สวัสดี

โมร็อกโก ตลาดใหม่ในแอฟริกาเหนือ

แชร์:
Favorite (38)

สิงหาคม 2558

ประเทศโมร็อกโกหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าราชอาณาจักรโมร็อกโก (Kingdom of Morocco) ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา โมร็อกโกมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนกับประเทศไทย ประชากรส่วนใหญ่ของโมร็อกโกไม่ได้เป็นชนชาตินิกรอยด์หรือแอฟริกันนิโกรเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา แต่เป็นชนชาติคอเคซอยด์ซึ่งเป็นชาวอาหรับ ชาวเบอร์เบอร์ และชาวยุโรป อย่างฝรั่งเศส และสเปน เป็นต้น ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศอาศัยอยู่ในตัวเมือง ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และช่วงอายุน้อยกว่า 25 ปี

ประเทศโมร็อกโกหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าราชอาณาจักรโมร็อกโก (Kingdom of Morocco) ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา โมร็อกโกมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนกับประเทศไทย ประชากรส่วนใหญ่ของโมร็อกโกไม่ได้เป็นชนชาตินิกรอยด์หรือแอฟริกันนิโกรเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา แต่เป็นชนชาติคอเคซอยด์ซึ่งเป็นชาวอาหรับ ชาวเบอร์เบอร์ และชาวยุโรป อย่างฝรั่งเศส และสเปน เป็นต้น ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศอาศัยอยู่ในตัวเมือง ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และช่วงอายุน้อยกว่า 25 ปี

ประเทศโมร็อกโกเป็นประเทศอิสลาม (Muslim Country) ที่มีความแตกต่างจากประเทศอิสลามอื่น ตรงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ Arab spring เนื่องจากโมฮัมมัดที่ 6 (Mohamed VI) กษัตริย์ของโมร็อกโก ได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ร่วมกับภาคประชาชน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนอย่างมากในระบบการปกครอง การให้อำนาจแก่ประชาชน รวมไปถึงอำนาจของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ธรรมนูญใหม่นี้ยังยกระดับให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ และการให้เสรีภาพเพิ่มขึ้นแก่ประชาชนโมร็อกโก

โมร็อกโกมีการพัฒนาทางภาคอุตสาหกรรมและภาคโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง เห็นได้จากการสร้างท่าเรือใหม่ และการเปิดเขตการค้าเสรีที่ Tangier ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศ  โมร็อกโกต้องการที่จะขยายการผลิตพลังงานทดแทน โดยมีเป้าหมายที่จะให้ใช้พลังงานทดแทนคิดเป็นร้อยละ 40 ของการใช้ไฟฟ้าของประเทศภายในปี 2563

โมร็อกโกนั้นมีความเจริญมากกว่าประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา บ้านเมืองและตึกต่างๆ ในโมร็อกโกนั้นมีความทันสมัยมาก เนื่องจากประเทศฝรั่งเศสและสเปนเคยยึดครองโมร็อกโก จึงทำให้ระบอบการเมืองการปกครอง การศึกษา สาธารณสุข และการคมนาคม ถูกวางรากฐานไว้เป็นอย่างดี

สำหรับธุรกิจไทยที่มีศักยภาพที่จะเข้าไปลงทุนในโมร็อกโก ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตอาหารทะเล เนื่องจากโมร็อกโกมีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และสปา

 

