Get Adobe Flash player

 หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์อาหรับจะเห็นได้ว่าโลกอาหรับนั้นเป็นเสมือน เบ้าหลอม (melting pot) ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่รับเอาภาษาอาหรับเป็นภาษาสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร ขณะเดียวกันผู้คนส่วนใหญ่ในโลกอาหรับก็ยึดอิสลามเป็นแหล่งที่มาหลักของค่านิยมทางศาสนา

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของโลกอาหรับที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชีย แอฟริกา  และยุโรปนั้น มีผลอย่างมากต่อประวัติศาสตร์  วัฒนธรรม และความเจริญรุ่งเรืองของชาวอาหรับ  ภูมิภาคนี้ถูกรุกรานจากทั่วทุกสารทิศตลอดช่วงเวลาในยุคต่างๆ ของประวัติศาสตร์ (หรือแม้แต่ในปัจจุบัน)  โดยแต่ละผู้พิชิตจะทิ้งร่องรอยของวัฒนธรรมและอารยธรรมที่ตนได้นำมาจากที่อื่นเอาไว้ให้เห็น  หากท่านท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ของโลกอาหรับ  ก็จะเห็นอัศจรรย์โรมัน วิหารกรีก วังอุมัยยะฮ์ ทางน้ำและระบบชลประทานแบบเปอร์เซีย มัสยิดสไตล์มัมลู๊ค  โรงเรียนแบบเติร์ก  ป้อมปราสาทของพวกครูเสด หรือแม้แต่ป้อมปราการโปรตุเกส เป็นต้น

ศูนย์กลางหรือมาตุภูมิเดิมของชาวอาหรับนั้น  ความจริงตั้งอยู่ในแถบประเทศของคาบสมุทรอาหรับ  แต่ดินแดนรอบข้างซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโลกอาหรับในวันนี้นั้นถูกทำให้เป็นอาหรับผ่านช่วงเวลาในยุคต่างๆ ของประวัติศาสตร์  กระบวนการปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นอาหรับ (Arabization) ดังกล่าวนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคก่อนอิสลามในประเทศต่างๆ เช่น อิรักและซีเรีย เป็นต้น แต่การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการพิชิตของอิสลามในศตวรรษที่ 7 และศตวรรษที่ 8 จนดินแดนอาหรับขยายออกไปจนถึงโมร็อกโกทางทิศตะวันตก 

กระบวนการปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นอาหรับนอกจากจะมีปัจจัยเร่งจากภาษาอาหรับและอิทธิพลของศาสนาอิสลามแล้ว  ยังเกิดจากการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์และการเป็นพันธมิตร ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างผู้พิชิตชาวอาหรับกับประชากรท้องถิ่นอื่น ๆ ทั่วภูมิภาค  ศิลปะวิทยาการและศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ที่มีชื่อเสียงก็มีให้เห็นอยู่ดาษดื่น เช่น  มัสยิดอุมัยยะฮ์ในซีเรีย  มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรในอียิปต์ มหาวิทยาลัยอัสซัยตูน (Al–Zaytuna University) ในตูนีเซีย  และมัสยิดกอรอวิยีน (Qarawiyeen Mosque) ในโมร็อกโก  เป็นต้น  แม้กระนั้นก็ตาม  โลกอาหรับก็มีความแตกต่างหลากหลายจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง 

ในยุคปัจจุบัน  ประชากรอาหรับในภาพรวมทั้งหมดได้เปลี่ยนที่อยู่อาศัยจากฟาร์มและชนบทมาสู่เมืองที่เป็นศูนย์กลางใหญ่ๆ   การโยกย้ายเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปี 1980  มีการคาดคะเนกันว่าในปี 2020 ประชากรร้อยละ 70 ของตะวันออกกลางทั้งหมดจะอาศัยอยู่ในเมือง[1]  อย่างไรก็ตาม  การย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองก็นำมาซึ่งปัญหามากมาย  หากไม่นับประเทศในอ่าวเปอร์เซียซึ่งเป็นประเทศร่ำรวย  รัฐบาลอาหรับเกือบทั้งหมดต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย  การบริการภาคสาธารณะที่ไม่เพียงพอ (เช่น เมืองอัมมานในจอร์แดน  รัฐสามารถจ่ายน้ำให้ประชาชนได้วันละไม่กี่ชั่วโมง  ไคโรต้องเผชิญกับปัญหาการบริการรถขนส่งสาธารณะ  แทบจะทุกเมืองเกิดปัญหาจราจรเพราะถนนที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับจำนวนรถที่เพิ่มขึ้นได้)  ตลอดจนต้องแบกภาระการบริการสังคมที่มากเกินจะรับไหว  ตั้งแต่เรื่องการศึกษา  สุขภาพอนามัย  ไปจนถึงการจ้างงาน 

ในประเทศอาหรับที่ยากจนมีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยที่ผิดกฎหมายหรือไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ (โดยเฉพาะเมือง คาซาบลังกา อัลเจียร์ และไคโร) เช่น ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดในกรุงไคโรอยู่ในที่อาศัยที่ผิดกฎหมาย บางครั้งวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น หลังจากการบุกยึดคูเวตของอิรักทำให้ประชากร 4 ถึง 5 ล้านคนหนีภัยสงครามออกจากภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย เป็นต้น

ทิศทางแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสำคัญๆ บางประการในโลกอาหรับมีดังนี้

1.       การวางแผนครอบครัว  ได้รับการส่งเสริมและมีการนำไปปฏิบัติเพิ่มมากขึ้นในประเทศอาหรับแทบทั้งหมด  และเป็นที่ยอมรับให้กระทำโดยนักนิติศาสตร์อิสลามส่วนใหญ่

2.       ชาวอาหรับเข้าถึงหนังสือพิมพ์  สื่อโทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์  และอินเตอร์เน็ตมากขึ้น

3.       สถานบันเทิงนอกบ้านได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

4.       ประชาชนมีโอกาสเดินทาง  ทำงาน  และศึกษาในต่างประเทศมากขึ้น

5.       พ่อแม่ ผู้ปกครอง พบว่า  พวกเขามีอำนาจน้อยลงในการควบคุมบุตรหลานในเรื่องการงาน อาชีพ และวิถีการดำเนินชีวิต

6.       มีชาวอาหรับจำนวนมากขึ้นที่เข้าไปทำงานในองค์กรสาธารณะที่ไม่ใช่ส่วนตัว  หรือแม้แต่ภาคอุตสาหกรรม

7.       มีการเข้าไปทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น

8.       จิตสำนึกทางการเมืองและการมีส่วนร่วมมีเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าสังเกต

9.       โอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพสำหรับผู้หญิงเป็นปัจจัยที่ทำให้วิถีครอบครัวแบบอาหรับดั้งเดิมเปลี่ยนไป

ประชากร

พิจารณาเฉพาะจำนวนผู้บริโภครวมใน 19 ประเทศ มีจำนวนประชากรรวมกันมากถึง 410.5 ล้านคน  โดยจำนวนประชากรในแต่ละประเทศแสดงรายละเอียดดังภาพ ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับประชากรอาเซียนที่มี 620 ล้านคน ก็ถือว่าตลาดภูมิภาค MENA ก็มีความน่าสนใจอยู่พอตัว แต่ต้องมาพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ กันต่อไป

 

ภาพ จำนวนประชากรในแต่ละประเทศในภูมิภาค MENA

ที่มา : CIA World Fact Book , February 2016.

