สวัสดี

Early Warning

ความพร้อมของไทยด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

มีนาคม 2559

รายละเอียด :

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และประชาคมอาเซียน (AC) นำไปสู่การเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาคและมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและมีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในประเทศสมาชิกอาเซียนนั่นคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ เช่น การพัฒนาระบบขนส่ง โลจิสติกส์และพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านกฎระเบียบและกฎหมาย เพื่อกำหนดการยอมรับร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อให้เป้าหมายของการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันของอาเซียน

อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารเป็นหนึ่งของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศที่จะเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การเติบโตของอุตสาหกรรมย่อมนำมาซึ่งความต้องการด้านพลังงานส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้ว่าประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) หนึ่งเสาหลักของประชาคมอาเซียนได้กำหนดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) เน้น “ส่งเสริม” การรักษาสิ่งแวดล้อม และ “ตอบสนอง” ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้วก็ตาม หากกลไกของกฎหมายยังไม่เข้มงวดอาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของภาคอุตสาหกรรม

          การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของภาคอุตสาหกรรม ภายใต้การเปิดเสรีการค้าตามกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) กล่าวคือ การลดและยกเลิกภาษี ตลอดจนการขจัดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี อีกทั้งยังมีการเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ACIA) โดยมีการคุ้มครองการลงทุนในภาคการผลิต และเหมืองแร่ รวมทั้งการลงทุนโดยตรง นำไปสู่นโยบายจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2556 เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศบริเวณพรมแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของภาคอุตสาหกรรม

  1. การเร่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจนเกินขีดความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ
  2. การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอาจนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวในบริเวณหนึ่งๆ ซึ่งมีการปล่อยมลพิษโดยรวมมากเกินขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่

กฎ ระเบียบและข้อบังคับระดับประเทศ

การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและสังคมของประชาคมอาเซียนนั้น จำเป็นจะต้องรู้ถึงความแตกต่างระหว่างกฎระเบียบของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความได้เปรียบ-เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ กับประเทศสมาชิกอาเซียน

ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการกำหนดกฎระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรงและโดยอ้อม เพื่อให้รัฐโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นกฎหมายและมาตรฐานด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์คุ้มครอง และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของแต่ละประเทศมีดังนี้ (นิรมลและคณะ,2556)

  1. บรูไน ไม่มีกรอบกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง ทำให้การบังคับใช้ไม่ครอบคลุมและเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร แต่มีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมแทรกไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวกับกิจกรรมเศรษฐกิจ และตั้งแต่ปี 2536 รัฐได้ให้ความสำคัญโดยจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ เสียง คุณภาพน้ำ และการควบคุมขยะเป็นพิษ
  2. กัมพูชา รัฐธรรมนูญปี 2536 ได้กำหนดกรอบแนวคิดการจัดการสิ่งแวดล้อมไว้ในมาตรา 58 ว่าทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นทรัพย์สินของรัฐ การควบคุมและบริการจัดการต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย และมาตรา 59 รัฐบาลมีหน้าที่ในการปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อม
  3. อินโดนีเซีย เริ่มให้ความสำคัญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 3 (2519-2523) และปี 2547 มีการเสนอร่างกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน 32 ฉบับ รวมทั้งกระทรวงสิ่งแวดล้อมได้กำหนดนโยบายการพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ นโยบายการบริหารจัดการน้ำ นโยบายการควบคุมมลพิษ นโยบายการบริหารจัดการชายฝั่งและทรัพยากรทางทะเล นโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้
  4. สปป.ลาว ได้ประกาศใช้กฎหมายและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ กฎหมายด้านป่าไม้ กฎหมายด้านน้ำและทรัพยากรน้ำ กฎหมายที่ดิน กฎหมายเหมืองแร่ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
  5. มาเลเซีย ประกาศใช้กฎหมายและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ กฎหมายว่าด้วยมลพิษทางน้ำ มลพิษทางเสียง มลพิษทางทะเล กฎหมายจัดาการขยะ การระบายน้ำเสีย ทั้งจากครัวเรือนและอุตสาหกรรม กฎหมายการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่ดิน และแหล่งน้ำ
  6. เมียนมาร์ ประกาศใช้กฎหมายควบคุมโรงงาน กฎหมายด้านสุขอนามัยของสาธารชน กฎหมายป่าไม้ กฎหมายการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพื้นที่อนุรักษ์ กฎหมายเหมืองแร่ รวมทั้งการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
  7. ฟิลิปปินส์ ประกาศใช้กฎหมายคุณภาพอากาศ กฎหมายควบคุมสารเคมี สารพิษ และมลพิษ กฎหมายประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
  8. สิงคโปร์ ประกาศใช้รัฐบัญญัติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมจำนวน 30 ฉบับ อาทิ รัฐบัญญัติเพื่อควบคุมมลภาวะและรัฐบัญญัติด้านสาธารณสุข ทั้งด้านน้ำ อากาศ การเคลื่อนย้ายขยะพิษ การจราจร รัฐบัญญัติด้านการวางแผนและการจัดการการใช้พื้นที่ การรุกล้ำที่ดินภาครัฐ การควบคุมการก่อสร้าง รัฐบัญญัติด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เกี่ยวกับการประมง สัตว์ป่า ต้นไม้และสวนสาธารณะ และรัฐบัญญัติเกี่ยวกับมลภาวะทางทะเล
  9. ไทย เริ่มกำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 7 (2535-2539) รวมทั้งมีการประกาศมาตรฐานคุณภาพน้ำเพื่อการบริโภค คุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดิน น้ำทะเล ชายฝั่ง น้ำทิ้งจากอาคารและอุตสาหกรรม มาตรฐานคุณภาพอากาศจากแหล่งกำเนิด โรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ มาตรฐานคุณภาพระดับเสียงและการควบคุม และมาตรฐานสารพิษและการควบคุม รวมถึงการอนุรักษ์คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติโดยประกาศใช้กฎหมายต่างๆ อาทิ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2485 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ พ.ศ.2535
  10. เวียดนาม รัฐธรรมนูญปี 2535 ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ได้กล่าวถึงประเด็นการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลมีการกำหนดนโยบายมาตรการต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม

จากกฎระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายและนโยบายที่กำหนดขึ้นยังมีระดับความครอบคลุมและความเข้มงวดที่ต่างกัน และในแง่การเตรียมความพร้อมของกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับกับมลพิษอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หากเป็นกลุ่มประเทศที่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมมาไม่นาน (กลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ยังอยู่ในระหว่างการออกกฎหมายและกำหนดค่ามาตรฐานต่างๆ ในขณะกลุ่มประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมมาระยะหนึ่ง (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์) กฎหมายมีค่อนข้างครบถ้วนแต่ยังมีปัญหาด้านการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย (ยกเว้นสิงคโปร์) อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและการทำงานแบบแยกส่วน ยังคงเป็นจุดอ่อนสำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่จะต้องรับมือ

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527