Get Adobe Flash player

 1. ช่องทางนำเข้าสินค้าสู่ UAE

ในการนำเข้าสินค้ามายัง UAE สามารถแบ่งตามช่องทางการนำเข้า ได้ดังนี้

(1)        การนำเข้าสินค้าทางเรือ

1.1     การขนส่งสินค้าระหว่างเขตปลอดภาษี (Free Zone)

1.2     การขนส่วนสินค้าจากพื้นที่อื่นมายังเขตปลอดภาษี (Free Zone)

1.3     การขนส่งสินค้าจากเขตปลอดภาษี (Free Zone) มายังพื้นที่ประเทศ UAE

(2)        การนำเข้าสินค้าทางอากาศ

(3)        การนำเข้าสินค้าทางรถยนต์ 

 

 

 


  

2. ระบบการนำเข้า-ส่งออกสินค้า Food Import Re-Export System (FIRS)

                   ระบบ Food Import Re-Export System หรือ FIRS เป็นระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกจัดทำและควบคุมดูแลโดยเทศบาลดูไบ หรือ Dubai Municipality โดย FIRS นับเป็นระบบที่ควบคุมระบบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่ทันสมัยที่สุด และมีความครอบคลุมการจัดการระบบต่างๆ ได้ที่ที่สุดในยูเออี โดยระบบจะครอบคลุมการทำงาน ดังนี้

1)    ระบบการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกอาหารมายังยูเออี รวมถึงการอนุมัติการออกฉลากและการออกใบรับรองต่างๆ ให้ตรงตามข้อกำหนด

2)    การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ จากทั่วโลกได้อย่างเป็นระบบในการตรวจสอบ ติดตามสินค้าและเอกสารต่างๆ ที่ได้แนบมากับสินค้านำเข้าทั้งหมด

3)    มีระบบลงทะเบียนอาหารอย่างครบถ้วน โดยจะสื่อสารข้อมูลต่างๆอผ่านรหัสบาร์โค้ด

4)    มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การนำเข้า การตรวจสอบ จนถึงกระบวนการติดตามสินค้า

5)    ค่าธรรมเนียมต่างๆ สามารถจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้

6)    Dubai Municipality มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบของตนเอง ซึ่งให้บริการที่รวดเร็วและมีความถูกต้องแม่นยำ

สำหรับผู้ประกอบการของไทยที่ต้องการส่งออกอาหารไป UAE มีระเบียบที่ควรทราบและขั้นตอนดำเนินการดังนี้

          ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าอาหารของรัฐดูไบ

                    สินค้าที่นำเข้าสู่ UAE  สามารถจัดกลุ่มได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1)   สินค้าปกติที่ไม่ได้ เป็นสินค้าต้องห้ามหรือสินค้าควบคุมเข้มงวด

2)   สินค้าต้องห้าม (Prohibition of goods) เป็นสินค้าที่ไม่อนุญาตนำเข้า ได้แก่ ยาเสพติด  ทุกชนิด ธนบัตรปลอม สิ่งพิมพ์ รูปถ่าย ภาพสีน้ำมัน ไพ่ หนังสือ นิตยสาร รูปปั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักศาสนา ศีลธรรม หรือ เป็นเหตุแห่งการประพฤติชั่วและความไม่สงบ

3)   สินค้าควบคุมเข้มงวด (Restricted Goods) เป็นสินค้าที่อนุญาตนำเข้าภายใต้สภาวะที่กำหนด โดยไม่อนุญาตให้นำเข้าหากปราศจากการอนุมัติล่วงหน้าจากหน่วยงานรัฐที่   เกี่ยวข้องก่อน โดยอาหารทุกชนิดจัดเป็นสินค้าควบคุมเข้มงวด

