สวัสดี

Technology & Innovation

ผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่อการค้าอาหารของออสเตรเลีย

ธันวาคม 2562

รายละเอียด :

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติจำนวนมาก อาทิ ไฟป่า พายุรุนแรงที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ทำการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนออสเตรเลีย

ปัญหาไฟป่าในออสเตรเลียมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของทุกปี แต่ปี 2562 ภาวะไฟป่าเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หน่วยงานรัฐได้คาดการณ์ไว้ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดไฟป่าขึ้นหลายจุดในรัฐ New South Wales (NSW) และรัฐ Queensland (QLD) โดยเฉพาะรัฐ NSW ที่ได้รับความรุนแรงอย่างมากจนเข้าสู่ระดับภัยพิบัติ (Catastrophic) เป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มมีการจัดอันดับความรุนแรงของไฟป่าในปี 2552

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังประสบปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงและเป็นไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 จนถึงปัจจุบัน จากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และปริมาณน้ำฝนที่ลดลงทำให้ระดับน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรและภาคปศุสัตว์ (ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 15 ของการส่งออกสินค้าออสเตรเลียทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 8 และในเดือนมิถุนายน 2562 รัฐบาลรัฐ NSW ได้ประกาศการควบคุมการใช้น้ำอย่างจริงจังในเขตพื้นที่ Sydney เขต Blue Mountain และ เขต Illawarra เพื่อให้การใช้น้ำเกิดความคุ้มค่าสูงสุด รวมถึงเป็นการป้องกันการขาดแคลนน้ำใช้ เนื่องจากระดับน้ำในเขื่อนที่ลดลงจนแตะระดับต่ำสุด ทั้งนี้ หากมีการ
ฝ่าฝืนจะถูกปรับในอัตรา 220 เหรียญออสเตรเลียต่อคน และ 550 เหรียญออสเตรเลียต่อภาคธุรกิจ

จากผลกระทบภัยธรรมชาติข้างต้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจออสเตรเลียโดยตรง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐ NSW กว่าร้อยละ 75 เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากของออสเตรเลียที่ต้องพึ่งพาการบริหารจัดการอย่างเพียงพอเพื่อทำการเกษตร (ร้อยละ 80 ของแผนการจัดสรรน้ำทั้งหมด) ทั้งนี้ รัฐ NSW เป็นแหล่งผลิตข้าวถึงร้อยละ 99 ผลิตฝ้ายร้อยละ 59 และผลิตข้าวสาลีร้อยละ 36 ของผลผลิตทั้งหมดของประเทศ รวมถึงเป็นแหล่งผลิตไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เบียร์และสุรา) ผักและผลไม้ และฟาร์มปศุสัตว์ อาทิ แกะ แพะ วัว และสัตว์ปีกอื่น ๆ อาหารแปรรูป การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเหมืองแร่ต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของธนาคาร Commonwealth (ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อแก่เกษตรกรมากที่สุดในออสเตรเลีย) ที่ได้ประเมินสถานการณ์ผลผลิตของธุรกิจการเกษตรว่าจะลดลงร้อยละ 50 ในอีก 40 ปีข้างหน้า เนื่องจากสภาวะโลกร้อน Climate change จะทำให้ภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ฟื้นตัวได้ยากขึ้น รวมไปถึงราคาสินค้าเกษตร เนื้อวัวที่อาจจะแพงขึ้นเนื่องจากภัยแล้ง ซึ่งภัยธรรมชาติต่าง ๆ เป็นปัจจัยที่จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าออสเตรเลียชะลอตัว และพฤติกรรมการบริโภคในประเทศที่ประหยัดมากขึ้น

 

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรในรัฐ NSW ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติข้างต้น ทำให้ผลผลิต
ทางการเกษตรภายในออสเตรเลียลดลงและมีราคาเพิ่มสูงขึ้น เป็นโอกาสที่ดีสำหรับสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารและอาหารแปรรูปของไทยเข้ามาทดแทนสินค้าดังกล่าวที่ผลิตในออสเตรเลียมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจาก
รัฐ NSW มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากที่สุด มีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึงร้อยละ 39 ของการนำเข้าสินค้าออสเตรเลีย โดยในปี 2561 รัฐ NSW นำเข้าสินค้าจากไทยเป็นอันดับที่ 6 มีมูลค่า 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ
คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.8 ของการนาเข้าสินค้าทั้งหมดของรัฐ NSW และในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2562 รัฐ NSW มีการนำเข้าสินค้าอาหารมากที่สุดมีมูลค่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 5 รองจากนิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และจีน อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำฟาร์มปศุสัตว์สำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มโคนม โคเนื้อ หรือฟาร์มแกะ ซึ่งสถาณการณ์ดังกล่าว อาจกระทบทำให้ราคาสินค้าดังกล่าวในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นกระทบต่ออุตสาหกรรมนมพร้อมดื่มของไทย

         แหล่งที่มา:  ผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่อการค้าออสเตรเลีย, ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ และ Source : The Australian / Sydney Morning Herald/Global Trade Atlas/ Australian Financial Review/ www.abc.net.au

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527