อุตสาหกรรมสับปะรดเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย มาตั้งแต่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก ๆ ราว 50 ปีก่อน และเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมอาหารของไทยจวบจนทุกวันนี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรมสับปะรดของไทยสร้างรายได้ให้กับประเทศราว 25,000 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่ภายในประเทศ ทั้งในเรื่องของการจ้างงานและวัตถุดิบ ซึ่งสถานการณ์อุตสาหกรรมสับปะรดไทยในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มจะเป็นไปทิศทางใด จะได้นำเสนอดังต่อไปนี้
อุตสาหกรรมสับปะรดในปี 2558
ผลผลิตสับปะรด
ปัจจุบันประเทศผู้นำในการผลิตสับปะรด 5 อันดับแรก คือ ไทย คอสตาริกา บราซิล ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยมีผลผลิตรวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของผลผลิตโลก ซึ่งแต่ละประเทศมีผลผลิตไม่ต่างกันมากนักอยู่ในช่วง 1.8 – 2.5 ล้านตันโดยประมาณ ในบรรดาประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ดังกล่าวมีเพียงประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เท่านั้นที่เน้นการปลูกสับปะรดเพื่อแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง ส่วนคอสตาริกาและบราซิลเน้นผลิตสับปะรดสายพันธุ์สำหรับบริโภคผลสด โดยบราซิลผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ ส่วนคอสตาริกาเน้นการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์ไม่ได้แปรรูปสับปะรดกระป๋องเพียงอย่างเดียว แต่มีการผลิตและส่งออกสับปะรดบริโภคสดอีกด้วย ซึ่งปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จาก 1.6 แสนตันในปี 2553 เพิ่มเป็นประมาณ 5 แสนตันต่อปี 2558
ในปี 2558 ประเทศไทยมีผลผลิตสับปะรดโรงงาน 1.785 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6.9 จากปี 2557 ผลผลิตสับปะรดที่ลดลงมีสาเหตุทั้งที่มาจากการลดลงของเนื้อที่เก็บเกี่ยว รวมถึงการลดลงของผลผลิตต่อไร่ สำหรับเนื้อที่เก็บเกี่ยวสับปะรดโรงงานในปี 2558 อยู่ที่ 4.50 แสนไร่ ลดลงจาก 4.52 แสนไร่ในปี 2557 เนื่องจากต้นยางพารามีอายุมากขึ้น เนื้อที่ปลูกสับปะรดแซมในสวนยางพาราจึงลดลง นอกจากนี้ การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมก็ส่งผลทำให้พื้นที่เพาะปลูกสำคัญในภาคตะวันออกแถบจังหวัดระยองและชลบุรีมีแนวโน้มลดลง ส่วนปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ต้นสับปะรดขาดน้ำผลผลิตจึงไม่สมบูรณ์ รวมทั้งการประสบปัญหาโรคเหี่ยวสับปะรด (Pineapple Wilt) ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สับปะรดมีผลผลิตต่อไร่ลดลง ขนาดผลและน้ำหนักที่ลดลงจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลทำให้ผลผลิตสับปะรดในปี 2558 ลดลงมาอยู่ที่ 3,966 กิโลกรัมต่อไร่ จาก 4,237 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2557 สำหรับสับปะรดโรงงานพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกมาก ได้แก่ พันธุ์ปัตตาเวีย นิยมปลูกในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธุ์และเพชรบุรี และพันธุ์ตราดสีทอง นิยมปลูกมากในภาคตะวันออกแถบจังหวัดระยอง ชลบุรี และตราด
1 FAO, Agricultural Trade Statistic
2 เฉพาะสับปะรดโรงงาน แต่หากรวมสับปะรดบริโภคผลสดประมาณ 5-7 แสนตันเข้าไปด้วย ประเทศไทยจะมีผลผลิตสับปะรดรวม 2.3-2.5 ล้านตันโดยประมาณ
ตารางที่ 1 ผลผลิตสับปะรดของไทยปี 2557-2559

