สวัสดี

Technology & Innovation

ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในอินเดีย

มิถุนายน 2565

รายละเอียด :

รัฐบาลอินเดียหนุนอายุรเวชและการแพทย์แผนโบราณ คาดเติบโตร้อยละ 15 ใน 10 ปี ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมโภชนเภสัช (nutraceutical industry) และการแพทย์ทางเลือก (alternative medicine)

เช่นเดียวกันกับทั่วทั้งโลก ผู้บริโภคชาวอินเดียกำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 หรือที่รู้จักกันดีในนาม “โควิด-19” จากการใช้ชีวิตประจำวันวิถีใหม่ หรือ New Normal ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด จึงคลายเครียดด้วยการบริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งขนมหวานและเครื่องดื่ม ทำให้ชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยหันมาใส่ใจในการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย และเลือกบริโภคโดยหันเข้าหาธรรมชาติมากขึ้น

พ.ศ. 2561 มูลค่าตลาดของธุรกิจค้าปลีกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในอินเดียอยู่ที่ 8.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าในปีหน้า พ.ศ. 2566 อาจแตะ 15.91 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าในช่วง พ.ศ. 2562-2566 จะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 14 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์สารเสริมโภชนาการที่อาจเติบโตร้อยละ 7.10 และที่น่าจับตามองคือ “โภชนเภสัชหรืออาหารเป็นยา ชนิดเคี้ยว (nutraceutical gummies)” ซึ่งคาดว่าในระหว่าง พ.ศ.2564 – 2574 จะมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 15

ปัจจุบัน อินเดียเป็นผู้ส่งออกยาอายุรเวช และสินค้าสมุนไพรต่างๆ ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากจีนb แต่ก็ใหญ่เพียงพอที่รัฐบาลอินเดียจะจัดตั้งกระทรวงอายุรเวช (Ministry of AYUSH) โดยกำกับดูแลการรักษาโดยยาอายุรเวช โยคะ Unani Siddha และ Homoeopathy เพื่อส่งเสริมการแพทย์แผนโบราณของอินเดีย

อาหารเพื่อสุขภาพ

สามารถแบ่งสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพในอินเดียได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมโภชนเภสัช และ 2) อุตสาหกรรมการแพทย์ทางเลือก

1) อุตสาหกรรมโภชนเภสัช (nutraceutical industry) หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันโรค เสริมภูมิต้านทาน หรือชะลอความแก่ ครองส่วนแบ่งทางการตลาดโลกที่ร้อยละ 2 โดยแบ่งย่อยเป็น 2 ประเภท ได้แก่

ก)  อาหารเสริมและเครื่องดื่มเสริมอาหาร (functional foods and beverages) หมายถึง อาหารที่มีประโยชน์เฉพาะเจาะจง มีประโยชน์ต่อการป้องกันโรค หรือเป็น “อาหารเสริมชั้นดี” มีส่วนแบ่งการตลาดราวร้อยละ 37

ข)  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (dietary supplements) ครองส่วนแบ่งตลาดที่เหลือราวร้อยละ 63

2) อุตสาหกรรมการแพทย์ทางเลือก (alternative medicine) หมายรวมถึงสินค้าอายุรเวช และสมุนไพร

พฤติกรรมผู้บริโภคในอินเดียมีแนวโน้มเลือกอาหารที่เสริมสารอาหารเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการพิจารณาข้อมูลจากฉลากสินค้าบนบรรจุภัณฑ์อาหาร เช่น โปรตีนสูง เส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์สูง เสริมวิตามิน และแร่ธาตุโดยเฉพาะอย่างยิ่งแคลเซียม  ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์นมเสริมวิตามินซี ดี แร่ธาตุสังกะสี หรือการผสมสมุนไพรอย่างขิง น้ำผลไม้พร้อมดื่มเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน น้ำมันผสมวิตามิน 5 ชนิดและโอเมก้า 3 เป็นต้น

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ติดต่อสอบถามข้อมูล ต่อ 3122 ติดต่อสมาชิกสถาบันอาหาร ต่อ 8101