เมษายน 2563
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาไปทั่วโลกทำให้มีนโยบายปิดประเทศ ในขณะเดียวกันก็มีความตื่นตระหนกกักตุนอาหาร สำหรับประเทศในตะวันออกกลางแล้ว ประเด็นนี้เป็นที่จับตามองอย่างยิ่ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นประเทศศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคต้อนรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก กระทรวงเศรษฐกิจต้องรีบออกมายืนยันว่ามีอาหารเพียงพอในทั้ง 7 รัฐ ประชากรสามารถบริโภคได้นาน 6 เดือน และได้เปิดให้มีการนำเข้าอาหารอย่างต่อเนื่องทุกวันเพื่อทดแทนสต็อกที่มี ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้ถือว่ามีปริมาณอาหารมากเกินพอ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงทำให้ภาคโรงแรมและธุรกิจบริการอาหารมีความต้องการลดลง อาหารต่างๆ ที่นำเข้าจึงตรงไปที่ร้านค้าปลีกเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การที่มีการกักตุนอาหารและมีสินค้าบางรายการอาจหายไปจากตลาดบ้างก็อย่าตื่นตระหนก เป็นเพียงการขาดแคลนระยะสั้น รัฐบาลจะประสานกับผู้นำเข้า ผู้ขนส่ง และผู้ค้าปลีกเพื่อให้มีอาหารที่เพียงพอและราคาคงที่
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี Sheikh Khalifa ได้ผ่านกฎหมายใหม่ (Federal Law No.3 of 2020) เพื่อบริหารจัดการออุปทานอาหารในประเทศ กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้ค้าปลีกต้องอนุญาตให้ภาครัฐเข้าไปตรวจสอบคลังสินค้า สถานที่ตั้ง และวิธีเก็บรักษาอาหาร หากผู้ค้าปลีกรายใดกักตุนสินค้า ฝ่าฝืนกฎหมายจะต้องถูกลงโทษโดยปรับเงินหรือถูกจับ ซึ่งกฎหมายนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจด้านความมั่นคงทางอาหารในทุกสถานการณ์วิกฤติ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิย์และอุตสาหกรรมจะลงนามข้อตกลงกับ 14 ผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มปริมาณการสต็อกสินค้าที่สำคัญและควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้านำเข้าเพื่อควบคุมทั้งด้านปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม
จากรายงาน Global Food Security Index ปี 2019 พบว่า UAE เป็นประเทศที่มีค่าดัชนีอยู่ในลำดับที่ 21 ขณะที่ กาตาร์อยู่ลำดับที่ 13 รัฐบาล UAE ตั้งเป้าจะไต่ขึ้นเป็นประเทศลำดับที่ 1 ด้านความมั่นคงทางอาหารภายในปี ค.ศ. 2051 ดังนั้น UAE จึงให้ความสำคัญกับนโยบายการเพิ่มผลผลิตอาหารภายในประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานกระทรวงความมั่นคงทางอาหารขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อดำเนินการ
สภาความมั่นคงด้านอาหารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมได้เน้นถึงประสิทธิภาพของภูมิทัศน์การผลิตอาหารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุมีว่าโรงงานแปรรูปอาหาร 568 แห่ง มีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 5.96 ล้านตันต่อปี ในสินค้าอาหารที่จำเป็น นอกจากนี้ยังยืนยันว่า กำลังการผลิตของโรงงานสามารถขยายการผลิตที่หลากหลายได้ถึงสามเท่าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินและวิกฤตการณ์
ความคิดเห็น :
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นอีกหนึ่งตลาดเป้าหมายที่ไทยควรเร่งสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด เพราะอาหารร้อยละ 90 ที่บริโภคในประเทศพึ่งพาการนำเข้า และยังเป็นช่องทางกระจายสินค้าอาหารสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีศักยภาพสูง
ประเทศไทยแม้เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก แต่ดัชนีความมั่นคงทางอาหารอยู่ในลำดับที่ 52 จาก 113 ประเทศ ดัชนีนี้พิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ 40 ข้อ ซึ่งจัดแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่หลัก คือ ความสามารถในการซื้อหาอาหาร (affordability) ความพร้อม-การมีอาหารเพียงพอ (availability) คุณภาพและความปลอดภัย (quality and safety) ซึ่งระดับคะแนนใน 2 หมวดหลังของไทยยังค่อนข้างต่ำ
เมื่อลงรายละเอียดจะพบว่า ไทยมีปัญหา 2 เรื่อง คือ 1) ด้านโภชนาการที่ไม่เพียงพอ การบริโภคอาหารบางประเภทไม่เพียงพอ เช่น ผักและผลไม้ ซึ่ง 80% ของคนในประเทศไทยบริโภคไม่พอ ทำให้มีปัญหาด้านโภชนาการ ซึ่งจากข้อมูลของ FAO ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนคนที่ขาดสารอาหาร (เฉลี่ย 3 ปีล่าสุด 2016-2018) จำนวน 5.4 ล้านคน ส่วนความชุกของภาวะขาดสารอาหาร (เฉลี่ย 3 ปีล่าสุด 2016-2018) คิดเป็น 7.8% ของประชากรในประเทศ 2) ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ยังพบภาวะการเจ็บป่วยที่เกิดจากอาหารอยู่ค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่มีปัญหาด้านปริมาณผลผลิตอาหาร แต่การจะจัดการให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเพียงพอ สม่ำเสมอ ในราคาที่เป็นธรรม ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และปลอดภัยต่อสุขภาพ ยังเป็นประเด็นที่ต้องอาศัยการบริหารจัดการอย่างจริงจัง ผลการประเมินดัชนีความมั่นคงทางอาหารจึงจะปรับลำดับขึ้น
เอกสารอ้างอิง :
https://www.foodnavigator-asia.com
https://foodsecurityindex.eiu.com/Index
download PDF ย้อนกลับ