เมษายน 2559
รสชาติ ราคา และความสะดวกอาจไม่ใช่ปัจจัยสำหรับการตัดสินใจซื้ออาหารและเครื่องดื่มของผู้บริโภคอเมริกาอีกต่อไป เมื่อผลงานวิจัยของ Food Marketing Institute (FMI) และ Grocery Manufacturers Association. (GMA) ที่เก็บข้อมูลจากผู้บริโภคทั่วประเทศ 5,000 คน สัมภาษณ์ผู้บริหาร 40 บริษัททั้งุรกิจค้าปลีก โรงงานแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม ผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบและส่วนผสมอาหาร และผู้ผลิตวัตถุดิบเกษตร
ผลการศึกษาชี้ว่า ผู้บริโภคอเมริกันร้อยละ 51 ให้ความสำคัญกับปัจจัยผลักดันในการซื้อสินค้าอาหาร คือ – สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ความปลอดภัยอาหาร ผลกระทบต่อสังคม ประสบการณ์ และความโปร่งใส ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานดั้งเดิมเรื่องรสชาติ ราคา และความสะดวก ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมานี้ไม่ขึ้นกับปัจจัยทางประชากรศาสตร์ เช่น เพศ อายุ รายได้ หรือที่ตั้งถิ่นฐาน ผู้บริโภคสหรัฐฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานวิธีคิดและระดับความชอบที่กระจายออกไปมากกว่าที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะสามารถคาดการณ์ได้
การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นถึงวิธีที่ผู้บริโภคคิดเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร พวกเขาไม่ได้ให้นิยามของความปลอดภัยอาหารในทำนองที่หมายถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพ แต่ร้อยละ 74 กลับนิยามเรื่องความปลอดภัยอาหารคืออะไรก็ตามที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายทางกายภาพแบบทันที ผู้บริโภคจึงชอบอาหารที่สื่อถึงสุขภาพที่ดีและข้อมูลที่โปร่งใสชัดเจน ความหมายของความปลอดภัยอาหาร เช่น ผู้บริโภคร้อยละ 62 เห็นว่าคืออาหรปราศจากส่วนผสมที่เป็นอันตราย ร้อยละ 51 คืออาหารที่มีฉลากชัดเจนและตรงไปตรงมา ร้อยละ 42 เห็นว่าการมีส่วนผสมน้อยที่สุดที่จำเป็น แปรรูปน้อยที่สุด และไม่มีสารสังเคราะห์คืออาหารที่ปลอดภัย
ในวันนี้ผู้บริโภคมีข้อมูลมากมาย พวกเขาเอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประเมินคุณค่าเพื่อการตัดสินใจซื้อ แบรนด์ที่จะชนะใจลูกค้าต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนที่ลูกค้ามองหาในฉลาก บทบาทของธุรกิจค้าปลีกในการกระตุ้นผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อจะเพิ่มมากขึ้น บริษัทขนาดเล็ก หรือผู้ประกอบการใหม่จะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ การมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลที่สามและปรับปรุงความสัมพันธ์เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความใหม่ที่ลูกค้าต้องการ ค้นหาคุณค่าที่ไม่ซ้ำกันเพื่อนำเสนอต่อลูกค้า ความสำเร็จในตลาดจะขึ้นกับใครสร้างความได้เปรียบมากกว่ากัน
ความคิดเห็น
ผู้บริโภคทั่วโลกต่างมีพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อที่ซับซ้อนขึ้น การทำความเข้าใจในประเด็นปลีกย่อยนอกเหนือจากปัจจัยเรื่องรสชาติ ราคา และความสะดวก จะทำให้ผู้ผลิตสามารถค้นหาคุณค่าที่แตกต่างและนำเสนอสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังได้มากกว่าคู่แข่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรต้องพัฒนาช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้าเพื่อรับฟังความเห็นจากลูกค้า(voice of customer) ให้มากขึ้น ซึ่งมีหลายวิธีการในปัจจุบันทั้งแบบต่อหน้าและแบบออนไลน์ขึ้นกับงบประมาณของบริษัท