ประชากรในทวีปแอฟริกา จำแนกตามลักษณะเชื้อชาติได้ 3 กลุ่ม ใหญ่ๆ กล่าวคือ

1)      กลุ่มชนผิวดำ หรือชาติพันธุ์นิกรอยด์ ( Negroid ) เป็นชนพื้นเมืองเดิมของทวีปแอฟริกาเรียกว่า แอฟริกานิโกรมีประมาณร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดในทวีปแอฟริกา แบ่งย่อยๆตามลักษณะรูปร่างได้หลายเผ่า เช่น เผ่าวาตูซี เผ่าปิกมี เผ่าบันตู ฯลฯ

2)      กลุ่มชนผิวขาวดั้งเดิม เป็นกลุ่มชาติพันธุ์คอเคซอยด์ (Caucasoid) ที่อยู่อาศัยทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาตั้งแต่สมัยโบราณ ได้แก่ ชาวอาหรับ และชาวเบอร์เบอร์ (Berber) มีประมาณร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมดของทวีปแอฟริกา ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศอียิปต์ อัลจีเรีย ลิเบีย โมร็อกโก ฯลฯ

3)      กลุ่มชนผิวขาวที่อพยพมาจากยุโรป เชื้อสายอังกฤษ ฝรั่งเศส ดัตช์ ฯลฯ นิยมตั้งถิ่นฐานในเขตอากาศอบอุ่นทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

ภาษาพูดของประชากรในทวีปแอฟริกามีจำนวนมากนับพันภาษา จำแนกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1)      กลุ่มภาษาอาหรับ (หรือภาษาเซมิติก) ใช้แพร่หลายทางตอนเหนือของทวีป ประเทศที่ใช้ภาษาอาหรับอย่างเป็นทางการ ได้แก่ อียิปต์ ลิเบีย โมร็อกโก และอัลจิเรีย เป็นต้น

2)    กลุ่มภาษาซูดาน ใช้แพร่หลายทางด้านตะวันตกของทวีป เป็นภาษาพูดของประชากรประเทศต่างๆ ในเขตทุ่งหญ้าสะวันนา (หรือทุ่งหญ้าซูดาน)  ทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา เช่น ภาษาอิโบ ภาษาเฮาซา ฯลฯ

3)      กลุ่มภาษาบันตู เป็นภาษาพูดที่ใช้แถบภาคกลางภาคตะวันออก และภาคใต้ของทวีป ได้แก่ ภาษาซูลู ภาษาสะวะฮิลี ภาษารุนดี ฯลฯ

4)    กลุ่มภาษายุโรป เป็นภาษาของชนชาติยุโรปเจ้าของอาณานิคม เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ฯลฯ ประเทศในทวีปแอฟริกาส่วนใหญ่จะใช้เป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาพื้นเมืองของตน

 

 ภูมิภาคตะวันออกกลางเชื้อชาติที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ เชื้อชาติอาหรับ ซึ่งตั้งรกรากอยู่ตั้งแต่บริเวณอ่าวเปอร์เซียไล่ไปจนถึงแอฟริกาเหนือ รองลงมา ได้แก่ เชื้อชาติเปอร์เซียซึ่งก็คือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ทั้งนี้ คนอิหร่านสื่อสารด้วยภาษาฟาร์ซี (Farsi)อันมีที่มาจากคำว่า พาร์ ฟาร์หรือฟาร์ซี (Farsi)ซึ่งเป็นชื่อเมืองๆ หนึ่ง ชื่อเมือง ฟาร์ อยู่ในประเทศอิหร่าน การที่ประเทศอิหร่านมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเปอร์เซียไม่ใช่ชาวอาหรับ ดังนั้น ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารของคนอิหร่านจึงแตกต่างจากภาษาอาหรับ

 


นอกจากเชื้อชาติอาหรับและเชื้อชาติเปอร์เซียแล้ว ประชากรในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ยังประกอบด้วยเชื้อชาติต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เชื้อชาติเติร์กที่อาศัยอยู่ในประเทศตุรกีและบริเวณแถบเอเชียกลาง เชื้อชาติเคิร์ดก็เป็นอีกเชื้อชาติหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แต่ยังไม่มีประเทศเป็นของตนเอง ปัจจุบันชาวเคิร์ดมีการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ เช่น อิหร่าน ตุรกี ซีเรีย อิรัก นอกจากนี้ยังมีชนชาติยิวที่ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ที่ประเทศอิสราเอล  รวมถึงยังมีชนชาติเล็กๆ อีก เช่น ชาวเบอร์เบอร์ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองในเขตแอฟริกาเหนือ เป็นต้น

อิทธิพลของศาสนาอิสลามที่เป็นวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ทำให้คนหลายเผ่าพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นชาวเตอร์ก ชาวอาหรับ ชาวเปอร์เชีย ชาวเบอร์เบอร์ หล่อหลอมอยู่ในวิถีชีวิตของวัฒนธรรมมุสลิม 

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม-วัฒนธรรมในโลกอาหรับ

โลกอาหรับมีพื้นที่กว้างใหญ่ที่ขยายครอบคลุมจากโมร็อกโกในภูมิภาคแอฟริกาเหนือไปจนถึงโอมานที่ติดชายฝั่งทะเลอาหรับ  อันมีระยะทางรวมกันยาวถึงประมาณ 7,500 กิโลเมตร  โดยมีประชากรทั้งหมดกว่า 422 ล้านคน[2] โลกอาหรับเป็นคำที่ใช้เรียกประเทศทั้งหมดที่ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาอาหรับ และเป็นกลุ่มประเทศสมาชิกขององค์การสันนิบาตอาหรับ (Arab League)   นอกจากนั้น คำว่า โลกอาหรับ ยังบ่งชี้ถึงลักษณะทางวัฒนธรรม-สังคมของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย

   สันนิบาตอาหรับ (The Arab League)

          องค์การสันนิบาตอาหรับถูกจัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ ค.ศ. 1945  ซึ่งถือเป็นองค์กรด้านการเมือง-สังคม อันมีเป้าประสงค์ที่จะสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการบูรณาการและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิก  ลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกชาตินิยมอาหรับที่แรงกล้า  ซึ่งแผ่ขยายปกคลุมทุกหย่อมหญ้าอันเนื่องมาจากการดิ้นรนต่อสู้ของประเทศอาหรับทั้งหลายที่ต้องการปลดปล่อยตนเองจากการเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก  

ปัจจุบันสันนิบาตอาหรับยังคงแสดงบทบาทสำคัญในความพยายามที่จะกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างโลกอาหรับกับชาติต่างๆ ที่เหลือ  ตลอดรวมถึงแสดงบทบาทในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติสมาชิกด้วยกันเอง  อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญคือการสนับสนุนส่งเสริมและชี้แนะองค์กรที่มีอุดมการณ์รวมอาหรับ (Pan-Arab Organization) ทั้งหลายและการริเริ่มกิจกรรมหลากหลายที่เกี่ยวกับการค้า การพาณิชย์ วัฒนธรรม ฯลฯ

