สวัสดี

อาหารแช่แข็ง

ในปี 2556 อาหารแปรรูปแช่แข็งในประเทศแคนาดามีปริมาณจำหน่ายประมาณ 527,900 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5,266.9 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 0.4 ในเชิงมูลค่า เมื่อเทียบกับปีก่อน (ตารางที่ 1 และตารางที่ 2)   อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลักษณะของตลาดในช่วงปี 2550-2556  พบว่า อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแช่แข็งกำลังอยู่ในจุดอิ่มตัว (Saturated point) โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.6 ต่อปี ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 2.3 ต่อปี  ในเชิงมูลค่า เนื่องจากมีการบริโภคที่ค่อนข้างเพียงพอแล้วในแต่ะครัวเรือนสินค้า (High level of household penetration) จึงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ผลิตที่จะเพิ่มการบริโภคของสินค้ากลุ่มนี้ ประกอบกับต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่ง อย่างกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปแช่เย็น (Chilled processed food) ในตลาดค้าปลีก และกลุ่มสินค้าอาหารสดในตลาดบริการอาหาร (Foodservice channels) 

อาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งเป็นกลุ่มสินค้าที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแช่แข็งของแคนาดา กล่าวคือ มีสัดส่วนร้อยละ 33.4 ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 40.7 ในเชิงมูลค่า      (รูปที่ 1) คิดเป็นมูลค่า 2,141 ล้านดอลลาร์แคนาดา ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ในเชิงปริมาณ แต่กลับหดตัวลงร้อยละ 1 ในเชิงมูลค่า เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากราคาจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งปรับตัวลดลง จาก 12.35 ดอลลาร์แคนาดา/กิโลกรัม เหลือ 12.14 ดอลลาร์แคนาดา/กิโลกรัม ทำให้มูลค่าการจำหน่ายในภาพรวมของสินค้ากลุ่มนี้ลดลง แม้ว่าปริมาณจำหน่ายจะเพิ่มขึ้น   อย่างไรก็ตาม จากทิศทางดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังมีความต้องการสินค้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลิ้มลองอาหารจากชนชาติอื่น ซึ่งผู้ผลิตอาหารทั้งหลายต่างพยายามพัฒนาสินค้าของตนให้ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นของผู้บริโภค   ยกตัวอย่างกรณีของบริษัท CanGro Foods Canada ที่ตัดสินใจปล่อยสินค้าอาหารแบบเอเชีย ภายใต้ชื่อ ‘VH Steamers’ เข้าสู่ตลาด โดยหวังจะเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาสินค้าเพื่อสุขภาพ ให้ความเป็นอยู่ที่ดี และอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารบรรจุเสร็จ (Packaged foods) ทั้งหลายในแคนาดา  ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีทั้งส่วนที่ใส่ของอบนึ่ง (Steamer basket) และส่วนที่ใส่ซอสหรือน้ำจิ้ม (Sauce bowl) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวแคนาเดียนเริ่มคุ้นชินกับรูปแบบและรสชาติของอาหารต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรม (Taste of exotic and ethnic cuisine) และพร้อมเปิดใจเรียนรู้ประสบการณ์แปลกใหม่จากการรับประทานอาหารเหล่านี้มากขึ้น   ดังนั้น บริษัทฯ จึงพัฒนาสินค้าใหม่เพื่อท้าทายให้ผู้บริโภคได้พิสูจน์ความหลากหลายของรสชาติอาหารแบบแบบเอเชีย อย่างไก่ซอสมะม่วง (Mango chicken) และแกงเขียวหวานไก่ (Green curry chicken) ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดการจำหน่ายของ ‘VH Steamers’ เพิ่มขึ้น   อย่างไรก็ตาม ‘VH Steamers’ ยังต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งอย่าง สินค้ากลุ่ม Lean Cuisine ภายใต้ตรา ‘Stouffer’s’ ของบริษัท Nestle’ และ ‘Healthy Choice Steamers’ ซึ่งเป็นอีกกลุ่มสินค้าที่อยู่ภายใต้บริษัทเดียวกันเอง

เมื่อพิจารณาชนิดสินค้าย่อยในแต่ละกลุ่มหลักของอาหารแปรรูปแช่แข็ง ในปี 2556 พบว่า ปลา/อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด คือ เนื้อปลาแล่ชุบเกล็ดขนมปัง (Breaded fish fillets) มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 25.8 ของมูลค่าการค้าปลีกปลา/อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งทั้งหมด   รองลงมา ได้แก่ เนื้อปลาแล่ชุบแป้ง (Battered fish fillets) และเนื้อปลาแล่แปรรูปลักษณะอื่น (Fish processed fillets) มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 25 และ 24.5 ตามลำดับ   

