มกราคม 2559
สาระสำคัญของข่าว
ในประเทศสหรัฐเมริกาได้มีกระแสต่อต้านการบริโภคอาหารที่มาจากสัตว์ที่ถูกเลี้ยงอย่างทารุณ โดยนักเรียกร้องสิทธิสัตว์กดดันให้บริษัทผู้ผลิตอาหารใช้นโยบายจัดการสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี ไม่เป็นการทารุณ
โดยอุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหารเป็นอีกกลุ่มที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้ไข่ที่มาจากกรงเลี้ยงขนาดเล็ก ซึ่งทำให้เกิดการจำกัดการเคลื่อนไหวของไก่ ด้านรองประธานอาวุโสบริษัท ConAgra Foods ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอาหารของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่าบริษัทมีความตระหนักในด้านสวัสดิภาพสัตว์เป็นอย่างดี รวมทั้งเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมบริโภคอาหารจากสัตว์ที่ไม่ถูกเลี้ยงอย่างทารุณเพิ่มมากขึ้น บริษัทจึงได้จัดทำมาตรฐานของบริษัท (Privacy standards) ได้แก่ Supplier Quality Program (SCP) ซึ่งเป็นแนวทางเพื่อให้ซัพพลายเออร์ปฏิบัติตามแนวทางการเลี้ยงสัตว์และดูแลสัตว์ที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้ซัพพลายเออร์ ซื้อไข่จากฟาร์มที่ปฏิบัติตามแนวทางที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Agriculture : USDA) และ สถาบันการตลาดอาหาร (Food Marketing Institute) กำหนดขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าจะมีการใช้ไข่ไร้กรง 100 % ภายในปี 2025
นอกจากบริษัท ConAgra Foods แล้ว ยังได้มีบริษัทผู้ผลิตอาหารหลายแห่งออกมาให้คำมั่นสัญญาในการสนับสนุนการใช้ไข่และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกที่ไม่ได้มาจากการเลี้ยงในกรง เช่น เคลล็อก แมคโดนัลด์ เนสท์เล่ และดังกิ้นโดนัท ได้ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้ไข่ไร้กรง 100% ตามที่กลุ่มสิทธิสัตว์ร้องขอ
โดยบริษัท เคลล็อก ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลกได้ตระหนักถึงกระแสดังกล่าวโดยการนำหลักสวัสดิภาพสัตว์หรืออิสรภาพ 5 ประการ (Five Freedoms of Animals) มาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร ซึ่งได้แก่ อิสระภาพจากการหิวกระหาย อิสระจากความไม่สะดวกสบาย อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม อิสระจากความเจ็บปวดหรือเป็นโรค อิสระจากความกลัวและความทรมาณ และอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์ อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายที่จะยกเลิกการใช้หมูที่เลี้ยงในคอกมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตภายในปี 2025 ในขณะที่แมคโดนัลด์ ผู้ผลิตอาหาร Fast Food ขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการใช้เนื้อไก่และไข่เป็นวัตถุดิบในการผลิตจำนวนหลายร้อยตันต่อปี ได้มีแผนที่จะเลิกใช้ไข่ที่มาจากการเลี้ยงในกรงในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไข่ไก่ในสหรัฐอเมริกาและในแคนาดาเป็นอย่างมาก ซึ่งในแต่ละปีธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐอเมริกาใช้ไข่ประมาณ 2 พันล้านฟอง และในแคนาดาใช้ไข่ประมาณ 120 ล้านฟอง
ความเห็น
ในปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกต่างให้ความสนใจต่อความปลอดภัยของอาหาร และสวัสดิภาพของสัตว์ที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนา เช่น กลุ่มประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีความเข้มงวดในการนำเข้าเนื้อสัตว์ โดยได้กำหนดระเบียบการเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ หรือ Animal Welfare เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพดีปลอดภัยต่อการบริโภค ปราศจากการทารุณสัตว์ ซึ่งระเบียบดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกีดกันทางการค้า หากผู้ผลิตอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกาปรับใช้ไข่ที่ไม่ได้มาจากการเลี้ยงในกรง 100% มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร อย่างไรก็ตามถ้ามองในอีกมิติ หากผู้ประกอบการรายใดสามารถปรับตัวตามระเบียบดังกล่าวได้ก็จะเป็นโอกาสในการขยายตลาดอาหารของตนมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไข่แปรรูปในไทยที่ส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวเป็น อย่างมาก
ที่มา : ConAgra commits to use 100% cage-free eggs by 2025
เข้าถึงได้จาก : http://www.food-business-review.com/news/conagra-commits-to-use-100-cage-free-eggs-by-2025-190116-4786966