                    สืบเนื่องจากอาหารทุกชนิดถูกจัดให้เป็นสินค้าควบคุมเข้มงวด ดังนั้นในการดำเนินการนำเข้าสินค้าอาหารสู่ UAE ซึ่งมีระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ แต่ละรัฐจะมีหน่วยงานที่ควบคุมดูแลการนำเข้าของตนเองให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศ  ซึ่งมาตรฐานอาหารของประเทศ UAE จะใช้มาตรฐานภายในประเทศ คือ UAE Industry Standards ซึ่งส่วนหนึ่งในมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานของกลุ่มประเทศอาหรับ (Gulf Standard) หรือเทียบเคียงจากมาตรฐานของกลุ่มประเทศ GCC ผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าสู่ UAE มีหลากหลายช่องทาง แต่ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาผ่านทางรัฐดูไบเป็นหลัก เนื่องจากรัฐดูไบเป็นจุดในการกระจายสินค้าหลัก  ดังนั้นในการนำเข้าสินค้าโดยส่วนใหญ่ในประเทศ UAE จะอยู่ภายใต้กฎระเบียบของเทศบาลนครรัฐดูไบ (Dubai Municipality)

เอกสารที่ต้องเตรียม

                     ในการนำเข้าสินค้าอาหาร ผู้นำเข้า (Importer) ต้องมีใบประกอบการนำเข้า และเป็นสมาชิกหอการค้าและอุตสาหกรรม หรือกรณีเป็นสินค้าที่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศ การนำเข้าจะกระทำได้เฉพาะตัวแทนหรือผู้ที่ได้รับอนุญาตจากตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น หรือกรณีการนำเข้าเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกต้องมีใบรับรองการตรวจโรค (Health or Veterinary Certificate) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ต้องผ่านการฆ่าตามหลักศาสนาอิสลาม (Halal) และมีใบรับรองฮาลาล (Halal Certificate) จากประเทศผู้ส่งออก

          เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการนำเข้าหรือเอกสารที่ใช้ในการติดต่อการค้าเป็นในลักษณะเดียวกับการติดต่อการค้าระหว่างประเทศโดยสากล และการชำระเงินทั่วไปใช้ระบบเปิด Letter of Credit (L/C) เอกสารต่อไปนี้ต้องมาพร้อมกับทุกๆ การจัดส่งสินค้าอาหารที่เข้าสู่ประเทศ UAE และหากเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้องอาจมีผลให้ส่งสินค้านั้นจะถูกปฏิเสธการนำเข้า

1)        เอกสารใบแจ้งราคาสินค้า (Invoice)

      แสดงรายละเอียดของสินค้า ราคาต่อหน่วย มูลค่ารวม ชื่อที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้ส่งและผู้รับ และผู้นำเข้า อาจให้ระบุคำรับรองของผู้ผลิตว่าสินค้าดังกล่าวมิได้ผลิตหรือมีส่วนประกอบที่มาจากประเทศอิสราเอล โดยประทับตรารับรองจากหอการค้าไทย เป็นสำเนาอย่างน้อย 3 ฉบับ

2)        ใบรับรองจากประเทศต้นทาง (Certificate of origin)

      แสดงรายละเอียดของสินค้า ชื่อ ที่อยู่ของผู้ผลิต ประเทศต้นทาง และประทับตรารับรองของหอการค้าไทย พร้อมทั้งมีการประทับตรารับรอง (Legalize) จากสถานทูตอาหรับในประเทศไทย (ยกเว้นสถานฑูตอียิปต์) เป็นสำเนาอย่างน้อย 3 ฉบับ

3)        เอกสารใบขนสินค้า (Bill of landing)

      แสดงรายละเอียดของสินค้า ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ส่ง ผู้ขนส่ง และผู้รับ รวมทั้งค่าระวาง อย่างน้อยต้องมีต้นฉบับ 1 ฉบับ

  

 

4)        เอกสารบัญชีสินค้าที่บรรจุ (Packing list)

      เป็นเอกสารต้นฉบับ ระบุรายละเอียดของสินค้าแต่ละหีบห่อ การบรรจุหีบห่อ และจำนวนหีบห่อ

5)        ใบรับรองการฆ่าสัตว์ตามกฎของศาสนาอิสลาม (Halal certificate)

      เป็นเอกสารต้นฉบับ สำหรับเนื้อสัตว์และสัตว์ปีก (Meat and Poultry) ขอใบรับรองการฆ่าที่ถูกวิธีตามหลักศาสนาอิสลามจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

6)        ใบรับรองสุขภาพสัตว์ (Health certificate)

