สวัสดี

Hot issue

พร้อมหรือยัง สำหรับ High season ฤดูกาลทุเรียนปีนี้

กุมภาพันธ์ 2566

รายละเอียด :

ผลไม้ไทยหลายรายการได้รับความนิยมเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในต่างประเทศ ทำให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ การส่งออกผลไม้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ในปี 2565 ไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และอบแห้ง มีมูลค่าถึง 194.87 พันล้านบาท มีอัตราขยายตัวจากปี 2564 เล็กน้อย แค่ 1.78% ถ้าเทียบกับ 3-4 ปีก่อนหน้าที่อัตราขยายตัวค่อนข้างหวือหวาเป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการส่งออกทุเรียนสดถึง 56% และตลาดเกือบทั้งหมดมุ่งไปจีน

ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 1/ 2566 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา คาดการณ์ผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออก ทุเรียนจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 3%  ส่วนมังคุด เงาะ ลองกอง ผลผลิตลดลงเนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสม และเกษตรกรโค่นทิ้งหรือไม่ดูแล เนื่องจากสถานการณ์ราคาปีที่ผ่านมาไม่คุ้ม

หอการค้านำเข้าและส่งออกสินค้าอาหารและผลไม้ของจีน (CFNA) ได้ออกมาเผยแพร่สถิติการนำเข้าส่งออกผลไม้ทั้งหมดของจีนในปี 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 14,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 YoY ปริมาณการนำเข้าผลไม้รวม 7.33 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4  ปริมาณการนำเข้าผลไม้ 5 อันดับแรก ได้แก่ กล้วยหอม มะพร้าวอ่อน ทุเรียน แก้วมังกร และลำไย หากเรียงลำดับจากมูลค่าผลไม้ที่จีนนำเข้าสูงสุด ได้แก่ ทุเรียน เชอร์รี่ กล้วย มังคุด และมะพร้าว ตามลำดับ

แนวโน้มตลาดผลไม้ของจีนถึงแม้จะชะลอไปบ้างเนื่องจากจีนมีมาตรการควบคุมและเข้มงวดในการนำเข้า แต่สำหรับการส่งออกทุเรียนของไทยก็ถือว่ายังเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ในปี 2566 นี้ ประเทศต่างๆ ล้วนตั้งเป้าขยายการส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2566 จีนและฟิลิปปินส์ได้ลงนามใน "พิธีสารเกี่ยวกับข้อกําหนดด้านสุขอนามัยสําหรับทุเรียนสดของฟิลิปปินส์ที่จะส่งออกไปยังจีน" นอกจากนี้ยังมีกัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ที่สามารถส่งออกทุเรียนไปจีนได้  โดยเฉพาะเวียดนามที่ระยะทางในการขนส่งทุเรียนไปจีน ใช้เวลาเพียง 1 วันครึ่ง ทำให้มั่นใจได้ว่าผลไม้ยังสดและค่าขนส่งถูกกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ   นอกจากนี้ ทุเรียนเวียดนามมีฤดูการเก็บเกี่ยวยาว ได้ผลผลิตต่อปีค่อนข้างสูง สามารถกระจายผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ทุเรียนเวียดนามจึงมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดสูง

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527