          ประเทศสมาชิกของสันนิบาตอาหรับประกอบไปด้วย อียิปต์ อิรัก จอร์แดน เลบานอน ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย เยเมน ลิเบีย ซูดาน โมร็อกโก ตูนิเซีย คูเวต แอลจีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน กาตาร์ โอมาน มอริเตเนีย โซมาเลีย องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ จิบูตี โคโมโรส และ เอริเทรีย ซึ่งอยู่ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์

          ประชากรทั้งหมดในโลกอาหรับมีอยู่ประมาณ 422 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ แถบแอฟริกาเหนือ  ความจริงประชากรเกือบร้อยละ 50 อยู่ใน 4 ประเทศอาหรับ  นั่นคือ  อียิปต์  อัลจีเรีย  ซูดาน  และโมร็อกโก  ประเทศเหล่านี้จัดเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกอาหรับ (ยกเว้นอัลจีเรีย) ในทางกลับกัน  กลุ่มประเทศร่ำรวยกลับมีจำนวนประชากรไม่หนาแน่นมากนัก  เช่น ซาอุดีอาระเบีย  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และกาตาร์ เป็นต้น  แต่เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างชาติจำนวนมากอันเกิดจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างความมั่งคั่งในทรัพยากรและจำนวนประชากร 

ลักษณะอีกประการที่สำคัญของโลกอาหรับส่วนใหญ่ในปัจจุบันคืออัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรวัยหนุ่มสาว  ซึ่งประมาณกันว่าร้อยละ 60 ของประชากรอาหรับทั้งหมดมีอายุต่ำกว่า 24 ปี[3] ด้วยเหตุปัจจัยนี้  ปัญหาการว่างงานจึงเป็นเรื่องท้าทายของหลายประเทศและยังจะเป็นปัญหาต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า  สิ่งท้าทายสำคัญของประชากรของประเทศอาหรับคือความสามารถในการนำเอาการปฏิรูปประชาธิปไตยมาปฏิบัติใช้  แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพภายใต้ระบอบการปกครองเดิมของแต่ละประเทศ

          แหล่งที่มาของความเป็นเอกภาพ

          เมื่อเราพูดถึงหรือใช้คำว่า โลกอาหรับ คำนี้คงไม่ได้หมายถึงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เพียงอย่างเดียว  แต่ยังหมายถึงกลุ่มประเทศทั้งหมดที่ใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ  สำหรับพวกเขาแล้ว  ภาษาอาหรับเป็นภาษาที่ใช้ในคัมภีร์อัล กุรอาน  ซึ่งเป็นธรรมนูญสูงสุดของชาวมุสลิมและเป็นแหล่งที่มาสำคัญลำดับแรกสุดของหลักการศาสนา  นอกจากนั้น  ภาษายังถือเป็นเครื่องมือสื่อความคิด  ประสบการณ์  และความปรารถนา ที่ชาวอาหรับมีร่วมกันและแลกเปลี่ยนกัน  อันนำไปสู่รูปแบบของความเป็นเอกภาพทางวัฒนธรรม  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในโลกปัจจุบัน  อุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับซึ่งยังคงดำรงอยู่  นับเป็นอุดมการณ์ที่ปรารถนาให้วันหนึ่งเอกภาพทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นเอกภาพทางการเมืองของโลกอาหรับในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

          ความน่าสนใจของภาษาอาหรับอยู่ตรงที่ภาษานี้ดำรงอยู่ใน 2 ระดับ  ระดับแรกคือการดำรงอยู่ในรูปของภาษาเขียนหรือภาษาทางการ  (ภาษาสมัยใหม่)  ซึ่งถือเป็นภาษากลางและเป็นภาษาหลักที่ใช้สื่อสาร ชาวอาหรับของทุกประเทศและชุมชนที่มีการศึกษาต่างก็ใช้ภาษานี้กันได้ทั้งนั้น ระดับที่สองคือภาษาถิ่นของแต่ละพื้นที่ซึ่งมีอยู่มากมายหลากหลาย ซึ่งใช้สื่อกันเฉพาะในพื้นที่หรือประเทศเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม  ในประเทศอาหรับส่วนใหญ่  ความแตกต่างระหว่างภาษากลางกับภาษาถิ่นก็มีไม่มากนัก  และภาษาถิ่นบางภาษาก็มีคนใช้กันอย่างแพร่หลายกว่าภาษาถิ่นอื่นๆ  ยกตัวอย่างเช่น  ภาษาถิ่นของอียิปต์นั้นนับว่ามีการใช้พูดกันอย่างแพร่หลายและสามารถเข้าใจกันได้ในหมู่ชาวอาหรับทั่วไป  ทั้งนี้ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นผลมาจากอิทธิพลของสื่อ ภาพยนตร์และดนตรีของอียิปต์ ซึ่งเป็นที่นิยมในโลกอาหรับทั้งหมด

       ในโลกสมัยใหม่  เอกภาพทางวัฒนธรรมดังกล่าวข้างต้นถูกแปรสภาพในรูปของการจัดตั้งองค์กรที่มีแนวคิดการรวมอาหรับ (Pan-Arab Organization) จำนวนมากมาย ซึ่งทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้แก่โลกอาหรับในภาพรวม อันเป็นการปกปักรักษาเอกภาพทางภาษาและวัฒนธรรมที่อยู่เหนือความแตกต่างหลากหลายของผู้คนแต่ละชาติ  สื่อสารมวลชนเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นปรากฏการณ์นี้  ดังจะเห็นได้ว่า  ขณะนี้โลกอาหรับมีช่องโทรทัศน์ดาวเทียมมากมาย ซึ่งเป็นที่นิยมและเป็นที่ดึงดูดใจชาวอาหรับถ้วนทั่วภูมิภาค  ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารเป็นภาษาอาหรับกลาง  ลักษณะเช่นนี้ทำให้ช่องว่างระหว่างภาษาถิ่นและภาษากลางลดน้อยลงไป  อันเป็นพัฒนาการเชิงบวกที่มีผลต่อความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวและการรวมตัวกันของชาวอาหรับทั้งหมด

          แหล่งที่มาลำดับสองของความเป็นเอกภาพคือศาสนาอิสลาม  แน่นอนชาวอาหรับทั้งหมดไม่ใช่มุสลิม  แต่คนอาหรับส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม  ซึ่งเป็นตัวแปรหลักที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติและวิธีคิดของพวกเขาอย่างลึกซึ้งอันส่งผลให้เกิดแบบแผนทางพฤติกรรมหลายๆ อย่างที่ชาวอาหรับมีอยู่ร่วมกันเกือบทั้งหมด  หากเราลองสังเกตในเรื่องวิถีชีวิตของชาวอาหรับไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน เครื่องดื่ม การแต่งตัว  หรือแม้แต่ทัศนคติการมองโลกและการมองตนเองของชาวอาหรับ  เราจะพบว่าศาสนาอิสลามแสดงบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างรูปแบบความเป็นเอกภาพที่มาจากการปฏิบัติและสามารถดำรงรักษาไว้อย่างถ้วนทั่วในโลกอาหรับ