วัฒนธรรมการรับประทานอาหาร

วัฒนธรรมการปรุงอาหารของโมร็อกโกมีความหลากหลาย อันเป็นผลมาจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชนชาติ แต่อย่างไรก็ดี เรายังคงเห็นวัฒนธรรมชนชาวบาร์เบอร์ (Berbers) สะท้อนได้จากอาหารประเภท Tagine และ Couscous ที่ยังคงมีให้เห็นในทุกมื้ออาหาร การรุกรานของชาวอาหรับก็ทำให้เกิดการนำเข้าเครื่องเทศ ถั่ว ผลไม้แห้ง เข้ามาในโมร็อกโก ขณะที่พวก Moors ได้นำเอาน้ำมันมะกอก น้ำมะกอก และน้ำส้ม Citrus เข้ามาในโมร็อกโก สำหรับประเทศฝรั่งเศสซึ่งเคยปกครองโมร็อกโก แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ก็ตาม ก็ยังทิ้งวัฒนธรรมการดื่มไวน์ pastries หรือร้านกาแฟ ไว้เช่นกัน  วัฒนธรรมการรับประทานอาหารถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับชาวโมร็อกโก ทั้งนี้ ชาวโมร็อกโกยังไม่คุ้นชินกับการรับประทานอาหารพร้อมปรุง (ready-prepared foods) แต่อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของชาวตะวันตกซึ่งกำลังค่อยๆ เปลี่ยนรูปร่างของสังคมโมร็อกโก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่วัยรุ่นและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่มีเวลาพอที่จะปรุงอาหารรับประทานเอง อาหารพร้อมปรุง (ready-prepared foods) จึงเป็นทางเลือกอันดับต้น ในชั่วโมงเร่งด่วนเช่นช่วงเวลาพักกลางวัน ซึ่งในบริษัทนำสมัย (modern company) จะกำหนดให้มีระยะเวลาพักกลางวันที่สั้นกว่า

 

การรับประทานอาหารนอกบ้าน

ปกติแล้วชาวโมร็อกโกไม่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน อย่างไรก็ดี ขณะที่ประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงไป คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีรายได้ดีขึ้น และเริ่มเลียนแบบชาติยุโรปในเรื่องพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้าน ทางเลือกที่ได้รับความที่นิยมมากสุดในการรับประทานอาหารนอกบ้านก็คือฟาสต์ฟู้ด โดยเฉพาะแมคโดนัลด์ อย่างไรก็ดี ชาวโมร็อกโกที่ฐานะดีเริ่มไปร้านอาหารระดับหรูที่กระจายอยู่ในทุกเมืองใหญ่ ประเภทของอาหารที่จำหน่ายในร้านอาหารเหล่านี้แตกต่างกันอย่างมาก ไล่เรียงตั้งแต่อาหารพื้นเมืองของชาติต่างๆ ไปจนถึงอาหารพื้นเมืองของโมร็อกโก ทางเลือกในการรับประทานในร้านอาหารแทบจะจำกัดตามระดับรายได้ ชาวโมร็อกโกค่อนข้างเป็นพวกวัตถุนิยมและโอ้อวดฐานะ หากมีกำลังจ่ายได้ ก็จะเข้าร้านอาหารที่ราคาแพงกว่าโดยหวังจะให้คนที่อยู่ในสังคมเดียวกันได้พบเห็น โมร็อกโกที่มีไลฟ์สไตล์แบบสากลที่ซึมซับค่านิยมวัฒนธรรมตะวันตก มีร้านอาหารซูชิมากมายในเมืองใหญ่ๆ อย่างคาซาบลังกา ราบัต มาร์ราคิช และแทงเจียร์ เทรนด์รองลงมาที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วคือชาวโมร็อกโกเริ่มลอกเลียนแบบกระแสรักสุขภาพของตะวันตก โดยเห็นได้จากความนิยมสลัดบาร์ที่เพิ่งเปิดให้บริการ ซึ่งถือว่าเหมาะสมเป็นอย่างดีกับพฤติกรรมใหม่ที่ใช้เวลาพักเที่ยงในที่ทำงานน้อยลง สลัดบาร์เหล่านี้ล้วนตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางธุรกิจของเมือง และให้บริการคนทำงานที่มีเวลาน้อย ตลาดฟาสต์ฟู้ดในโมร็อกโกมีขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

 

