สวัสดี

อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแห้ง

สถานการณ์อุตสาหกรรม
พฤติกรรมการบริโภคและการจำหน่ายภายในประเทศ


จากความสะดวกของสินค้าต่อการรับประทานและการนำมาปรุงอาหาร ประกอบกับความหลากหลายของสินค้า ส่งผลให้สินค้าอาหารแปรรูปแห้งยังคงเป็นอาหารทางเลือกอย่างต่อเนื่องสำหรับชาวฟิลิปปินส์ที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตยุ่งวุ่นวายมากขึ้น   โดยในปี 2558 อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแห้งในตลาดฟิลิปปินส์มีการจำหน่ายประมาณ 381,400 ตัน มูลค่า 38,687.9 ล้านเปโซ (รูปที่ 1) หรือมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.4 และ 3.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ   ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมในปี 2558 มีอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลอดช่วงที่วิเคราะห์ (ปี 2554-2558) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์มีกำลังซื้อสูงขึ้น และหันไปเลือกรับประทานอาหารชนิดอื่นที่มีราคาแพงกว่า โดยพาสต้าแห้งเป็นชนิดสินค้าที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ ส่วนอาหารเส้นกึ่งสำเร็จรูปแบบซองเป็นชนิดสินค้าที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมบริโภคมากที่สุด ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 51.4 ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 56.6 ในเชิงมูลค่า ของการค้าปลีกสินค้าอาหารแปรรูปแห้งทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์ (รูปที่ 2)


รูปที่ 1:     ปริมาณและมูลค่าการจำหน่ายสินค้าอาหารแปรรูปแห้งในตลาดฟิลิปปินส์ ปี 2554-2562


 
ที่มา: Euromonitor international.   หมายเหตุ: ข้อมูลปี 2558 เป็นค่าประมาณการ  ข้อมูลปี 2559-2562 เป็นค่าคาดการณ์


ขณะที่ข้าวจัดเป็นอาหารหลักของชาวฟิลิปปินส์ในท้องถิ่น ซึ่งพวกเขานิยมซื้อข้าวจากตลาดสดใกล้บ้านและร้านขายของชำอิสระขนาดเล็ก โดยข้าวที่จำหน่ายแบบชั่งตวง (unpackaged rice) จะสามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ง่ายกว่าข้าวแบบบรรจุเสร็จในหีบห่อ (packaged rice) ซึ่งยังคงเป็นชนิดสินค้าที่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครายได้ปานกลาง-สูง   อย่างไรก็ตาม ข้าวแบบบรรจุเสร็จได้แสดงให้เห็นทิศทางการเติบโตมากขึ้น ตามระดับรายได้ที่สูงขึ้นของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ ประกอบกับความต้องการสินค้าที่สะดวกในการรับประทานและปรุง/ประกอบอาหารเพิ่มขึ้น โดยชนิดข้าวที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ที่มีรายได้สูง คือ ข้าวกล้อง (brown rice) รวมถึงข้าวที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย อาทิ ข้าวจากประเทศไทย  ทั้งนี้ ราคาจำหน่ายข้าวในตลาดฟิลิปปินส์จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการขนส่ง ภาษีนำเข้า รวมถึงค่าไฟฟ้าสำหรับโรงสีข้าวภายในประเทศ 

รูปที่ 2:     สัดส่วนการจำหน่ายสินค้าอาหารแปรรูปแห้งในตลาดฟิลิปปินส์ ปี 2558 
จำแนกตามชนิดสินค้า ในเชิงปริมาณ (ซ้าย) และเชิงมูลค่า (ขวา)

 
ที่มา: Euromonitor international.


นอกจากนี้สินค้าอาหารแปรรูปแห้งส่วนใหญ่จะถูกจำหน่ายผ่านห้างค้าปลีกสมัยใหม่ อย่าง ซูเปอร์มาร์เก็ต ครองส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 44 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารแปรรูปแห้งทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์   รองลงมาได้แก่ ร้านขายของชำประเภทอื่น เช่น ตลาดนัด ตลาดสด และร้านขายของชำอิสระขนาดเล็ก มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 34.9 และ 11.9 ตามลำดับ ในปี 2557

ตัวอย่างสินค้าอาหารเส้นกึ่งสำเร็จรูป
ที่ยอดขายสูงสุดในตลาดฟิลิปปินส์ 
(ที่มา: http://www.tqsarisari.com)

 
ผู้ผลิตสำคัญ
ในปี 2557 บริษัท Monde Nissin ยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแห้งของฟิลิปปินส์ สามารถครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดร้อยละ 43.7 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารแปรรูปแห้งทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพัฒนาสินค้าอาหารเส้นกึ่งสำเร็จรูปที่มีรสชาติหลากหลายของบริษัท ภายใต้ตรา “Lucky Me” ซึ่งเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์   ขณะที่บริษัท RFM มีการเติบโตทางธุรกิจรวดเร็วที่สุด ด้วยอัตราการขยายตัวของส่วนแบ่งตลาดเฉลี่ยร้อยละ 28.1 ต่อปี จากร้อยละ 2.5 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 5.8 ในปี 2557 ภายหลังการเข้าซื้อกิจการในกลุ่มสินค้าพาสต้าแห้ง ภายใต้ตรา “Royal” จากบริษัท Unilever Foods Philippines (CMC) เพื่อขยายตลาดไปสู่กลุ่มผู้บริโภครายได้ปานกลางให้มากขึ้น ส่วนสินค้าพาสต้าแห้ง ภายใต้ตรา “White King” ของบริษัทจะเน้นกลุ่มผู้บริโภคที่ตระหนักเรื่องราคาสินค้าเป็นหลักมากกว่า ซึ่งสินค้าทั้งสองมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.4 และ 3.4 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารแปรรูปแห้งทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์ ตามลำดับ (รูปที่ 3)   ทั้งนี้ จากการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวส่งผลให้บริษัท RFM กลายเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าพาสต้าแห้ง ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 54 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าพาสต้าแห้งทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์ 

รูปที่ 3:     สัดส่วนมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารแปรรูปแห้งในตลาดฟิลิปปินส์ ปี 2557 
จำแนกตามตราสินค้าสำคัญ

 
ที่มา: Euromonitor international.


สินค้าอาหารแปรรูปแห้งส่วนใหญ่จะถูกจำหน่ายผ่านห้างค้าปลีกสมัยใหม่ อย่าง ซูเปอร์มาร์เก็ต ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 44 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารแปรรูปแห้งทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์   รองลงมาได้แก่ ร้านขายของชำประเภทอื่น เช่น ตลาดนัด ตลาดสด และร้านขายของชำอิสระขนาดเล็ก มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 34.9 และ 11.9 ตามลำดับ ในปี 2557   ทั้งนี้ ไฮเปอร์มาร์เก็ตนับเป็นอีกช่องทางการจำหน่ายที่มีทิศทางการเติบโตเพิ่มขึ้น จากส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4.9 ในปี 2551 ขยายตัวเป็นร้อยละ 6.7 ในปี 2557

สินค้าอาหารแปรรูปแห้งของผู้ผลิตภายในประเทศได้รับความนิยมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารเส้นกึ่งสำเร็จรูปและพาสต้าแห้ง ในทางตรงกันข้าม สินค้านำเข้าจากผู้ผลิตต่างชาติจะโดดเด่นในกลุ่มสินค้าผงทำขนมหวานสำเร็จรูป (dessert mixes) เช่น สินค้าตรา “Alsa Gulaman” และ “Knox” ของบริษัท Unilever   นอกจากนี้สินค้าอาหารแปรรูปแห้งระดับพรีเมี่ยมในตลาดฟิลิปปินส์ยังคงเน้นการแข่งขันด้านภาพลักษณ์ของตราสินค้า ขณะที่สินค้าราคาประหยัด (economy products) จะแข่งขันกันด้านราคาสินค้าและความคุ้มค่าเป็นกลยุทธ์หลัก 

สำหรับการพัฒนานวัตกรรมสินค้าอาหารแปรรูปแห้งที่ประสบความสำเร็จในตลาดฟิลิปปินส์ ได้แก่ อาหารเส้นกึ่งสำเร็จรูป ภายใต้ตรา “Pancit ni Mang Juan” ของบริษัท Universal Robina ซึ่งนอกจากกลยุทธ์การโฆษณาเชิงรุกแล้ว บริษัทได้คิดค้นรสชาติอาหารที่เป็นเอกลักษณ์จากเมนูอาหารประจำท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ชาวฟิลิปปนส์ชื่นชอบ อาทิ รสปลารมควัน (tinapa) รสหมูบาร์บีคิว (pinoy bbq) และรสสตูว์ไก่ (adobo)   นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ของบริษัท Del Monte ในกลุ่ม Merienda Pack ซึ่งเป็นการจับคู่สินค้าพาสต้าแห้งกับซอสพาสต้าและจำหน่ายในแพ็คเดียวกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาสินค้าอาหารที่อำนวยความสะดวกในการเตรียมและการปรุง รวมถึงความคุ้มค่าของสินค้า   อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่พบนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เด่นชัดในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแห้งในตลาดฟิลิปปินส์

ตัวอย่างนวัตกรรมสินค้าอาหารเส้น
กึ่งสำเร็จรูปในตลาดฟิลิปปินส์ 
(ที่มา: https://www.behance.net 

แนวโน้มอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแห้งของฟิลิปปินส์คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี 
ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 3.3 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่คาดการณ์ (ปี 2559-2562) ด้วยอานิสงส์ของการเป็นอาหารหลักสำหรับชาวฟิลิปปินส์ ประกอบกับความสะดวกในการนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะพาสต้าแห้งและอาหารเส้นกึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย/ชาม ที่คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.1 และ 6.4 ต่อปี ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 5.5 และ 5.4 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่คาดการณ์  ส่วนสินค้าอื่น เช่น อาหารเส้นกึ่งสำเร็จรูปแบบซอง ข้าว คาดว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีเช่นกัน ในระดับอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรม   ทั้งนี้ คาดว่าบรรดาผู้ผลิตส่วนใหญ่จะเน้นการผลิตสินค้าอาหารที่มีปริมาณการบริโภคขนาดเล็ก แทนการปรับขึ้นราคาสินค้า เพื่อดึงดูดความต้องการของผู้บริโภคต่อไปเช่นเดียวกับสินค้าอาหารบรรจุเสร็จชนิดอื่น  ขณะเดียวกันผู้ผลิตสินค้าอาหารเส้นกึ่งสำเร็จรูปจะเน้นการพัฒนารสชาติอาหารใหม่มากขึ้น รวมทั้งรูปแบบสินค้าที่หลากหลายในช่วงที่คาดการณ์ เนื่องจากผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์เริ่มเปิดรับวัฒนธรรมจากต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารเอเชียที่มีรสชาติพิเศษเฉพาะถิ่น (Asian specialty flavours)

ข้อมูลอ้างอิง: EUROMONITOR INTERNATIONAL.  (JANUARY 2015).  DRIED PROCESSED FOOD IN THE PHILIPPINES (ONLINE).  RETRIEVED FROM HTTP://WWW.EUROMONITOR.COM/DRIED_PROCESSED_FOOD_IN_THE_PHILIPPINES/REPORT  

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527