          ประการสุดท้าย  ชาวอาหรับส่วนใหญ่มักมองตนเองว่าเป็นกลุ่มชนที่มาจากอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่  ซึ่งเป็นอารยธรรมที่มีบทบาทนำในประวัติศาสตร์มนุษยชาติมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 800 ปี  อารยธรรมอาหรับ อิสลามที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 15 นั้นถือเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจสำคัญให้แก่ชาวอาหรับจำนวนมาก อันเป็น ยุคทอง (Golden Age) ที่ชาวอาหรับแทบทั้งหมดต่างโหยหาและต้องการนำกลับมาสู่โลกอาหรับอีกครั้ง

          ฉะนั้น ความเป็นอาหรับ (Arabness) หรือสิ่งใดที่จะบ่งบอกถึงความเป็นอาหรับ จึงไม่ใช่ประเด็นเรื่องเชื้อชาติ แต่เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับภาษาและทัศนคติวิธีคิดมากกว่า อย่างที่บางคนกล่าวว่า คนอาหรับก็คือคนที่คิดแบบอาหรับ[4] (an Arab is someone who thinks like an Arab) ไม่ว่าพวกเขาจะสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มก๊กเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม 

หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์อาหรับจะเห็นได้ว่า  โลกอาหรับนั้นเป็นเสมือน เบ้าหลอม (melting pot) ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่รับเอาภาษาอาหรับเป็นภาษาสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร ขณะเดียวกันผู้คนส่วนใหญ่ในโลกอาหรับก็ยึดอิสลามเป็นแหล่งที่มาหลักของค่านิยมทางศาสนา

          ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของโลกอาหรับที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชีย แอฟริกา  และยุโรปนั้น มีผลอย่างมากต่อประวัติศาสตร์  วัฒนธรรม และความเจริญรุ่งเรืองของชาวอาหรับ  ภูมิภาคนี้ถูกรุกรานจากทั่วทุกสารทิศตลอดช่วงเวลาในยุคต่างๆ ของประวัติศาสตร์ (หรือแม้แต่ในปัจจุบัน)  โดยแต่ละผู้พิชิตจะทิ้งร่องรอยของวัฒนธรรมและอารยธรรมที่ตนได้นำมาจากที่อื่นเอาไว้ให้เห็น  หากท่านผู้อ่านท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ของโลกอาหรับ  ท่านก็จะเห็นอัศจรรย์โรมัน วิหารกรีก วังอุมัยยะฮ์ ทางน้ำและระบบชลประทานแบบเปอร์เซีย มัสยิดสไตล์มัมลู๊ค  โรงเรียนแบบเติร์ก  ป้อมปราสาทของพวกครูเสด หรือแม้แต่ป้อมปราการโปรตุเกส เป็นต้น

          ศูนย์กลางหรือมาตุภูมิเดิมของชาวอาหรับนั้น  ความจริงตั้งอยู่ในแถบประเทศของคาบสมุทรอาหรับ  แต่ดินแดนรอบข้างซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโลกอาหรับในวันนี้นั้นถูกทำให้เป็นอาหรับผ่านช่วงเวลาในยุคต่างๆ ของประวัติศาสตร์  กระบวนการปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นอาหรับ (Arabization) ดังกล่าวนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคก่อนอิสลามในประเทศต่างๆ เช่น อิรักและซีเรีย เป็นต้น แต่การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการพิชิตของอิสลามในศตวรรษที่ 7 และศตวรรษที่ 8 จนดินแดนอาหรับขยายออกไปจนถึงโมร็อกโกทางทิศตะวันตก 

กระบวนการปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นอาหรับนอกจากจะมีปัจจัยเร่งจากภาษาอาหรับและอิทธิพลของศาสนาอิสลามแล้ว  ยังเกิดจากการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์และการเป็นพันธมิตรซึ่งเกิดขึ้นระหว่างผู้พิชิตชาวอาหรับกับประชากรท้องถิ่นอื่น ๆ ทั่วภูมิภาค  ศิลปะวิทยาการและศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ที่มีชื่อเสียงก็มีให้เห็นอยู่ดาษดื่น เช่น  มัสยิดอุมัยยะฮ์ในซีเรีย  มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรในอียิปต์ มหาวิทยาลัยอัสซัยตูน (Al–Zaytuna University) ในตูนีเซีย  และมัสยิดกอรอวิยีน (Qarawiyeen Mosque) ในโมร็อกโก  เป็นต้น  แม้กระนั้นก็ตาม  โลกอาหรับก็มีความแตกต่างหลากหลายจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง  ซึ่งจะได้อธิบายในรายละเอียดต่อไป

          หากมองโลกอาหรับจากมุมประวัติศาสตร์  ดินแดนแห่งนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนกว้าง ๆ ส่วนหนึ่งอยู่ทางด้านตะวันตก เรียกว่า อัล-มัฆริบ อัล-อะรอบี(Al-maghreb Al-Arabi) หรือ อาหรับตะวันตก”  ซึ่งหมายถึงประเทศที่อยู่ทางตะวันตกของอียิปต์ทั้งหมด  หรือในยุคสมัยใหม่ก็คือดินแดนแอฟริกาเหนืออันประกอบไปด้วย ลิเบีย ตูนีเซีย  อัลจีเรีย โมร็อกโก และมอริตาเนีย  อีกส่วนหนึ่งของดินแดนโลกอาหรับคือ  อัล-มัชริก อัล-อะรอบี (Al-Mashrek Al-Arabi) หรือ อาหรับตะวันออก  ซึ่งประกอบไปด้วยอียิปต์และประเทศที่อยู่ตะวันออกของอียิปต์ทั้งหมด  คำที่ใช้เรียกดินแดนเหล่านี้ได้ใกล้เคียงที่สุดในยุคสมัยใหม่ คือ ตะวันออกกลาง (Middle East) ถึงแม้ว่าตะวันออกกลางจะรวมถึงอิหร่านและตุรกี ซึ่งไม่ใช่ประเทศอาหรับก็ตาม

          ความแตกต่างระหว่าง อัล-มัฆริบ กับ อัล-มัชริก นั้นมีอยู่มากมายหลายประการด้วยกัน  แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ  ความแตกต่างด้านภาษาถิ่นของแต่ละพื้นที่  ภาษาถิ่นที่หลากหลายซึ่งดำรงอยู่ในภูมิภาคนี้นั้นมีความแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคหรือดินแดนอื่นๆ ภาษาถิ่นที่ยากที่สุดในบรรดาภาษาถิ่นทั้งหมดคือภาษาถิ่นที่ใช้พูดกันอยู่ในอัลจีเรีย  เพราะศัพท์แสงต่างๆ มีคำภาษาฝรั่งเศสผสมอยู่มาก  รองลงมาคือภาษาถิ่นตูนีเซีย  ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการคือรสนิยมแบบท้องถิ่นแอฟริกาที่แต้มแต่งและเพิ่มคุณค่าให้แก่วัฒนธรรมของกลุ่มประเทศ อัล-มัชริก ซึ่งหาไม่ได้ในพื้นที่อื่นๆ

