ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกุ้งไทยต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตและการค้า ทั้งจากโรคตายด่วน (EMS) ปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงไทย รวมทั้งการถูกประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหภาพยุโรปตัด GSP ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะโรคตายด่วนที่ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งประสบภาวะขาดทุนเพราะกุ้งที่เลี้ยงมีอัตราการรอดต่ำ ผลผลิตกุ้งที่ลดลงมากทำให้โรงงานขาดแคลนกุ้งในการแปรรูป จำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวและถาวรจนเกิดปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน ขณะเดียวกันผู้ส่งออกก็ไม่สามารถรับคำสั่งซื้อได้ดังเช่นภาวะปกติเพราะไม่มั่นใจว่าจะมีกุ้งเพียงพอสำหรับการส่งมอบ ส่งผลทำให้รายได้จากการส่งออกกุ้งไทยลดลงอย่างมาก จนสูญเสียส่วนแบ่งตลาดโลกและความเป็นผู้นำในตลาดกุ้งโลกที่ไทยเคยอยู่ในอันดับที่ 1 มานานหลายทศวรรษ
สถานการณ์ล่าสุด ผลผลิตกุ้งไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โรคตายด่วนมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี โดยมีสัญญาณจากผลผลิตกุ้งที่ออกสู่ตลาดในปริมาณมาก ราคาก็เริ่มขยับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมา น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับอุตสาหกรรมกุ้งไทยทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมกุ้งไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้ารอบด้าน โดยเฉพาะปัจจัยเดิมที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันมาตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเผชิญและฟันฝ่าไปให้ได้ในปี 2559 เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยกลับมาเป็นอุตสาหกรรมหลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศ อันจะนำมาซึ่งอาชีพ คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร แรงงาน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม
ภาพที่ 1 ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่กระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยในช่วงปี 2555-2558
ที่มา: สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
1. สถานการณ์วัตถุดิบ
ปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ที่เกิดขึ้นกับการเพาะเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร ถือเป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยตลอดระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านั้น (ปี 2549-2555) ประเทศไทยผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงได้ประมาณ 5-6 แสนตันต่อปี แต่ภายหลังจากประสบปัญหาโรคตายด่วนในช่วงปลายปี 2555 ผลผลิตกุ้งไทยก็ลดลงมาอย่างรวดเร็ว จนมาอยู่ที่ 3.25 แสนตัน ในปี 2556 และต่ำสุดที่ 2.3 แสนตันในปี 2557 ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2558 ซึ่งผลผลิตกุ้งที่ลดลงกว่าร้อยละ 50-60 จากระดับปกติ ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
ในปี 2558 สถานการณ์เพาะเลี้ยงกุ้งค่อยๆ คลายตัวจากโรคตายด่วน โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พบว่า ผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นแตะระดับ 3 หมื่นตันต่อเดือน ใกล้เคียงกับภาวะปกติที่เคยผลิตได้ในช่วงก่อนวิกฤติ ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างฟาร์มและวิธีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะเลี้ยง รวมทั้งมีลูกกุ้งที่คุณภาพดีขึ้น ทำให้ผลผลิตกุ้งในแหล่งผลิตสำคัญของไทยในภาคตะวันออกและภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันให้ผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สมาคมกุ้งไทยคาดการณ์ว่าในปี 2558 ประเทศไทยจะผลิตกุ้งได้ประมาณ 2.6 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปี 2557 จำแนกเป็นกุ้งขาวแวนนาไมร้อยละ 95 ส่วนอีกร้อยละ 5 เป็นกุ้งกุลาดำ โดยมีแหล่งเพาะเลี้ยงสำคัญในภาคใต้ของไทยในสัดส่วนผลผลิตร้อยละ 55 แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ตรัง และสตูล ส่วนอีกร้อยละ 45 เป็นผลผลิตกุ้งที่มาจากภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่าง แถบจังหวัดจันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ระยอง และสมุทรสาคร เป็นต้น
1 โรคกุ้งตายด่วน ( Early Mortality Syndrome: EMS ) เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับกุ้ง โดยเฉพาะลูกกุ้งที่ปล่อยในบ่อเลี้ยงช่วง 20-30 วันแรก โดยมีอัตราการตายสูงถึง 100% ในระยะเวลาเพียง 2-3 วัน หลังจากพบอาการของโรค โรคตายด่วนในกุ้งมีการรายงานการพบครั้งแรกในประเทศจีนและประเทศเวียดนามเมื่อปี 2553 ก่อนที่จะระบาดไปยังประเทศมาเลเซียเมื่อปี 2554 และล่าสุดพบในประเทศไทยปี 2555
2. สถานการณ์ราคา
อุตสาหกรรมกุ้งไทยพึ่งพิงตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ราคากุ้งที่เกษตรกรได้รับนั้นจึงถูกกำหนดมาจากราคากุ้งในตลาดโลก (Price taker) ที่ผันแปรไปตามอุปสงค์และอุปทานกุ้งในตลาดโลก นอกจากนี้ ราคากุ้งในประเทศยังขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอุปทานหรือปริมาณผลผลิตกุ้งในประเทศด้วย หากช่วงใดที่ผลผลิตกุ้งภายในประเทศมีปริมาณมากกว่าความต้องการของโรงงานแปรรูป ราคากุ้งก็จะลดต่ำลง ในทางตรงข้าม หากช่วงใดที่ผลผลิตกุ้งมีน้อยกว่าความต้องการ ราคากุ้งก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งความต้องการของโรงงานแปรรูปหรือความต้องการส่งออก จะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่มิอาจควบคุมได้ ทั้งในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลก ปริมาณผลผลิตกุ้งของประเทศคู่แข่ง รวมถึงปัจจัยเชิงพฤติกรรมที่เกี่ยวโยงกับการบริโภคกุ้งของคนทั่วโลก