ที่มา: วารสารพยากรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
หมายเหตุ: f คือ พยากรณ์
การแปรรูป
ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดเข้มข้นที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมากกว่า 75 โรง ประกอบด้วย โรงงานขนาดใหญ่ 19 โรงงาน ส่วนที่เหลือเป็นกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยโรงงานขนาดใหญ่จะผลิตสับปะรดกระป๋องเป็นหลัก และมีผลพลอยได้ (By-product) เป็นน้ำสับปะรดเข้มข้น (Concentrated) ซึ่งโรงงานบางแห่งจะนำไปแปรรูปเอง รวมทั้งมีการจำหน่ายให้กับโรงงานแปรรูปทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อผลิตเป็นน้ำสับปะรดในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงผสมกับน้ำผลไม้อื่น ๆ เพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อม ส่วนโรงงานประเภท SMEs จะเน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์อย่างง่าย เช่น สับปะรดกวน สับปะรดอบแห้ง สับปะรดทอดหรืออบกรอบ ซึ่งเน้นจำหน่ายตลาดในประเทศเป็นหลัก แม้ในช่วงหลังจะมีการขยายการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ แต่ตลาดยังมีขนาดที่จำกัด ปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงยังน้อยมากเมื่อเทียบกับโรงงานสับปะรดกระป๋อง
สถานการณ์การผลิตสับปะรดกระป๋องของไทยในปี 2558 มีปริมาณลดลง โดยมีการใช้กำลังการผลิตเพียงร้อยละ 24 หากเทียบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตปกติของอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องที่ร้อยละ 35-40 ถือว่าลดต่ำลงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบสับปะรดในการแปรรูป โดยในช่วงที่ปริมาณวัตถุดิบมีจำกัดตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โรงงานสับปะรดมีการแข่งขันกันรับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรที่มีประมาณ 5,000-6,000 ตันต่อเดือน เพื่อนำมาแปรรูปและส่งมอบตามคำสั่งซื้อของลูกค้าที่ทำไว้ล่วงหน้า แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงานที่มีประมาณ 10,000-12,000 ตันต่อเดือน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาสับปะรดโรงงานปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาผลิตภัณฑ์สับปะรดส่งออกที่มีการปรับตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกในช่วงที่ประเทศคู่ค้าอยู่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัว
3 อังคณา สุวรรณกูฏ, เป็น – ไม่เป็นสับปะรด, จดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่การวิจัยและพัฒนาการเกษตร, กรมวิชาการเกษตร
นอกจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบแล้ว ปัจจุบันอุตสาหกรรมสับปะรดไทยยังเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานในสายการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานชั่วคราวที่รับเข้ามาทำงานในช่วงที่สับปะรดออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน และพฤศจิกายนถึงมกราคมของทุกปี ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานต่างด้าวจากสหภาพเมียนมาร์ กัมพูชา และ สปป.ลาว ที่ปัจจุบันเริ่มหันเหอาชีพไปหาสายงานที่สบายมากขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงานจึงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมสับปะรด เนื่องจากมีขั้นตอนการผลิตบางอย่างไม่อาจใช้เครื่องจักรมาทดแทนแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่าได้ อาทิ การจิกตาสับปะรด การคัดสีสับปะรด เป็นต้น
ภาพที่ 1 อัตราการใช้กำลังการผลิตอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องของไทยปี 2554-2558

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
ตลาดในประเทศ
ผู้บริโภคคนไทยนิยมบริโภคสับปะรดในรูปของผลสดมากกว่าผลิตภัณฑ์แปรรูป ทำให้ยอดจำหน่ายสับปะรดแปรรูปโดยเฉพาะสับปะรดกระป๋องภายในประเทศมีสัดส่วนที่น้อยมากเพียง 1-2% ของปริมาณการผลิต อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบตะวันตกมากขึ้น ตลาดอาหารจำพวกพิซซา สลัด สเต็ก พาย รวมถึงขนมหวานต่าง ๆ จึงมีแนวโน้มขยายตัว ความต้องการสับปะรดกระป๋องเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบดังกล่าวจึงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การจำหน่ายสับปะรดกระป๋องในประเทศเพิ่มขึ้น จาก 7,420 ตัน ในปี 2554 เป็น 9,266 ตัน ในปี 2558 (เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2558) ในขณะที่ปริมาณการบริโภคสับปะรดผลสดอยู่ที่ประมาณ 5 แสนตันต่อปี หรือร้อยละ 20 ของผลผลิตสับปะรดรวม4
4 ปกติประเทศไทยจะมีปริมาณผลผลิตสับปะรดประมาณ 2.7 ล้านตัน จำแนกเป็นสับปะรดโรงงาน 2.2 ล้านตัน และอีก 5 แสนตัน เป็นสับปะรดที่ใช้บริโภคสด
ในขณะเดียวกัน เกษตรกรบางส่วนได้หันมาขยายพื้นที่เพาะปลูกสับปะรดผลสดเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสับปะรดให้มากขึ้น โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่เป็นโรงแรม ร้านอาหาร และนักท่องเที่ยว รวมถึงการส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสับปะรดโรงงานที่เกิดจากความต้องการของโรงงานแปรรูป ทั้งนี้ จุดแข็งของสับปะรดผลสดคือราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่ผันผวนเหมือนราคาสับปะรดโรงงาน ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสับปะรดของไทยในอนาคต หากมีการขยายพื้นที่เข้ามาในส่วนที่เคยเป็นพื้นที่เพาะปลูกสับปะรดโรงงาน
ภาพที่ 2 ปริมาณการจำหน่ายสับปะรดกระป๋องในประเทศ ปี พ.ศ. 2554 – 2558

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
หมายเหตุ: * เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2558