สวัสดี

ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลง

แชร์:
Favorite (38)

พฤษภาคม 2565

ปัจจุบันประชากรโลกมีจำนวน 7,700 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10,000 ล้านคน ภายใน ปี พ.ศ. 2590 (IMF, October 2020) ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นกว่าปัจจุบันราว 2 เท่า สวนทางกับพื้นที่เพาะปลูกที่มีจำกัด โดยผืนดินของโลก 1 ใน 3 ถูกใช้ไปในการทำฟาร์มปศุสัตว์ ขณะที่พื้นที่ป่าและน้ำ ก็มีจำกัด ซึ่งหากยังคงผลิตอาหารได้ในอัตรากำลังการผลิตแบบปัจจุบัน และไม่มีอาหารชนิดใหม่ๆ ที่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรดังกล่าวได้ FAO คาดว่าจะมีประชากรโลกราว 1,000 ล้านคน ที่อาจประสบกับความอดอยาก ตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลกในปี 2558 มีมูลค่า 1,034 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 36.4 ต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,087 ล้านบาท ในปี 2564 ประเมินว่าในระยะ 5 ปีต่อจากนี้ ตลาดแมลงจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 45.3 ต่อปี เป็น 45,846 ล้านบาท ในปี 2569 (Global Market Insight : Global edible insects market) โดยตลาดเอเชียมีสัดส่วนราวร้อยละ 30-40 ที่เหลือกระจายตัวอยู่แถบยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา และมีแนวโน้มขยายตัวไปยังแถบประเทศอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้นในอนาคต

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงมีแนวคิดสนับสนุนให้เกิดการบริโภคอาหารโปรตีนแหล่งใหม่ๆ อย่างแมลง ซึ่งเป็นสัตว์ที่ให้โปรตีนสูงทดแทนปศุสัตว์แบบเดิม เพื่อรับมือกับความมั่นคงทางอาหารในอนาคตอันใกล้[1] สาเหตุที่เห็นว่าแมลงจะเป็นคำตอบของอาหารโปรตีนและจะการันตีความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติ เนื่องจากแมลงเป็นสัตว์ที่มีอยู่มากมายในธรรมชาติ สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในภาวะโลกร้อน (Global Warming) กระบวนการเพาะเลี้ยงก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าฟาร์มปศุสัตว์ทั่วไป รวมถึงการใช้พื้นที่และปริมาณน้ำต่ำมาก[2] ขณะที่แมลงมีโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ สูงกว่าเนื้อสัตว์ที่บริโภคอยู่ในปัจจุบันหลายเท่า อัตราการแลกเนื้อ (Feed Conversion Ratio : FCR)[3] ของแมลงที่ต่ำเพียง 2.0 กิโลกรัมอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้ผลผลิตแมลง     1 กิโลกรัม ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับการเลี้ยงสุกรและโค 1 กิโลกรัมที่ต้องใช้อาหารในการเลี้ยง 2.9 กิโลกรัม และ 6.8 กิโลกรัม ตามลำดับ

 

[1] รายงาน “Edible insects : Future prospects for food and feed security แมลงกินได้ ลู่ทางความหวังแห่งอนาคตสำหรับความมั่นคงทางอาหารและอาหารสัตว์”

[2]  การเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อให้ได้เนื้อจิ้งหรีดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะใช้น้ำเพียง 8.41 ลิตร เปรียบเทียบกับการเลี้ยงเพื่อให้ได้เนื้อโคน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำถึง 16,824.05 ลิตร (มากกว่า 2,000 เท่า)

[3]  ค่า FCR แสดงถึงประสิทธิภาพในการเปลี่ยน “น้ำหนักอาหาร” มาเป็น “น้ำหนักสัตว์” ค่านี้ยิ่งต่ำจะยิ่งดี หมายถึงสัตว์บริโภคอาหารน้อยแต่ได้น้ำหนักมาก ตัวอย่างเช่น ค่า FCR 2.5 หมายถึง สัตว์บริโภคอาหาร 2.5 กิโลกรัม น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น 1.0 กิโลกรัม

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527