          คำอื่นๆ ที่ใช้เรียกภูมิภาคนี้ซึ่งมักได้ยินได้อ่านกันบ่อยคือคำว่า เลเวนท์ (Levant) อันหมายถึงดินแดนที่อาหรับสมัยก่อนเรียกว่า มหาอาณาจักรซีเรีย หรือ “Greater Syria” ซึ่งประกอบไปด้วย ซีเรีย เลบานอน ปาเลสไตน์ และจอร์แดน  คำว่าดินแดน จันทร์เสี้ยวสมบูรณ์ (Fertile Crescent) เช่นกันที่ถูกใช้แทนคำว่า “Greater Syria”  แต่ในบางโอกาสเราก็จะได้ยินคำว่า เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia)  ซึ่งความจริงก็คือดินแดนประเทศอิรักปัจจุบันนั่นเอง 

ส่วนคำว่า คาบสมุทรอาหรับ  หรือ “Arabian Peninsula” นั่น หมายถึงเยเมน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน คูเวต กาตาร์และบาห์เรน  หกประเทศหลัง (ซึ่งไม่รวมเยเมน) เป็นสมาชิกขององค์การ สภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย หรือ “Gulf Co-operation Council” (GCC)  ซึ่งจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป โดยเฉพาะประเด็นแนวโน้มทางการเมือง

          ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศซูดาน  จิบูติ  และโซมาเลีย  ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของทวีปแอฟริกา  ทำให้กลุ่มประเทศดังกล่าว (ในสายตาของหลายคน) เป็นทั้งแอฟริกาและอาหรับในเวลาเดียวกัน  เป็นการยากทีเดียวที่จะตัดสินว่าในกลุ่มประเทศดังกล่าวนี้มีวัฒนธรรมแอฟริกันมากกว่าวัฒนธรรมอาหรับหรือมีวัฒนธรรมอาหรับมากกว่าวัฒนธรรมแอฟริกัน

         

สังคมอาหรับที่เปลี่ยนไป

          นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สังคมอาหรับตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมากจากโลกภายนอก   การเปลี่ยนแปลงทางสังคมปรากฏให้เห็นทุกหย่อมหญ้าอันเป็นผลมาจากกระบวนการปรับเปลี่ยนสู่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจ (Economic modernization) และการทดลองทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในทุกแง่มุม แม้แต่วิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเร่ร่อนกลางทะเลทรายหรือพวก “nomads” และพวกที่อาศัยอยู่ในชนบทห่างไกลก็ค่อย ๆ เลือนหายไป

          การเปลี่ยนแปลงทางสังคมส่วนใหญ่เป็นผลจากการรับเอาความเจริญและแนวคิดของตะวันตกมาใช้  ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี  การผลิตเพื่อบริโภค  ระบบสุขภาวะ  โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเงิน แนวคิดเรื่องการศึกษา ตลอดรวมถึงอุดมการณ์ทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมเป็นที่ถกเถียง (แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้) อันปรากฏให้เห็นในระดับที่แตกต่างกันไปในทุกประเทศอาหรับ

          ชาติอาหรับต้องเผชิญกับการไหลทะลักเข้ามาของชาวต่างชาติ   เช่น  พวกที่เข้ามาในฐานะที่ปรึกษา  ผู้จัดการ  นักธุรกิจ  นักการเมือง  นักท่องเที่ยว แรงงาน ฯลฯ  จากการที่ชาวอาหรับได้สัมผัสชาวต่างชาติโดยตรง  ตลอดจนการรับรู้เรื่องราวของโลกภายนอกผ่านสื่อ  ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้โลกที่แตกต่างมากขึ้น   นักศึกษาอาหรับนับหมื่นนับแสนมีโอกาสเรียนต่อภายนอกภูมิภาค  แล้วกลับมาพร้อมกับนิสัยใจคอและทัศนคติที่เปลี่ยนไป   ขณะเดียวกัน  เครือข่ายอินเตอร์เน็ตและโลกไซเบอร์ก็เป็นตัวเร่งสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองของชาวอาหรับในยุคปัจจุบัน

          รัฐบาลอาหรับได้สร้างอาคารโรงเรียน  โรงพยาบาล  บ้านเคหะ  สนามบิน  และอาคารพาณิชย์มากมาย  โดยใช้เวลาสร้างรวดเร็วจนเรียกได้ว่ารูปโฉมของนครและเมืองต่างๆ เปลี่ยนไปภายในไม่กี่ปี   บางคนถึงกับหลงทางจำไม่ได้เมื่อได้มีโอกาสกลับไปเมืองนั้นอีกครั้งหลังจากที่ได้ไปมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน  

โรงแรมสมัยใหม่ผุดขึ้นมามากมายตามหัวเมืองใหญ่ๆ   ถนนหนทางเต็มไปด้วยยานพาหนะ   ร้านค้าบริการอินเตอร์เน็ต   โทรศัพท์  ร้านส่งแฟกซ์ ฯลฯ สินค้าอุปโภคบริโภคนำเข้ามีอยู่ดาษดื่นในแถบทุกประเทศอาหรับ  นับตั้งแต่ชุดเจ้าสาวไปจนถึงสินค้าจิปาถะตามห้างร้านซุปเปอร์มาร์เกต   แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผิวนอก แต่มันก็เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในค่านิยมของชาวอาหรับ

อัตราผู้รู้หนังสือในภาพรวมมีจำนวนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ทศวรรษที่  1960  ในช่วง  50 ปีหลังนี้  จำนวนชาวอาหรับที่มีการศึกษาเพิ่มทวีขึ้นเป็น 2 เท่าในบางประเทศ   แต่ในอีกบางประเทศก็มีอัตราผู้รู้หนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าหรือมากกว่านั้น  ปัจจุบันอัตราเฉลี่ยของผู้รู้หนังสือในประเทศอาหรับอยู่ที่ร้อยละ 68   ส่วนอัตราผู้รู้หนังสือในรัฐรอบมหาสมุทรอาหรับเติบโตจากน้อยกว่าร้อยละ 10 ในสมัยก่อนเป็นเฉลี่ยร้อยละ  86  ในปี 2003   แต่ถ้านับเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง  อัตราผู้รู้หนังสือจะสูงถึงร้อยละ 80 หรือมากกว่านั้นในเกือบทุกหัวเมือง   ประเทศที่มีอัตราผู้รู้หนังสือสูงสุดคือ ซาอุดีอาระเบีย  (ร้อยละ 94)  ถัดมาคือ  จอร์แดน (ร้อยละ 91)  บาห์เรน (ร้อยละ  89)  เลบานอน (ร้อยละ 86)  การ์ตาร์ (ร้อยละ 85)  และคูเวต (ร้อยละ 83)  นับตั้งแต่ปี 1970  อัตราผู้รู้หนังสือที่เป็นผู้หญิงขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า  จำนวนของเด็กผู้หญิงที่สมัครเข้าเรียนระดับประถมมีเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 2 เท่าตัว