พฤติกรรมการบริโภคของว่าง

ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับชาวโมร็อกโกในการรับประทานของว่างระหว่างมื้อในปริมาณที่มากเทียบได้กับในวัฒนธรรมตะวันตก แต่ความแตกต่างคืออาหารที่รับประทาน ชาวโมร็อกโกมักจะเลือกพักจิบน้ำชามากกว่าพักรับประทานของว่าง โดยจะดื่มชากับขนมอบโมร็อกโก เช่น กาเซลล์ ฮอร์น พาสติลี (แป้งแผ่นบางอบสอดไส้ถั่วตัดและเพิ่มความหวานด้วยน้ำเชื่อมหรือน้ำผึ้ง) บรีวัต บิล ลุซ (ขนมอบสอดไส้อัลมอนด์) หรือฟักกัส (มาการอง) ของขบเคี้ยวของโมร็อกโกจะเชื่อมโยงกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และไม่ได้เป็นสิ่งที่รับประทานเพียงคนเดียวในช่วงที่ “ยุ่งวุ่นวาย” อีกทั้งยังถือเป็นเรื่องไม่สุภาพหากไม่เสิร์ฟชาและขนมจำพวกของว่างให้แขกผู้มาเยือน ของว่างเหล่านี้รับประทานกันในช่วงสายและ/หรือบ่ายแก่ แต่ก็มีเทรนด์ใหม่เกิดขึ้น โดยพวกหนุ่มสาว (วัยเรียนและมหาวิทยาลัย) หลงใหลของว่างสไตล์ตะวันตก ซึ่งรอบๆ สถานศึกษาจะมีรถเข็นจำนวนมากขายของว่างที่ไม่ใช่ขนมแบบดั้งเดิมแต่เป็นพวกช็อกโกแลตบาร์ (เช่น มาร์ส สนิกเกอร์ส คิทแคท และทวิกซ์) หมากฝรั่ง และเมล็ดพืชต่างๆ (เมล็ดทานตะวัน ข้าวโพดคั่ว หรืองา) เทรนด์ใหม่อีกอย่างหนึ่งคือการดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยแบบตะวันตก (ฝรั่งเศส) เพื่อให้เจริญอาหาร ครอบครัวหัวทันสมัยรับเอาพฤติกรรมสไตล์ฝรั่งเศสที่เป็นการดื่มไวน์หรือเบียร์แกล้มกับมันฝรั่งทอด ถั่ว และมะกอก โดยถั่วและมะกอกโดยทั่วไปเป็นแบรนด์ท้องถิ่น ส่วนมันฝรั่งทอดเป็นแบรนด์ต่างชาติ (เช่น พริงเกิลส์ เลย์ หรือลอเรนซ์) ซึ่งแบรนด์ต่างชาติบางรายเริ่มส่งผลกระทบต่อแบรนด์ท้องถิ่นในตลาดถั่วบรรจุสำเร็จ บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่ดูดีกว่าทำให้เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าแบรนด์ท้องถิ่น การรับประทานผลไม้เป็นของว่างไม่ได้ปฏิบัติกันทั่วไป ทว่าที่พบเห็นได้ทั่วไปคือการดื่มน้ำผลไม้แทนของขบเคี้ยวโดยส่วนใหญ่จะซื้อที่มาห์ลาบา (ร้านขายนม) อีกทั้งยังมีของว่างแบบดั้งเดิมที่ยังคงได้รับความนิยมสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เด็กนักเรียน นั่นคือ แซนด์วิชชีสสเปรด ซึ่งเป็นชีสที่ทาบนขนมปังกลมแบบฉบับของโมร็อกโก  

 