      สำหรับการนำเข้าเนื้อสัตว์ ต้องมีใบรับรองสุขภาพสัตว์เป็นเอกสารต้นฉบับ สามารถขอใบรับรองจากกรมปศุสัตว์ สำหรับสัตว์น้ำขอการตรวจรับรองจากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

7)        ใบรับรองปลอดโรคพืช (Phytosanitary Certificate)

      พืชต้องมีใบประกอบโรคพืช จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากประเทศต้นทาง ขอใบรับรองจากกองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

และในการออกสินค้าจากท่ารับส่งสินค้า (Port) ต้องมีเอกสารต่างๆ ดังนี้

1)    ใบขนขึ้นท่าเรือทางทะเล (Sea Port Bills) ผู้นำเข้าต้องมีรหัสการนำเข้า (Import Code) ที่ออกให้โดยกรมศุลกากร (Customs Department) ซึ่งจะได้รับเมื่อผู้นำเข้ายืนแบบคำร้องร่วมกับสำเนาใบอนุญาตการค้า (Trade License) ผู้นำเข้าจะได้รับอนุญาตนำเข้าสินค้าซึ่งระบุในใบอนุญาตเท่านั้น สำหรับตัวแทนออกในนามของผู้รับสินค้า ต้องมีรหัสตัวแทน (Clearing Agent’s Code) ที่ได้รับจากกรมศุลกากรซึ่งจะได้รับเมื่อยืนแบบคำร้องร่วมกับสำเนาใบอนุญาตการค้า หลังจากนั้นมีขั้นตอนสำหรับใบผ่านศุลกากร (Customs Bills) เพื่อออกสินค้า

2)    ใบนำเข้า (Import Bills) ผู้รับสินค้า/ตัวแทน (Consignee/ Agent) ต้องได้รับใบสั่งให้ส่งของ (Delivery Order) จากบริษัทตัวแทนส่งของ (Shipping Agent) และนำมาแสดงต่อศุลกากรทั้งต้นฉบับและสำเนา พร้อมทั้งเอกสาร ดังต่อไปนี้

2.1)         ต้นฉบับเอกสารใบแจ้งราคาสินค้า (Original Invoice)

2.2)         ต้นฉบับใบรับรองประเทศต้นทาง (Original Certificate of Origin)

2.3)         เอกสารบัญชีสินค้าที่บรรจุ (Packing List)

2.4)         เอกสารใบขนสินค้าต้นฉบับสองแผ่น (Bill of Lading Second original)

วิธีการชำระค่าภาษี ได้แก่

1)        เงินสด หรือ ใบสั่งจ่ายเช็ค

2)        ใบประกันภาษีศุลกากรออกโดยธนาคาร

3)        รับเงินของธนาคาร ถ้าชำระผ่านธนาคาร

4)        เครดิตภาษีศุลกากรที่ออกแทนการประกัน

5)        เงินฝากเพื่อภาษีศุลกากร

          ถ้าต้นฉบับเอกสารใบแจ้งราคาส่งสินค้า (Invoice) และ ใบรับรอง (Certificate) สูญหาย ต้องวางค่ามัดจำ 500 Dirham (DH) โดยเงินสดหรือจ่ายเช็ค หรือ หากสำเนาเอกสารใบแจ้งราคาส่งสินค้า (Invoice) ชัดเจนไม่ต้องวางค่ามัดจำ

          หลังจากชำระภาษีแล้ว ผู้รับสินค้า/ตัวแทน (Consignee/ Agent) จะได้รับ ต้นฉบับใบสั่งให้ส่งของ (Delivery Order) และ ต้นฉบับและสำเนา 2 ฉบับของใบผ่านศุลกากร (Customs Bill) คืน

          ใบผ่านศุลกากร (Customs Bill) จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของท่ารับสินค้าปล่อยสินค้าให้กับผู้รับสินค้า/ผู้แทน (Consignee/ Agent) โดยเจ้าหน้าที่จะเก็บต้นฉบับใบสั่งให้ส่งของ (Delivery Order) และ ต้นฉบับใบผ่านศุลกากร (Customs Bill) หลังจากส่งมอบสินค้าเสร็จแล้ว

4.  หน่วยงานที่ต้องติดต่อ

                    หน่วยงานของรัฐดูไบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าอาหาร ได้แก่

