Get Adobe Flash player

ในการศึกษานี้จะใช้แนวคิดวิธีการเลือกประเทศ (Location mode) โดยการพิจารณาจากเกณฑ์ 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านตลาด (2) ด้านปัจจัยการผลิต (3) ด้านการเงินการธนาคาร และ (4) ด้านการเมือง โดยเกณฑ์ในข้อ (1), (2) และ (3) จะใช้ข้อมูลจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในรายงาน The Global Competitiveness Report ของ World Economic Forum (WEF) ส่วนเกณฑ์ข้อ (4) ด้านการเมือง นั้น จะใช้ข้อมูลPolitical Stability and Absence of Violence/Terrorism Indexของธนาคารโลก มาเป็นข้อมูลในการคัดเลือกประเทศที่เหมาะสมกับการพัฒนาเครือข่ายการผลิต

 

เครื่องมือในการคัดเลือกประเทศ

เครื่องมือในการเลือกประเทศจะใช้เมตริกซ์การตัดสินใจ (Decision Matrix) โดยการนำข้อมูลดัชนีความสามารถในการแข่งขัน (The Global Competitiveness Index: GCI) ของประเทศต่างๆ และดัชนี Political Stability and Absence of Violence/Terrorism Index ของธนาคารโลก มาเรียงลำดับและแบ่งกลุ่มเป็น 5 กลุ่มจำนวนเท่าๆ กัน ประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก คือ กลุ่มที่ 1 แสดงว่ามีศักยภาพการแข่งขันสูง (หรือมีความเสี่ยงทางการเมืองต่ำ กรณีเป็นเกณฑ์ด้านการเมือง) จะได้ระดับคะแนนเท่ากับ 5 หมายถึงเกณฑ์ด้านนั้นเหมาะสมกับการพัฒนาเครือข่ายฯ ในระดับสูงที่สุด และค่าคะแนนจะลดหลั่นลงไปจนถึงประเทศที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ในลำดับท้ายๆ ของโลก (หรือมีความเสี่ยงทางการเมืองสูง กรณีเป็นเกณฑ์ด้านการเมือง) จะอยู่ในกลุ่มที่ 5 ซึ่งจะได้ระดับคะแนนน้อยที่สุด เท่ากับ 1 คะแนน หมายถึงเกณฑ์ด้านนั้นเหมาะสมกับการพัฒนาเครือข่ายฯ ในระดับต่ำที่สุด

จากรายงาน The Global Competitiveness Report 2015-2016 พบว่า มีประเทศทั้งหมดที่ใช้ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันจำนวน 140 ประเทศทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) เกือบทั้งหมด จะขาดเพียง 2 ประเทศ คือ ลิเบียและเยเมน เท่านั้น ดังนั้น คณะผู้วิจัยจะใช้ข้อมูล The Global Competitiveness Index (GCI) ในปีดังกล่าวเป็นหลักเพื่อจัดทำเมตริกซ์การตัดสินใจ ส่วนประเทศลิเบียและเยเมนจะใช้ข้อมูลในรายงาน The Global Competitiveness Report 2014-2015 ที่ประกอบด้วย 144 ประเทศ ซึ่งจำนวนประเทศทั้งหมด 144 ประเทศดังกล่าว จะถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 29 ประเทศ เท่าๆ กัน ยกเว้นกลุ่มที่ 5 จะมี 26 ประเทศ โดยกลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยประเทศในอันดับที่ 1-29 ของโลก ซึ่งประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้จะได้ระดับคะแนนสูงสุดเท่ากับ 5 คะแนน รองลงมา คือ กลุ่มที่ 2 (อันดับที่ 30-58), กลุ่มที่ 3 (อันดับที่ 59-87), กลุ่มที่ 4 (อันดับที่ 88-116) และกลุ่มที่ 5 (อันดับที่ 117-144) ซึ่งจะมีคะแนนเท่ากับ 4, 3, 2 และ 1 คะแนน ตามลำดับ

สำหรับจากในการศึกษาเกณฑ์ 4 ด้าน ที่จะนำมาใช้ในการทำเมตริกซ์การตัดสินใจเลือกประเทศ (Location mode) ได้แก่ (1) ด้านตลาด (2) ด้านปัจจัยการผลิต (3) ด้านการเงินการธนาคาร และ (4) ด้านการเมือง ซึ่งในเกณฑ์แต่ละด้าน GCI ได้ระบุองค์ประกอบ ความสำคัญ รวมถึงเกณฑ์ชี้วัดย่อยๆ พอสรุปได้ดังนี้

