สวัสดี

Area based Industry

มองอุตสาหกรรมสับปะรด โดย คุณชาญวิทย์ ทรัพย์แสนยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาหารสยาม จำกัด(มหาชน)

พฤศจิกายน 2557

รายละเอียด :

         ปัจจุบัน อุตสาหกรรมสับปะรดของไทยยังคงครองความเป็นอันดับหนึ่งในตลาดโลก มีอัตราการเติบโตในเชิงมูลค่าการส่งออกของสับปะรดแปรรูปทั้งที่บรรจุและไม่บรรจุภาชนะปิดสนิทและน้ำสับปะรดของไทย ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (2550-2556) เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.92 ส่วน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2550 จาก 20,000 ล้านบาท มาเป็น 22,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของตลาดโลกเช่นเดียวกัน

 

  อุตสาหกรรมสับปะรดจะเติบโตได้อีกไกล…ต้องมุ่งสร้าง Demand ในประเทศ ให้ความสำคัญตลาด AEC++ และลดต้นทุนด้วย Innovation
          การพัฒนาอุตสาหกรรมสับปะรดของไทยให้มีทิศทางที่สอดคล้องกันระหว่างภาครัฐและเอกชน คือการสะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสับปะรดของไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโดยตรง เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้การดำเนินงานในภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของภาคเอกชนได้อย่างชัดเจน สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จึงทำการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสับปะรด ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหา อุปสรรค โอกาส และข้อเสนอแนะเพื่อการปรับตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต 
          ในครั้งนี้ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณชาญวิทย์ ทรัพย์แสนยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาหารสยาม จำกัด (มหาชน) เพื่อเข้าสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 โดยมีประเด็นสำคัญที่จะเป็นประโยชน์และจุดประกายความคิดต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสับปะรด ซึ่งคุณชาญวิทย์  ได้สะท้อนให้เห็น ดังนี้ 
     ทิศทางอุตสาหกรรมสับปะรดในปี 2558…
          ในปี พ.ศ. 2558 อุตสาหกรรมสับปะรดของไทยอาจยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านลบที่ต่อเนื่องมาจาก ปี พ.ศ. 2557 ที่มาจากปัญหาอุปสรรคสำคัญ 2 ประการ คือ 
1) การขาดแคลนสับปะรดผลสดในการแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด เนื่องจากพื้นที่ในการเพาะปลูกสับปะรดของเกษตรกรลดลง สาเหตุหลักมาจากระดับราคาที่เกษตรกรขายได้ไม่สูงมากนัก จึงเริ่มเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าทดแทน โดยในปี พ.ศ. 2557 มีผลผลิตสับปะรดประมาณ 1.4 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.9-2.0 ล้านตัน  
2) การขาดแคลนแรงงานในสายการผลิต เกิดการแย่งชิงแรงงานกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารรุนแรงมากขึ้น โดยพบว่าแรงงานไทยนิยมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่น มากกว่าอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ประกอบการจึงต้องใช้แรงงานจากต่างด้าวในสายการผลิตกว่าร้อยละ 50 ทั้งนี้ มีแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้นในอนาคต 


     ปัญหาอุปสรรคทั้ง 2 ประการ คาดว่าจะยังคงส่งผลต่ออุตสาหกรรมสับปะรดของไทยในปี พ.ศ. 2558 อย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการขาดแคลนสับปะรดผลสดจะเริ่มคลี่คลายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 เป็นผลมาจากราคาสับปะรดผลสดหน้าโรงงานที่เกษตรกรขายได้ในช่วงปีที่ผ่านมามีระดับราคาพุ่งสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 8-8.50 บาท/กิโลกรัม จากราคาเดิมที่เคยอยู่ที่ 5-6 บาท/กิโลกรัม จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันกลับมาเพาะปลูกสับปะรดมากขึ้น ซึ่งสับปะรดที่เพาะปลูกรุ่นใหม่จะเริ่มให้ผลผลิตได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะยังคงส่งผลต่อเนื่อง ต่อไปในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมองว่าปัจจัยด้านคู่แข่งเป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะด้านสิทธิพิเศษทางการค้า ซึ่งในปัจจุบันประเทศคู่แข่งอย่างเช่น อินโดนีเซีย ได้รับสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป นับเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญ 


     อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในด้านการส่งออกสับปะรดแปรรูปบรรจุภาชนะปิดสนิทและน้ำสับปะรด คุณชาญวิทย์ มองว่าในปี พ.ศ. 2558 ไทยจะยังคงเป็นผู้นำในตลาดโลก ทั้งในด้านปริมาณผลผลิตสับปะรดสดที่มาจากไทยร้อยละ 40 ของผลผลิตสับปะรดโลก และปริมาณการส่งออก ที่ครองอันดับ 1 ในขณะที่ปัจจัยบวกด้านความต้องการบริโภคของตลาดโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-3 โดยมีประเทศผู้นำเข้าในตลาดเดิมที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนตลาดใหม่ที่เริ่มมีแนวโน้มดี ได้แก่ จีน จากเดิม จีนมีการบริโภคสับปะรดกระป๋องน้อยมาก แต่ในปัจจุบัน คนจีนหันมานิยมบริโภคสับปะรดเพิ่มมากขึ้น โดยนิยมสับปะรดผลโต หากเป็นสับปะรดกระป๋องจะต้องเป็นสับปะรดขนาดเบอร์ 2.5 จึงน่าจะเป็นโอกาสที่สับปะรดของไทยจะเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527