1)   กองสาธารณสุข (Public Health Department)

          มีหน้าที่ให้บริการสาธารณสุขในด้านการป้องกันโรคติดต่อและโรคติดต่อจากสัตว์ ควบคุมสัตว์รบกวน และควบคุมความปลอดภัยของอาหารและน้ำทุกแห่งใน UAE หน่วยควบคุมอาหารเป็นหน่วยงานในกองสาธารณสุข (Food Control Section -Public Health Department) ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการนำเข้าอาหารสู่รัฐดูไบ โดยเป็นผู้ตรวจสอบอาหารนำเข้า หรือ อาหารที่จำหน่ายใน UAE ซึ่งมีความรับผิดชอบหลัก ดังต่อไปนี้

-               ดำเนินแผนการตรวจสอบทุกๆ สถานที่ทำงานในด้านการผลิต การเตรียม การขาย และ การเก็บรักษาอาหาร

-               ดำเนินแผนการตรวจสอบโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ และ ซูเปอร์มาเก็ต

-               ติดตามและสุ่มตัวอย่างอย่างป็นระบบ สำหรับอาหารนำเข้าและส่งออกทุกชนิดทั้งที่ท่ารับส่งสินค้าทางเรือและอากาศ (sea and air ports)

-               ดำเนินการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับสินค้าอาหารส่งออก และ ออกใบรับรองอาหารส่งออก หรือ ใบรับรองความเหมาะสมสำหรับการบริโภค (fitness certificate)

-               จัดโปรแกรมอบรบและแผนการศึกษาสำหรับลูกจ้างในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อปรับปรุงมาตรฐานสุขลักษณะ

          เทศบาลนครแต่ละรัฐจะมีกองสุขภาพซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบบังคับใช้มาตรฐานความปลอดภัยอาหาร โดยปกติในแต่ละรัฐจะมีแผนกควบคุมอาหาร (Food control division) และ ห้องปฏิบัติการสุขภาพ (Health laboratory) สำหรับจุดประสงค์นี้ ข้อมูลจะถูกใช้ร่วมกันระหว่างเทศบาลนครแต่การทำงานจะแยกเป็นอิสระ เช่น รัฐชาร์จาห์มีหน่วยสุขภาพ (Health Section) และ ห้องปฏิบัติการกลางควบคุมอาหารและให้คำแนะนำ (Central Food Control and Consultancy Laboratory) สังกัดเทศบาลนครรัฐชาร์จาห์ (Sharjah Municipality) เป็นต้น

2)    กองห้องปฏิบัติการกลางรัฐดูไบ (Dubai Central Laboratory Department)

          กองห้องปฏิบัติการกลางรัฐดูไบ มีหน้าที่รับผิดชอบการให้บริการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในด้านวัสดุทางวิศวกรรมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม อาหาร และ สิ่งอุปโภค (เพชรพลอย ของมีค่า โลหะ และ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน) โดยหน่วยห้องปฏิบัติการอาหารและสิ่งแวดล้อม (Food and Environment Laboratory Section) ในสังกัดของกองห้องปฏิบัติการกลางรัฐดูไบ มีหน้าที่รับผิดชอบดังต่อไปนี้

-               ปฏิบัติการวิเคราะห์ทางจุลินทรีย์ เคมี กายภาพ สำหรับตัวอย่างอาหาร น้ำ อากาศ และตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมอื่นที่ต้องการวิเคราะห์ รวมถึงทดสอบเพื่อตรวจระดับการแผ่รังสี

-               ปฏิบัติการทดสอบที่จำเพาะในตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์จากสัตว์เพื่อตรวจสอบสำหรับสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต (growth hormones) และ สารพิษจากเชื้อรา (fungal toxins)

-               ปฏิบัติการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบสิ่งปลอมปนในอาหาร เพื่อการ      ปกป้องผู้บริโภคจากการจำหน่ายอาหารปลอมปน

-               รับตัวอย่างอาหารและสิ่งแวดล้อมจากเทศบาลรัฐอื่นๆในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ทดสอบทางห้องปฏิบัติการที่ร้องขอ

3)   กองท่ารับส่งสินค้าและศุลกากร (Department of Port and Customs)

