธิความเป็นเจ้าของในกิจการหรือที่ดิน กฎหมายแรงงาน  และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

- สิทธิประโยชน์การค้า เช่น สิทธิประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี (Free TradeAgreement: FTA) หรือสิทธิพิเศษทางศุลกากร (Generalized System of Preferences:GSP) เป็นต้น

- สิทธิประโยชน์การลงทุน เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร หรือการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น

โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ได้แก่

- โครงสร้างพื้นฐานทั่วไป เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต

- ระบบโลจิสติกส์และการขนส่ง ซึ่งจะมีผลต่อทั้งต้นทุนและเวลาในการส่งมอบสินค้า

โครงสร้างพื้นฐานอื่น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคม เช่น โรงเรียน โรงพยาบาลและสันทนาการต่างๆ ซึ่งดึงดูดผู้บริหาร แรงงานมีทักษะและนักวิชาชีพ

2) เงื่อนไขสำคัญของความสามารถในการแข่งขัน

แรงงาน โดยเฉพาะผลิตภาพแรงงาน ค่าจ้างแรงงาน ตลอดจนสวัสดิการและนโยบายสังคมรวมทั้งความยากง่ายและต้นทุนในการจ้างวิศวกร และแรงงานมีทักษะต่างๆ

วัตถุดิบ โดยเฉพาะความสามารถในการเข้าถึงวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำหรือคุณภาพสูง

 

 การย้ายหรือขยายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศอื่น ในลักษณะที่จะช่วยยกระดับของอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว ควรต้องพิจารณาการผลิตอย่างเป็นระบบทั้งห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายวัตถุดิบ เครือข่ายส่วนประกอบ เครือข่ายการผลิต เครือข่ายการส่งออก และเครือข่ายการตลาด ดังนั้น ในการตัดสินใจลงทุนไปยังประเทศเป้าหมายข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสนับสนุนเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจ

จากรายงานวิจัยเรื่องโอกาสและลู่ทางการลงทุนของไทยในสหภาพยุโรป โดย บริษัทแอ็คเซส - ยุโรป (Access - Europe) และสมาคมการค้าไทย - ยุโรป (Thai - European Business Association - TEBA) เสนอต่อ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ อ้างอิงถึง Narula and Dunning (2010) แบ่งเหตุผลการลงทุนในต่างประเทศเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1)   เพื่อแสวงหาตลาด (Market seeking) เช่น การเปลี่ยนจากการส่งออกสินค้าไปยังประเทศหนึ่งเป็นการเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าและจำหน่ายในประเทศนั้นแทน เพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี (tariff-jumping) หรือเพื่อเป็นฐานการผลิตในการส่งออกไปยังประเทศอื่น (export platform)

2)      เพื่อแสวงหาทรัพยากร (Resource seeking) เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบในการผลิต และแรงงานในประเทศที่มีอัตราค่าจ้างต่ำกว่า

3)   เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency seeking) เช่น การย้ายฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศที่เป็นตลาดสำคัญเพื่อประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์หรือประเทศที่มีอุตสาหกรรมต้นน้ำรองรับ

4)      เพื่อครอบครองสินทรัพย์ที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ (Strategic asset seeking) เช่น เทคโนโลยี ความรู้ความชำนาญ แบรนด์สินค้า ฐานลูกค้า เครือข่ายและช่องทางการกระจายสินค้า เป็นต้น

การสร้างเครือข่ายการผลิตในต่างประเทศ หรือกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ (Strategies forentering foreign markets) โดยทั่วไปสามารถจำแนกออกได้ 3 วิธี ใหญ่ๆ Young et al. (1989); UNCTAD (2011) ได้แก่ (1) การทำการค้า (Trade) (2) การขยายสู่ตลาดต่างประเทศโดยไม่ถือหุ้นโดยตรง (Non-equity modes: NEMs) และ (3) การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)

1)      การส่งออก (Exporting) เป็นวิธีการพื้นฐานที่สุดในการดำเนินงานของธุรกิจระหว่างประเทศและเป็นวิธีการที่มีความเสี่ยงน้อย เพราะเพียงแค่จัดส่งสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบการทำการตลาดกับผู้บริโภคปลายทาง โดยการส่งออกแบ่งออกได้ 2 วิธี ได้แก่

·       การส่งออกทางตรง (Direct Exporting) หมายถึงการที่กิจการทำหน้าที่ในการส่งสินค้าของตนไปสู่ลูกค้าในต่างประเทศโดยตรง ไม่ผ่านคนกลางใดๆ

·       การส่งออกทางอ้อม (Indirect Exporting) คือการที่ผู้ผลิตได้มอบหมายให้ผู้อื่นทำหน้าที่ในส่วนที่เป็นการส่งสินค้าออกแทนตนเอง

2)      การขยายสู่ตลาดต่างประเทศโดยไม่ถือหุ้นโดยตรง (Non-equity modes: NEMs)[3] ซึ่ง NEMs หมายถึง การทำสัญญาระหว่างบริษัทที่เป็นนายจ้างกับบริษัทคู่สัญญาโดยที่ไม่มีเรื่องการถือครองหุ้นเข้าไปเกี่ยวข้อง NEMs สามารถทำได้หลายลักษณะด้วยกัน โดยรูปแบบที่จะพบเห็นได้บ่อย อาทิ  การจ้างผลิต การจ้างบริการ การให้ลิขสิทธิ์หรือขายไลเซนส์ การให้สัมปทาน และการบริหารตามสัญญา เป็นต้น