          การเพิ่มขึ้นของอัตราผู้รู้หนังสือเป็นผลมาจากการเติบโตของโรงเรียนรัฐหรือการศึกษาสาธารณะ  ซึ่งเป็นการเรียนฟรีและเป็นการศึกษาภาคบังคับที่มีอยู่ในทุกประเทศของโลกอาหรับ   ในซาอุดีอาระเบียประเทศเดียวมีนักเรียนที่จดทะเบียนเข้าเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มเป็น 4 เท่าตัวนับตั้งแต่ปี 1980  ส่วนในคูเวตนั้น ในปี 1945 มีนักเรียนในโรงเรียนทั้งหมดจำนวน  3,600 คน  (ทั้งระดับประถมและมัธยม)  แต่ในปี 1994 มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 270,000 คน  และในปี 2001 มีอยู่ทั้งหมด 400,000 คน[5] และในปี 2013 มีอยู่ทั้งหมด 570,000 คน[6]  ในซาอุดีอาระเบีย อัตราผู้รู้หนังสือจากการสำรวจในปี 1970  มีอยู่ร้อยละ 15 สำหรับเพศชาย  และร้อยละ 2 สำหรับเพศหญิง  แต่ในปี 2015 ปรากฏว่า อัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเป็นร้อยละ 97  สำหรับเพศชาย และร้อยละ 91.1  สำหรับเพศหญิง[7]

          แม้แต่การศึกษาระดับอุดมศึกษาก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว  ซึ่งบางครั้งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หรือ 3 เท่าตัวในช่วงเวลาแค่ 10 ปี หรือ 20 ปี หากดูจากตารางแสดงการเพิ่มขึ้นของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะเห็นภาพได้ชัดขึ้น

 

          ผู้หญิงอาหรับนั้นมีระดับการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม  และยังเข้าไปมีบทบาทในตลาดแรงงาน  ในปี 1973  ผู้หญิงอาหรับเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่เป็นลูกจ้างในตลาดแรงงาน[9]  แต่ปัจจุบันมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเป็นเฉลี่ยร้อยละ 21  อย่างไรก็ตาม  อัตราดังกล่าวนี้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในโลก  เพราะในสังคมประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมนั้น  ตัวเลขเฉลี่ยของการจ้างงานผู้หญิงจะอยู่ที่ร้อยละ 40 ถึง ร้อยละ 50

      

 

                   *  ตัวเลขในอิรักเมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 คือ 40

                  การปรับปรุงทางด้านสาธารณสุขยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต  การเพิ่มขึ้นของจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากร 1,000 คน  ดังตารางที่จะแสดงข้างใต้นี้  นับเป็นจุดเปลี่ยนผันอย่างมากต่อสถานการณ์ด้านสุขภาวะของชาวอาหรับ

 

         

นอกจากนั้น  จำนวนโรงพยาบาลและคลินิกได้เพิ่มขึ้นตามอัตราส่วนของแพทย์ด้วย   อายุเฉลี่ยของอาหรับก็มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  ตารางข้างใต้นี้เป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 50 ปี 

 

                   อายุเฉลี่ยของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นยังสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนสถิติของประชากร  นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950  อัตราเฉลี่ยของการเติบโตของจำนวนประชากรนั้นอยู่ในระหว่างร้อยละ 2.5 ถึง 3  ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในโลก  ในช่วงเวลา 4 ปีระหว่างปี 1986 ถึง 1990  ประชากรอาหรับเติบโตในภาพรวมจากร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 7 (ร้อยละ 8 ใน UAE และร้อยละ 10 ในโอมาน) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราการเติบโตของประชากรมักอยู่ในระดับร้อยละ 2 หรือ 3 ในแต่ละปี[13]

          ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โอมาน  ปาเลสไตน์  และเยเมน มีอัตราการเกิด (ตามธรรมชาติ) ของประชากรที่สูงที่สุด (ไม่นับรวมการย้ายถิ่น) ในโลก  โดยมีอัตราร้อยละ 2.75 , 2.57  และ 8.45 ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นตัวเลขการเติบโตของจำนวนประชากรที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอย่างสหรัฐฯ (ร้อยละ 0.75)  อินเดีย (ร้อยละ 1.26)  ฝรั่งเศส (ร้อยละ 0.45)  และญี่ปุ่น (ร้อยละ -0.12)[14]  ส่วนลิเบีย  อิรักและซีเรียได้รับผลกระทบจากสงครามและเหตุความไม่สงบในประเทศทำให้ก็มีอัตราการเติบโตอยู่เพียงร้อยละ 0.04 3.31 และ -2.27 ตามลำดับ[15]

          จาการสำรวจในปี 2000 ปรากฏว่าร้อยละ 30 ถึง 40 ของประชากรอาหรับทั้งหมดมีอายุประมาณ 14 หรือต่ำกว่า  ธนาคารโลกคาดการณ์เอาไว้ว่าจำนวนประชากรของตะวันออกกลางทั้งหมด  (ซึ่งรวมถึงประชากรที่ไม่ใช่อาหรับ)  จะเพิ่มขึ้นจาก 448 ล้านคนไปเป็น 650 ล้านคนในปี 2050[16]

          ในยุคปัจจุบัน  ประชากรอาหรับในภาพรวมทั้งหมดได้เปลี่ยนที่อยู่อาศัยจากฟาร์มและชนบทมาสู่เมืองที่เป็นศูนย์กลางใหญ่ๆ   การโยกย้ายเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปี 1980  มีการคาดคะเนกันว่าในปี 2020 ประชากรร้อยละ 70 ของตะวันออกกลางทั้งหมดจะอาศัยอยู่ในเมือง[17]  อย่างไรก็ตาม  การย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองก็นำมาซึ่งปัญหามากมาย  หากไม่นับประเทศในอ่าวเปอร์เซียซึ่งเป็นประเทศร่ำรวย  รัฐบาลอาหรับเกือบทั้งหมดต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย  การบริการภาคสาธารณะที่ไม่เพียงพอ (เช่น เมืองอัมมานในจอร์แดน  รัฐสามารถจ่ายน้ำให้ประชาชนได้วันละไม่กี่ชั่วโมง  ไคโรต้องเผชิญกับปัญหาการบริการรถขนส่งสาธารณะ  แทบจะทุกเมืองเกิดปัญหาจราจรเพราะถนนที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับจำนวนรถที่เพิ่มขึ้นได้)  ตลอดจนต้องแบกภาระการบริการสังคมที่มากเกินจะรับไหว  ตั้งแต่เรื่องการศึกษา  สุขภาพอนามัย  ไปจนถึงการจ้างงาน 

ในประเทศอาหรับที่ยากจนมีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยที่ผิดกฎหมายหรือไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ (โดยเฉพาะเมือง คาซาบลังกา อัลเจียร์ และไคโร) เช่น ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดในกรุงไคโรอยู่ในที่อาศัยที่ผิดกฎหมาย บางครั้งวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น หลังจากการบุกยึดคูเวตของอิรักทำให้ประชากร 4 ถึง 5 ล้านคนหนีภัยสงครามออกจากภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย เป็นต้น

          การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนภาพของสถานการณ์ในยุคปัจจุบันได้ดี ประชากรอาหรับในภาพรวมทั้งหมดเฉลี่ยเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต[18] ข้อมูลการสำรวจในปี 2014 แสดงให้เห็นว่า จำนวนคนใช้อินเตอร์เน็ตต่อ 100 คน มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากจนอยู่ในระดับสูงถึงสูงมากในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย ด้วยจำนวนคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่า 80 คน มีบางประเทศมีตัวเลขผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงเป็นลำดับต้นๆของโลกเช่น กาตาร์ และบาห์เรน (91 คน) ส่วนประเทศอาหรับอื่นๆมีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่แตกต่างกันเช่น 74 คนในเลบานอน ประมาณ 63 คนในซาอุดิอาระเบีย 44 คนในจอร์แดน 46 คนในตูนิเซีย และ 35-15 คนในลิเบีย ซีเรีย แอลจีเรีย และอียิปต์ ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับ สหรัฐอเมริกา 87 คน) หรือประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G-7) (ระหว่าง 62-91 คน)[19]

