มกราคม 2568
โคคา-โคลา ยูโรแพซิฟิก พาร์ทเนอร์ส (CCEP) ประกาศเรียกคืนเครื่องดื่มหลายยี่ห้อ ได้แก่ โคคา-โคลา สไปรท์ ทรอปิโก้ แฟนต้า มินิทเมด และแอปเพิลไทเซอร์ ในพื้นที่ 3 ประเทศ คือ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ หลังตรวจพบปริมาณสารคลอเรตสูงเกินมาตรฐาน
สารคลอเรตเป็นผลพลอยได้จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอรีนในกระบวนการบำบัดน้ำและแปรรูปอาหาร การได้รับสารนี้ในปริมาณสูงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการทำงานของต่อมไทรอยด์ในทารกและเด็ก เนื่องจากรบกวนการดูดซึมไอโอดีน
โฆษกบริษัทระบุว่า การเรียกคืนครั้งนี้จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีรหัสการผลิตตั้งแต่ 328 GE ถึง 338 GE ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่ก้นกระป๋อง โดยผู้เชี่ยวชาญอิสระประเมินว่าความเสี่ยงต่อผู้บริโภคอยู่ในระดับ "ต่ำมาก"
ด้านสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า มีสินค้า 5 รายการที่ถูกส่งไปยังสหราชอาณาจักรและจำหน่ายไปแล้ว ส่งผลให้หน่วยงานมาตรฐานอาหารของอังกฤษเร่งตรวจสอบว่ายังมีผลิตภัณฑ์ที่มีสารคลอเรตสูงหลงเหลือในตลาดหรือไม่
ข้อเสนอแนะ
กรณีของโคคา-โคลาแสดงให้เห็นว่า แม้แต่บริษัทระดับโลกก็อาจเผชิญปัญหาด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้ ผู้ประกอบการไทยจึงต้องยกระดับมาตรฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบสารเคมีตกค้างที่เกิดจากกระบวนการผลิต โดยเฉพาะสารที่เป็นผลพลอยได้จากการฆ่าเชื้อและการบำบัดน้ำ ควรมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่มีประสิทธิภาพ โดยระบุรหัสการผลิตที่ชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อสามารถเรียกคืนสินค้าได้อย่างรวดเร็วหากเกิดปัญหา
ที่มา : https://www.euromeatnews.com
download PDF ย้อนกลับ