ธันวาคม 2567
ตลาดผลิตภัณฑ์โกโก้/ช็อกโกแลตของไทย ปี 2567 ประมาณการว่าจะมีมูลค่า 8,699.2 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 4.7 จากปีก่อน แบ่งเป็น ขนมหวาน (Confectionery) มูลค่า 8,399.1 ล้านบาท และเครื่องดื่มผงชงร้อน (Hot powder drink) มูลค่า 300.1 ล้านบาท โดยทั้งสองผลิตภัณฑ์มีการเติบโตทางมูลค่าตลาดที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ที่สะดวกต่อการรับประทานในยุคที่เร่งรีบและดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะดาร์คช็อกโกแลต ที่มีส่วนผสมของโกโก้ตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ซึ่งในเมล็ดโกโก้มีสารสำคัญ อาทิ Polyphenols, Epicatechin, Catechin และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ลดความเครียด และมีโปรตีนและไขมันดีสูง นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับขึ้นราคาสินค้า ส่งผลให้มูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์โกโก้/ช็อกโกแลตของไทยขยับตัวเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันชาวไทยมีการบริโภคโกโก้เฉลี่ยคนละ 0.64 กิโลกรัมต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์โกโก้/ช็อกโกแลตที่วางจำหน่ายในประเทศไทยจะเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทขนมหวาน (Confectionery) และเครื่องดื่มผงชงร้อน (Hot powder drink) ซึ่งในปี 2567 ประมาณการว่ามีปริมาณ การบริโภคผลิตภัณฑ์โกโก้/ช็อกโกแลตในประเทศไทย 10,478.3 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากปีก่อน หลังจากภาวะเศษฐกิจที่ซบเซาและวิกฤตการระบาดของโรค COVID-19 ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา
ผลิตภัณฑ์โกโก้/ช็อกโกแลตมีกรรมวิธีการผลิตเริ่มจากการนำเมล็ดโกโก้ (Cacao seed/bean) มาผ่านกระบวนการหมัก (Fermentation) โดยใช้ใบตองปิดเอาไว้เพื่อรักษาความชื้นของเมล็ด ซึ่งจะทำให้ได้กลิ่นและรสชาติเฉพาะตัวของช็อกโกแลต ประมาณ 2 – 10 วัน แล้วนำไปตากแห้ง (Drying) ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะนำเมล็ดโกโก้แห้งมาคั่ว (Roasting) ที่อุณหภูมิ 120 - 130 °C ประมาณ 10 - 30 นาที เมื่อคั่วเสร็จจะนำไปทุบ หรือใช้ลมเป่า (Winnowing) เพื่อแยกแกลบหรือเปลือกที่ห่อหุ้มเมล็ดโกโก้ออก และเหลือส่วนที่เป็นเนื้อเมล็ดข้างใน เรียกว่า คาเคานิบส์ (Cacao nibs) ซึ่งสามารถนำไปใช้ประกอบอาหาร เครื่องดื่ม และขนมเบเกอรี่ หรือจะนำคาเคานิบส์ไปบด (Grinding) เพื่อเปลี่ยนคาเคานิบส์ให้เป็นสีดำน้ำตาลหนืด เรียกว่า Cacao mass ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก คือ เนื้อโกโก้ (Cocoa solids) และไขมันโกโก้ (Cocoa butter) โดยเมื่อนำ Cacao mass ไปเข้าเครื่องอัดรีด (Conching) เพื่อแยกส่วนของไขมันโกโก้ที่เป็นสีขาว หรือที่เรียกว่า White chocolate ออกจากส่วนของเนื้อโกโก้ที่เป็นสีน้ำตาลเข้ม หลังจากนั้นนำ Cocoa cake ส่วนที่เหลือ
ไปบดและร่อนเพื่อให้ได้ผงโกโก้ (Cocoa powder) สำหรับนำไปประกอบอาหาร เครื่องดื่ม หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
ผลิตภัณฑ์โกโก้/ช็อกโกแลตที่วางจำหน่ายในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย (Personal care products) โดยการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ที่ได้จากกรรมวิธีการแปรรูปข้างต้น ดังนี้