Get Adobe Flash player

 

 

แนวคิดการสร้างเครือข่ายการผลิตในต่างประเทศ

 ปัจจุบันรูปแบบการสร้างเครือข่ายการผลิตในรูปของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ เป็นกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินยุทธ์ศาสตร์สำคัญทั้งในระดับนโยบายและระดับองค์กรธุรกิจของหลายประเทศ จากการศึกษาของ World Economic Forum พบว่าฐานของห่วงโซ่คุณค่ามีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอนาคต เนื่องจาก

1) ปัจจัยด้านต้นทุนพลังงานและค่าขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นและมาตรการควบคุมการปล่อยกาซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มงวดขึ้น

2) จีนเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่คุณค่าของโลกในด้านการผลิต โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างแรงงานในจีนมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับค่าเงินที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

3) ต้นทุนเทคโนโลยีสารสนเทศมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการแข่งขันที่มากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้กระบวนการผลิตเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

4) ตลาดในประเทศกำลังพัฒนามีความสำคัญมากขึ้น ในขณะที่การเติบโตในยุโรปยังคงเป็นไปได้ไม่ดีนัก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของห่วงโซ่คุณค่ามายังประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น

ในอดีตการสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ เน้นการทำการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก ทั้งในมิติของการนำเข้าและมิติของการส่งออก ซึ่งการทำการค้าระหว่างประเทศมีข้อดีอยู่ที่ผู้ผลิตไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในการบริหารจัดการสินค้าปลายทางในกรณีที่เป็นสินค้าส่งออก ขณะเดียวกันผู้นำเข้าก็ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในการบริหารจัดการสินค้าต้นทางในกรณีที่เป็นสินค้านำเข้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้านำเข้าในรูปของวัตถุดิบ สินค้าทุน หรือสินค้าสำเร็จรูปก็ตาม

ในระยะต่อมา การสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับลูกค้าทั้งในส่วนของลูกค้าที่เป็นธุรกิจหรือลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคคนสุดท้ายซึ่งเป็นปลายน้ำของห่วงโซ่คุณค่ามากขึ้น ธุรกิจจึงมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคปลายทางดังกล่าว ซึ่งองค์กรธุรกิจระหว่างประเทศขนาดใหญ่ (Multinational Corporations: MNCs) ในกลุ่มประเทศพัฒนาทั้งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เป็นธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่ใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคปลายทางด้วยการขยายฐานการผลิตออกไปสู่ต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติ (Transnational Companies: TNCs) ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ให้ความสนใจกับกลยุทธ์การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมากขึ้น  โดยมีกลุ่มนักลงทุนจากประเทศ BRIC อาทิ ประเทศจีน บราซิล และอินเดีย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

จากรายงานการลงทุนโลกปี 2011 ของอังค์ถัด (UNCTAD) ชี้ให้เห็นแนวโน้มที่สำคัญประการหนึ่งของการสร้างเครือข่ายการผลิตระดับโลก คือการที่เศรษฐกิจของโลกไม่ได้เติบโตในวงจำกัดเฉพาะการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป หากแต่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยการขยายสู่ตลาดต่างประเทศโดยไม่ถือหุ้นโดยตรง (Non-equity modes: NEMs) กำลังเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนและบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายในการจัดการห่วงโซ่คุณค่า (Global Value Chains) และการผลิตระหว่างประเทศ (International Production) ในปัจจุบัน การลงทุนในลักษณะนี้เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ ประมาณการว่ามูลค่าการค้าที่เกิดจาก NEMs ในปี 2010 สูงถึงกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น NEMs ที่ดูเหมือนว่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง