ภาวะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โคเนื้อแปรรูปของไทย
พฤษภาคม 2562
แม้ว่าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โคเนื้อแปรรูปจะมีส่วนแบ่งในตลาดภายในประเทศไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการแปรรูปเนื้อสัตว์ชนิดอื่น อาทิ เนื้อไก่ และเนื้อวัว แต่การเลี้ยงโคเนื้อถือเป็นอาชีพทางการเกษตรที่สําคัญอาชีพหนึ่งของเกษตรกรไทยที่ภาครัฐจำเป็นต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริม โดยเฉพาะการพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อสำหรับการแปรรูปเนื้อโคคุณภาพสูง (premium grade) เพื่อรองรับความต้องการบริโภคภายในประเทศและลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อโคแปรรูปคุณภาพสูง ขณะเดียวกันเกษตรกรไทยถือว่ามีศักยภาพและความสามารถสูงในการผลิตโคพันธุ์และโคเนื้อ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑี่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โคเนื้อแปรรูปของไทยจะสามารถขยายฐานการส่งออกไปจําหน่ายต่างประเทศ และกลายเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้เพิ่มมากขึ้น
download PDF
1. การผลิต
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณการเลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 5.445 ล้านตัว และผลิตโคเนื้อ 0.999 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 และ 1.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย ร้อยละ 4.6 และ 2.3 ต่อปี ตามลำดับ ตลอดช่วง ปี 2557-2561 (รูปที่ 1) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติของแม่พันธุ์โคเนื้อ ประกอบกับมาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนการปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อที่ดี และการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพหลัก ทั้งนี้ ในปี 2562 มีการคาดการณ์ว่าการผลิตโคเนื้อจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณ 1.018 ล้านตัว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับปี 2561 ทั้งนี้ โคที่เกษตรกรไทยเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นโคพื้นเมือง/ลูกผสม จำนวน 3.082 ล้านตัว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.6 ของจำนวนโคเนื้อที่เลี้ยงทั้งหมด รองลงมาได้แก่ โคพันธุ์/ลูกผสม และโคขุน จำนวน 2.203 และ 0.160 ล้านตัว หรือร้อยละ 40.5 และ 2.9 ตามลำดับ