สถานการณ์การค้าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โคเนื้อแปรรูปของไทย
กรกฎาคม 2563
2. สถานการณ์การค้า
- ตลาดภายในประเทศ
เมื่อพิจารณาปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ พบว่า ชาวไทยมีรสนิยมการบริโภคเนื้อสัตว์เหมือนกับภาพรวมของผู้บริโภคทั่วโลก นั่นคือ เนื้อไก่เป็นชนิดเนื้อสัตว์ที่ชาวไทยนิยมรับประทานมากที่สุด เฉลี่ยคนละ 14.83 กิโลกรัม/ปี ตามด้วยเนื้อหมู เนื้อโค และเนื้อแกะ/แพะ เฉลี่ยคนละ 10.65 1.74 และ 0.04 กิโลกรัม/ปี ตามลำดับ (รูปที่ 6) ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการบริโภคเนื้อโคกับประเทศอื่น ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2541-2561) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีทิศทางการบริโภคเนื้อโคลดลง สอดคล้องกับทิศทางในภาพรวมของผู้บริโภคทั่วโลกและผู้บริโภคบางประเทศที่มีแนวโน้มการบริโภคเนื้อโคลดลง เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดเป็นกลุ่มประเทศที่ชื่นชอบการรับประทานเนื้อโคและมีปริมาณการบริโภคในระดับสูง อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนบางประเทศ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มีความต้องการบริโภคเนื้อโคเพิ่มขึ้น สวนทางกับทิศทางของตลาดโลก โดยเฉพาะชาวเวียดนาม ที่มีความต้องการบริโภคเนื้อโคขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเฉลี่ยคนละ 1.46 กิโลกรัม/ปี ในปี 2541 เป็นเฉลี่ยคนละ 10.13 กิโลกรัม/ปี ในปี 2561
download PDF
การแปรรูปเนื้อโคเพื่อจำน่ายในตลาดภายในประเทศยังไม่มีความหลากหลายมากนัก โดยทั่วไปจะเป็นการแปรรูปในลักษณะแช่เย็นแช่แข็ง ขณะที่การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเชิงอุตสาหกรรมจะอยู่ในรูปของลูกชิ้นและไส้กรอกเป็นส่วนใหญ่ โดยร้อยละ 59.4 ของปริมาณการจำหน่ายเนื้อโคและลูกโคเนื้อทั้งหมด เป็นการจำหน่ายในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ที่เหลือเป็นการจำหน่ายตามตลาดสด หรือกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อ (รูปที่ 8) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะการจำหน่ายในห้างค้าปลีกของไทย พบว่า ในปี 2561 ไทยมีปริมาณการจำหน่ายเนื้อโค 122,700 ตัน คิดเป็นมูลค่า 58,875.6 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.2 ต่อปี ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 3.3 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2561) (รูปที่ 9) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของจำนวนประชากรและชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและท่องเที่ยวในประเทศ โดยมีการคาดการณ์ว่าการจำหน่ายเนื้อโคภายในประเทศจะยังคงมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง