สวัสดี

กลยุทธ์การทำธุรกิจ 2563

จัดทำข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2563 
 
ลักษณะและพฤติกรรมผู้บริโภค
 
• ผู้บริโภคชาวเวียดนาม โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ อาทิ กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ นครดานัง และนครเกิ่นเทอ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูง มีพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภท Fast Moving Consumer Goods (FMCG) หรือสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในชีวิตประจำวัน ที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงาม
• รูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งรีบของผู้ที่อาศัยในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาววัยทำงาน ส่งผลให้พวกเขามีความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า โดยผู้บริโภคชาวเวียดนามกลุ่มนี้จะนิยมการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และเลือกเข้าร้านค้าสะดวกซื้อที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งผู้ค้าปลีกบางรายได้เพิ่มจุดบริการอาหารในร้านค้า เพื่อดึงดูดความต้องการของกลุ่มคนหนุ่มสาววัยทำงานชาวเวียดนาม  อย่างไรก็ตาม บรรดาร้านหาบเร่แผงลอยหรือตลาดนัดยังคงเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อของยอดนิยมสำหรับกลุ่มแม่บ้านชาวเวียดนาม
• การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านกับเพื่อนร่วมงานกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจของผู้บริโภคชาวเวียดนาม ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจบริการอาหารในเวียดนาม ทั้งร้านอาหารจานด่วนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากชาวเวียดนามมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของอาหารจานด่วนจากต่างประเทศมากกว่าแบรนด์ท้องถิ่น หรือร้านอาหารที่ตกแต่งสวยงาม โดยเฉพาะร้านชาไข่มุกและร้านกาแฟในสวน ซึ่งกำลังเป็นสถานที่ยอดนิยมในการนัดพบปะสังสรรของหนุ่มสาวชาวเวียดนาม 
• ผู้บริโภคชาวเวียดนามในแต่ละภาคมีพฤติกรรมบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น ชาวเวียดนามทางภาคเหนือ จะค่อนข้างมัธยัสถ์และมีความภักดีต่อตราสินค้าสูง ซึ่งสินค้าที่เข้าไปทำตลาดได้ก่อนจะมีโอกาสทางการค้าสูงกว่า ส่วนชาวเวียดนามทางภาคใต้จะมีนิสัยชื่นชอบการลิ้มลองสินค้าอาหารแปลกใหม่ แต่จะให้ความสำคัญเรื่องราคาสินค้าเป็นหลัก ซึ่งพวกเขาพร้อมจะเปลี่ยนใจไปเลือกสินค้าตราอื่น หากมีโปรโมชั่นที่น่าสนใจหรือใช้พรีเซ็นเตอร์ที่โดนใจมากกว่า ในขณะที่ชาวเวียดนามทางภาคกลางจะมีแนวโน้มคล้อยตามการโฆษณาสูงแต่ยังคงให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าเป็นหลัก
• เช่นเดียวกับในหลายประเทศทั่วโลก ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีแนวโน้มให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องคุณภาพและความสะอาดของสินค้าและบริการมากขึ้น รวมถึงมีความต้องการบริโภคสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอาหารออร์แกนิก และอาหารที่มีส่วนผสมของถั่วและสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527