1)      ด้านตลาด

พิจารณาจากขนาดตลาด (Market size) ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ซึ่งขนาดตลาดจะมีผลกระทบต่อผลิตภาพของธุรกิจ ถ้าตลาดมีขนาดใหญ่ ธุรกิจก็จะมีโอกาสเกิดการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) สามารถผลิตด้วยจำนวนมากๆ แล้วทำให้ต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลง ทั้งนี้ ความหมายของตลาดในอดีตจะครอบคลุมเขตแดนประเทศเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกไร้พรมแดน ตลาดจึงขยายขอบเขตไปยังต่างประเทศด้วย นั่นหมายความว่า มูลค่าการค้าทั้งนำเข้าและส่งออกก็เป็นตัวชี้วัดขนาดตลาดที่เชื่อมโยงถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะประเทศที่เปิดให้มีการค้ากับต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง พอจะอนุมานได้ว่าประเทศนั้นมีนโยบายการส่งเสริมการค้าการลงทุน รวมถึงมีศักยภาพในการกระจายสินค้าไปสู่ภูมิภาคหรือตลาดโลก ซึ่งประเทศดังกล่าวย่อมดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่าประเทศที่มีการไหลเวียนสินค้าต่ำ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของสินค้าอาหารจะใช้ปริมาณการค้าอาหารของประเทศต่างๆ มาเป็นปัจจัยในการพิจารณาคัดเลือกประเทศประกอบกันด้วย

ด้านขนาดตลาด ประเทศในกลุ่ม MENA ที่มีตลาดขนาดใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 (อันดับ 1-29) มีคะแนน 5 คะแนน ประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ ตุรกี (อันดับ 16), ซาอุดิอาระเบีย (อันดับ 17), อิหร่าน (อันดับ 19) และอียิปต์ (อันดับ 24) ส่วนประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่รองลงมา และจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 (อันดับ 30-58) มีคะแนน 4 คะแนน ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (อันดับ 31), อัลจีเรีย (อันดับ 37), โมร็อกโก (อันดับ 53), อิสราเอล (อันดับ 54), กาตาร์ (อันดับ 56) และคูเวต (อันดับ 58)

ด้านการค้าอาหาร ประเทศในกลุ่ม MENA ที่มีตลาดการค้าระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ในแง่ของสินค้าอาหาร 5 อันดับแรก ได้แก่ ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และอิหร่าน โดยตุรกีมีบทบาทเด่นทั้งการเป็นผู้นำเข้าและส่งออก ส่วนซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และอิหร่าน มีบทบาทเด่นในฐานะผู้นำเข้า ในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีบทบาทเด่นในฐานะผู้นำเข้าและส่งออกต่อ (re-export) สินค้าไปยังภูมิภาคใกล้เคียง

2)      ด้านปัจจัยการผลิต

ในการที่ภาคธุรกิจจะคัดเลือกประเทศเพื่อขยายการค้าการลงทุนนั้น สภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยเฉพาะด้านปัจจัยการผลิตและปัจจัยที่อำนวยความสะดวกในการทำการค้าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จในตลาดดังกล่าว สำหรับปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกประเทศ ประกอบด้วย 3 ด้าน ซึ่งในการกำหนดเกณฑ์จะมีการถ่วงน้ำหนักทั้ง 3 ด้าน ให้เป็นปัจจัยด้านการผลิตปัจจัยเดียว ได้แก่

(1) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริการจากภาครัฐ เช่น เส้นทางคมนาคมขนส่ง ศักยภาพในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้กับภาคธุรกิจ รวมทั้งเครือข่ายการสื่อสารและโทรคมนาคม ซึ่งประเทศที่มีความพร้อมมากก็จะดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างชาติได้มากกว่าประเทศที่มีความพร้อมน้อย สำหรับประเทศในกลุ่ม MENA ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสูงที่สุดและจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 มีคะแนน 5 คะแนน ประกอบด้วย 3 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน กาตาร์ และยูเออี รองลงมาและจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 ได้แก่ อิสราเอล คูเวต โอมาน ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี และโมร็อกโก 

ตาราง  การให้คะแนนเกณฑ์ชี้วัดด้านการตลาดโดยใช้มูลค่าการค้าอาหารปี 2557


ที่มา: จากการประเมินของคณะวิจัยโดยใช้มูลค่าการค้าอาหารรวม (คอลัมน์ที่ 5)

หมายเหตุ: ไม่มีข้อมูลของประเทศอิรัก ซีเรีย และปาเลสไตน์

 

 (2) เทคโนโลยี หมายถึง ความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technological Readiness) ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยี (Technological Adoption) ทั้งในส่วนของการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ การดูดซับเทคโนโลยี รวมถึงการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่วนอีกกลุ่มคือ การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICTs) ของประชาชน ทั้งในรูปแบบของการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ต เป็นต้น สำหรับประเทศในกลุ่ม MENA ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสูงที่สุดและจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 มีประเทศเดียว ได้แก่ อิสราเอล รองลงมาและจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 ได้แก่ บาห์เรน คูเวต กาตาร์ ซาอดิอาระเบีย และยูเออี