ทัศนคติต่อสุขภาพ

การใส่ใจในสุขภาพที่ดีในโมร็อกโกแตกต่างกันไปตามเพศและสถานะทางสังคมเศรษฐกิจ ผู้ชายมักใส่ใจเรื่องการมีสุขภาพดีเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะเน้นเพียงกีฬามากกว่าการควบคุมอาหารก็ตาม ผู้ชายโมร็อกโกทุกวัยจากทุกสถานะเศรษฐกิจออกกำลังกายเป็นประจำ ภาวะน้ำหนักเกินพบเห็นได้น้อยมากในหมู่ผู้ชายโมร็อกโกเมื่อเทียบกับผู้ชายในชาติยุโรปอื่น อย่างไรก็ดี พวกเขาก็ไม่ได้หมกมุ่นกับสิ่งที่ตนเองรับประทานเข้าไปนัก และมีความสุขที่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารปกติ ส่วนผู้หญิงนั้นทัศนคติต่อการมีสุขภาพดีซับซ้อนกว่า ผู้หญิงท้องถิ่นวัยกลางคนและสูงวัยจากสถานะทางสังคมเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าไม่ได้สนใจเรื่องประโยชน์ของการมีสุขภาพดีเป็นพิเศษ โดยคนกลุ่มนี้ไม่ได้จริงจังในการพัฒนาสุขภาพของตนเอง เช่น เข้ายิมหรือรับประทานผักมากขึ้นและลดน้ำตาล ผู้หญิงที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่าออกกำลังบ่อย ซึ่งอาจมองกันว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ห่วงใยในสุขภาพเป็นอย่างมาก แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่น การเข้ายิมเป็นประจำเป็นการเข้าสังคมมากกว่าจะเป็นเรื่องอื่น ผู้หญิงเหล่านี้อยากให้คนอื่นเห็นตัวเองในยิมและชอบคบหาสมาคมกับคนอื่นในยิม หากเหตุผลนี้ช่วยในเรื่องการพัฒนาสุขภาพของพวกเขาด้วยก็ถือเป็นโบนัส อย่างไรก็ดี ผู้หญิงเหล่านี้ก็คำนึงถึงเรื่องอาหารที่ทำที่บ้าน และจะพยายามอย่างมากเพื่อให้แน่ใจว่าจัดอาหารเพื่อสุขภาพแบบสมดุลให้กับสมาชิกในครอบครัว หญิงโสดหรือหญิงที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีลูกก็เริ่มหันมาสนใจเรื่องสุขภาพโดยทั่วไปมากขึ้นด้วยการเข้ายิมบ่อยๆ และใส่ใจกับการบริโภคอาหารในแต่ละวันเป็นพิเศษ เนื่องจากเวลาที่จำกัดจากการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ พวกเขาจึงเริ่มซื้ออาหารปรุงสำเร็จเพื่อสุขภาพในซูเปอร์มาร์เก็ต

 

จากสถิติการค้าอาหารระหว่างไทย-โมร็อกโก ล่าสุดเดือน ม.ค.-พ.ค. 2557 พบว่าไทยส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่มไปโมร็อกโก มูลค่า 113.66 ล้านบาท  หดตัวลงจากปีที่แล้วช่วงเดียวกันร้อยละ 35 ในปี 2556 ไทยส่งออกไปมูลค่าทั้งสิ้น 174.73 ล้านบาท  ขณะที่โมร็อกโกนำเข้าสินค้าอะหารแต่ละปีประมาณ 141,500 ล้านบาท คู่ค้าสำคัญ 5 อันดับแรก คือ บราซิล ฝรั่งเศส อาร์เจนตินา แคนาดา และเยอรมนี สินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ ข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำตาลทราย ใบชา กาแฟ ส่วนสินค้าที่นำเข้าจากไทยที่สำคัญ คือ ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวานแปรรูป ครีมเทียม

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าโมร็อกโกกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการบริโภคอาหารสำเร็จรูป ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปลองสำรวจลู่ทางและสร้างการรู้จักสินค้าตั้งแต่เริ่มต้น ก็น่าจะมีโอกาสครองใจชาวโมร็อกโกได้ไม่ยากนัก

 

เอกสารอ้างอิง :

สถาบันอาหาร. การศึกษาตลาดอาหารและโอกาสของฮาลาลไทยในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ. 2556.

Euromonitor International.  Morocco Consumer Lifestyle. 2013.

Euromonitor International, Grocery Retail in Morocco. 2012.

The World Factbook: Morocco, https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/mo.html

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527