ตารางที่ 1 เปรียบเทียบปริมาณส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับของโลก
ที่มา: เอกสารแถลงข่าว “แนวโน้มและทิศทางการส่งออกข้าวไทย ปี 2559”
โดย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย วันพุธที่ 27 มกราคม 2559
การส่งออกข้าวไทยในปี 2558 มีมูลค่า 155,912 ล้านบาท หรือ 4,613 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.8 ในรูปเงินบาท และลดลงร้อยละ 15.2 ในรูปดอลลาร์ ส่วนราคาต่อส่งออกหน่วยอยู่ที่ 15,916 บาทต่อตัน และ 471 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ลดลงร้อยละ 0.2 ในรูปเงินบาท และลดลงร้อยละ 5.0 ในรูปดอลลาร์ จากราคาเฉลี่ยในปีก่อน ตามลำดับ
ชนิดข้าวที่ไทยส่งออกในปี 2558 จำแนกเป็นข้าวขาว 4.79 ล้านตัน สัดส่วนร้อยละ 39.9 รองลงมา ได้แก่ ข้าวนึ่ง และข้าวหอมมะลิ ปริมาณส่งออก 2.32 และ 1.41 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.0 และ 22.7 ของปริมาณส่งออกข้าวทั้งหมดตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกปลายข้าว ทั้งปลายข้าวหอมมะลิและข้าวขาวรวมกันประมาณ 1 ล้านตันเศษ ข้าวเหนียวและข้าวหอมปทุมในปริมาณ 0.124 ล้านตัน เท่า ๆ กัน
ชนิดข้าวที่ส่งออกเพิ่มขึ้นในปี 2558 ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ปลายข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมปทุม โดยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3.5, 13.7 และ 138.5 ตามลำดับ ส่วนข้าวชนิดอื่น ๆ มีปริมาณส่งออกลดลง โดยเฉพาะข้าวนึ่งและปลายข้าวขาวที่มีปริมาณส่งออกลดลงมาก เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคในประเทศแถบแอฟริกาที่เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในข้าวชนิดดังกล่าวประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ
ตารางที่ 2 ปริมาณส่งออกข้าวไทย รายชนิดข้าว ระหว่างปี 2555-2558
ที่มา: เอกสารแถลงข่าว “แนวโน้มและทิศทางการส่งออกข้าวไทย ปี 2559”
โดย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย วันพุธที่ 27 มกราคม 2559
ตลาดข้าวไทยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบแอฟริกาและเอเชียเป็นหลัก โดยในปี 2558 ไทยส่งออกข้าวไปยังตลาดดังกล่าวรวมกันกว่าร้อยละ 85 ของปริมาณส่งออกข้าวทั้งหมด ซึ่งกลุ่มประเทศแอฟริกาเป็นตลาดข้าวที่ใหญ่ที่สุดของไทยคิดเป็นปริมาณส่งออก 4.73 ล้านตัน สัดส่วนร้อยละ 48.3 ในขณะที่ตลาดอันดับสองอย่างเอเชีย (ไม่รวมตะวันออกกลาง) มีปริมาณส่งออก 3.61 ล้านตัน สัดส่วนร้อยละ 36.9 ส่วนตลาดอื่น ๆ มีสัดส่วนการส่งออกไม่มากนัก ได้แก่ ประเทศในภูมิภาคอเมริกา (5.8%), ยุโรป (3.9%), ตะวันออกกลาง (3.4%), โอเชียเนียและอื่น ๆ (1.8%)
ภาพที่ 1 สัดส่วนตลาดส่งออกข้าวไทยปี 2558
ที่มา: ประมวลจากฐานข้อมูล Global Trade Atlas
ในปี 2558 การส่งออกข้าวไปยังตลาดส่วนใหญ่หดตัวลง มีเพียงการส่งออกไปยังตลาดเอเชียและภูมิภาคในโซนโอเชียเนียเท่านั้นที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการส่งออกข้าวไปยังตลาดเอเชียเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 เป็นผลมาจากการขยายการส่งออกไปตลาดหลักอย่างจีนในปริมาณสูงถึง 9.6 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 เนื่องจากสภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน รวมทั้งนโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรของทางการจีน ทำให้มีความต้องการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตลาดข้าวไทยในเอเชียที่ขยายตัวยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ไทยชนะการประมูลขายข้าวล็อตใหญ่ให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์จำนวน 3 แสนตัน ซึ่งเริ่มทยอยส่งมอบไปแล้วในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ส่วนการส่งออกไปยังตลาดแอฟริกาหดตัวลงร้อยละ 25.8 เนื่องจากประสบปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลักโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้จากการส่งออกน้ำมัน ส่งผลทำให้รัฐบาลของหลายประเทศออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหลายมาตรการเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าจากไทย โดยเฉพาะมาตรการของประเทศไนจีเรียซึ่งเป็นตลาดข้าวอันดับหนึ่งของไทย ที่มีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าข้าวสูงถึงร้อยละ 60 ประกอบกับมีการนำระบบโควตามาควบคุมการนำเข้า รวมทั้งมาตรการห้ามส่งเงินดอลลาร์สหรัฐฯออกนอกประเทศ ทำให้ผู้นำเข้าข้าวไนจีเรียประสบปัญหาไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าข้าวได้ การส่งออกข้าวไปยังประเทศไนจีเรียจึงหดตัวลงอย่างรุนแรงโดยเฉพาะข้าวนึ่งที่เป็นข้าวที่นำเข้าหลัก ซึ่งนอกจากไนจีเรียแล้ว ปัจจุบันประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญของไทยในแอฟริกา ได้แก่ เบนิน ไอวอรี่โคสต์ แคเมอรูน แองโกลา โมซัมบิก และเซเนกัล เป็นต้น
ตารางที่ 3 ตลาดส่งออกข้าวไทย 10 อันดับแรกในปี 2558
ที่มา: ประมวลจากฐานข้อมูล Global Trade Atlas