สวัสดี

Technology & Innovation

แนวโน้มผลผลิตกุ้งโลกในปี 2561

มีนาคม 2561

รายละเอียด :

ภายใต้เวทีเสวนา Shrimp Panel ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยการตลาดอาหารทะเลโลก (Global Seafood Market Conference หรือ GSMC) จัดขึ้นที่เมืองไมอามี สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า ผลผลิตกุ้งโลกในปี 2561 จะมีปริมาณกว่า 3.5 ล้านตัน เนื่องจากประเทศอินเดียเอกวาดอร์ เวียดนาม จีน ไทย และอินโดนีเซีย รวมทั้งหลายประเทศในเอเชีย และละตินอเมริกาจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตกุ้งโลกดังกล่าวยังคงต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อครั้งการประชุม Global Outlook for Aquaculture Leadership หรือ GOAL 2017 ที่ประเมินไว้เกือบ 4.5 ล้านตัน

สาระสำคัญของข่าว

          ภายใต้เวทีเสวนา Shrimp Panel ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยการตลาดอาหารทะเลโลก (Global Seafood Market Conference หรือ GSMC) จัดขึ้นที่เมืองไมอามี สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า ผลผลิตกุ้งโลกในปี 2561 จะมีปริมาณกว่า 3.5 ล้านตัน เนื่องจากประเทศอินเดียเอกวาดอร์ เวียดนาม จีน ไทย และอินโดนีเซีย รวมทั้งหลายประเทศในเอเชีย และละตินอเมริกาจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตกุ้งโลกดังกล่าวยังคงต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อครั้งการประชุม Global Outlook for Aquaculture Leadership หรือ GOAL 2017 ที่ประเมินไว้เกือบ 4.5 ล้านตัน

          อินเดียในฐานะผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก มีปริมาณผลผลิตกุ้งในปีการผลิต 2558-2559 อยู่ที่ 497,622 ตัน และรัฐบาลอินเดียคาดการณ์ว่าผลผลิตจะเพิ่มเป็น 566,000 ตัน 697,000 ตัน และ 757,000 ตัน ในปีการผลิต 2559-2560, 2560-2561 และ 2561-2562 ตามลำดับ ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นของอินเดียมาจากการขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งแห่งใหม่เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งที่สำคัญของอินเดียยังคงอยู่ในรัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh) และรัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadu)

          ประเทศเอกวาดอร์ (Ecuador) ผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ในละตินอเมริกาคาดการณ์ว่า จะมีการส่งออกกุ้งถึง 531,000 ตัน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 469,000 ตัน เนื่องจากผู้เพาะเลี้ยงกุ้งรายใหญ่ของประเทศเอกวาดอร์ได้มีการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า "hiccup" มาใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับการเพาะฟักตัวอ่อนของกุ้ง ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถควบคุมความหนาแน่นต่อพื้นที่เพาะเลี้ยง จึงทำให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ประกอบกับการขยายตัวของตลาดจีน เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้ประเทศเอกกวาดอร์ต้องเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในปี 2561 ประเทศจีนจะมีปริมาณการผลิตกุ้งสูงขึ้นเป็น 625,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 525,000 ตัน ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกของประเทศเอกวาดอร์ สำหรับเวียดนาม คาดการณ์ว่าในปี 2561 จะมีการผลิตสูงขึ้นเป็น 470,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีการผลิตอยู่ที่ 415,000 ตัน แม้จะผลิตและส่งออกกุ้งได้มากแต่เวียดนามก็อยู่ในฐานะประเทศผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพื่อป้อนอุตสาหกรรมแปรรูป เนื่องจากผลผลิตกุ้งที่ผลิตภายในประเทศส่วนใหญ่ถูกส่งออกในรูปกุ้งสดไปยังตลาดจีนผ่านเส้นทางการค้าท่าเรือ Haiphong ที่เป็นตลาดการค้าสีเทา (Grey Market) ติดกับชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ ส่งผลทำให้ราคากุ้งในเวียดนามสูงขึ้น โรงงานแปรรูปจึงมีการนำเข้ากุ้งจากประเทศต่าง ๆ ทดแทน

           ประเทศอินโดนีเซียมีตลาดส่งออกกุ้งที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ขณะที่ปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2560 อินโดนีเซียมีปริมาณผลผลิตกุ้ง 305,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 230,000 ตัน ในปีก่อน สำหรับปี 2561 คาดการณ์ว่าจะผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 335,000 ตัน แต่ยังต่ำกว่าระดับผลิตสูงสุดที่ 400,000 ตัน ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ผลผลิตกุ้งของอินโดนีเซียในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ยังเทียบกับการเติบโตในอดีตไม่ได้เนื่องจากยังคงมีปัญหาเรื่องโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS)

            สำหรับประเทศไทยฟื้นตัวจากโรคตายด่วน (EMS) แล้ว และมีแนวทางการบริหารจัดการฟาร์มแบบใหม่ทำให้ปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยปริมาณการผลิตกุ้งของไทยในปี 2560 มีปริมาณ 305,000 ตัน และคาดว่าในปี 2561 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 345,000 ตัน ส่วนเม็กซิโกมีปริมาณการผลิตในปี 2560 อยู่ที่ 140,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 120,000 ตัน ในปีก่อน เนื่องจากอัตราการรอดและเทคโนโลยีฟาร์มที่ดีขึ้น รวมถึงการควบรวมกิจการของฟาร์มขนาดเล็ก นอกจากนี้ มีการปรับปรุงฟาร์มกุ้งร้างมาใช้ประโยชน์มากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่อบอุ่นทำให้มีระยะเวลาในการจับกุ้งได้นานขึ้นจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน

ความคิดเห็น

          แนวโน้มผลผลิตกุ้งโลกเป็นสิ่งที่น่าจับตา เนื่องจากประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีการเพาะเลี้ยงและแปรรูปกุ้งเพื่อการส่งออก ประกอบกับอุตสาหกรรมกุ้งของไทยยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการผลิต และการส่งออก ซึ่งได้รับปัจจัยจากการฟื้นตัวของวัตถุดิบในประเทศและประเทศคู่แข่งบางประเทศยังติดปัญหาด้านโรคระบาดจึงทำให้กุ้งไทยยังป็นที่ต้องการในตลาด

ที่มา : Undercurrentnews. Shrimp panel: India growth, China recovery to drive 2018 global production increase. https://www.undercurrentnews.com/2018/01/25/gsmc-shrimp-panel-india-growth-china-recovery-to-drive-global-production-increase-in-2018/.

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527