สำหรับสัตว์ปีกแปรรูปแช่แข็งที่ชาวแคนาเดียนนิยม ได้แก่ ไก่นักเก็ต (Chicken nuggets) เบอร์เกอร์ไก่ (Chicken burgers) ปีกไก่ปรุงรส (Chicken wings) และเนื้อไก่แล่ชุบเกล็ดขนมปัง (Breaded chicken fillets) มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 23.5,   22.2,   19.5 และ 19.4 ของมูลค่าการค้าปลีกสัตว์ปีก  แปรรูปแช่แข็งทั้งหมด ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาสินค้าอาหารแปรรูปแช่แข็งโดยรวม ภายใต้ตราสินค้าต่าง ๆ ในปี 2555 พบว่า สินค้าตรา ‘Stouffer’s’ ของบริษัท Nestle Canada มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดร้อยละ 10.2 ของมูลค่าการค้าปลีกอาหารแปรรูปแช่แข็งทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ‘McCain’ ของบริษัท McCain Foods   ‘Delissio’ ของบริษัท Nestle Canada   ‘Michelina’s’ ของบริษัท Schneider และ ‘President’s Choice’ สินค้าตราห้างของห้างค้าปลีก Loblaws มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 9.0,  7.1,  6.6 และ 5.7 4 ตามลำดับ

แนวโน้มตลาด
ในปี 2560 คาดว่าอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแช่แข็งของแคนาดาจะมีปริมาณการจำหน่ายประมาณ 546,500 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5,472.9 ล้านดอลลาร์แคนาดา ซึ่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.8 และ 0.9 ต่อปี ตามลำดับ ในช่วงปี 2557-2560 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของธุรกิจบริการอาหารในแคนาดา ทำให้มีการสั่งซื้ออาหารแปรรูปแช่แข็งเพื่อนำไปประกอบอาหารเพิ่มขึ้น   ทั้งนี้ จากผลการสำรวจของหน่วยงานวิจัย NDP ได้ระบุว่าประชากรวัยกลางคนที่เกิดในยุค Baby boom และผู้สูงอายุในแคนาดานิยมรับประทานอาหารที่บ้านมากกว่าการออกไปรับประทานที่ร้านอาหารนอกบ้าน   ดังนั้น พวกเขาจึงมีความต้องการวัตถุดิบสำหรับทำอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและรสชาติที่ดี รวมถึงอาหารที่สามารถรับประทานได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งอาหารแปรรูปแช่แข็งเป็นทางออกหนึ่งที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี   นอกจากนี้ การขยายตัวของจำนวนประชากรต่างเชื้อชาติที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแคนาดายังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแช่แข็งเติบโตขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนประกอบและรสชาติเฉพาะของชาติต่างๆ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ทั้งกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อไปปรุงทานเอง และกลุ่มร้านอาหาร/ห้างค้าปลีกที่จำหน่ายอาหารต่างชาติ

อาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการจำหน่ายสูงสุด ทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.5 และ 0.3 ต่อปี ตามลำดับ ในช่วงปี 2557-2560 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างช้า เนื่องจากอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวในตลาด ประกอบกับการแข่งขันอย่างรุนแรงกับกลุ่มสินค้าคู่แข่ง เช่น พิซซ่าแช่แข็ง อาหารพร้อมรับประทานแช่เย็น (Chilled ready meals) รวมถึงธุรกิจคู่แข่ง อย่างร้านที่ให้บริการอาหารรูปแบบต่างๆ ทั้งร้านที่บริการส่งถึงบ้านหรือซื้อกลับบ้าน (Home delivery/takeaway และศูนย์จำหน่ายอาหาร (Food outlets) ตามห้างค้าปลีก

นอกจากนี้ ปลา/อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งก็เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตที่ดีเช่นกัน โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ต่อปี ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 2.8 ต่อปี ในเชิงมูลค่า   ทั้งนี้ นอกจากการพัฒนารสชาติและบรรจุภัณฑ์ของสินค้าแล้ว ปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการจำหน่ายปลา/อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง คือ การแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing practices) ซึ่งหากผู้ผลิตโฆษณาสินค้าของตนว่าเน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นหลัก ด้วยการเติมคำว่า ‘Locally sourced’ บนฉลากสินค้า ก็จะสามารถดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่รักและห่วงใยสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง

รูปที่ 1    ส่วนแบ่งการตลาดอาหารแปรรูปแช่แข็งของแคนาดา เชิงปริมาณ จำแนกตามกลุ่มสินค้า ปี 2556 
 
ที่มา: Euromonitor International.  (January 2013).

 

ตารางที่ 1    ปริมาณจำหน่ายอาหารแปรรูปแช่แข็งของแคนาดา จำแนกตามกลุ่มสินค้า ปี 2550-2556 
หน่วย: พันตัน
    

ที่มา: Euromonitor International.  (January 2013).        หมายเหตุ: 1/ ค่าคาดการณ์

 

ตารางที่ 2    มูลค่าจำหน่ายอาหารแปรรูปแช่แข็งของแคนาดา จำแนกตามกลุ่มสินค้า ปี 2550-2556 
หน่วย: ล้านดอลลาร์แคนาดา
    
ที่มา: Euromonitor International.  (January 2013).        หมายเหตุ: 1/ ค่าคาดการณ์

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527