Get Adobe Flash player

ปัจจุบัน ความต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคทั่วโลกมีความต้องการในทิศทางที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับผู้บริโภคในโมร็อกโก ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ จากข้อมูลของ Euromonitor international ที่ได้ระบุการเติบโตของตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพในโมร็อกโกใน ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งมีมูลค่ายอดขายปลีกอยู่ที่ 3,838 ล้านเดอร์แฮม เติบโตจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สูงถึงร้อยละ 21 ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดมีการขยายตัวค่อนข้างสูง เนื่องจากการเข้าสู่ตลาดของธุรกิจสุขภาพทั้งในส่วนของฟิตเนส ร้านขายยา ร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ และการเข้าสู่ธุรกิจการผลิตอาหารเสริมของผู้ประกอบการที่เป็นทั้งนักลงทุนชาวโมร็อกโกและต่างชาติ ประกอบกับรัฐบาลโมร็อกโกให้การสนับสนุนประชาชนในการบริโภคอาหารที่ดี ผักผลไม้สด การส่งเสริมการออกกำลังกาย จึงทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น

 

แนวโน้มความต้องการของตลาดอาหารเสริม รวมถึงน้ำมันปลายังมีโอกาสอีกมาก และจากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของตลาดวิตามินและอาหารเสริมในโมร็อกโก พบว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 24 ของมูลค่าค้าปลีก ซึ่งน้ำมันปลาถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่มีโอกาสเติบโตในธุรกิจนี้ โดยคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับการเติบโตของตลาดรวมวิตามินและอาหารเสริม (ที่มา : Euromoniter 2016) ซึ่งน้ำมันปลาจะเติบโตในส่วนของตลาดผู้บริโภคโดยตรงแล้วนั้น คาดว่าในอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องที่ต้องการใช้น้ำมันปลามาเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มก็ขยายตัวด้วยเช่นกัน เช่น อุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง เป็นต้น

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและจากระบบเศรษฐกิจที่เป็นตัวผลักดันนั้น ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของชาวโมร็อกโกปรับเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก เข้าสู่สังคมเมืองมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อสูง และยอมรับผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการที่อยู่ในระดับ Premium ได้มากขึ้น รวมทั้งช่องทางการกระจายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มเติบโต และยังมีช่องว่างสำหรับนักธุรกิจใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดได้มาก รวมทั้ง การทำการตลาดโดยผ่าน socialmedia หรือ market online ปัจจัยเหล่านี้ช่วยยืนยันได้ว่าตลาดน้ำมันปลาในโมร็อกโกมีแนวโน้มที่ดี และเป็นโอกาสของนักลงทุนของไทย

รายละเอียดตลาดน้ำมันปลาในโมร็อกโก แสดงดังนี้

 

          การผลิตน้ำมันปลาในโมร็อกโก

          แหล่งผลิตน้ำมันปลาร้อยละ 85 ของโลก คือ ทวีปอเมริกาใต้และประเทศโมร็อกโก โดยน้ำมันปลาสามารถนำมาสกัดเป็นอาหารเสริมสำหรับบำรุงร่างกาย และนำไปใช้ทำเป็นอาหารปลาและอาหารสัตว์  โดยในแต่ละปีปริมาณการผลิตน้ำมันปลาเพื่อเป็นอาหารเสริม คิดเป็นร้อยละ 610 หรือคิดเป็น 1 ล้านตันจากปริมาณน้ำมันปลาที่ยังไม่สกัดทั้งหมด (Global Organization for EPA and DHA, GOED) ในขณะที่ International Fishmeal and Fish oil Organization (IFFO) รายงานตัวเลขการบริโภคน้ำมันปลาอยู่ที่ร้อยละ 3 เท่านั้น โดยสัดส่วนการบริโภคน้ำมันปลาของทวีปยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 0.6

          โอเมก้า 3 ที่พบมากในน้ำมันปลามีประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ บำรุงสมอง บำรุงสายตา และช่วยในเรื่องความจำ โดยตลาดการบริโภคที่สำคัญ คือ ประเทศนอร์เวย์ แคนาดา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา จากการรายงานข้อมูลของบริษัท Frost & Sullivan ในปี 2550 พบว่า ปริมาณการบริโภคในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 17,384 ตัน ในขณะที่ปริมาณการบริโภคน้ำมันปลาในทวีปยุโรปอยู่ 13,340 ตัน

          ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อทรัพยาการการผลิตน้ำมันปลา ได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม จากปรากฏการณ์เอลนิโน (El Nino) ส่งผลให้ระดับ DHA ที่ได้จากน้ำมันปลาจากน่านน้ำทวีปอเมริกาใต้ลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ราคาน้ำมันปลาเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 5075 จากการลดลงของปริมาณน้ำมันปลาคุณภาพดี ที่มีสัดส่วน 18:12 คือ EPA ร้อยละ 18 และ DHA ร้อยละ 12 อย่างไรก็ตาม จากรายงานของ Global Organization for EPA and DHA (GOED) พบว่าการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาขายน้ำมันปลาสกัดในรูปของอาหารเสริม เนื่องจาก ผู้ผลิตเป็นผู้แบกรับภาระตันทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น

          ในประเทศโมร็อกโก น้ำมันปลาเป็นผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมปลากระป๋อง ของเสียจากการทำปลา หรือการนำปลาที่เหลือจากความต้องการเพื่อการผลิตปลากระป๋องนำมาทำเป็นน้ำมันปลา โดยในปี พ.ศ. 2557 มูลค่าของน้ำมันปลาที่ผลิตในโมร็อกโกมีมูลค่าประมาณ ปริมาณการผลิตอยู่ที่ 135,639

  

      ตลาดการค้าน้ำมันปลาของโมร็อกโก

โมร็อกโกส่งออกน้ำมันปลา (Fats And Oils And Their Fractions, Of Fish Or Marine Mammals, Whether Or Not Refined, But Not Chemically Modified) เป็นอันดับ 8 ของโลก และน้ำมันปลาเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้เป็นอันดับที่ 13 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมดของโมร็อกโก ในปี พ.ศ. 2558 โมร็อกโกส่งออกน้ำมันปลามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 349,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2557 ร้อยละ 41.21 และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ. 2554-2558 ร้อยละ 54.63 ต่อปี นับว่าเติบโตเป็นอย่างมาก โดยตลาดส่งออกน้ำมันปลาของโมร็อกโกที่สำคัญ ได้แก่ ฝรั่งเศส มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 26.22 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมาได้แก่ เปรู ร้อยละ 19.55 เนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 11.31 นอร์เวย์ ร้อยละ 9.29 จีน ร้อยละ 9.05 และ ญี่ปุ่น ร้อยละ 6.37

 

 

 

 

      ตลาดน้ำมันปลาในโมร็อกโก

          ในการศึกษาครั้งนี้ จะนำเสนอภาพรวมของตลาดน้ำมันปลาสำหรับบริโภคได้ทันที ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มอาหารเสริม (Food Supplement) จากการศึกษาจะพบว่า ปัจจุบัน ชาวโมร็อกโกใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากตระหนักถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ได้ง่ายจากวิถีชีวิตที่รีบเร่ง อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี จากผลการสำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุขของโมร็อกโกพบว่า คนโมร็อกโก 16.1% เป็นโรคอ้วน หญิง 21% และชาย 8%  ในขณะที่ประชากร 28% มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน แบ่งเป็นหญิง 30% ชาย 26% ซึ่งปัญหาดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าเป็นผลมาจากการไม่รับประทานผักและผลไม้ นอกจากนี้ คนโมร็อกโกมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบจึงหันมารับประทานอาหาร fast food ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงการไม่มีเวลาสำหรับออกกำลังกาย แต่มีความต้องการที่จะมีรูปร่างที่สวยงาม แข็งแรงแบบนักกีฬา จึงเลือกรับประทานอาหารเสริม โดยหนึ่งในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ผู้บริโภคชาวโมร็อกโกเลือกรับประทาน คือ น้ำมันปลา (fish oil)

          ตลาดอาหารเสริมสุขภาพในโมร็อกโก มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2558 มูลค่าสูงถึง 585 ล้านเดอร์แฮม และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ 2556-2559 อยู่ที่ร้อยละ 6 ต่อปี เป็นผลมาจากกระแสการใส่ใจสุขภาพที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิงและวัยรุ่นที่นิยมรับประทานเพื่อรักษาโรคและ/หรือป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดังกล่าวสืบเนื่องมาจากชาวโมร็อกโกรับเอาวัฒนธรรมการดำรงชีวิตแบบตะวันตกเข้ามา จึงได้รับอิทธิผลกระแสการใส่ใจสุขภาพจากชาวตะวันตกตามไปด้วย และรัฐบาลโมร็อกโกใช้สื่อในการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของรัฐ อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดความใส่ใจในสุขภาพให้เกิดขึ้นในสังคมโมร็อกโก คือ รายการทีวี และกิจกรรมที่จัดโดยรัฐบาลโมร็อกโก นอกจากนั้นปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารเสริมที่เพิ่มขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ การเพิ่มขึ้นของร้านขายยาตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีพื้นที่สำหรับสินค้าได้หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ ความง่ายในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การบริโภคอาหารเสริมเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ และเปรียบเทียบคุณประโยชน์ของอาหารเสริมแต่ละชนิดก่อนตัดสินใจซื้อ

