สวัสดี

Technology & Innovation

กรกฎาคมนี้ พลาสติกใช้แล้วทิ้งจะหายไปจากอินเดีย

มิถุนายน 2565

รายละเอียด :

รัฐบาลกลางอินเดียประกาศกฎแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2564
โดยผู้ประกอบการไม่สามารถนำเข้า เก็บรักษา จำหน่าย ตลอดจนใช้ประโยชน์จากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง (single-use plastic) มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีอินเดีย นายนเรนทรา โมทีได้ประกาศไว้ตั้งแต่มิถุนายน 2561 ว่าในปี 2565 จะไม่มีพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้งหลงเหลืออยู่ในอินเดีย ซึ่งหมายรวมถึงบรรจุภัณฑ์ไอศกรีม ลูกอม บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ห่อหุ้ม ลูกโป่ง ธง หรือโฟมที่ใช้สำหรับการประดับตกแต่ง

โดยเกณฑ์สำคัญในการจำแนกประเภทพลาสติกคือความหนาของพลาสติก ซึ่งหากเป็นข้าวของเครื่องใช้ประเภทพลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน ตัวอย่างเช่น จาน ถ้วย แก้วน้ำ พลาสติกห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์ บัตรเชิญ บรรจุภัณฑ์ของบุหรี่ รวมไปถึงอุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารประเภทใช้แล้วทิ้ง เช่น ช้อน ส้อม มีด หรือถาดอาหาร เป็นต้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้ถือว่าเป็นสิ่งของต้องห้ามทั้งสิ้น ในส่วนของถุงพลาสติกสำหรับใช้ใส่สิ่งของ ซึ่งเดิมเคยมีความหนา 50 ไมครอน แต่ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้นั้น ได้ถูกเพิ่มความหนาเป็น 75 ไมครอนตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2564 และจะเพิ่มเป็น 120 ไมครอนสิ้นปี 2565 นี้ เพื่อใช้แข็งแรง ทนทานพอที่จะนำกลับมาใช้ซ้ำได้นานขึ้น

ในส่วนของเมืองหลวงอย่างนิวเดลี รัฐบาลได้ประกาศห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเริ่มจากยกเลิกการใช้ปากกาประเภทใช้แล้วทิ้ง และขวดน้ำก่อน ตามมาด้วยโปสเตอร์ ป้ายโฆษณา และอุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารประเภทใช้แล้วทิ้งตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ข้อเสนอแนะจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี

มาตรการดังกล่าวเกิดจากการที่กระทรวงสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐอินเดียได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง ซึ่งนับเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในอินเดียอย่างมาก โดยในปัจจุบัน อินเดียสร้างขยะมากถึง 3.5 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ World Wide Fund for Nature ยังพบปัญหามนุษย์ได้รับไมโครพลาสติก หรือชิ้นส่วนของพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่แตกออกมาจากข้าวของเครื่องใช้ที่ผลิตจากพลาสติกเฉลี่ย 5 กรัมต่อคนต่อสัปดาห์ หรือในแต่ละปีจะได้รับราว 250 กรัมโดยไม่ทันจะรู้ตัว ส่วนใหญ่ได้รับจากการดื่มน้ำที่บรรจุในขวดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งมีปริมาณไมโครพลาสติกประมาณ 2 ถึง 44 ชิ้น และเมื่อสะสมในร่างกายมากเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหากับพัฒนาการ รบกวนระบบฮอร์โมน และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในที่สุด

และเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกบรรจุภัณฑ์ทดแทนพลาสติกมายังอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารประเภทใช้แล้วทิ้งซึ่งผลิตมาจากกระดาษ หรือชานอ้อย ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ในขณะที่ยังมีความแข็งแรง ทนทาน เทียบเท่ากับการใช้พลาสติก ตลอดจนการเข้ามาร่วมทุนผลิตภัณฑ์ภัณฑ์ทดแทนพลาสติกในอินเดีย ก็เป็นรูปแบบธุรกิจที่มีความเป็นไปได้สูงในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ที่มา :   a สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี, 20 มิ.ย. 65
            รัฐบาลอินเดียประกาศยกเลิกการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง มีผล 1 กรกฎาคมนี้.
           
Online : https://ditp.go.th, https://www.ditp.go.th/contents_attach/781012/781012.pdf

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527