 

          ทิศทางแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสำคัญๆ บางประการในโลกอาหรับมีดังนี้

1.       การวางแผนครอบครัว  ได้รับการส่งเสริมและมีการนำไปปฏิบัติเพิ่มมากขึ้นในประเทศอาหรับแทบทั้งหมด  และเป็นที่ยอมรับให้กระทำโดยนักนิติศาสตร์อิสลามส่วนใหญ่

2.       ชาวอาหรับเข้าถึงหนังสือพิมพ์  สื่อโทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์  และอินเตอร์เน็ตมากขึ้น

3.       สถานบันเทิงนอกบ้านได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

4.       ประชาชนมีโอกาสเดินทาง  ทำงาน  และศึกษาในต่างประเทศมากขึ้น

5.       พ่อแม่ ผู้ปกครอง พบว่า  พวกเขามีอำนาจน้อยลงในการควบคุมบุตรหลานในเรื่องการงาน อาชีพ และวิถีการดำเนินชีวิต

6.       มีชาวอาหรับจำนวนมากขึ้นที่เข้าไปทำงานในองค์กรสาธารณะที่ไม่ใช่ส่วนตัว  หรือแม้แต่ภาคอุตสาหกรรม

7.       มีการเข้าไปทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น

8.       จิตสำนึกทางการเมืองและการมีส่วนร่วมมีเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าสังเกต

9.       โอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพสำหรับผู้หญิงเป็นปัจจัยที่ทำให้วิถีครอบครัวแบบอาหรับดั้งเดิมเปลี่ยนไป

ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลง

          ผลข้างเคียงที่เกิดจากการนำเข้าวิถีปฏิบัติและแนวคิดของต่างชาติที่มีต่อสังคมจารีตนั้นปรากฏให้เห็นเด่นชัด  ซึ่งชาวอาหรับเองก็คาดไม่ถึงและไม่ได้เตรียมรับมือแต่อย่างใด  สภาวะความกดดันทางสังคมระหว่างชนกลุ่มต่างๆ ที่แตกต่างกันในระดับของการศึกษาและการรับรู้วัฒนธรรมตะวันตกอาจปรากฏขึ้นอย่างรุนแรงเข้มข้น  เกิดความขัดข้องใจร่วมจนถึงระดับที่คนต่างชาติยากที่จะจินตนาการได้

          วิธีคิดแบบจารีตนิยมอยู่เคียงคู่กับกลุ่มคนที่มีวิธีคิดแบบหัวสมัยใหม่ในสังคมอาหรับยุคปัจจุบัน  อันก่อให้เกิดแบบแผนที่เรียกว่า ทวิลักษณ์ (dualism) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ถูกถ่ายทอดเรียนรู้คู่กับกฎหมายจารีตประเพณีและวิถีปฏิบัติทางศาสนาของชาวอาหรับ โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่หลงใหลคลั่งไคล้ในวิถีอเมริกัน  ตลอดจนผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ติดป้าย “Made in U.S.A.” กันมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิง  ดนตรี เสื้อผ้า  ไปจนถึงอุดมการณ์เสรีนิยม  เช่น  เสรีภาพและโอกาสที่เท่าเทียม  เป็นต้น 

ช่องว่างระหว่างวัยซึ่งขยายถ่างกว้างมากขึ้น  ก่อให้เกิดความปวดร้าวสำหรับบางชุมชนและครอบครัว  เพราะคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่บางกลุ่มที่มีแนวคิดเสรีและได้รับอิทธิพลตะวันตก  แต่อีกหลายๆ กลุ่มก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่น  อีกทั้งยังเคร่งครัดศรัทธาในหลักการศาสนามากขึ้น  สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีผลต่อวิถีครอบครัวอาหรับอย่างมาก

          ฉะนั้น  ประเด็นสำคัญร่วมที่มีการถกเถียงพิจารณากันในหมู่นักวิชาการและสื่อสารมวลชนคือความจำเป็นที่จะต้องกลั่นกรองตรวจสอบประดิษฐกรรมตะวันตก  โดยรับเอาบางแง่มุมที่จะยังประโยชน์ให้สังคม (เช่น วิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี)  ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธบางอย่างที่เป็นผลลบต่อสังคม (เช่น วัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดความตกต่ำเสื่อมทรามทางศีลธรรม)

          ความจริง  ชาวอาหรับต่างตระหนักถึงกระแสการปรับเปลี่ยนให้เป็นตะวันตก (Westernization) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระแสปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นสมัยใหม่ (Modernization) มานานแล้ว  แน่นอนคนส่วนใหญ่ต้องการความทันสมัย  แต่ต้องไม่ใช่วิธีที่จะต้องแลกกับค่านิยมที่ดีงามบางอย่างของพวกเขา  เป็นความเข้าใจผิดทีเดียวที่จะสันนิษฐานว่า  คนอาหรับต้องการที่จะสร้างสังคมและการปกครองที่เหมือนกับรูปแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในตะวันตก  คนอาหรับมักไม่ค่อยให้การยอมรับต่อสิ่งที่พวกเขาได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับวิถีปฏิบัติทางสังคมที่เป็นแบบอเมริกันหรือตะวันตก  ตลอดรวมถึงมาตรฐานทางศีลธรรม (ไม่ว่าพวกเขาจะเข้าใจถูกต้องหรือไม่ก็ตาม)  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาสนใจที่จะไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิถีชีวิตแบบตะวันตก สิ่งที่พวกเขาไม่ชอบคือการพยายามยัดเยียดวิธีปฏิบัติเหล่านั้นให้แก่พวกเขาต่างหาก

          ดังนั้น  ประเด็นปัญหาสำหรับชาวอาหรับจึงไม่ใช่เรื่องว่าพวกเขาต้องการความทันสมัยหรือไม่  เพราะกระแสสมัยใหม่ในโลกยุคปัจจุบันไม่มีใครหยุดยั้งได้  ประเด็นคือเป็นไปได้หรือไม่ที่พวกเขาจะเลือกรับเอาแต่เฉพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตะวันตกโดยปราศจากค่านิยมและวิถีปฏิบัติทางสังคมแบบตะวันตกที่มาคู่กัน  แล้วสามารถสงวนรักษาวิถีปฏิบัติและค่านิยมที่ดีงามของพวกเขาเอาไว้

          โลกทัศน์ของมุสลิมอาหรับ

          ก่อนที่จะกล่าวถึงโลกทัศน์ของมุสลิมเราควรเข้าใจก่อนว่า  การตีความหลักการศาสนาอิสลามนั้นมีความหลากหลาย  ธรรมเนียมปฏิบัติมากมายที่จำแนกแยกแยะประเทศในตะวันออกกลางไม่ได้เกิดจากหลักการศาสนา  แต่มีแหล่งที่มาจากวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น (เช่น ความสัมพันธ์กันทางครอบครัว  บทบาทของผู้หญิงในสังคม  ความนิยมแต่งกายของผู้คน  แบบแผนการเลี้ยงดูเด็ก  การขริบอวัยวะเพศหญิง ฯลฯ)  เนื่องจากแนวทางของซุนนีย์อิสลามไม่ได้กำหนดแบบแผนให้มีสายบังคับบัญชาและไม่มีอำนาจส่วนกลาง  ยังผลให้การวินิจฉัยของนักวิชาการศาสนามักมีความแตกต่างหลากหลาย

