ภาวะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปของไทย
พฤษภาคม 2562
ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปเป็นสินค้าอาหารประเภทหนึ่งของไทยที่มีทิศทางการเติบโตที่ดีในตลาดโลก โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2552-2561) ไทยสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของประเทศคู่แข่ง อาทิ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา กระทั่งขยับขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในตลาดโลก อันดับสองรองจากประเทศฮังการี มาได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปีติดต่อกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดหวาน รวมถึงคุณภาพและรสชาติของสินค้า จนเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ประกอบกับข้อได้เปรียบด้านสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพดหวาน ทำให้สามารถปลูกได้ปีละหลายครั้ง ขณะที่ประเทศคู่แข่งส่วนมากจะปลูกเพียงปีละครั้ง อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปยังต้องเผชิญอุปสรรคที่สำคัญ นั่นคือ การประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ของสหภาพยุโรป ซึ่งแม้จะไม่ใช่ตลาดส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปไทย แต่ถือเป็นตลาดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออก เนื่องจากเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญ ดังนั้น ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
download PDF
1. การผลิต
- พื้นที่เพาะปลูกและปริมาณผลผลิตข้าวโพดหวานของไทย
ประเทศไทยจัดเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดหวานที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม ทำให้สามารถเพาะปลูกข้าวโพดหวานได้ปีละหลายครั้ง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2560) พบว่า สถานการณ์การผลิตข้าวโพดหวานของไทยมีทิศทางการเติบโตที่ดี ทั้งด้านพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่เก็บเกี่ยว ปริมาณผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ โดยในปี 2560 ไทยมีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพดหวานรวม 234,259 ไร่ เป็นเนื้อที่เก็บเกี่ยว 231,762 ไร่ ซึ่งให้ผลผลิตปริมาณ 502,711 ตัน คิดเป็นผลผลิตต่อเนื้อที่เพาะปลูกเฉลี่ย 2,146 กิโลกรัม/ไร่ (รูปที่ 1) หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.3 3.4 7.3 และ 4.7 ต่อปี ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดหวานที่มีคุณภาพสูง โดยพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ มีการเพาะปลูกข้าวโพดหวานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50.38 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดหวานทั้งหมดในไทย รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีสัดส่วนร้อยละ 23.45 17.23 และ 8.94 ตามลำดับ ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า เชียงราย เป็นจังหวัดที่เพาะปลูกข้าวโพดหวานมากที่สุด มีเนื้อที่เพาะปลูก 30,902 ไร่ ให้ผลผลิต 81,291 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.19 และ 16.17 ในเชิงพื้นที่ และเชิงปริมาณ ตามลำดับ ตามด้วยเชียงใหม่ และกาญจนบุรี มีเนื้อที่เพาะปลูก 28,828 และ 26,685 ไร่ ให้ผลผลิต 73,973 และ 47,698 ตัน ตามลำดับ