(3) แรงงาน หมายถึง ประสิทธิภาพตลาดแรงงาน (Labor market efficiency) มีองค์ประกอบสำคัญ เช่น อัตราค่าจ้างงาน ทักษะ และประสิทธิภาพแรงงาน ความยืดหยุ่นในการกำหนดค่าจ้าง รวมถึงสมรรถนะของประเทศในการดึงดูดตลอดจนเก็บรักษาแรงงานทักษะ สำหรับประเทศในกลุ่ม MENA ที่มีประสิทธิภาพตลาดแรงงานสูงที่สุดและจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ได้แก่ บาห์เรน กาตาร์ และยูเออี รองลงมาและจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 ได้แก่ อิสราเอล

3)      ด้านระบบการเงินการธนาคาร

จะเน้นที่ระดับการพัฒนาตลาดการเงิน (Financial market efficiency) เป็นการวัดความยากง่ายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ความมีเสถียรภาพของสถาบันการเงิน และการกำกับดูแลสถาบันการเงินเป็นหลัก ซึ่งประเทศที่มีตลาดการเงินที่ดีจะช่วยให้การจัดสรรเงินทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงปลอดภัย เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ สำหรับประเทศในกลุ่ม MENA ที่มีระดับการพัฒนาตลาดการเงินสูงที่สุดและจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ได้แก่ อิสราเอล กาตาร์ และยูเออี รองลงมาและจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และโอมาน

ตาราง การให้คะแนนเกณฑ์ชี้วัดด้านต่างๆ โดยใช้ข้อมูลการจัดอันดับความสามารถ

ในการแข่งขันของ The Global Competitiveness Index (GCI)


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: จากการประเมินของคณะวิจัยโดยใช้อันดับการแข่งขันของ The Global Competitiveness Index (GCI)
หมายเหตุ: ไม่มีข้อมูลของประเทศอิรัก ซีเรีย และปาเลสไตน์

 

4)      ด้านการเมือง

จะเน้นพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง (Politics Risk) เป็นหลัก ซึ่งตัวแปรที่นำมาเป็นตัวชี้วัดปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง (Politics Risk) จะใช้ดัชนีเสถียรภาพทางการเมือง การใช้ความรุนแรง และการก่อการร้าย (Political Stability and Absence of Violence/TerrorismIndex) ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ของดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมมาภิบาลของประเทศต่างๆ 215 ประเทศทั่วโลก ดัชนีดังกล่าวจัดทำโดยธนาคารโลกภายใต้โครงการ The Worldwide Governance Indicators (WGI) ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน โดยดัชนีมีค่าตั้งแต่ -2.5 จนถึง 2.5 หากประเทศใดมีค่าดัชนีเท่ากับ -2.5 หมายความว่า ประเทศนั้นมีความเสี่ยงทางการเมืองสูงมาก แต่หากประเทศใดมีค่าดัชนีเท่ากับ 2.5 หมายความว่า ประเทศนั้นมีความเสี่ยงทางการเมืองต่ำมาก

ตาราง การให้คะแนนด้านการเมืองโดยใช้ดัชนีความเสี่ยงทางการเมือง

(The Worldwide Governance Indicators : WGI) ปี 2557


ที่มา: The World Bank Group

หมายเหตุ: ไม่มีข้อมูลของประเทศอิรัก ซีเรีย และปาเลสไตน์

 

ทั้งนี้ เพื่อสะดวกในการตีความระดับความเสี่ยง คณะวิจัยได้แบ่งสเกลดัชนีดังกล่าวออกเป็น 5 ส่วน คือ ความเสี่ยงทางการเมือง สูงมาก”“สูง”“ปานกลาง”“ต่ำ และต่ำมากจากการพิจารณาจะเห็นได้ว่าประเทศในกลุ่ม MENA ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงทางการเมืองในระดับสูงและสูงมาก รวมกันมีจำนวนมากถึง 11 ประเทศจากทั้งหมด 17 ประเทศในกลุ่ม MENA เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาสงครามกลางเมืองและภัยก่อการร้าย รวมถึงมีปัญหาเสถียรภาพการเมืองภายใน ส่วนอีก 6 ประเทศ จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงทางการเมืองในระดับปานกลางและต่ำ กลุ่มละ 3 ประเทศเท่าๆ กัน โดยกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงทางการเมืองในระดับปานกลาง มีคะแนน 3 คะแนน ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย โมร็อกโก และคูเวต ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงทางการเมืองในระดับต่ำ มีคะแนน 4 คะแนน ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน และกาตาร์

