สวัสดี

Technology & Innovation

พฤติกรรมการติดฉลากที่ไม่ตรงกับความจริง (mislabelling)และความคืบหน้ามาตรการฉลากสินค้าเนื้อสัตว์

พฤศจิกายน 2558

รายละเอียด :

สาระสำคัญของข่าว
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2558 องค์กรผู้บริโภคยุโรป (European Consumer Organisation; BEUC) ได้เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ชื่อว่า 

สาระสำคัญของข่าว
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2558 องค์กรผู้บริโภคยุโรป (European Consumer Organisation; BEUC) ได้เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ชื่อว่า Close-up on the meat we eat, consumers want honest labels จากการสุ่มตรวจเมื่อเดือน เม.ย. 2557 และเดือน ส.ค. 2558 พบว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่จำหน่ายในประเทศเบลเยียม สเปน เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย และโปรตุเกส มีพฤติกรรมการติดฉลากที่ไม่ตรงกับความจริง (mislabelling)  ซึ่งพบทั้งในสินค้าที่มาจากบริษัทผลิตอาหารรายใหญ่ และรายย่อย

รูปแบบการระบุข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริงที่ตรวจพบ ได้แก่ 1) การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ผิดกฎหมาย 2) ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับอัตราส่วนของเนื้อสัตว์ และปริมาณน้ำที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ 3) ชื่อของผลิตภัณฑ์ที่มีความสับสน 4) การใช้เนื้อสัตว์ที่มีราคาถูกกว่าแทนที่

ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2558 องค์กร Sealife Group Oceana ทำการศึกษาโดยสุ่มตรวจอาหารเมนูปลาที่ขายในร้านอาหารในกรุงบรัสเซลส์และไปวิเคราะห์ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย พบว่าร้อยละ 31.8 ของปลาจากตัวอย่างจำนวน 280 จานจากร้านอาหาร 150 แห่งในบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวในกรุงบรัสเซลส์ และในโรงอาหารของสถานที่ราชการของอียู มีการระบุชื่อปลาในเมนูอาหารที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงจากการตรวจสอบพบว่าร้อยละ 95 ของเมนูที่ระบุว่าเป็นปลาทูน่าพันธุ์ครีบน้ำเงิน (bluefin tuna) ที่มีราคาสูงและหายากจะถูกแทนที่ด้วยปลาทูน่าพันธุ์ครีบเหลือง (yellowfin tuna) หรือปลาทูน่าพันธุ์ตาโต (bigeye tuna) ที่มีราคาถูกกว่า  ในขณะที่ร้อยละ 13 ของปลาคอด (cod) จะถูกแทนที่ด้วยปลาสายพันธุ์อื่นๆ กว่า 10 ชนิด เช่น ปลาไซที (saithe) หรือปลาเฮค (Hake)

ทั้งนี้ หลังจากกรณีตรวจพบเนื้อม้าในอาหารสำเร็จรูปโดยไม่ได้ระบุอยู่ในฉลากเมื่อปี 2556 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออก Action Plan เพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ซึ่งรวมไปถึง 1) การเพิ่มการสุ่มตรวจสินค้าเนื้อที่เพิ่มมากขึ้น 2) การควบคุมและตรวจสอบโรงงานผลิตเนื้อสำเร็จรูปโดยไม่แจ้งล่วงหน้า 3) ค่าปรับที่สูงขึ้นสำหรับผู้ผลิตที่ให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เป็นเท็จ 4) การก่อตั้ง Food Fraud Network 5) เทคโนโลยีแจ้งเตือน (IT alert tool)

อียูพยายามออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อรักษาสิทธิของผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลสินค้าที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการเพิ่มกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับฉลากกำกับแหล่งกำเนิดของสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ (labelling on fresh meat) ที่กำหนดให้ต้องระบุสถานที่เลี้ยงดู (reared in) และสถานที่ฆ่า (slaughtered in) สำหรับเนื้อสุกร แกะ แพะ และสัตว์ปีก ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ เม.ย. 2558 แต่ยังไม่มีการกำหนดให้ระบุแหล่งกำเนิด (birthplace) ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของรัฐสภายุโรป และเป็นประเด็นที่องค์กรผู้บริโภคยุโรปให้ความสำคัญมาก เนื่องจากผู้บริโภคจำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน นอกจากนี้ เมื่อ พ.ค. 2558 รัฐสภายุโรปมีมติเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอร่างกฎหมายบังคับใช้ฉลากกำกับแหล่งกำเนิดเนื้อสัตว์บนอาหารสำเร็จรูป (labelling of meat in processed food) แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากยังมีความซับซ้อนในทางปฏิบัติอยู่อีกมาก

ล่าสุด องค์กรผู้บริโภคยุโรปเรียกร้องให้เพิ่มการตรวจสอบข้อมูลบนฉลากอาหารที่ทำมาจากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (labelling on meat-based food) มากขึ้น เช่น ปริมาณวัตถุเจือปนอาหารและน้ำในอาหาร รวมไปถึงการเรียกร้องให้มีการอธิบายความหมายที่ชัดเจนของ “ผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์” เพื่อปิดช่องว่างที่เกิดจากการตีความที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิก

ความเห็น
องค์กรผู้บริโภคยุโรปให้ความสำคัญมากในการระบุแหล่งกำเนิดเนื้อสัตว์ การติดฉลากที่ไม่ตรงกับความจริงและมาตรการฉลากสินค้าเนื้อสัตว์ถือเป็นมาตรการเริ่มต้น คาดว่าจะมีต้องมีมาตรการอื่นๆ ทยอยออกมาอีก เช่น การตรวจสอบปริมาณวัตถุเจือปนอาหารและน้ำในอาหาร ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรต้องเข้มงวดในการแสดงข้อมูลให้ถูกต้องและตรงกับความเป็นจริง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหา และวัตถุดิบทุกรายการต้องตรวจสอบแหล่งที่มาได้ชัดเจน

ที่มา : Consumer organisations expose misleading meat labelling

เข้าถึงได้จาก : http://www.euractiv.com/section/agriculture-food/news/consumer-organisations-expose-misleading-meat-labelling/

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527