มกราคม 2559
การที่คนไทยเริ่มหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ได้ส่งผลต่อการบริโภคหมากฝรั่งในประเทศ โดยหมากฝรั่งแบบดั้งเดิมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดอย่างต่อเนื่องให้กับหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล กลุ่มคนรักสุขภาพที่มีความกังวลเรื่องการรับประทานน้ำตาลที่มากเกินไป ซึ่งสามารถก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และฟันผุ หันมาเลือกหมากฝรั่งแบบไร้น้ำตาลแทน
บทนำ
การที่คนไทยเริ่มหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ได้ส่งผลต่อการบริโภคหมากฝรั่งในประเทศ โดยหมากฝรั่งแบบดั้งเดิมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดอย่างต่อเนื่องให้กับหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล กลุ่มคนรักสุขภาพที่มีความกังวลเรื่องการรับประทานน้ำตาลที่มากเกินไป ซึ่งสามารถก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และฟันผุ หันมาเลือกหมากฝรั่งแบบไร้น้ำตาลแทน
ปัจจุบันตลาดหมากฝรั่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,900 ล้านบาท โดยแยกเป็นตลาดหมากฝรั่งมีน้ำตาล 800 ล้านบาท และตลาดหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล 3,100 ล้านบาท ถึงแม้ว่ามูลค่าตลาดของหมากฝรั่งจะไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบสินค้าที่ใกล้เคียงกัน เช่น ลูกอม บิสกิต และไอศกรีม แต่ก็เป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปีโดยเฉพาะการเติบโตอย่างต่อเนื่องของหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดหมากฝรั่งในประเทศไทย นอกจากนี้ การเพิ่มประโยชน์ที่ได้รับจากการเคี้ยวหมากฝรั่งเข้าไป เช่น ทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น ทำให้ฟันขาวสะอาด ป้องกันฟันฝุ ขจัดคราบหินปูนบนฟัน หรือสามารถคืนแคลเซียมกลับสู่ผิวฟัน ก็มีส่วนช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาเคี้ยวหมากฝรั่งกันมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
กลุ่มผู้บริโภคหมากฝรั่งในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รับประทานหมากฝรั่งในชีวิตประจำวัน โดยวัตถุประสงค์หลักในการรับประทานคือเพื่อทำให้ลมหายใจสะอาดสดชื่น และรสมิ้นต์เป็นรสชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของคนไทย
ผลิตภัณฑ์
ตลาดผลิตภัณฑ์หมากฝรั่งในประเทศไทยสามารถแบ่งได้ตามประเภทวัตถุดิบดังนี้
1. หมากฝรั่งมีน้ำตาล (Sugarised Gum) คือหมากฝรั่งที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก
2. หมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล (Sugar-free Gum) คือหมากฝรั่งที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น ไซลิทอล (Xylitol) เป็นสารที่นิยมนำมาใช้ทำหมากฝรั่งมากที่สุด เพราะเป็นสารให้ความหวานและพลังงานใกล้เคียงกับน้ำตาลมากที่สุด สามารถช่วยลดจำนวนแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดฟันผุ และลดการเกิดหินปูนในช่องปากได้ ซอร์บิทอล (Sorbitol) เป็นสารที่นิยมใช้เช่นกัน โดยจะให้ความหวานและพลังงานน้อยกว่าน้ำตาล 0.5 เท่า นอกจากนี้ยังมีสารให้ความหวานอื่นๆ ที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของหมากฝรั่ง เช่น มอลทิทอล (Maltitol) แอสปาร์เทม (Aspartame) และ เอซีซัลเฟม-เค (Acesulfame-K)
กลุ่มเป้าหมายของหมากฝรั่งมีน้ำตาลกับปราศจากน้ำตาลค่อนข้างแตกต่างกัน โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของหมากฝรั่งแบบมีน้ำตาลจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น แต่ของหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาลจะเป็นวัยทำงานตอนต้นที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกลุ่มวัยรุ่นเริ่มหันมาใส่ใจต่อสุขภาพของตนเองมากขึ้น พวกเขาจึงเปลี่ยนมารับประทานหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาลมากกว่าแต่ก่อน
ในเรื่องของรสชาติของหมากฝรั่ง รสมิ้นต์ถือเป็นรสชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากให้ความรู้สึกเย็นสดชื่นหลังจากรับประทานได้เป็นอย่างดี ส่วนรสชาติอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมรองลงมาได้แก่ รสสเปียร์มิ้นต์ รสเป๊ปเปอร์มิ้นต์ และรสผลไม้ นอกจากนี้รสชาติที่ผสมกันระหว่างรสมิ้นต์กับรสชาติอื่นๆ ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มของหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล เช่น มิ้นต์มะนาว บลูเบอร์รี่มิ้นต์ และสตรอเบอร์รี่มิ้นต์ ส่วนหมากฝรั่งที่มีน้ำตาล รสชาติที่ได้รับความนิยมจะเป็นรสผลไม้ต่างๆ เช่น สตรอเบอร์รี่ แอปเปิ้ล บลูเบอร์รี่ และน้ำผึ้งมะนาว
ผู้นำตลาดหมากฝรั่งในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท มอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด โดยเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหมากฝรั่งภายใต้แบรนด์ Dentyne ซึ่งครองอันดับ 1 ในประเทศไทย และมีแบรนด์อื่นๆ อย่าง Clorets Trident Recaldent และ Chiclets ซึ่งเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วสามารถครองส่วนแบ่งได้ถึงร้อยละ 60 ของตลาดหมากฝรั่งในประเทศไทย ผู้นำตลาดอันดับที่ 2 ได้แก่ บริษัท เธอะริกลี่ย์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตหมากฝรั่งภายใต้แบรนด์ Extra CoolAir และ Doublemint ซึ่งครองส่วนแบ่งรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 19.1 และอันดับที่ 3 ได้แก่ บริษัท ไทยลอตเต้ จำกัด ผู้ผลิตหมากฝรั่งภายใต้แบรนด์อย่าง LotteXylitol Lotte และ BlackBlack ซึ่งครองส่วนแบ่งรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 17.9 ของตลาดหมากฝรั่งในประเทศไทย ส่วนใหญ่ผู้บริโภคในไทยตัดสินใจซื้อหมากฝรั่งจากชื่อเสียงของตัวแบรนด์ ดังนั้นบริษัทระหว่างประเทศเหล่านี้จึงมีความได้เปรียบในเรื่องของชื่อเสียง เพราะพวกเขามี แบรนด์ที่มีชื่อเสียงในระดับสากล ประกอบกับบริษัทเหล่านี้มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินในการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งทางด้านการผลิตสินค้าและการทำกิจกรรมการตลาด