          สำหรับน้ำมันปลา เป็นทางเลือกสำคัญในการรับประทานอาหารเสริม โดยพบว่าน้ำมันปลาที่จำหน่ายในโมร็อกโกมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9 ของมูลค่าอาหารเสริมทั้งหมด และพบว่ามีแนวโน้มเติบโตในทิศทางการเติบโตของตลาดอาหารเสริมเช่นเดียวกัน 

  

      สภาพการแข่งขัน

1)           ตลาดในประเทศ

          ผู้นำในการตลาดผลิตอาหารเสริมเพื่อสุขภาพในโมร็อกโก คือ บริษัท Laboratories Laprophan  โดยในปี พ.ศ. 2558 สามารถครองส่วนแบ่งตลาดอาหารเสริมสูงสุดถึงร้อยละ 18  โดยกลยุทธ์การขายจะเน้นใช้การโฆษณากระตุ้นยอดขาย และการขายผ่านช่องทางร้านขายยาและแพทย์ อย่างไรนั้น บริษัทผู้ผลิตอาหารเสริมอื่นๆ ต่างปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยการออกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมแปลกใหม่ และการปรับรูปลักษณ์ของสินค้า และทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย

 

          2)   ตลาดโลก

          โมร็อกโก เป็นผู้ส่งออกน้ำมันปลาเป็นอันดับที่ 8 ของโลกในปี พ.ศ. 2558 ด้วยส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 5.88 ของมูลค่าการส่งออกน้ำมันปลาทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ส่งออกเป็นสินค้าขั้นกลางหรือน้ำมันปลาดิบ (Crude oil)   

                                   

         

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผู้ผลิต/จำหน่ายน้ำมันปลาในโมร็อกโกเพื่อการส่งออก ได้แก่ บริษัท Sovapec & Maromega, Skelme, Libertalia. Tec, Somimas&Fanader Service, Well fishing, Fishmeal International, MORO FISHERIES, Chej lekbir abdalahe lahsen, SOTRAGEL, SAHEL PROTEINE SA, SARMA FOOD S.A.R.L., Laayoune PROTEINE เป็นต้น

 

กลยุทธ์การตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาในโมร็อกโก

โมร็อกโก เป็นประเทศที่มีการเติบโตในด้านเศรษฐกิจค่อนข้างดี ส่งผลต่อรายได้ต่อหัวของประชากร การขยายตัวในเขตเมืองใหญ่และแรงงานในชนบทเข้าสู่เขตเมืองมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของชนบทเข้าสู่ความเป็นเขตเมืองก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าอาหารเสริมซึ่งรวมถึงน้ำมันปลาจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามตัวเลขของการขยายตัวของมูลค่าค้าปลีกอาหารเสริมที่ได้นำเสนอไว้แล้วนั้น และจากการรวบรวมข้อมูลสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมน้ำมันปลาในโมร็อกโก และการรวบรวมแบบสอบถามผู้บริโภคในโมร็อกในด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่นำเสนอในบทที่ 3 สามารถกำหนดแนวทางของการเข้าสู่ตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาได้ ดังนี้

1)      ด้านผลิตภัณฑ์  ผู้ประกอบการที่เข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาในโมร็อกโก ควรเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันปลา ทั้งที่อยู๋ในรูปของน้ำมันดิบเพื่อการส่งต่อไปยังอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งรูปแบบของน้ำมันปลาส่วนใหญ่อยู่ในแคปซูล หากจะสร้างความแตกต่างควรต้องทำการวิจัยผลิตภัณฑ์ในรูปแบบการบริโภคใหม่ เช่น เป็นเครื่องดื่มพร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำมันปลา เพื่อเพิ่มความหลากหลายและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยเฉพาะประชากรโมร็อกโกส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งต้องการความสะดวกสบาย ความทันสมัย ทั้งนี้ควรมีการโฆษณาที่เน้นคุณประโยชน์ คุณภาพ และสรรพคุณที่มี โดยเฉพาะด้านมาตรฐานความปลอดภัย การผลิตที่เป็นไปตามหลักศาสนา ซึ่งผู้บริโภคชาวโมร็อกโกให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 และควรมีหลักฐานการวิจัยเพื่อรับรองความน่าเชื่อถือในเรื่องคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ด้วย

ทั้งนี้ จากการการสำรวจผู้บริโภคในโมร็อกโกถึงความนิยมดื่มเครื่องดื่มพร้อมดื่มจะนิยมบรรจุภัณฑ์แบบกล่องมากที่สุด

2)      ด้านราคา

ด้านการกำหนดราคาจำหน่ายปลีก เนื่องจากน้ำมันปลา เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมซึ่งมีระดับราคาสูง ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของโมร็อกโกมีรายได้ต่อหัวค่อนข้างน้อย กลุ่มเป้าหมายในการทำตลาดของผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาจึงควรเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อสูง โดยเน้นจำหน่ายในกลุ่มเป้าหมายที่เป็น Niche market คือรายได้ค่อนข้างสูง แต่มีความต้องการซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่อาศัยในเมืองใหญ่ที่ทำงานในสำนักงาน และหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งนี้ ต้องมั่นใจว่าราคาที่ตั้งมีความเหมาะสมกับคุณค่าและปริมาณที่ผู้บริโภคได้รับ และเหมาะกับตราสินค้าที่รู้จักด้วย

3)      ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย

ผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านค้าปลีกดั้งเดิมซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไป และค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต ไฮเปอร์มาเก็ต อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในโมร็อกโกส่วนใหญ่กระจายสินค้าผ่านคนกลางหรือผู้แทนจำหน่ายในท้องถิ่นเพื่อเข้าสู่ร้านค้าปลีกดั้งเดิม ส่วนการส่งไปยังค้าปลีกสมัยใหม่ผู้ผลิตสามารถเข้าสู่ค้าปลีกสมัยใหม่ได้โดยตรง และในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์นั้นส่วนใหญ่จะผ่านผู้ส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้า และนอกจากนี้ ช่องทางค้าปลีกที่วางจำหน่ายควรจะต้องมีชื่อเสียง น่าเชื่อถือ เป็นร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะ ร้านขายยา หรือมุมสินค้าเพื่อสุขภาพในค้าปลีกสมัยใหม่ที่เน้นลูกค้าระดับพรีเมี่ยม หรือ Hi-end เป็นต้น ทั้งนี้ ช่องทางกระจายสินค้าในโมร็อกโกที่สำคัญ ได้แก่ ได้แก่ Marjane Holding, Hyper SA, and GroupeChaabi เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาค่อนข้างสูง และมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย จึงควรจำหน่ายผ่านตัวแทนขายหรือมีผู้แนะนำสินค้าเพื่อสามารถเข้าถึงผู้บริโภคเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

4)      ด้านการส่งเสริมการตลาด

การโฆษณควรเน้นที่ตัวผู้บริโภคโดยตรง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารเสริม น้ำมันปลา โดยการใช้สื่อโฆษณา แต่ต้องพิจารณาเลือกใช้สื่อที่เหมาะสมและราคาไม่แพง เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เป็นต้น เนื่องจากสามารถให้ข้อมูลในรายละเอียดได้ และควรเน้นที่คุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นจุดขายที่สำคัญ และควรมี 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส และอาหรับ นอกจากนี้ การใช้พนักงานขายช่วยโฆษณาและให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ หรือการโฆษณาผ่านเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ ก็เป็นวิธีที่เหมาะสมและราคาไม่แพง แต่ต้องให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับคุณสมบัติและประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ จะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือและสนใจลองบริโภคสินค้าได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์น้ำมันปลามีประโยชน์หลายด้าน แต่เนื่องจากชาวโมร็อกโกอาจยังไม่รู้จักมาก่อน จึงจำเป็นต้องให้ความรู้และประโยชน์ ที่สำคัญควรมีเอกสารหรือแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นหลักฐานอ้างอิงด้วย

นอกจากนี้ หากเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำมันปลา หรือ โอเมก้า 3 การจัดกิจกรรมการทดลองชิมเครื่องดื่ม ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับรสชาติมากเป็นอันดับต้นๆ ในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์รองจากคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย โดยส่วนใหญ่การส่งเสริมการขายที่พบมากคือ การลดราคา และการแจกของแถม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีงบประมาณที่จะทำ Co-promotion หรือส่งเสริมการตลาดร่วมกับช่องทางค้าปลีกต่างๆ ด้วย