Get Adobe Flash player
ซุปเปอร์มาร์เก็ตในประเทศกลุ่ม MENA
อุตสาหกรรมประมงในโมร็อกโก
การประชุมแนวทางการสร้างเครือข่ายการผลิตอุตสาหกรรมอาหารเข้าสู่ตลาดในภูมิภาค MENA
สัมมนาแนวทางการสร้างเครือข่ายการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อรองรับการขายตัวในตลาดใหม่ MENA

ปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยยังขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกเป็นส่วนใหญ่ และปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ได้ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการแข่งขันในตลาดอย่างเป็นธรรม รวมถึงการบริหารจัดการเศรษฐกิจภาพรวม ให้มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ โดยในภาคของอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับการ เพิ่มประสิทธิภาพด้านการค้าและการลงทุน โดยการสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมการขยายตลาดเชิงรุกเพื่อรักษาตลาดเดิมและสร้างตลาดใหม่ เสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการไทยด้านการค้าและการพัฒนาสินค้าแบรนด์ประเทศไทย รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน การปรับปรุงกฎระเบียบและภาษี ที่เป็นอุปสรรค และการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศเกิดใหม่เพื่อเชื่อมโยงกับการผลิตในประเทศ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์และประเทศอื่น ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความมั่นคง ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีภูมิภาคและอนุภูมิภาค การสร้างบทบาทของไทยในฐานะผู้ให้ โดยให้ความช่วยเหลือทั้งทางวิชาการ และทางการเงินในการร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศมุสลิมและประเทศที่มีบทบาทสำคัญทั่วโลก

ภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูง โดยสร้างมูลค่าเพิ่มต่อมูลค่าเพิ่มรวมของภาคอุตสาหกรรมสูงสุด มีผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นร้อยละ 23 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม ในช่วงที่ผ่านมาการค้าการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตภายในประเทศเพื่อการบริโภคและเพื่อการส่งออก โดยการส่งออกสินค้าอาหารไปยังตลาดโลกสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไม่ต่ำกว่า 910,000 ล้านบาท และเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารในอันดับที่ 14 ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนร้อยละ 2.29 ของมูลค่าส่งออกอาหารโลก ตลาดส่งออกหลักของไทย คือ ตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 39 ของมูลค่าการส่งออกอาหารของไทย  แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจและการแข่งขันที่รุนแรงกับประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ ทำให้ 3 ปีที่ผ่านมาการนำเข้าสินค้าอาหารจากตลาดหลักมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัวในด้านการผลิต การตลาด เพื่อให้สามารถรักษาตลาดเดิมหรือตลาดหลักเหล่านี้ ควบคู่กับการเสาะแสวงหาตลาดใหม่เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจ ได้แก่ อาเซียน,MENA (Middle East & North Africa)[1], BRIC , CIS

 

และ NEXT 11 เป็นต้น อย่างไรก็ดี นอกจากการเสาะแสวงหาตลาดใหม่เพื่อขยายฐานการส่งออกอาหารของไทยแล้วนั้น การขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยไปยังตลาดเกิดใหม่เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ควรจะต้องดำเนินการ เนื่องจากผู้ประกอบการอาหารของไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารที่ได้คุณภาพ มาตรฐาน ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก นอกจากนี้ การเปิดการค้าเสรีและกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ยังสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถนำวัตถุดิบที่หลากหลายจากประเทศที่มีศักยภาพมาเพิ่มมูลค่าหรือร่วมลงทุนผลิตสินค้า ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้จะส่งผลทางบวกที่จะก่อให้เกิดกระบวนการสร้างเครือข่ายการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปสู่การรองรับการขยายตัวของตลาดใหม่ได้อย่างยั่งยืน        

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการชี้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่ความยั่งยืน จากประเด็นยุทธศาสตร์ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้ทันต่อกระแสโลกและผลักดันไปสู่เชิงปฏิบัติ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศและมุ่งเน้นให้เกิดความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลกตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการตลาดโดยเฉพาะการศึกษาเชิงนโยบายในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ดังนั้น จึงเห็นความสำคัญในการดำเนินการศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ของการสร้างเครือข่ายการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อรองรับการขยายตัวในตลาดใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นกลยุทธ์เชิงรุกในการเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านการตลาดการกระจายผลผลิตไปสู่ตลาดได้อย่างยั่งยืนในอนาคต


[1] 19 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย อียิปต์ ลิเบีย โมร็อกโก ตูนิเซีย (แอฟริกา) บาห์เรน อิหร่าน อิรัก อิสราเอล จอร์แดน คูเวต เลบานอน โอมาน ปาเลสไตน์ กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน (ตะวันออกกลาง)