ผลการคัดเลือกประเทศ

ในการคัดเลือกประเทศที่เหมาะสมกับการพัฒนาเครือข่ายการผลิต จะคัดเลือกมาทั้งหมด 2 ประเทศ คือ หนึ่งประเทศในกลุ่มตะวันออกลาง และอีกหนึ่งประเทศในแอฟริกาเหนือ ซึ่งหลังจากที่นำเกณฑ์ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านตลาด (2) ด้านปัจจัยการผลิต (3) ด้านการเงินการธนาคาร และ (4) ด้านการเมือง มาหาค่าเฉลี่ย (คอลัมน์ที่ 10 ในตารางที่ 2.13) จะพบว่า ประเทศที่มีคะแนนสูงที่สุดอันดับหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และสูงที่สุดในภูมิภาค MENA ด้วย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีคะแนน 4.5 คะแนน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการคัดเลือกให้ศึกษาแนวทางการพัฒนาเครือข่ายการผลิตฯ โดยยูเออีมีจุดแข็งแทบทุกด้านโดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ระบบการเงินการธนาคารที่มีประสิทธิภาพสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนได้สะดวกและมีต้นทุนต่ำ รวมทั้งไม่มีปัญหาด้านการเมืองและภัยการก่อการร้าย เนื่องจากเป็นประเทศมุสลิมสายกลาง ส่วนจุดอ่อนที่มีเพียงเล็กน้อยคือขนาดตลาดที่ค่อนข้างเล็ก ก็ถูกชดเชยด้วยปริมาณการค้าอาหารที่สูงทั้งนำเข้า ส่งออก และส่งออกต่อ (re-export)

ขณะที่ในกลุ่มแอฟริกาเหนือ กำหนดให้ประเทศโมร็อกโกการพัฒนาเครือข่ายการผลิตฯ เพราะมีคะแนนสูงที่สุดในกลุ่ม คือ 2.8 คะแนน โดยโมร็อกโกมีจุดแข็งที่ตลาดมีขนาดค่อนข้างใหญ่ โครงสร้างพื้นฐานและมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี รวมทั้งระบบการเงินการธนาคารที่มีประสิทธิภาพดีกว่าประเทศในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านการเมืองและไม่มีภัยสงครามและการก่อการร้าย เนื่องจากเป็นประเทศมุสลิมสายกลาง มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศในกลุ่มยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศสและสเปน ส่วนจุดอ่อนของโมร็อกโกคือด้านแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานยังไม่มีทักษะและมีการว่างงานสูง รวมทั้งปริมาณการค้าอาหารที่ยังไม่มากนัก เนื่องจากอาหารส่วนใหญ่สามารถผลิตได้ในประเทศ

สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงที่สุด 5 อันดับแรกในภูมิภาค MENA นอกเหนือจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้แก่ อิสราเอล กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และตุรกี ตามลำดับ ส่วนประเทศที่มีคะแนนต่ำอยู่ในอันดับท้ายๆ ได้แก่ ลิเบีย เยเมน เลบานอน รวมทั้ง 3 ประเทศในกลุ่มแอฟริกาเหนือ ได้แก่ ตูนิเซีย แอลจีเรีย และอียิปต์ ซึ่งประเทศเหล่านี้จะมีปัญหาด้านการเมืองจากภัยสงครามและการก่อการร้าย ปัจจัยการผลิตต่างๆ ยังไม่เอื้อต่อการค้าการลงทุน ระบบการเงินและธนาคารขาดความน่าเชื่อถือ จึงยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการพัฒนาเครือข่ายการผลิตในกลุ่มประเทศดังกล่าว 

ตาราง ผลการคัดเลือกประเทศเพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกในการพัฒนาเครือข่ายการผลิต


ที่มา: จากการประเมินของคณะวิจัย โดยที่
       - ข้อมูลใน (1),(4),(5),(6),(8) ได้จากการลำดับคะแนนจากรายงาน The Global Competitiveness Report 2014-2015, และ 2015-2016 ของ World Economic Forum
       - ข้อมูลใน (9) ได้จากการลำดับคะแนนจากรายงาน Political Stability and Absence of Violence/Terrorism Index ของธนาคารโลก

       - ข้อมูลใน (2) ได้จากสถิติการค้าของ UN Comtrade

หมายเหตุ: คะแนนที่ให้มีค่าตั้งแต่ 1 ถึง 5 โดยที่เกณฑ์ด้านใดที่มีคะแนนเท่ากับ 1 หมายถึงเกณฑ์ด้านนั้นเหมาะสมกับการพัฒนาเครือข่ายฯ ในระดับต่ำที่สุด แต่หากเกณฑ์ด้านใดที่มีคะแนนเท่ากับ 5 หมายถึงเกณฑ์ด้านนั้นเหมาะสมกับการพัฒนาเครือข่ายฯ ในระดับสูงที่สุด