สวัสดี

พฤติกรรมผู้บริโภค

ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
- สังคมผู้สูงอายุ (Graying population) คาดว่าในปี 2569 แคนาดาจะมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 48 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนอย่างมาก โดยมีความต้องการอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และอาหารที่สามารถรับประทานได้สะดวกและง่าย นั่นหมายรวมถึงรูปแบบของบรรจุภัณฑ์อาหารด้วย
- ความหลากหลายของเชื้อชาติ (Ethnic diversity) เนื่องจากผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาในแคนาดาเป็นจำนวนมาก ทั้งจากภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกากลางและใต้ ทำให้วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวแคนาเดียนเปลี่ยนไป ซึ่งพวกเขาเริ่มคุ้นชินกับอาหารต่างชาติมากขึ้น และชอบลิ้มลองอาหารที่มีรสชาติแปลกใหม่   โดยคาดว่าในปี 2574 แคนาดาจะมีกลุ่มผู้ซื้ออาหารต่างชาติ (Ethnic shoppers) มากถึงร้อยละ 31 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 55 มาจากภูมิภาคเอเชีย (รูปที่ 1) ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ อย่างเมืองแวนคูเวอร์ และเมืองมอนทรีออล
- ขนาดครัวเรือนและแรงงานผู้หญิง (Household size and women in labor force) ขนาดครอบครัวของชาวแคนาเดียนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนสมาชิกประมาณ 4 คน/ครัวเรือน ในปี 2513 ลดเหลือน้อยกว่า 3 คน/ครัวเรือน ในปี 2551 ประกอบกับคนโสดและผู้ที่อาศัยอยู่เพียงลำพังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการอาหารที่มีขนาดบริโภคเล็กลง แม้ว่าสินค้าอาหารขนาดใหญ่ (Bulk packages) จะคุ้มค่ากว่าก็ตาม   นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้หญิงที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 16 ปี เริ่มออกมาทำงานนนอกบ้านเพิ่มขึ้น จากสัดส่วนร้อยละ 39.1 ของจำนวนผู้หญิงวัยทำงานทั้งหมด ในปี 2519 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72.9 ของจำนวนผู้หญิงวัยทำงานทั้งหมด ในปี 2552 ทำให้กลุ่มแม่บ้านที่ต้องออกมาทำงานนอกบ้านดังกล่าวไม่มีเวลามากนักในการเตรียมอาหารให้คนในครอบครัว จึงมีความต้องการอาหารที่สะดวกในการปรุงมากขึ้น 
- โครงสร้างการศึกษา (Academic structure) ระบบการศึกษาที่ให้ความรู้เรื่องการใช้ชีวิตอย่างยืนยาว ทำให้ชาวแคนาเดียนรับรู้ข้อมูล และมองหาสินค้าอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของ   พวกเขามากขึ้น เช่น อาหารและเครื่องดื่มฟังค์ชั่นนัล (Functional foods and beverages) ที่เติมสารอาหารที่มีคุณค่าพิเศษทางโภชนาการ นอกเหนือจากสารอาหารทั่วไปที่มีอยู่ในอาหารแล้ว รวมถึงอาหารที่มีฤทธิ์ทางยา (Nutraceuticals) ด้วย

พฤติกรรมการกิน (Eating habits)
การรับประทานอาหารที่บ้าน (Dining in)

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ถดถอยในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวแคนาเดียนต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายของตนและครอบครัวมากขึ้น โดยการทำอาหารรับประทานกันเองที่บ้าน และการซื้ออาหารกักตุนไว้ล่วงหน้าบ่อยขึ้น ซึ่งแม้เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในระยะหลัง แต่พวกเขายังคงชอบปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้าน เพราะนอกจากจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว พวกเขาก็สามารถทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีรสชาติถูกปากทุกคนในครอบครัวด้วย  นอกจากนี้ ชาวแคนาเดียนมักจะเลือกรับประทานอาหารเช้าที่บ้าน เพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย โดยอาหารเช้าที่รับประทานเป็นประจำ ได้แก่ ขนมปังปิ้ง โยเกิร์ต และแพนเค้ก/วาฟเฟิ้ลกับน้ำเชื่อมเมเปิ้ล ซึ่งพวกเขาจะใช้เวลาในการเตรียมอาหารเช้าไม่เกิน 5 นาที   ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวแคนาเดียน ในปี 2555 พบว่า เมนูยอดนิยมที่มักนำมาปรุงและใช้เป็นส่วนประกอบอาหารที่ทำเองที่บ้าน ได้แก่ อาหารต่างชาติ อาทิ คีบับเนื้อแกะ (Lamb kebabs) ของตุรกี   ขนมปังแบนสอดไส้ (Paratha) ของอินเดีย   ผัดหมี่ (Chow mein) ของจีน และไก่ผัดซอสมะม่วง (Mango chicken) ของไทย   อาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ กรีกโยเกิร์ต และธัญพืชรวม   อาหารชิ้นเล็ก เช่น แฮมเบอร์เกอร์/แซนวิชจิ๋ว ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถสนุกกับการรับประทานอาหารได้หลากหลายแบบ

