สวัสดี

Area based Industry

มองอุตสาหกรรมไก่เนื้อไทย โดย คุณคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย

มกราคม 2558

รายละเอียด :

          อุตสาหกรรมไก่เนื้อเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่ติดอันดับ 4 ของโลกมาโดยตลอด (พ.ศ. 2552-2556) รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งในช่วง 3 ปี (พ.ศ. 2555-2557)ที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกสินค้าเนื้อไก่ไทยทั้งไก่สดและไก่แปรรูป มีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.92 ส่วนในเชิงปริมาณส่งออกเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.17  ในปี 2557 การส่งออกเนื้อไก่ของไทยมีการขยายตัวทั้งด้านปริมาณและมูลค่า โดยมีปริมาณส่งออกรวม 5.78 แสนตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 10 และมีมูลค่าส่งออกรวม 7.89 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11  ตลาดหลักของไทยยังคงเป็นตลาดเดิมคือ สภาพยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งทั้ง 2 ตลาดมีอัตราขยายตัวร้อยละ 10 และ 18 ตาม


ประเทศใดใน AEC ที่มีการขยายตัวของการท่องเที่ยวโมเดิร์นเทรด และ ร้านอาหารฟาสฟู้ดส์ ประเทศนั้นจะเป็นโอกาสให้ไทยขยายการส่งออกเนื้อไก่เพิ่มขึ้นได้ ในอนาคต ….

      “การพัฒนา อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยให้มีศักยภาพ การแข่งขันในตลาด โลกเพิ่มขึ้นได้นั้นประเทศไทยจะต้อง ลดต้นทุนการผลิต ให้ต่ำลงกว่านี้ และต้องอาศัยภาครัฐให้เข้ามาช่วยสนับสนุน การควบคุมและป้องกันโรคในสัตว์ปีกที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า”  มุมมองต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไก่เนื้อไทยเพื่อการส่งออกในอนาคตที่ คุณคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์  ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับสถาบันอาหาร
         คุณคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์  ได้ให้สัมภาษณ์กับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ วันศุกร์ที่ 9 มกราคม 2558 ถึงมุมมองที่มีต่ออุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยที่สะท้อนให้เห็นถึง โอกาสและแนวคิดที่จะช่วยจุดประกายความคิดต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไก่เนื้อไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต รวมทั้งได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนมีความต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกสินค้าไก่เนื้อของไทย ดังนี้


      ทิศทางอุตสาหกรรมไก่เนื้อในปี 2558…


       แนวโน้มการผลิต  คาดว่าการผลิตไก่เนื้อของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสามารถผลิตไก่เนื้อได้ในปริมาณ 26-27 ล้านตัวต่อสัปดาห์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในอดีตที่ไทยผลิตไก่เนื้อได้ในปริมาณ 18-19 ล้านตัวต่อสัปดาห์  โดยผู้ประกอบการไทยเคยมีบทเรียนสำคัญจากการผลิตมากเกินความต้องการจนส่งผลให้ราคาไก่เนื้อตกต่ำ ซึ่งเป็นไปตามวงจรการผลิตไก่เนื้อของไทยที่ในช่วง 2-3 ปีแรกราคาผลผลิตจะสูง แต่ต่อมาในปีที่ 3 หรือ 4 ราคาจะเริ่มตกต่ำลงเพราะตลาดขยายตัวไม่ทันตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น  ผู้ประกอบการจึงต้องมีการวางแผนการผลิตเป็นปีๆตั้งแต่การนำเข้าพ่อแม่พันธุ์เพื่อให้แต่ละปีมีปริมาณผลผลิตไก่เนื้อสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกและหากมีความจำเป็นผู้ประกอบการอาจต้องดึงไข่ออกมาจำหน่าย เพื่อลดปริมาณผลผลิตและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ  

        แนวโน้มด้านการตลาด ในปีพ.ศ. 2558 คาดการณ์ว่าตลาดไก่เนื้อของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยตั้งเป้าส่งออกสินค้าเนื้อไก่ในเชิงปริมาณไว้ที่  6 แสนตัน ส่วนในเชิงมูลค่าคาดว่ามูลค่าส่งออกรวมจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเช่นกันตามการเติบโตของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น  คุณคึกฤทธิ์ มองว่าปัจจัยเชิงบวกที่ส่งผลให้การส่งออกเนื้อไก่ของไทยในปี 2558 ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้น ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ  

                                 
         1) การส่งออกไก่สดไทยไปตลาดญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้น  โดยคาดว่าปี 2558 การส่งออกไก่สดเข้าตลาดญี่ปุ่นจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 7-8 หมื่นตันจากเดิมในปี 2557 ที่มีปริมาณส่งออกรวมประมาณ 5 หมื่นตัน การขยายตัวของตลาดไก่สดของไทยในญี่ปุ่นเป็นผลเนื่องมาจากตลาดญี่ปุ่นให้ความเชื่อมั่นว่าไก่สดไทยปลอดจากโรคไข้หวัดนก และกระบวนการผลิตไก่สดมีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นกลับมาสั่งซื้อไก่สดจากไทยในปริมาณมากอีกครั้งเพื่อรองรับความต้องการบริโภคเนื้อไก่ของชาวญี่ปุ่นที่มีปริมาณมากและมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี  ทั้งนี้ในปี 2557 ญี่ปุ่นเพิ่งเปิดตลาดไก่สดให้แก่ไทย ดังนั้นญี่ปุ่นจึงอาจยังสั่งซื้อไม่เต็มที่เพราะยังไม่มั่นใจว่า   โรคไข้หวัดนกจะกลับมาอีกหรือไม่  

          2) ประเทศไทยยังคงสามารถใช้ประโยชน์จากโควตาภาษีของสหภาพยุโรปที่ให้ไทยเป็นการเฉพาะในอัตราภาษีที่ต่ำกว่าคู่แข่งที่ไม่ได้โควตา เช่น จีน
         3) เกาหลีใต้จะเริ่มเปิดตลาดไก่สดแช่แข็งให้กับไทย  โดยคาดว่าจะเปิดตลาดให้ไทยได้ในเดือน มิถุนายน 2558 และการที่ฟิลิปปินส์จะเริ่มนำเข้าไก่แปรรูปจากไทยเพื่อป้อนให้แก่อุตสาหกรรมอาหารฟาสฟู้ดส์ภายในประเทศ
            
           
          คุณคึกฤทธิ์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่ากลยุทธ์การตลาดที่สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงในการทำตลาดสินค้าเนื้อไก่คือ การบริหารการจำหน่ายชิ้นส่วนไก่ทั้งหมดให้สมดุล (Balance) เพราะแต่ละตลาดมีรูปแบบการบริโภคแตกต่างกันทำให้มีการสั่งซื้อชิ้นส่วนไก่ที่ต่างกันตามไปด้วย เช่น  ตลาดญี่ปุ่นนิยมสั่งซื้อเนื้อน่อง  สหภาพยุโรปนิยมเนื้ออกไก่ และตลาดตะวันออกกลางนิยมไก่ทั้งตัว ส่วนตลาดในประเทศผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่นิยมบริโภคเนื้อน่อง ปีก เป็นต้น  ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องวางแผนการจำหน่ายชิ้นส่วนต่างๆ ของไก่ทั้งตัวให้สมดุลด้วย

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527