อุตสาหกรรมปลาทูน่า
กุมภาพันธ์ 2559
- การผลิต
- ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจ
การประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมปลาทูน่านั้นจะต้องมีการลงทุน และมีอำนาจในการต่อรองกับซัพพลายเออร์ขายปลาทูน่า ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีการรวมกลุ่มและร่วมมือกันเพื่อให้มีศักยภาพแข็งแกร่ง และยังมีการรวมกลุ่มเป็นสมาคมต่างๆ ได้แก่ สมาคมอาหารทะเลไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมแช่เยือกแข็งไทย และสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เป็นต้น เพื่อเป็นการร่วมมือและช่วยเหลือสมาชิกในการดำเนินธุรกิจและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง
download PDF
อุตสาหกรรมปลาทูน่าของไทยมีวัตถุดิบที่จำกัด และจำเป็นจะต้องพึ่งการนำเข้าปลาทูน่าสด และปลาทูน่าแช่แข็งจากต่างประเทศกว่าร้อยละ 90 ของวัตถุดิบที่ใช้ทั้งหมด แหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ กิริบาติ จีน และปาปัวนิกินี โดยราคานำเข้าจะผันแปรตามชนิดของปลาทูน่า ซึ่งเป็นปลาทูน่าน้ำลึกไม่สามารถจับได้ในแถบทะเลไทยและเป็นปลาที่ตลาดต้อง การ แบ่งออกเป็น 5 ชนิด ได้แก่ ปลาทูน่าท้องแถบ (Skip-Jack Tunas) ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellow Fin Tunas) ปลาทูน่าครีบยาว (Albacore or Long Finned Tunas) ปลาทูน่าตาโต (Bigeye Tuna) และปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin Tuna) โดยประเทศไทยใช้ปลาทูน่าท้องแถบเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตมากที่สุด เนื่องจากมีปริมาณมากและแหล่งจับปลาอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งฝั่งตอนกลาง ตะวันตก และตะวันออก รวมถึงมหาสมุทรอินเดีย
นอกจากนี้ยังมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ สัดส่วนร้อยละ 10 ของวัตถุดิบที่ใช้ทั้งหมด โดยปลาทูน่าที่จับได้ในแถบทะเลไทย เรียกว่า ปลาโอ ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อบริโภคสดในประเทศมากกว่าใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูป เนื่องจากปลามีขนาดเล็กและเป็นปลาทูน่าผิวน้ำ ซึ่งแตกต่างจากปลาทูน่านำเข้าที่มีขนาดตัวใหญ่กว่า ทำให้มีส่วนเหลือทิ้งน้อยกว่า ประกอบกับเรือประมงที่จับปลาทูน่าของไทยยังมีไม่มากนัก ทำให้ไม่สามารถจับปลาทูน่าได้เพียงพอต่อความต้องการ
ราคาวัตถุดิบ
ราคาปลาทูน่าจะมีการปรับตัวขึ้นลงตามปัจจัยต่าง ๆ ตามฤดูกาล โดยปกติราคาปลาทูน่าในตลาดประเทศไทยจะมีการเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่คณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง (Western Central Pacific Fisheries Commission : WCPFC) ได้มีการกำหนดควบคุมการจับปลาทูน่าในมหาสมุทรแปซิฟิก
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 ปริมาณปลาทูน่าที่จับได้มีปริมาณลดลง ประกอบกับความต้องการจากผู้ผลิตในหลาย ๆ ประเทศ เช่น จีน ฟิลิปปินส์ และละตินอเมริกา ทำให้ปริมาณปลาที่เข้าสู่ตลาดประเทศไทยลดลง ราคาจึงมีการปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่เริ่มมีการจับปลาทูน่าได้มากขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 ส่งผลให้ราคาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยหลายด้าน เช่น การบังคับใช้มาตรการ การทำประมงอย่างยั่งยืน อย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดตั้งแต่ช่วงกลางปีของปี 2556 การที่ผู้ประกอบการแปรรูปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสต็อกปริมาณปลาอยู่เต็มคลังสินค้า ในขณะที่ความต้องการปลาทูน่าแปรรูปชะลอตัว และราคามีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2558 และคาดการณ์แนวโน้มว่าราคาจะปรับตัวลดลงอีกอย่างต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2559
การแปรรูป
โรงงานแปรรูปปลาทูน่าในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในจังหวัดทางภาคใต้และจังหวัดรอบๆ อ่าวไทย เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพื่อให้ใกล้แหล่งวัตถุดิบหรือบริเวณที่มีความสะดวกในการขนส่งทางทะเลเพื่อลดต้นทุนในด้านการขนส่ง โดยการแปรรูปทูน่าในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นปลาทูน่าบรรจุกระป๋องและเพาซ์ (Pouch) จากข้อมูลรายงานรายเดือนดัชนีอุตสาหกรรมของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีปริมาณการผลิตต่อปี ตั้งแต่ 8,000 – 49,000 ตันต่อเดือน และมีกำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 30,000-80,000 ตันต่อเดือน