การรับประทานอาหารนอกบ้าน (Dining out)
หลังจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ในปี 2554 ส่งผลให้ชาวแคนาเดียนบางส่วนเริ่มกลับออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งร้านอาหารจานด่วนสัญชาติแคนาเดียน อย่างร้าน ‘Tim Horton’s’ ยังคงเป็นแหล่งรับประทานอาหารนอกบ้านยอดนิยมเช่นเคย รวมถึงร้านอาหารต่างชาติที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งร้านอาหารญี่ปุ่น จีน ไทย อินเดียน เกาหลี ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกัน   ส่วนรถจำหน่ายอาหารตามข้างทาง (Food truck vendors) ที่แม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วมุมถนนในสหรัฐอเมริกา แต่กลับเพิ่งได้รับความนิยมในแคนาดา ด้วยข้อจำกัดด้านกฎระเบียบท้องถิ่นที่เข้มงวดในแต่ละพื้นที่   อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ชาวแคนาเดียนต้องปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารเช้า ที่มักจะทำรับประทานเองง่ายๆ ที่บ้าน แต่ปัจจุบัน พวกเขาเลือกที่จะซื้ออาหารเช้ารับประทานระหว่างเดินทางไปทำงาน ทำให้ร้านอาหารจานด่วนและร้านอาหารตามข้างทางกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น 

ชาวแคนาเดียนมักจะเลือกไปร้านอาหารที่มีบรรยากาศน่านั่งด้วย ส่งผลให้ร้านอาหารหลายแห่งต้องปรับปรุงการตกแต่งภายในร้าน เช่น การเลือกใช้โคมไฟที่มีดีไซน์สวยงาม แทนหลอดไฟนีออนที่สว่างจ้า รวมถึงการปรับเปลี่ยนมาใช้ภาชนะเครื่องเคลือบลายคราม (Chinaware) และอุปกรณ์ที่ใช้บนโต๊ะอาหาร (Flatware) แทนการเสริฟอาหารบนจานกระดาษและช้อนส้อมพลาสติก 

พฤติกรรมการจับจ่าย
แหล่งซื้ออาหารที่ชาวแคนาเดียนนิยมไปเป็นประจำ คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย และมีระดับราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งพวกเขาสามารถนำคูปองลดราคามาใช้ในการซื้ออาหารได้ด้วย โดยบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลายต่างจัดหาสินค้าอาหารที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่ม นอกจากนี้ ห้างค้าปลีกประเภทร้านลดราคา เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ชาวแคนาเดียนชอบไปซื้ออาหาร เนื่องจากสินค้ามีราคาถูก ส่วนห้างขนาดใหญ่ (Mega-stores) และไฮเปอร์มาร์เก็ต แม้จะจำหน่ายสินค้าอาหารที่มีราคาถูกกว่าร้านทั่วไป แต่ผู้บริโภคก็สามารถมั่นใจได้ในคุณภาพของอาหาร   ขณะที่ผู้บริโภคบางส่วนยังคงชอบไปซื้ออาหาร โดยเฉพาะอาหารหลักที่รับประทานเป็นประจำ อย่างขนมปังและนม จากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านแทนการออกไปห้างค้าปลีกที่อยู่ห่างออกไป

นอกจากราคาสินค้าแล้ว ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้ออาหารของผู้บริโภคชาวแคนาเดียน คือ
- คุณภาพ (Value/Quality) ได้แก่ ความสดใหม่ คุณค่าทางโภชนาการ ความปลอดภัยของอาหาร รูปลักษณ์และรสชาติ
- ผลดีต่อสุขภาพ (Health) ได้แก่ อาหารที่มีไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย/ไม่มี โซเดียมต่ำ แคลอรี่ต่ำ/ไม่มี และอาหารที่ปราศจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น กลูเตน ถั่ว เป็นต้น
- ความสะดวกสบาย (Convenience) ทั้งในแง่ของการเตรียม/ปรุงอาหาร และความสามารถในการรับประทานได้ในทุกที่ทุกเวลา 
- ความแท้จริง/ความน่าเชื่อถือ (Authenticity) ทั้งด้านแหล่งผลิต กรรมวิธีการผลิต และประวัติความเป็นมาของอาหาร ซึ่งทำให้อาหารประเภท Artisanal เป็นที่ต้องการมากขึ้น
- ความยั่งยืน (Sustainability) โดยผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสินค้าอาหารปลอดสารพิษ อาหารที่ผลิตในท้องถิ่น และอาหารที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ จะได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากขึ้น

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527