          แน่นอน  ชาวอาหรับที่มีการศึกษาย่อมต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่  แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  พวกเขาก็ต้องการสงวนรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นวิถีชีวิตแบบอิสลามที่ดีงาม  ฉะนั้น  ประเด็นจึงไม่ใช่การที่จะต้องไปสังคยานาปรับเปลี่ยนอิสลาม  แต่เป็นการพิจารณาหลักการศาสนาให้รอบด้าน  หรือทำความเข้าใจอิสลามเสียใหม่  เพื่อรับมือกับสภาพเงื่อนไขของโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป

          โลกอาหรับทั่วทุกแห่งหน  ตลอดจนสังคมในตะวันออกกลางทั้งหมด  กำลังเกิดปรากฏการณ์ที่การศึกษาด้านศาสนามีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นในรั่วมหาวิทยาลัย  เช่นเดียวกับการตีพิมพ์หนังสือทางศาสนา  ตลอดจนการบรรยายศาสนธรรมที่มีการจัดขึ้นอย่างแพร่หลายตามเวทีสาธารณะ  การออกอากาศรายการศาสนาทางโทรทัศน์วิทยุและหนังสือพิมพ์  หนังสือศาสนาเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา[20]

          นอกจากนั้น  ยังมีสถาบันทางสังคมอีกมากมายที่มุ่งเน้นแนวทางศาสนา  ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางกฎหมาย  การบริการสวัสดิการสังคม  สถาบันการศึกษา  ศูนย์พัฒนาเยาวชน  สำนักพิมพ์  หรือแม้แต่การเงินการธนาคาร (ธนาคารอิสลาม) มีมุสลิมจำนวนมากที่นิยมแนวทางศาสนาได้ตัดสินใจเข้าไปสู่เวทีทางการเมือง (ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ) ปรากฏการณ์การปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นอิสลาม (Islamization) ในทุกมิติกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำรงชีวิตของชาวอาหรับ

          ความพยายามในการหาแนวทางเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่ยาก  การถกเถียงหาวิธีแก้ไขคงจะเป็นประเด็นที่สนทนากันไปไม่รู้จบ  พวกจารีตนิยมในสังคมอาหรับมักปฏิเสธการตีความแก้ไขหลักการศาสนา  กลุ่มคนเหล่านี้บางทีก็เป็นสมาชิกของรัฐบาล  เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการทหาร  เป็นครูบาอาจารย์  เป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์  และเป็นปัญญาชน  แต่พวกจารีตนิยมเหล่านี้ไม่ใช่ ผู้ก่อการมุสลิม (Militant Islamist) ความจริงพวกเขาเป็นฝ่ายที่ต้องการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและหลักการศาสนาให้คงไว้ดังเดิม ทัศนะส่วนใหญ่ของพวกเขาคือ   ในขณะที่อิสลามจะต้องปรับเข้าหาสภาวะความเป็นสมัยใหม่ แต่ความเป็นสมัยใหม่เช่นกันที่จะต้องปรับเข้าหาอิสลาม

          ชาวอาหรับนั้นปรารถนาที่จะปรับเข้าหาการเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีทางของตนเอง  พวกเขาเชื่อว่าค่านิยมอิสลามสามารถสร้างคุณูปการต่อโลกที่เปลี่ยนไป  หรือมีส่วนในการสร้างระเบียบโลกใหม่  ตะวันตกนั้นเหนือกว่าในด้านความเจริญก้าวหน้าผ่านการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  แต่อิสลามก็สามารถเพิ่มเสริมปัจจัยด้านมนุษยธรรม  นั่นคือความมีศีลธรรม  เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างศีลธรรมสากลควบคู่กับระเบียบโลกที่มีความก้าวหน้าทางวัตถุ 

 



[1]1999 Revision: Key Findings”, World Urbanization Prospects, World Global Trends, 1999, Available Online at http://www.t21.ca

[2]  "World Arabic Language Day". UNESCO. 18 December 2012.Online Available at http://www.unesco.org/new/en/unesco/events/prizes-and-celebrations/celebrations/international-days/world-arabic-language-day/เข้าถึงเมื่อ12 February 2014.

[3] Omari, Jehad Al-. (2008). Understanding the Arab Culture: A Practical Cross-cultural Guide to Working in the Arab World. Oxford: How To Book. p. 72.

[4] เพิ่งอ้าง, หน้า 74

[5]Primary School-age Population” และ “Total Secondary Enrollment”, Global Education Database, US Agency for International Development, Center for Development Information and Evaluation, 2001, Online Available at http://www.esdp.cdie.org

[6] UNESCO Institution for Statistics, 2015, Online Available at data.uis.unesco.org

[7]Saudi Arabia: Population, Health and Well-Being”, Earth Trends, World Research Institute, 2002, Online Available at http://www.earthtrends.wri.org ; UNESCO Institution for Statistics, 2015, Online Available at data.uis.unesco.org

[8]Middle East and North Africa 2001”, Europa, European Union, 2001

[9] Elizabeth Fernea, “Islamic Feminism Finds a Different Voice”, Foreign Journal (May 2000), 30.

[10] The World Bank, 2014, Available Online at data.worldbang.org/indicator/SL.TLF.TOTL.FE.ZS   

[11]Physicians per 1000 Population”, Human Development Report 2004, Commitment to Health, UN Development Program, 2004; “Global Health Observatory data repository”, World Health Organization, 2015 , Available Online at apps.who.int/gho/data/node.main.688.

[12] “Statistics and Indicators on Men and Women”, UN Statistics Division, Demographic, 2005, Available Online at http://www.unstats.un.org; “Global Health Observatory data repository”, World Health Organization, 2015, Available Online at apps.who.int/gho/data/node.main.688    

 

[13]Population Growth”, Human Development Report 2005, UN Development Program, 2005; “Arab population hits 367 million”, Emirate 24 News, , October 30, 2011, Available Online at http://www.emirates247.com/news/region/arab-population-hits-367-million-2011-10-30-1.425959.

[14] เพิ่งอ้าง

[15] “Population Division “, World Population Prospect 2015 Revision, UN, 2015, Available Online at esa.un.org/unpd/wpp/Download/Sandard/Population.

[16]Middle East Population Set to Double”, Popline, Population Institute, 25 April 2002, Available Online at http://www.populationinstitute.org

[17]1999 Revision: Key Findings”, World Urbanization Prospects, World Global Trends, 1999, Available Online at http://www.t21.ca

[18] “Internet Users per 100 people”, The World Bank, 2014, Available Online at http://data.worldbank.org/indicator/IT.NET.USER.P2.

[19] “2015 Internet User by region”, Human Development Report 2015, UN Development Programe, 2015, Available Online at  hdr.undp.org/sites/default/files/2015_human_development_report.pdf

[20] David K. Willis. “The Impact of Islam”, Christian Science Monitor, 18-24 August 1984.