·       การทำสัญญาจ้างผลิต (Contract Manufacturing) คือ การที่กิจการหนึ่งทำสัญญาจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ทำการผลิต (Production Outsourcing) ให้บริการ (Services Outsourcing) และดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าของกิจการนั้นๆ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการ Outsourcing NEMs ซึ่งสินค้าและบริการที่ผลิตต้องเป็นไปตามคุณภาพและมาตรฐานที่กำหนด โดยที่บริษัทหรือผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ทำการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวเอง รวมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบกระบวนการทางการตลาดไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา และการส่งเสริมการจัดจำหน่ายด้วย รูปแบบนี้มีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม โรงแรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการทางธุรกิจต่างๆ การลงทุนในรูปแบบนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในภาคการเกษตรหรือที่รู้จักกันกว้างขวางในอีกชื่อเรียกว่า การเกษตรแบบมีพันธะสัญญา (Contract Farming) นั่นเอง

·       การให้ลิขสิทธิ์ (Licensing) คือ การที่บริษัทเจ้าของเครื่องหมายการค้า (Licensor) ได้รับอนุญาตให้บริษัทอื่นในต่างประเทศทำการผลิตสินค้าหรือบริการ (Licensee) ภายใต้เครื่องหมายการค้าและการควบคุมคุณภาพจากเจ้าของ โดยบริษัทในต่างประเทศผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการผลิตจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการได้รับอนุญาต (Royalty) ให้บริษัทเจ้าของเครื่องหมายการค้า โดยทั่วไปแล้วมักคิดเป็นร้อยละจากยอดขาย หรืออาจจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ให้สิทธิ์ตามที่ได้ตกลงเป็นกรณีไป

·       การให้สัมปทาน (Franchising) จัดเป็นวิธีการหนึ่งของการได้รับอนุมัติ (License) ซึ่งการให้สัมปทานคือการที่เจ้าของสิทธิ์ (Franchisor) อนุญาตให้คู่ค้าทางธุรกิจหรือผู้รับสิทธิ์ (Franchisee) สามารถประกอบธุรกิจโดยใช้ชื่อการค้า เครื่องหมายการค้า การบริหาร และระบบธุรกิจที่เจ้าของสิทธิ์พัฒนาขึ้น โดยผู้รับสิทธิ์จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้าหรือค่าสิทธิ์ (Franchise Fee) และค่าตอบแทนตามผลประกอบการ (Royalty Fee) ให้กับเจ้าของสิทธิ์หรือเจ้าของสัมปทาน

·       การบริหารตามสัญญา (Management Contract) คือ การที่บริษัทหนึ่งรับจ้างบริหารจัดการตามความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับอีกบริษัทหนึ่ง โดยผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างบริหารให้กับบริษัทผู้รับจ้าง โดยตัวอย่างการทำธุรกิจในลักษณะนี้ เช่น โรงแรมที่เจ้าของธุรกิจมีเงินทุนแต่อาจไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารและไม่มีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงของตนเองมากนัก จะนิยมจ้างบริษัทที่เป็นนักบริหารที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับเข้ามาบริหารโรงแรมให้ ซึ่งอาจอยู่ในรูปการเข้า chain โรงแรมก็ได้

3)      การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เป็นหนึ่งในแนวคิดการสร้างเครือข่ายการผลิตในต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมีหลายรูปแบบมาก แต่โดยทั่วไปพอสรุปได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่ การก่อตั้งบริษัทสาขาหรือการลงทุนใหม่ (Greenfield) และการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition)

·       การก่อตั้งบริษัทสาขาหรือการลงทุนใหม่ (GreenfieldInvestment) เปนการนําเงินทุนเขามาลงทุนจากตางประเทศโดยตรงและเป็นการลงทุนใหม ซึ่งอาจอยู่ในรูปของการนําผลกําไรจากการลงทุนในประเทศนั้น เพื่อการลงทุนเพิ่ม (Reinvested earnings) หรือการกูยืมเงินจากบริษัทแมในประเทศตนทางหรือจากบริษัทในเครือนอกประเทศ เขามายังประเทศปลายทางภายใตกําหนดเวลาและผลตอบแทน (Intra-company loans)

·       การควบรวมกิจการ (Merger) สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในลักษณะที่หน่วยธุรกิจหนึ่งผนวกกิจการเข้ากับธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือเกี่ยวพันกัน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) เพื่อให้ได้เป็นเจ้าของเหนือกิจการเดิมและนำกิจการนั้นเข้าเป็นกิจการในเครือของผู้ซื้อ เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการควบคุมการบริหารและกลยุทธ์ทางธุรกิจ รวมถึงคาดหวังประโยชน์ภายหลังจากมีการควบรวมกิจการ อาทิ การเพิ่มส่วนแบ่งตลาด การผนวกทักษะและเทคโนโลยี ความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่กิจการดังกล่าวครอบครองอยู่ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลง แข่งขันได้ดีขึ้น และเพิ่มอำนาจการต่อรองของกิจการได้

ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าว ก็สามารถดำเนินงานได้ทั้งในลักษณะการเป็นเจ้าของทั้งหมด (Wholly-owned) หรือการรวมทุน (Joint venture) ได้แก่

·       การลงทุนโดยบริษัทแม่ทั้งหมด (Wholly Own) หมายถึงการที่กิจการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศด้วยเงินทุนของตนเอง

·       การร่วมลงทุนระหว่างประเทศ (International JointVenture) หมายถึง การร่วมลงทุนกับกิจการจากประเทศอื่นๆ ในการทำธุรกิจในประเทศใดประเทศหนึ่ง 

 



[1] World Economic Forum (2012). The Shifting Geography of Global Value Chains: Implications for Developing Countries andTrade Policy. 

[2] Gomez-Mera et al., 2015 “New Voices in Investment”

[3]จิตติกานต์ วงษ์กำภู. สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา. (Business One. ปีที่ 1 ฉบับที่ 20 วันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2554.)