ที่ผ่านมา ปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานต่างก็มีอิทธิพลต่อราคากุ้งของไทยทั้งสิ้น ในช่วงก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากโรคตายด่วนนั้น ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงรายใหญ่ของโลก โดยมีผลผลิตกุ้งสูงถึง 1 ใน 4 ของผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงในตลาดโลก การเปลี่ยนแปลงของปริมาณผลผลิตกุ้งไทยจึงมีอิทธิพลต่อราคากุ้งโลกพอสมควร เห็นได้จากในช่วงที่ผลผลิตกุ้งไทยลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2556 ตลาดโลกและผู้ประกอบการแปรรูปของไทยยังปรับตัวไม่ทัน ส่งผลทำให้ราคากุ้งในตลาดโลกและราคากุ้งในประเทศปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาขายส่งกุ้งขาวในประเทศขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 276 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จากราคาเฉลี่ย 136 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโรคตายด่วน ขณะที่ราคากุ้งในตลาดโลกที่อ้างอิงราคากุ้งปลอกเปลือกเด็ดหัวไว้หาง (Headless shell-On) ของประเทศเม็กซิโก ณ ท่าเรือนิวยอร์ก ก็ปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกัน
ภาพที่ 3 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคากุ้งไทยและราคากุ้งในตลาดโลกตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ที่มา: กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2557 ประเทศคู่แข่งรายใหญ่ อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ต่างเร่งเพิ่มปริมาณผลผลิตกุ้งเพื่อแย่งชิงตลาดที่เคยเป็นของไทย หลังจากที่ไทยมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นเรื่องปริมาณและความสม่ำเสมอของวัตถุดิบในการส่งมอบในช่วงที่ผลผลิตยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับประเทศไทยถูกประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กดดันในประเด็นแรงงานบังคับและการทำประมงผิดกฎหมาย ส่งผลทำให้ราคากุ้งในตลาดโลกรวมทั้งราคากุ้งในประเทศไทยอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว จนแตะระดับ 150 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงกลางปี 2558 ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอย่างมาก
จนกระทั่งในช่วงปลายปี 2558 ราคากุ้งในประเทศเริ่มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตกุ้งไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า โรงงานแปรรูปได้กลับมาขยายกำลังการผลิตและรับซื้อกุ้งจากเกษตรกรมากขึ้น เป็นปัจจัยผลักดันราคากุ้งในประเทศให้ขยับตัวสูงขึ้น ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2558 ราคาขายส่งกุ้งขาวในประเทศขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัม มีราคาอยู่ที่ 178 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นมาจาก 149 และ 158 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2558 ตามลำดับ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมกุ้งไทยในปี 2559
3. การผลิตและการแปรรูป
ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานแปรรูปกุ้ง (ห้องเย็น) จำนวน 119 โรงงาน ประกอบด้วยโรงงานขนาดกลางถึงขนาดใหญ่เป็นหลักที่ดำเนินธุรกิจแปรรูปกุ้งเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยโรงงานแปรรูปกุ้งทั้งหมดของไทยได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานการผลิตในระดับสากล อาทิ ระบบ GMP, HACCP รวมถึงการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศคู่ค้าหลักทั้งในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น นอกจากนี้ ผู้ผลิตบางรายยังมีการจัดทำมาตรฐานของเอกชน (Private Standard) เพื่อเพิ่มช่องทางการค้าให้หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งเพื่อหลีกหนีคู่แข่งในตลาดกุ้งโลกที่ปัจจุบันมีสภาวะการแข่งขันรุนแรง
ในช่วงสถานการณ์ปกติก่อนวิกฤติโรคตายด่วน โรงงานแปรรูปกุ้งในประเทศไทยมีการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 50 จากกำลังการผลิตรวมประมาณ 1 ล้านตันวัตถุดิบต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนในการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 90 ของปริมาณวัตถุดิบกุ้งที่ผลิตได้ในประเทศที่สูงถึง 5-6 แสนตัน ส่วนผลผลิตกุ้งอีกร้อยละ 10 หรือ 5-6 หมื่นตัน จะถูกกระจายไปยังตลาดภายในประเทศทั้งห้างค้าปลีกสมัยใหม่และตลาดสดเพื่อใช้บริโภคสด แต่ภายหลังที่ได้รับความเสียหายจากโรคตายด่วนทำให้ผลผลิตกุ้งลดลงกว่าร้อยละ 60 ส่งผลทำให้ในช่วงแรก
2 พงศ์พัฒน์ บุญชูวงศ์, ระบบการดำเนินธุรกิจกุ้ง, ส่วนเศรษฐกิจการประมง กรมประมง
3 ปัจจุบันห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในต่างประเทศ เช่น Walmart, Wegmans, Costco ของสหรัฐอเมริกา และ Safeway ของประเทศแคนาดากำหนดให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้ากุ้งต้องผ่านการรับรองมาตรฐานข้อกำหนดของมาตรฐาน Best Aquaculture Practices (BAP) จากหน่วยงาน Aquaculture Certification Council, Inc (ACC) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองภาคเอกชนก่อนที่จะอนุญาตให้ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายได้
(ข้อมูลเพิ่มเติม http://fic.nfi.or.th/foodsafety/upload/qs/pdf/ACC_2.pdf)