          กองท่ารับส่งสินค้าและศุลกากรรัฐดูไบมีหน้าที่ดำเนินการด้านพิธีศุลกากร ให้เป็นไปตามข้อบังคับศุลกากร (Custom Ordinance) โดยภาษีศุลกากรคำนวณจากราคา C.I.F ที่อัตราร้อยละ 4 การนำเข้าเครื่องดื่มมึนเมา (Intoxicating liquors) ทุกชนิด คิดอัตราภาษีศุลกากรร้อยละ 50 ของราคา C.I.F ส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ (Tobacco Products) คิดอัตราภาษีร้อยละ 100 ของค่า C.I.F สำหรับอาหารได้รับการยกเว้นภาษี แต่ละรัฐจะมีหน่วยงานศุลกากรดำเนินการ ภายใต้กำหนดของคณะกรรมการแห่งชาติด้านภาษีและนโยบายทั่วไป นอกจากนี้กองท่ารับส่งสินค้าและศุลกากรการรัฐดูไบมีหน้าที่ควบคุมการรับส่งสินค้า ณ ท่ารับส่งสินค้าด้วยกฎระเบียบของเทศบาลนครรัฐดูไบได้กำหนดว่าเมื่อสินค้าอาหารมาถึงท่ารับส่งสินค้ารัฐดูไบ (Dubai port) สินค้าจะต้องผ่านพิธีการศุลกากรซึ่งกองท่ารับส่งสินค้าและศุลกากร (Department of Port and Customs) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ผู้นำเข้าจะได้รับใบผ่านศุลกากร (Custom Bill) เพื่อใช้ประกอบการออกสินค้านั้น จากนั้นสินค้าอาหารจะได้ถูกตรวจสอบจากหน่วยควบคุมอาหารกองสาธารณสุข (Food Control Section-Public Health Department) โดยสินค้าอาหารทุกประเภทจะถูก  ตรวจสอบทางกายภาพโดยที่ไม่มีข้อยกเว้น และบางกรณีสินค้าอาจถูกสุ่มตรวจ เพื่อตรวจวิเคราะห์โดยกองห้องปฏิบัติการกลางรัฐดูไบ

5.      ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าอาหารในกรณีอื่นๆ นอกเหนือกจากนำเข้าโดยทั่วไปของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

                    การนำเข้าสินค้าอาหารในกรณีอื่นๆ อีก เช่น การนำเข้าเพื่อการส่งออกต่อ การนำเข้าชั่วคราว และการขออนุมัติการนำเข้าและการทำตลาดของผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น ซึ่งแสดงรายละเอียดในการนำเข้าได้   ดังนี้

                    การนำเข้าเพื่อการส่งออกต่อ (Import for Re-export) ผู้รับสินค้า (Consignees) อาจนำเข้าสินค้าเพื่อวัตถุประสงค์การส่งออกต่อ (Re-export) ภายใน 180 วันเมื่อศุลกากรอนุญาตโดยต้องชำระค่ามัดจำ หรือวางใบประกันของธนาคารแทนการชำระภาษีศุลกากรซึ่งจะได้คืนเมื่อพิสูจน์ได้ว่าส่งออกต่อแล้ว หากสินค้ายังคงอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หลังจาก 6 เดือน ต้องชำระค่าภาษีอากรเหมือนการนำเข้า ยกเว้น

1)    ระบุว่านำเข้าเพื่อการส่งออกต่อ

2)    ชำระค่ามัดจำ หรือ ใบประกันของธนาคารแทนการชำระภาษีศุลกากร

3)    สินค้าต้องได้รับการตรวจสอบจากศุลกากรก่อนการส่งออกต่อ

                    อาหารที่นำเข้าสู่รัฐดูไบเพื่อจุดประสงค์สำหรับการส่งออกไปยังประเทศที่สาม ไม่ต้องเป็นไปตามกฎระเบียบเรื่องการปิดฉลาก อายุการเก็บ หรือ มาตรฐานองค์ประกอบของ UAE อย่างไรก็ตามอาหารนั้นต้องเหมาะสมต่อการบริโภคของมนุษย์ สินค้านั้นจะถูกปล่อยออกจากท่ารับส่งสินค้า เมื่อผู้รับสินค้าทำหนังสือยืนยันว่าอาหารนั้นไม่จำหน่ายในประเทศ UAE และมีวัตถุประสงค์สำหรับการส่งออกไปยังประเทศที่สามเท่านั้น

                    หลังจากการส่งออกไปยังประเทศที่สาม ผู้จัดส่งสินค้าต้องจัดทำเอกสารแสดงหลักฐานการส่งออก (Re-export) ต่อแผนกควบคุมอาหาร (Food Control Section) ของรัฐดูไบ และ ต้องชำระเงินมัดจำ 10,000 Dirham (DH) สำหรับทุกๆ การจัดส่งสินค้าซึ่งจะคืนให้เมื่อผู้จัดส่งสินค้าจัดทำเอกสารส่งออกแล้ว หรือ ผู้จัดส่งสินค้าสามารถชำระค่ามัดจำ เป็นจำนวน 50,000 DH ซึ่งจะครอบคลุมเป็นระยะเวลา 1 ปี และผู้จัดส่งสินค้าต้องให้เอกสารทั้งหมดในรอบปีที่ถูกต้องเงินค่ามัดจำนี้จะคืนเมื่อสิ้นปีโดยขอรับคืนกับกองสาธารณสุข

                    การนำเข้าชั่วคราว (Temporary Admission) เช่น สินค้าที่นำเข้าเพื่องานแสดงสินค้า (Exhibitions) ต้องส่งออกต่อ (Re-export) ภายใน 90 วันของการนำเข้า ใบอนุญาตสำหรับร่วมงานแสดงสินค้าต้องออกโดยผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง ต้องแสดง ณ เวลาที่นำเข้า สินค้าต้องถูกตรวจสอบก่อนบรรจุเพื่อการส่งกลับ ศุลกากรจะจัดการผนึกสินค้า บรรจุสินค้าลงตู้บรรทุกสินค้า ณ ที่แสดงสินค้านั้น และการนำเข้าเครื่องมือสำหรับการใช้ชั่วคราวในการก่อสร้าง การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โครงการพัฒนา สำหรับการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาจะส่งออกต่อ (Re-export) ในระยะเวลาที่เหมาะสมโดยจะพิจารณาช่วงระยะเวลาของสัญญา หรือ หลักฐานเอกสารอื่นเพื่อใช้พิจารณาระยะเวลาที่ต้องการ ซึ่งทั้งสองกรณีเอกสารจะเหมือนกับการนำเข้าสำหรับการส่งออกต่อ ยกเว้นต้องแจ้งว่าสำหรับ “Temporary Admission”

                    การขออนุมัติการนำเข้าและการทำตลาดของผลิตภัณฑ์ใหม่ (Request for approving the import and marketing of a new product) สำหรับบริษัทอาหารที่สนใจนำเข้า และทำตลาดสินค้าในผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดดูไบ ผู้ประกอบการต้องติดต่อ แผนกควบคุมอาหาร กองสาธารณสุข (Food Control Section-Public Health Department) โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ มีขั้นตอนการปฏิบัติดังต่อไปนี้ 

1)   บริษัทส่งตัวอย่างของอาหาร หรือ รูปภาพ หรือ รูปพิมพ์ในรายละเอียด โดยเป็นหนังสือจากบริษัทแสดงความประสงค์จะนำเข้าอาหารนั้นในอนาคต เพื่อความมั่นใจว่าอาหารนั้นตรงกับเงื่อนไขและข้อกำหนดจำเพาะของแบบแผนอาหาร

2)   ผู้ตรวจสอบที่มีความชำนาญจะทำการศึกษาแผ่นรายละเอียดอาหารละชนิดอาหาร เพื่อความมั่นใจว่าอาหารนั้นตรงกับสภาพ และข้อกำหนดจำเพาะของอาหาร และระยะเวลาการเก็บ

      ผู้ตรวจสอบอาหารจะเตรียมหนังสือแจ้งการอนุญาตเรื่องรายละเอียดของอาหาร แก่บริษัทว่าตรงตามข้อกำหนดและการเก็บรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนที่จำเป็น โดยสำเนาจดหมายที่จะแฟกซ์ส่งให้บริษัทผู้แทนของบริษัทรับจดหมาย