สวัสดี

ตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศไทย

แชร์:
Favorite (38)

กรกฎาคม 2559

ในปี 2558 ตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศไทยเติบโตขึ้นร้อยละ 10.0 จากปี 2557 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 34,676 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดขนมขบเคี้ยวมีผู้เล่นในตลาดอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้เกิดการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง ประกอบกับประเทศไทยอยู่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว จึงส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตของตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศ

บทนำ

จากกระแสเรื่องสินค้าพรีเมียมและสินค้าเพื่อสุขภาพ ทำให้ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวต้องแข่งขันกับกลุ่มขนมหรืออาหารรับประทานเล่นกลุ่มอื่นๆ  เช่น ไอศกรีม ลูกอมนำเข้า สแน็คบาร์เพื่อสุขภาพ และผักผลไม้อบแห้ง จึงเป็นเรื่องท้าทายของผู้ผลิตที่จะต้องปรับตัวเพื่อหาวิธีรับมือกับสินค้าเหล่านี้ กระแสสินค้าเพื่อสุขภาพที่มีผลต่อ การบริโภคอาหารของคนในประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารและใส่ใจต่อสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มขนมขบเคี้ยวต้องปรับตัวโดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการ เช่น ขนมที่ไม่ผ่านการทอดหรือทอดด้วยน้ำมันเพื่อสุขภาพ ขนมที่มีเกลือโซเดียมต่ำ หรือขนมที่มีแคลอรี่ต่ำ เป็นต้น 

ผลิตภัณฑ์

ขนมขบเคี้ยวสามารถแบ่งได้เป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. มันฝรั่งทอดกรอบ (ครองส่วนแบ่งร้อยละ 22.7) 2. ขนม   ขบเคี้ยวชนิดอบพอง (ครองส่วนแบ่งร้อยละ 28.4) 3. แผ่นข้าวโพดทอดกรอบ (ครองส่วนแบ่งร้อยละ 2.9) 4. ป๊อบคอร์น (ครองส่วนแบ่งร้อยละ 1.4) 5. ขนมขบเคี้ยวที่ทำจากผลไม้ (ครองส่วนแบ่งร้อยละ 2.4) 6. ขนมขบเคี้ยวที่ทำจากถั่ว (ครองส่วนแบ่งร้อยละ 8.1) และ 7. กลุ่มขนมขบเคี้ยวอื่นๆ (ครองส่วนแบ่งร้อยละ 34.1) โดยปี 2558 กลุ่มที่มีการเติบโตมากที่สุดในตลาดขนมขบเคี้ยว คือ กลุ่มขนมขบเคี้ยวประเภทอื่นๆ เช่น สาหร่าย เมล็ดพืช ปลา ปลาหมึก และแมลง โดยเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 19.0 จากปี 2557 มีมูลค่าอยู่ที่ 11,869 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากผู้เล่นในตลาดที่มีอยู่จำนวนมาก มีการนำเสนอรสชาติแปลกใหม่และหลากหลายให้กับผู้บริโภค ซึ่งช่องทางแบบดั้งเดิมเป็นช่องทางจัดจำหน่ายหลักในการขับเคลื่อนสินค้ากลุ่มนี้ ส่วนกลุ่มที่เติบโตรองลงมาได้แก่ กลุ่มขนมขบเคี้ยวที่ทำจากถั่ว มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 2,795 ล้านบาท

ในปี 2558 กลุ่มขนมขบเคี้ยวชนิดอบพอง เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญที่ช่วยผลักดันยอดจำหน่ายในตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศ โดยในกลุ่มนี้มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงตลอดหลายปีที่ผ่านมาจากผู้เล่นและแบรนด์ที่มีอยู่จำนวนมากในตลาด ซึ่งผู้เล่นเหล่านี้พยายามสร้างความแตกต่างด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบที่แตกต่างจากคู่แข่ง เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี แป้งข้าวเจ้า และแป้งมัน

สินค้าพรีเมี่ยม เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดขนมขบเคี้ยวในปี 2558 โดยมีอิทธิพลมาจากผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพและชื่นชอบในรสชาติที่พิเศษกว่าสินค้าทั่วไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าทั่วไป ยังคงเป็นสินค้าหลักที่ขายในตลาดขนมขบเคี้ยว วิธีการกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการจะเน้นไปที่การขายเป็นแพ็คในราคาประหยัด และนำเสนอสูตรที่เน้นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในตลาดขนมขบเคี้ยวนิยมเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้าด้วยประเด็นเรื่องสุขภาพเป็นหลัก เนื่องมาจากกระแสของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น และยินดีจ่ายในราคาที่สูงขึ้นเพื่อให้ได้บริโภคสินค้าที่มีประโยชน์ ดังนั้นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพจึงเป็นกุญแจสำคัญในกลุ่มนี้ ตังอย่างเช่น เทสโต ได้ออกขนมมันฝรั่งทอดใหม่ภายใต้ชื่อ เทสโต ฟิต เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ด้วยการลดปริมาณผงชูรสและไขมันอิ่มตัว อีกทั้งยังเพิ่มกรดไขมันโอเมก้า 3 และ 6 เข้าไปอีกด้วย

ผู้นำในตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศไทยได้แก่ บริษัท ฟริโต-เลย์ ประเทศไทย จำกัด มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 24.1 ในปี 2558 และมีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงอย่าง เลย์ ตะวัน โดริโทส ทวิสตี้ และชีโตส อย่างไรตาม ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทกลับลดลงร้อยละ 1.0 จากปี 2557 อันเนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดขนมขบเคี้ยว ส่วนเรื่องการส่งเสริมการขายของบริษัทนั้น ทาง ฟริโต-เลย์ ได้มีการทำตลาดมันฝรั่งทอดเลย์ควบคู่ไปกับเป๊ปซี่ ซึ่งมีบริษัทแม่เดียวกันคือ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด โดยขายสินค้าเป็นแพ็คคู่ในราคาพิเศษ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มักจะซื้อเลย์และเป๊ปซี่ไปรับประทานควบคู่กันในงานปาร์ตี้หรืองานสังสรรค์ต่างๆ

ผู้นำอันดับที่ 2 ในตลาดขนมเคี้ยว ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9.7 ภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อเสียง เช่น เทสโต โดโซะ และปาร์ตี้ และอันดับที่ 3 ในตลาดขนมขบเคี้ยว ได้แก่ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ด้วยส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 8.2 โดยมีสินค้าภายใต้ชื่อ เถ้าแก่น้อย แต่ถ้าหากพิจารณาเพียงแค่ขนมขบเคี้ยวประเภทสาหร่าย เถ้าแก่น้อยถือเป็นเจ้าตลาดของสินค้ากลุ่มนี้

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527