สวัสดี

Monthly Situation

สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย เดือนพฤศจิกายน 2563

ธันวาคม 2563

รายละเอียด :

การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนพฤศจิกายน 2563 หดตัวร้อยละ 3.0  มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 49.7 ลดลงจากอัตราร้อยละ 52.1 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการชะลอตัวของความต้องการบริโภคในประเทศและการส่งออก โดยกลุ่มสินค้าที่มีการปรับตัวลดลงอย่างมาก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหารลดลงร้อยละ 25.0 รองลงมาได้แก่ น้ำผลไม้ (-10.8%) กุ้งแช่แข็ง (-4.2%) และเนื้อไก่ปรุงสุก (-4.1%) ส่วนสินค้าที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นในระดับสูงได้แก่ กลุ่มสินค้าจากผักและผลไม้ ขยายตัวร้อยละ  56.3 จากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผลไม้และผักบรรจุกระป๋องเป็นหลัก จากความต้องการกักตุนอาหารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รองลงมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันปาล์ม) (+33.1%) กะทิ (+20.3%) แป้งมันสำปะหลัง (+16.8%) และทูน่ากระป๋อง (+9.4%)

การบริโภคในประเทศขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบจากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวในอัตราเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะในนหมวดยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และปศุสัตว์ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการบริโภคยังคงอยู่ใยนระดับต่ำเนื่องมาจากภาวะทางเศรษฐกิจ และแรงฉุดจากจากการลดลงของนักท่องเที่ยว โดยสินค้าที่มีระดับราคาเพิ่มสูงขึ้นได้แก่สินค้าในกลุ่มผักสด ร้อยละ 17.3 โดยราคาผักสดสูงขึ้นเกือบทุกชนิด กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 3.6 จากการสูงขึ้นของเนื้อสุกร กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.2  กลุ่มผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 1.0 กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 2.5 จากการสูงขึ้นของน้ำมันพืช มะพร้าว และซอสหอยนางรม  และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของน้ำดื่มน้ำผลไม้ กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม

การส่งออกอาหารไทยเดือนพฤศจิกายน 2563 มีมูลค่า 78,833 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยน้ำตาลยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องจากภาวะภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายลดลง การส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และการส่งออกไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป ลดลงโดยมีปัจจัยสำคัญจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ในระดับรุนแรง ทำให้มีมาตรการล็อกดาวน์ และคุมเข้มร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการบริการที่หดหายไป ขณะที่ การส่งออกข้าวกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวของไทย โดยขยายตัวจากส่งออกไปยังตลาดที่สำคัญ ได้แก่ เบนิน สหรัฐอเมริกา จีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ผู้บริโภคมีการกักตุนอาหารไว้ ให้เพียงพอกับการบริโภคในช่วงการแพร่ระบาด ประกอบกับเวียดนามระงับการส่งออกข้าวเพื่อสต็อกข้าวในประเทศให้เพียงพอ

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527