มกราคม 2568
สหราชอาณาจักร ตลาดของคนรักเนื้อ สหราชอาณาจักรเป็น 1 ใน 10 อันดับของประเทศที่มีปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์สูงสุด โดยข้อมูลจาก World Population Review แสดงให้เห็นว่า ในปี 2565 ชาวบริติชรับประทานเนื้อสัตว์ (ไม่รวมอาหารทะเล) ปริมาณ 5,676 ล้านกิโลกรัม อยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก คิดเป็นปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์เฉลี่ยคนละ 84.08 กิโลกรัม/ปี โดยส่วนใหญ่นิยมรับประทานเนื้อไก่ มีปริมาณการบริโภคเฉลี่ยคนละ 35.50 กิโลกรัม/ปี ตามด้วยเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแพะแกะ และสัตว์อื่น เฉลี่ยคนละ 26.17 17.30 4.10 และ 1.01 กิโลกรัม/ปี
Cultured Meat เนื้อเพาะเลี้ยง...นวัตกรรมอาหารใหม่ในสหราชอาณาจักร
จากกระแสความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food security) และการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้จุดประกายให้เกิดการคิดค้นวิจัยและพัฒนาเนื้อสัตว์จากเซลล์เพาะเลี้ยง (Cultured meat) ซึ่งเป็นนวัตกรรมอาหารใหม่ (Novel food) และเป็นทางเลือกหนึ่งของแหล่งโปรตีนแห่งอนาคต เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์จากการผลิตแบบดั้งเดิม (Conventional meat) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดพื้นที่และทรัพยากรในการเลี้ยงปศุสัตว์และทำการประมงตามธรรมชาติแบบเดิมแล้ว การผลิตเนื้อเพาะเลี้ยงด้วยนวัตกรรมอาหารใหม่นี้ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเกิดปรากฎการณ์โลกเดือดในปัจจุบัน และสร้างความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือฮอร์โมนเร่งการเติบโตในสัตว์ โดยการผลิตเนื้อเพาะเลี้ยงจะใชวิธีการแยกสเต็มเซลล์ (Stem cell) จากกล้ามเนื้อสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อเป็นแหล่งผลิตเนื้อเยื่อ และนำมาเพาะเลี้ยงนอกร่างกายสัตว์ในถังหมัก (Bioreactor) ในอุณหภูมิที่เหมาะสม และใช้น้ำเลี้ยง (Culture medium) ที่สกัดได้จากพืชมาเป็นสารอาหารหล่อเลี้ยงให้สเต็มเซลล์เจริญเติบโต ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงประมาณ 5 – 7 สัปดาห์ ขณะที่การเลี้ยงสัตว์ตามธรรมชาติ เช่น วัว อาจต้องใช้ระยะเวลานานถึง 112 สัปดาห์ กว่าจะแล่เนื้อมารับประทานได้
download PDF ย้อนกลับ