อุตสาหกรรมไก่เนื้อ
กุมภาพันธ์ 2560
การระบาดของไข้หวัดนกในปี 2547 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ผู้ประกอบการแปรรูป และผู้ส่งออก ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ไทยต้องมีการปรับระบบการผลิตใหม่ตั้งแต่ในระดับฟาร์มจนถึงโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีการปรับวิธีการเลี้ยงมาเป็นฟาร์มระบบปิด (EVAP) อีกทั้งยังมีการควบคุมมาตรฐานและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างใกล้ชิดจนสามารถสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากประเทศผู้นำเข้าต่าง ๆ
เริ่มทะยอยยกเลิกมาตรการการระงับการนำเข้าไก่จากไทย ประกอบการการเข้ามาลงทุนในอุตสากรรมของบรรษัทต่างชาติ และถึงแม้ในปัจจุบันโรคไข้หวัดนกจะกลับมาระบาดอีกทั้ครั้งในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ประเทศในสหภาพยุโรป หรือแม้กระทั่งกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไทยก็มีมาตรการป้องกันจนถือว่าเป็นประเทศที่ปลอดโรคระบาดได้ ถือเป็นโอกาสด้านการส่งออกของอุสาหกรรมที่จะทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยในหลายประเทศเพื่อนำไปทดแทนส่วนที่หายไปจากโรคระบาด จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งการปลดล็อคการระงับการนำเข้า การเข้ามาลงทุนของบรรษัทต่างชาติและความต้องกการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของหลายประเทศ ถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมไก่ของไทยกำลังกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง
download PDF
1. การผลิต
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2555–2559) การผลิตไก่เนื้อของไทยมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 6.8 ต่อปี จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ โดยในปี 2559 ไทยมีปริมาณผลผลิตไก่เนื้อ 1,550 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายด้านการส่งออกเป็นหลัก ประกอบกับความต้องการบริโภคในประเทศ และต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลงตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นต้น
ภาพที่ 1 ปริมาณการผลิตไก่เนื้อของไทย ปี 2555-2559
ต้นทุนการเลี้ยงไก่เนื้อส่วนใหญ่กว่า ร้อยละ 70 มาจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารไก่ ซึ่งประกอบไปด้วย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และปลาป่น เป็นหลัก โดยในปี 2559 วัตถุดิบอาหารไก่มีต้นทุนลดต่ำลงเหลือ 31.85 บาทต่อกิโลกรัม จาก 33.14 บาทต่อกิโลกรัมในปีก่อนหน้า มีสาเหตุจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ลดลง ประกอบกับปัจจัยเสริมจากการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ทำการปรับลดอัตราส่วนการใช้ปลาป่นแล้วหันมาใช้กากถั่วเหลืองที่มีราคาต่ำกว่า และจากการลดลงของราคาวัตถุดิบอาหารไก่นี้เองที่ทำให้ภาพรวมต้นทุนการผลิตไก่เนื้อลดลงตามไปด้วย
พันธุ์ไก่เนื้อ
อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อของไทยพึ่งพิงการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์และปู่ย่าพันธุ์จากต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีการนำเข้าพันธุ์ไก่ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปและอเมริกา แต่อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5 ที่ลุกลามอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยจำเป็นต้องมีมาตรการระงับการนำเข้าไก่จากประเทศที่มีปัญหาโรคระบาดดังกล่าว โดยในปี 2559 ไทยได้ระงับการนำเข้าไก่จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกพันธุ์ไก่มาไทยเป็นอันดับ 1 ในปีก่อนหน้า หลักจากได้มีการระงับการนำเข้าพันธุ์ไก่จากสหรัฐฯเมื่อปี 2558 และหันมานำเข้าพันธุ์ไก่จากเนเธอร์แลนด์มากขึ้นเพื่อทดแทนส่วนที่ถูกห้ามนำเข้าจากประเทศที่มีปัญหาโรคระบาด
ผลผลิตไก่เนื้อ
ปี 2559 ไทยมีปริมาณการผลิตไก่เนื้อ 1,550 ล้านตัว คิดเป็นปริมาณเนื้อไก่ 2.48 ล้านตัน โดยผลผลิตไก่เนื้อส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มาจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจครบวงจร ขณะที่อีกร้อยละ 10 เป็นผลผลิตจากฟาร์มขอเกษตรกรรายย่อย และจากการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไปสู่ระบบฟาร์มที่มี
การควบคุมดูแลตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดซ้ำเป็นครั้งที่สอง หลังจากปี 2547 ส่งผลให้ไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอับดันต้นๆของโลกโดยไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไข้หวัดนก H5 ในปัจจุบัน
ภาพที่ 2 ผลผลิตไก่ของประเทศไทยปี 2552-2560
ที่มา: สำนักเศรษฐกิจการเกษตร